ผ่านฉลุย! สส. เห็นชอบร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสาม ส่งไม้ต่อให้ สว.

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม สาระสำคัญคือการแก้ไขกฎหมายสมรสที่ยังรับรองสิทธิสมรสเฉพาะชาย-หญิง ให้รองรับการสมรสสำหรับบุคคลสองคนโดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องเพศ โดยเป็นการพิจารณารายมาตรา ในวาระสอง และการลงมติเห็นชอบในวาระสาม

เวลา 14:07 น. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 400 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง กระบวนการถัดไป คือการพิจารณาในชั้นวุฒิสภาสามวาระ

ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภา คาดได้พิจารณาโดย สว. 67 จากการเลือกกันเอง

เมื่อกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายถึงชั้นวุฒิสภา สมาชิกวุฒิสภา (สว.) วุฒิสภาจะต้องพิจารณาร่างกฎหมายสามวาระเช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร คือ วาระที่หนึ่ง รับหลักการ วาระที่สอง ลงมติรายมาตรา และวาระที่สาม เห็นชอบทั้งฉบับ

วุฒิสภา ไม่มีอำนาจ ‘ปัดตก’ หรือทำให้ร่างกฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว หายไปได้ เมื่อสว. พิจารณาร่างกฎหมายแล้วสามารถลงมติได้สามกรณี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 137 คือ เห็นชอบ ไม่เห็นชอบ และแก้ไขเพิ่มเติม

กรณีแรก : ถ้า สว. เห็นชอบด้วยกับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในสามวาระ ก็เท่ากับร่างกฎหมายผ่านสองสภา และเตรียมนำเข้าสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

กรณีที่สอง : ถ้า สว. ไม่เห็นชอบด้วย ให้ “ยับยั้ง” ร่างกฎหมายไว้ก่อนและส่งกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 138 สภาผู้แทนราษฎรอาจยกร่างกฎหมายนั้นกลับมาพิจารณาใหม่ได้หลังพ้นไปแล้ว 180 วัน แต่ถ้าเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงินให้ลดเหลือ 10 วัน และ หากสภาผู้แทนราษฎรนำกลับขึ้นมาพิจารณาใหม่และลงมติยืนยันร่างเดิมด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่ หรือ สส. 251 คน (ถ้ามีสส. ครบ 500 คน) ก็ถือว่า ร่างฉบับนั้นได้รับความเห็นชอบแล้ว ให้นำเข้าสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

กรณีที่สาม : ถ้า สว. มีมติแก้ไขเพิ่มเติม ให้ส่งร่างกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วไปยังสภาผู้แทนราษฎร และถ้า สส. เห็นชอบด้วย ก็นำสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่ถ้า สส. ไม่เห็นด้วย ให้ตั้ง “คณะกรรมาธิการร่วม” ของสองสภาขึ้นมาพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง โดยกรรมาธิการมีจำนวน สส. และ สว. เท่ากัน เมื่อกรรมาธิการร่วมพิจารณาร่างกฎหมายเสร็จแล้วให้เสนอต่อทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ถ้าสภาทั้งสองเห็นชอบด้วย ก็นำสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่ถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบให้ยับยั้งร่างกฎหมายนั้นไว้ก่อน ซึ่ง สส. อาจยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้หลัง 180 วัน โดยอาจยืนยันร่างเดิม หรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาก็ได้

อย่างไรก็ดี สมัยประชุมรัฐสภาสมัยสามัญประจำปีที่หนึ่ง ครั้งที่สอง ก็กำลังจะปิดในวันที่ 10 เมษายน 2567 และจะเปิดสมัยประชุมหน้าในวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ซึ่ง สว. ชุดพิเศษ 250 คน ที่มาจาการแต่งตั้งโดย คสช. กำลังจะหมดอายุในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 และคาดว่า สว. ชุดใหม่ จำนวน 200 คน ที่มาจากการ “เลือกกันเอง” ในกลุ่มอาชีพ น่าจะเข้าปฏิบัติหน้าที่ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2567 จึงมีโอกาสที่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม จะเข้าสู่การพิจารณาของโดยวุฒิสภาชุดใหม่ 200 คน

อ่านขั้นตอนการพิจารณากฎหมายได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/3667

แก้ไขอายุขั้นต่ำการหมั้น-การสมรส จาก 17 ปี เป็น 18 ปี

กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมรายมาตราในวาระสอง ผ่านไปอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีข้อเสนอแก้ไข เปลี่ยนแปลงเนื้อหาจากร่างฉบับที่ผ่านวาระหนึ่งไม่มากนัก โดยมีประเด็นสำคัญที่ลงมติแก้ไข เช่น

แก้ไขอายุขั้นต่ำในการหมั้นจากชายและหญิงอายุ 17 ปี สามารถทำการหมั้นได้ เป็นการหมั้นจะทำได้เมื่อบุคคลสองฝ่ายมีอายุ 18 ปี

แก้ไขอายุขั้นต่ำในการสมรส จากที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้บังคับอยู่ มาตรา 1448 กำหนดเงื่อนอายุขั้นต่ำในการสมรสไว้ที่ 17 ปีบริบูรณ์ และในการพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในชั้นกรรมาธิการ ได้ยึดฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นร่างหลักในการพิจารณา ซึ่งร่างฉบับที่เสนอโดย ครม. กำหนดอายุขั้นต่ำในการสมรสไว้ที่ 17 ปีเช่นกัน ขณะที่ร่างฉบับที่เสนอโดยภาคประชาชน ฉบับที่เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล และฉบับที่เสนอโดย สส. พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งผ่านวาระหนึ่งและพิจารณาประกบในชั้นกรรมาธิการ ต่างเสนอแก้ไขอายุขั้นต่ำในการสมรสให้ทำได้เมื่ออายุ 18 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ในชั้นกรรมาธิการจึงมีมติแก้ไขกำหนดรับรองอายุขั้นต่ำในการสมรสไว้ที่ 18 ปีบริบูรณ์ โดยสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นด้วยกับการแก้ไขอายุขั้นต่ำในการสมรสจาก 17 ปีเป็น 18 ปี

ถึงแม้จะมีการปรับแก้อายุขั้นต่ำอายุขั้นต่ำในการสมรส แต่ในร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับที่ผ่านกรรมาธิการและเข้าสู่การพิจารณาวาระสอง ยังคงหลักการเดิมกับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม คือมีข้อยกเว้นให้สามารถทำการสมรสแม้อายุยังไม่ถึงเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดได้ หากมีเหตุอันสมควร ศาลสามารถอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.พรรคก้าวไกล เสนอให้นำข้อยกเว้นนี้ออกไป ด้วยเหตุผลว่าข้อยกเว้นนี้จะเป็นช่องให้เกิดการสมรสในเด็ก (child marriage and forced marriage) ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง และการแต่งงานในวัยเด็กยังส่งผลต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็ก ทำให้เด็กต้องหยุดการศึกษา ตั้งครรภ์ในวัยก่อนวัยอันควร นี่คือความจน ความลำบากซ้ำซ้อนในวัยเด็ก ขอให้ยืนยันหลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก (the best interest of the child) ที่ต้องมาก่อน

ด้านจิตรพรต พัฒนสิน กรรมาธิการข้างมาก ชี้แจงว่า ทุกท่านคงไม่อยากเห็นภาพคุณแม่วัยใส แต่ด้วยบริบทของสังคมไม่ว่าไทยและต่างประเทศ ก็มีลักษณะนี้เช่นกัน จากข้อมูลสถิติที่ผ่านมาช่วง 10 ปี มีเพียงหกกรณีเท่านั้นที่ศาลอนุญาตให้สมรสก่อนถึงอายุขั้นต่ำ กรรมาธิการเสียงข้างมากจึงยังคงข้อยกเว้นนี้ไว้เพื่อประโยชน์การใช้สิทธิทางศาลของบุคคล

ข้อเสนอของณัฐวุฒิ บัวประทุม เป็นอันตกไป เมื่อเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรเห็นด้วยกับการแก้ไขของกรรมาธิการ คือแก้ไขเฉพาะอายุขั้นต่ำในการสมรสจาก 17 ปีเป็น 18 ปีเท่านั้น แต่ยังคงข้อยกเว้นให้บุคคลสามารถสมรสอายุต่ำกว่า 18 ปีแต่เมื่อมีเหตุอันสมควรและศาลอนุญาต

ภาคประชาชนขอเพิ่มคำว่า “บุพการีลำดับแรก” เป็นกลางทางเพศ-ครอบคลุมคู่สมรสที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหลากหลาย

นอกจากการรับรองสิทธิในการสมรส ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยังกำหนดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตรด้วย ซึ่งการใช้คำว่า “บิดา-มารดา” มีประเด็นว่าเป็นคำที่ไม่ครอบคลุมต่อคู่สมรสที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายหรือไม่

เนื่องจากร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมสี่ฉบับที่ผ่านวาระหนึ่ง มีร่างภาคประชาชนด้วยหนึ่งฉบับ ส่งผลให้ตัวแทนภาคประชาชนได้โควตาเป็นกรรมาธิการด้วย ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 128 ที่กำหนดให้ ตัวแทนของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายเข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญในการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวด้วย โดยจะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนกรรมาธิการวิสามัญทั้งหมด

กรรมาธิการจากภาคประชาชน เสนอให้แก้ไขโดยเพิ่มคำว่า “บุพการีลำดับแรก” เข้าไปในหลายมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ยังไม่ได้แก้ไขหรือนำคำว่า บิดามารดา ที่มีอยู่แล้ว ออกไป แต่ก็เป็นกำหนดคำเพิ่มขึ้นไปเท่านั้น ภาคภูมิ พันธวงค์ หรือ “ปาหนัน” ระบุว่า นี่คือการให้เกียรติครอบครัวที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย การใช้คำว่าบิดามารดา โดยทิ้งพวกเขาไว้ข้างหลัง เป็นเรื่องผิดปกติ

ด้านกรรมาธิการข้างมาก เกิดโชค เกษมวงศ์จิตร ชี้แจงว่า คณะกรรมาธิการข้างมากมีข้อกังวลเกี่ยวกับการกำหนดคำว่า “บุพการีลำดับแรก” หลายประการ ประการที่หนึ่ง เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็ก จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นที่ตั้ง การเสนอแก้เพิ่มคำว่า “บุพการีลำดับแรก” ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบอย่างเป็นทางการมารองรับ คำว่า “บุพการีลำดับแรก” เป็นคำใหม่ที่ไม่มีมาก่อนในระบบกฎหมายไทย ไม่มีการกำหนดนิยามมาก่อน การสร้างถ้อยคำมาใหม่ จะทำให้เกิดปัญหาในการตีความถ้อยคำ นอกจากนี้ การกำหนดเพิ่มเติมคำว่า “บุพการีลำดับแรก” ต่อจากคำว่า “บิดามารดา” จะส่งผลกระทบต่อกฎหมายอื่นๆ ที่จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมอีก 47 ฉบับ หากเพิ่มคำว่า “บุพการีลำดับแรก” เข้าไป จะต้องไปรื้อและแก้ไขกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก

ข้อเสนอเพิ่มเติมคำว่า “บุพการีลำดับแรก” เป็นอันตกไป เมื่อเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการข้างมาก ที่ไม่เพิ่มเติมบทบัญญัติอื่นๆ ที่เสนอเพิ่มเติมคำว่า “บุพการีลำดับแรก” เข้าไปหลังคำว่า “บิดามารดา”

เพิ่มบทบัญญัติ รับรองสิทธิคู่สมรสโดยอัตโนมัติ

แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะรับรองสิทธิการสมรสไว้ ซึ่งจะสัมพันธ์กับสิทธิหน้าที่อื่นๆ ที่ตามมา เช่น สิทธิในการรับมรดกคู่สมรส แต่สำหรับสิทธิ สิทธิประโยชน์ รวมถึงสวัสดิการอื่นๆ ของคู่สมรส เช่น สวัสดิการคู่สมรสของข้าราชการ ก็จะถูกกำหนดไว้ในกฎหมายอื่นๆ ที่กำหนดเรื่องนั้นไว้เฉพาะ อย่างไรก็ดี ในกฎหมายอื่นๆ ที่กำหนดสิทธิ สิทธิประโยชน์ สวัสดิการคู่สมรส อาจใช้คำที่มีลักษณะแบ่งแยกตามเพศ เช่น “สามีภริยา” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ยังใช้บังคับอยู่ ซึ่งจะไม่สอดคล้องกับการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้คำว่า “คู่สมรส”

ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม กำหนดกลไกการแก้ไขปัญหา การรับรองสิทธิ สวัสดิการ สิทธิประโยชน์ของคู่สมรสที่จะจดทะเบียนสมรสหากกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านไว้ว่า บรรดากฎหมายใดๆ ที่อ้างถึงสามี ภริยา ถือว่าว่างอ้างถึงคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมไว้ด้วย เท่ากับว่า หากร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านการพิจารณาของรัฐสภา โดยไม่มีการแก้ไขเนื้อหาส่วนนี้ในชั้นวุฒิสภา และมีผลบังคับใช้ คู่สมรสไม่ว่าจะเพศใด อัตลักษณ์ทางเพศใด ที่ไปจดทะเบียนสมรส ก็จะมีสิทธิ ได้รับสิทธิประโยชน์ สวัสดิการตามกฎหมายต่างๆ เช่นเดียวกันกับคู่สมรสชาย-หญิง

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage
Trending post