พิพากษาขนุน สิรภพ ม.112 จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา เหตุปราศรัย #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์

25 มีนาคม 2567 ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาในคดี ขนุน-สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ และจัสติน-ชูเกียรติ แสงวงค์ ถูกฟ้องดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีปราศรัยพาดพิงพระมหากษัตริย์ในการชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ ที่แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งระหว่างกระบวนการพิจารณาคดี ชูเกียรติได้ลี้ภัยทางการเมืองเดินทางออกนอกประเทศ ส่งผลให้ศาลจำหน่ายคดีในส่วนของชูเกียรติออกจากสารบบ แต่คดีของสิรภพยังคงดำเนินการตามปกติ

การฟังคำพิพากษามีขึ้นที่ห้องพิจารณาคดี 405 โดยสิรภพ แฟนสาว เพื่อน และครอบครัว พร้อมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางมาถึงศาลตั้งแต่เวลา 9.00 น. แต่อัยการโจทก์ไม่มา ด้านมาตรการรักษาความปลอดภัยเป็นไปตามปกติของศาล มีเพียงเจ้าหน้าที่จากกรมราชทัณฑ์และตำรวจศาลรวมสี่นาย เฝ้าระวังภายในและภายนอกห้องพิจารณา

เช้านี้ ศาลมีนัดพิจารณาคดีอื่นก่อนแล้ว จนกระทั่งเวลาราว 9.40 น. จึงถึงคราวของคดีนี้ ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษา สรุปใจความอย่างย่อได้ว่า

ในคดีนี้มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่า จำเลยทั้งสองได้เข้าร่วมจัดการชุมนุม โดยไม่แจ้งจัดการชุมนุมต่อเจ้าพนักงานท้องที่ ก่อนเวลาชุมนุมอย่างน้อย 24 ชั่วโมง และไม่จัดหามาตรการป้องกันการแพร่โรคระบาดโควิด-19 ให้แก่ผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัย และไม่ได้เว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งสองมีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ และข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

อย่างไรก็ดี ตามความในพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ และข้อกำหนดฯแล้ว หน้าที่ในการแจ้งจัดการชุมนุมสาธารณะและจัดหามาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น เป็นหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมเท่านั้น แต่จากการนำสืบของโจทก์ รับฟังได้เพียงแต่ว่า จำเลยทั้งสองเป็นเพียงผู้เข้าร่วมการชุมนุม ไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม ศาลยกฟ้องในข้อกล่าวหาทั้งสอง

ในส่วนของข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 พยานเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนสองนายได้ลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ปรากฎพบเห็นจำเลยทั้งสองกำลังปราศรัยอยู่บนรถกระบะ จึงได้ถ่ายภาพเคลื่อนไหวและส่งบันทึกถอดถ้อยคำให้กับผู้บังคับบัญชา จนนำไปสู่การร้องทุกข์กล่าวโทษและดำเนินคดี โดยในถ้อยคำปราศรัยของจำเลย มีถ้อยคำพาดพิงพระมหากษัตริย์อยู่หลายถ้อยคำ

ด้านจำเลย นำพยานเข้านำสืบ อ้างว่า จำเลยปราศรัยเกี่ยวกับระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเป็นเพียงการตั้งคำถามต่อการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เท่านั้น โดยที่ตัวจำเลยเองยังคงมีความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และไม่มีเจตนาที่จะดูหมิ่นดูแคลน อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

แต่เมื่อพิจารณาตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 ซึ่งบัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งให้ความคุ้มครองพระมหากษัตริย์ ตลอดจนพระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ประกอบกันแล้วนั้น

เห็นว่า ถ้อยคำดังกล่าวของจำเลย ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจได้ว่าหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 มีลักษณะความหมายเป็นการต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ กล่าวหาว่าในหลวง รัชกาลที่ 10 ทรงไม่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ รวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง และใช้พระราชอำนาจเกินขอบเขต

การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นจาบจ้วง หมิ่นเบื้องสูง แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ มิใช่การติชมโดยสุจริต พิพากษา ลงโทษจำคุกสามปี การนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุกสองปี ไม่รอลงอาญา

มูลเหตุของคดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 กลุ่มราษฎรนัดหมายชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่รัฐสภา เกียกกาย จนทำให้มีผู้ชุมนุมได้รับการบาดเจ็บ การชุมนุมครั้งนี้เดินขบวนจากสี่แยกราชประสงค์ไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

เหตุการณ์นี้นำมาสู่การออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหานักกิจกรรมสี่คน คือ ขนุน-สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ จัสติน-ชูเกียรติ แสงวงค์ ธานี สะสม และ ไบร์ท-ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ในข้อหาจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคอันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินีได้ถอดบันทึกคำปราศรัยเรื่องบทบาทของสถาบันกษัตริย์ไทยในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของสิรภพและชูเกียรติ และตัดสินใจแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แก่ทั้งสองคนเพิ่ม เนื่องจากมองว่าเป็นการใช้วาจาจาบจ้วงกษัตริย์โดยมิบังควร

วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 อัยการสั่งฟ้องสิรภพและชูเกียรติในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ และ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อศาลรับฟ้องทนายความก็ได้ยื่นประกันตัวสิรภพด้วยเงินสด 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ขณะที่ชูเกียรติ ณ ขณะนั้นยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในคดีมาตรา 112 จากการแปะกระดาษบนรูปรัชกาลที่ 10 ในการชุมนุมบริเวณหน้าศาลฎีกา ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ20มีนา สิรภพไม่ได้รับการประกันตัวและถูกส่งตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

วันที่ 9 พฤษภาคม 2564 ทนายความยื่นประกันตัวสิรภพเป็นครั้งที่สองโดยใช้หลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสด 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และมีมารดาเป็นนายประกัน พยานฝ่ายจำเลยทั้งหมดห้าปากได้ให้เหตุผลว่า จำเลยยังมีภาระทางการศึกษาซึ่งต้องสอบปลายภาคให้เสร็จ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกและตามกำหนดนัดของพนักงานอัยการทุกนัด ไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี โดยศาลอนุญาตให้ประกันตัวแก่สิรภพพร้อมกำหนดเงื่อนไขว่า ห้ามทำกิจกรรมหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล และให้มาศาลตามกำหนดนัดทุกนัด

วันที่ 2 มิถุนายน 2564 ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอประกันชูเกียรติต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ หลังศาลอาญา รัชดา มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวในคดีตามมาตรา 112 จากคดีการชุมนุม #ม็อบ20มีนา ต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ชูเกียรติ โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงินสด จํานวน 200,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขในลักษณะเดียวกับในคดีของศาลอาญา ได้แก่ ห้ามกระทำการหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่มีลักษณะเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือกระทำลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้องร้อง ไม่เข้าร่วมชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร และต้องมาศาลตามนัดที่กำหนดโดยเคร่งครัด

วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดสอบคำให้การ จําเลยทั้งสองยืนยันให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทําความผิดตามฟ้อง และได้ยื่นคำให้การเป็นหนังสือประกอบ ก่อนจะมีการนัดหมายสืบพยานห้านัด สืบพยานโจทก์สามนัด สืบพยานจำเลยสองนัด ซึ่งได้เริ่มสืบพยานมาตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2565 จนถึงวันที่ 8 มีนาคม 2566 ก่อนที่จะมีนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้