ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน “ไม่ผ่าน” ความเห็นชอบจากรัฐสภา



18 พฤศจิกายน 2563 ที่ประชุมสภามีนัดลงมติร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 7 ร่าง แบ่งเป็น ร่างรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล 1 ร่าง พรรคร่วมฝ่ายค้าน 5 ร่าง และร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 1 ร่าง

โดยผลการลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน มีรายละเอียดดังนี้

  • มติเห็นชอบ จำนวน 212 เสียง แบ่งเป็นเสียงจากพรรคฝ่ายค้าน 208 เสียง ฝ่ายรัฐบาล 1 เสียง และเสียงจาก ส.ว. 3 เสียง
  • มติไม่เห็นชอบ 138 เสียง แบ่งเป็นเสียงจากพรรครัฐบาล 60 เสียง และเสียงจาก ส.ว. 78 เสียง
  • มติงดออกเสียง 369 เสียง แบ่งเป็นเสียงจากพรรครัฐบาล 213 เสียง และเสียงจาก ส.ว. 156 เสียง

จากผลการลงมติดังกล่าว ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชนกว่า 100,732 ชื่อ มีผลต้องตกไป เนื่องจากเสียงเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสองสภา หรือ ไม่ถึง 366 เสียง

อีกทั้ง เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. เพียง 3 เสียง ทำให้ไม่ผ่านเงื่อนไขไม่ผ่านเงื่อนไขที่ต้องมีคะแนนเสียงจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม
ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคร่วมรัฐบาล ได้กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบไปด้วยสมาชิก 200 คน มีที่มา ดังนี้

150 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

20 คน มาจากการเลือกโดยรัฐสภา

20 คน มาจากการเลือกโดยที่ประชุมอธิการบดี โดยแบ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชนหรือรัฐศาสตร์ 10 คน และผู้มีประสบการณ์การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ 10 คน

10 คน มาจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา

โดยวิธีการได้มาซึ่ง สสร. จำนวน 150 คนแรกจะใช้วิธีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตโดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยให้ประชาชนมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือก สสร. ได้เพียงหนึ่งเสียง ระบบเลือกตั้งดังกล่าวจะคล้ายกับระบบเลือกตั้ง ส.ว. ปี 2534 หรือที่นิยมเรียกว่า “รวมเขตเบอร์เดียว” กล่าวคือ บางจังหวัดอาจมี สสร. มากกว่า 1 คน แต่ประชาชนลงคะแนนเลือกได้คนเดียว และผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดตามลำดับจำนวน สสร. ในแต่ละเขต จะได้รับเลือกเป็น สสร. ซึ่งเป็นระบบที่คล้ายกับข้อเสนอของพรรคฝ่ายค้าน

ส่วน สสร. อีก 50 คน ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน ได้แก่ จำนวน 20 คน มาจากการเลือกโดยรัฐสภา โดยมีข้อแม้ว่า การคัดเลือกต้องใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวน ส.ส.และ ส.ว. ซึ่งหมายความว่า จะได้ สสร. ที่เป็นคนจากระบอบ คสช. อย่างน้อยประมาณ 2 ใน 3 ของระบบนี้ ถัดมาอีก 20 คน ให้มาจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเป็นคนคัดเลือกจากผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน สาขารัฐศาสตร์ หรือมีประสบการด้านการบริหารราชแผ่นดิน เป็นต้น และสุดท้าย 10 คน ให้มาจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา แต่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้คัดเลือกนักเรียน นิสิต นักศึกษา

ส่วน ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคเพื่อไทย ได้กำหนดให้มี สสร. จำนวน 200 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนโดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง แต่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเลือกผู้สมัครได้เพียงคนเดียว และผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดตามจำนวน สสร. ที่จังหวัดพึงมี ให้ถือว่าเป็นผู้ได้รับเลือกเป็น สสร.