ยื่นประกันตะวัน-แฟรงค์ ยกเหตุไม่ยุ่งเหยิงพยานหลักฐานและขอพ่อเป็นผู้กำกับดูแล

วันที่ 28 มีนาคม 2567 เวลา 10.00 น. สมหมาย ตัวตุลานนท์ พ่อของตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ พร้อมด้วยนายประกันยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวตะวันและแฟรงค์-ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ในคดีมาตรา 116 จากการบีบแตรใส่ตำรวจท้ายขบวนเสด็จเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 ทั้งสองถูกฝากขังระหว่างการสอบสวนในชั้นตำรวจตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 และอดอาหารมาเป็นเวลา 44 วัน ต่อมาศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตะวันและแฟรงค์เป็นครั้งที่เจ็ดระบุว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลนี้เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง

ตามคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระบุว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดินแดงได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งสอง ครั้งที่ 4 ศาลได้ไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 257 ถึงวันที่ 1 เมษายน 2567 และเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมาผู้ร้องได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสองระหว่างสอบสวน จึงเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาทั้งสองถูกควบคุมตัวจนถึงปัจจุบันตามหมายขังของศาลนี้ รายละเอียดดังความปรากฎในสำนวนแล้วนั้น

ข้อ 2  ผู้ร้องมีความประสงค์ขอยื่นปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสอง โดยใช้หลักทรัพย์เงินสด จำนวน คนละ 150,000 บาท เป็นหลักประกัน อันเป็นหลักประกันที่น่าเชื่อว่าหากผู้ต้องหาทั้งสองได้รับการปล่อยชั่วคราวจะไม่หลบหนีและจะมาศาลตามกำหนดนัดทุกครั้ง ทั้งนี้ผู้ร้องขอเรียนต่อศาลถึงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายประกอบคำร้องขอปล่อยชั่วคราวอันเป็นเหตุผลใหม่เพิ่มเติมจากที่เคยแถลงไว้แล้วดังนี้

ข้อ 2.1 ผู้ร้องขอเรียนว่า ในการไต่สวนคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 ปรากฏข้อเท็จจริงใหม่ที่เกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสอง ผู้ร้องขอศาลโปรดพิจารณาเพื่อปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสองในชั้นสอบสวนและระหว่างพิจารณาคดี กล่าวคือผู้ร้องขอเรียนว่า ในการไต่สวนคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 พนักงานสอบสวนได้สอบสวนคำให้การพยานบุคคลเสร็จแล้ว ส่วนที่เหลือ “รอผลตรวจทางวิทยาศาสตร์จากกองพิสูจน์หลักฐาน (คลิปวิดีโอ) ว่ามีการแก้ไข ตัดแปลง หรือไม่” นั้น เป็นเพียงการตรวจสอบคลิปวิดีโอซึ่งอยู่ในความครอบครองของพนักงานสอบสวน ทั้งได้ความจากคำเบิกความพยานผู้ร้องตอบทนายผู้ต้องหาทั้งสองถามค้านด้วยว่า พนักงานสอบสวนเห็นว่า ผู้ต้องหาทั้งสองไม่สามารถที่จะแก้ไข เปลี่ยนแปลงใดๆในคลิปวิดีโอ ดังกล่าวได้ และเห็นว่าหากยังไม่ได้ผลการพิสูจน์คลิปวิดีโอดังกล่าวแล้ว ก็ไม่เป็นอุปสรรคใดต่อการสอบสวนคดีนี้

ประการสำคัญ พนักงานสอบสวนได้แถลงต่อศาลอย่างชัดเจนในการตอบคำถามทนายความของผู้ต้องหาทั้งสองในการไต่สวนคำร้องเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 ว่า หากศาลไม่อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองตามคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 4 นั้นก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนคดีนี้และหากศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสองไว้ในระหว่างการสอบสวนนั้น พนักงานสอบสวนหรือผู้ร้องก็ไม่คัดค้านการที่ศาลจะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสอง ดังรายละเอียดปรากฏตามคำเปิกความของพนักงานสอบสวนผู้ร้องในคดีนี้ที่ให้การไว้ต่อศาลตามคำเบิกความของพยานตังกล่าวในสำนวนคดี กรณีจึงเป็นเหตุผลสำคัญใหม่ที่ขอให้ศาลจะพิจารณาและอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสองด้วย

ข้อ 2.2 ผู้ร้องขอเรียนว่า คดีนี้พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบา]ดินแดงได้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาทั้งสองเป็นเพียงคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปีเท่านั้น ซึ่งผู้ต้องหาทั้งสองถูกขังมาตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ถึงวันที่ยื่นคำร้องฉบับนี้ เป็นเวลาทั้งหมด 44 วัน ซึ่งในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาทั้งสองได้ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวนเนื่องจากคดีของผู้ต้องหาทั้งสองมีหนทางต่อสู้คดีได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

ข้อ 2.3  ผู้ร้องขอเรียนว่า ผู้ต้องหาทั้งสองถูกขังมาเป็นเวลา 44 วัน ก็ไม่ปรากฏพฤติการณ์ใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นแต่อย่างใด ทั้งนี้ปัจจุบัน ผู้ต้องหาที่ 1 มีอาการคลื่นไส้ หัวใจเต้นผิดจังหวะเนื่องจากโพแทสเซียมและแมกนีเซียมต่ำ ซึ่งหมอผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจที่รักษาอาการป่วยของผู้ต้องหาที่ 1 อยู่นั้นแจ้งกับญาติว่าหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะและนำไปสู่อาการหัวใจหยุดเต้นหรือเสียชีวิตได้ ส่วนผู้ต้องหาที่ 2 มีอาการมึนหัว พูดไม่ค่อยได้ ซูบผอม จนน้ำหนักลดลงเหลือ 38.4 กิโลกรัม อาเจียน หายใจลำบากต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ตัวเหลืองซีด ปากแห้ง ค่าน้ำตาลในเลือดต่ำ ปวดเมื่อยตามตัว ด้วยเหตุดังกล่าวในปัญหาเรื่องสุขภาพของผู้ต้องหาทั้งสองและผู้ต้องหาทั้งสองได้ถูกดำเนินคดีอาญาในฐานความผิดที่มีอัตราโทษทางอาญาซึ่งมีโทษจำคุก ซึ่งมิได้เป็นเหตุผลที่จะทำให้ผู้ต้องหาทั้งสองจะหลบหนี หรือเป็นอุปสรรค หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน อุปสรรคหรือความเสียหายในการดำเนินคดีในศาลแต่ประการใด

ข้อ 2.4 ผู้ร้องขอเรียนต่อศาลว่า ผู้ต้องหาทั้งสองมีถิ่นที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอนตามรายงานการสืบสวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน ซึ่งตรงกันกับรายละเอียดตามที่อยู่ในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้ด้องหาทั้งสองที่อยู่ในสำนวนคดีนี้ ภายหลังจากนี้ หากพนักงานสอบสวนมีความประสงค์จะติดตามตัวหรือเรียกให้ผู้ต้องหาทั้งสองไปยังสถานีตำรวจก็สามารถทำได้โดยง่าย ติดต่อได้ทันที และผู้ต้องหาทั้งสองเองก็ยินยอมจะไปพบพนักงานสอบสวนเมื่อพนักงานสอบสวนเรียกอย่างไรก็ตามหากศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสองแล้วและศาลประสงค์ที่จะให้มีผู้กำกับดูแลผู้ต้องหาทั้งสองในระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ร้องขอเสนอให้ศาลแต่งตั้ง นายสมหมาย ตัวตุลานนท์ บิดาของผู้ต้องหาที่ 1 และนายจ้างของผู้ต้องหาที่ 2 เป็นผู้กำกับดูแลผู้ต้องหาทั้งสองให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลต่อไป

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นผู้ร้องขอเรียนต่อศาลว่า พฤติการณ์ของผู้ต้องหาทั้งสอง ในคดีนี้ไม่ปรากฏเหตุที่ศาลจะไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 108/1 และมาตรา 29 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 วรรคสองระบุว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า จำเลยหรือผู้ต้องหาไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”

ผู้ร้องจึงขอให้ศาลได้โปรดมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสองในระหว่างสอบสวนและระหว่างพิจารณาคดีด้วย โดยผู้ร้องขอรับรองว่าจะนำตัวผู้ต้องหาทั้งสองมารายงานตัวต่อศาล ตามนัดรายงานตัวของศาลทุกนัด ทั้งนี้ผู้ร้องขอคัดถ่ายคำสั่งศาลที่สั่งตามคำร้องนี้ด้วย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาลได้โปรดอนุญาต