ศาลอาญาให้ฝากขังตะวัน-แฟรงค์ต่ออีก 12 วัน เหตุตร.ยังสอบพยานและตรวจ VDO ไม่เสร็จ 

8 มีนาคม 2567 เป็นวันสุดท้ายของการฝากขังในผัดที่สองของตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์และแฟรงค์-ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตรในคดีมาตรา 116 จากเหตุการณ์บีบแตรใส่ตำรวจท้ายขบวนเสด็จพระเทพเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 โดยพนักงานสอบสวน สน.ดินแดงได้ยื่นคำร้องขอฝากขังต่ออีกเป็นผัดที่สามคือระหว่างวันที่ 9-20 มีนาคม 2567  หลังการไต่สวนคัดค้านการฝากขัง ศาลอาญาอนุญาตให้ฝากขังทั้งสองต่อได้เป็นผัดที่สาม สืบเนื่องจากพนักงานสอบสวนระบุว่า ยังสอบพยานไม่เสร็จและรอผลตรวจวีดีโอ แม้ว่าการไต่สวนพนักงานสอบสวนรับว่า ผู้ต้องหาทั้งสองไม่สามารถเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ ทั้งนี้ศาลระบุว่า ทั้งสองมีสิทธิยื่นขอประกันตัวและอุทธรณ์คำสั่งได้ แต่ยังไม่ได้มีการยื่นขอประกันตัวทั้งสองในวันนี้

ศาลอาญาให้ฝากขังตะวัน-แฟรงค์ต่ออีก 12 วัน เหตุตร.ยังสอบพยานและตรวจ VDO ไม่เสร็จ

ปัญญาชนนักวิชาการตบเท้าแถลงขอศาลไม่ฝากขังต่อเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

เวลา 10.00 น.  สายน้ำ-นภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ ในฐานะผู้รับมอบฉันทะจาก สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือส.ศิวรักษ์ นักเขียนผู้ซึ่งได้ชื่อว่าปัญญาชนสยาม และอธึกกิต แสวงสุข หรือใบตองแห้ง นักสื่อสารมวลชนอาวุโสไทยเข้ายื่นคำแถลงต่อศาลอาญา ขอให้ศาลพิจารณาไม่อนุญาตฝากขังเป็นผัดที่สามในคดีของตะวันและแฟรงค์ ต่อมาในช่วงเวลา 14.00 น. สุชาติ สวัสดิ์ศรีและชาญวิทย์ เกษตรศิริก็มายื่นคำแถลงต่อศาลอาญาในทำนองเดียวกัน ตัวอย่างคำร้องเช่น

คำร้องของส.ศิวรักษ์มีใจความว่า “ข้าพเจ้า สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เนติบัณฑิตอังกฤษ จากสำนักเดอะมิดเดิ้ล เทมเปิล  ข้าฯเขื่อมั่นว่าโดยหลักแห่งนิติปรัชญา ทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และบุคคลจะต้องมีสิทธิเสรีภาพความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน การควบคุมกักขังที่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องทำเพื่อป้องกันภยันอันตรายอื่นใดหรือการหลบหนีเท่านั้น ต้องมีการประกันอิสรภาพของบุคคลอย่างเคร่งครัด และจะตีความกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพเป็นหลักไม่ได้ ข้าฯ เห็นว่า ผู้ต้องหาทั้งสองคนนี้ เป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาที่พนักงานอัยการยังไม่ได้ฟ้องเป็นคดีต่อศาล และการต่อสู้ของเยาวชนสองคนนี้เห็นชัดว่า เป็นกรณีของการต่อสู้ทางความคิด ไม่มีเหตุผลใดทั้งทางมนุษยธรรมและทางหลักกฎหมายที่จะควบคุมขังเด็กไว้ตามคำร้องของรัฐ ขอศาลได้ปลดปล่อยเด็กเหล่านี้ ตามอำนาจที่ศาลยุติธรรมมีอยู่ เพื่อให้เขามีสิทธิต่อสู้ทางความคิด และมีสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ หากผิดก็ลงทัณฑ์ หากถูกก็ให้ยกฟ้องและให้ปล่อยเด็กโดยทันที”

TRP_8871
TRP_8876

คำร้องของใบตองแห้งมีใจความบางส่วนว่า “ข้าฯเชื่อว่าไม่มีใครอยากย้อนกลับไปอยู่ภายใต้ระบบเก่า และประเทศไทยจะต้องตั้งหลักจากประชาธิปไตย โดยมีหลักใหญ่ใจความคืออำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน และข้าพเจ้าเชื่อว่าองค์กรตุลาการเป็นเสาหลักซึ่งรับประกันความปลอดภัยและสิทธิเสรีภาพของประชาชนเหล่านี้ ดำรงตนเป็นจุดเชื่อมโยงที่ปกปักพิทักษ์รักษาให้ความปลอดภัยระหว่างประชาชนกับการปกครอง ข้าฯ ขอยืนยันว่าการปล่อยตัวชั่วคราวบุคคลนั้นเป็นสิทธิของบรรดาผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา การจำคุก กักขัง ควบคุมบุคคลใดเกินกว่าที่สมควรตามเหตุผลทำกฎหมายกำหนดนั้นจะกระทำมิได้ ด้วยความเคารพต่อศาลอาญา ข้าฯเห็นวาการรับฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองในคดีนี้ไว้ และไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวออกไป ทั้งที่ทั้งสองมิได้มีพฤติการณ์หลบหนี ยินยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมที่บริเวณหน้าศาลอาญา และโดยที่ทั้งสองไม่ใช่บุคคลที่จะสามารถเข้ายุ่งเหยิงพยานหลักฐานและกระทำการขัดขวางสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนนั้น เป็นกรณีที่เป็นอันตรายต่อกระบวนการยุติธรรม และต่อตัวเยาวชนทั้งสองโดยอาจเป็นการด้อยค่าสิทธิมนุษยชนของพวกเขา…”

ไต่สวนคัดค้านการฝากขังผัดสาม ตร.รับผู้ต้องหายุ่งเหยิงพยานหลักฐานไม่ได้

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ในช่วงเช้าศาลนัดไต่สวนคำร้องคัดค้านการขอฝากขังเป็นผัดที่สาม โดยทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้เบิกตัวตะวันและแฟรงค์มาฟังการไต่สวนที่ศาลอาญา แต่ท้ายสุดไม่ได้มีการเบิกตัวทั้งสองมาและมีเพียงแฟรงค์ที่ร่วมฟังการไต่สวนผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในการไต่สวนมีพยานคือ พ.ต.ต.ธราดล วงศ์เจริญยศ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ผู้ร้องขอฝากขัง เหตุจำเป็นที่ต้องฝากขังต่อคือ ต้องสอบปากพยานประชาชนทั่วไปอีก 2 ปาก และรอผลตรวจวิดีโอทางวิทยาศาสตร์จากกองพิสูจน์หลักฐานว่ามีการแก้ไข หรือดัดแปลงหรือไม่ ซึ่งพยานคาดว่าผลตรวจดังกล่าวจะได้ภายในเวลาไม่เกินหนึ่งสัปดาห์  และอาจสอบสวนพยานให้แล้วเสร็จ ได้ภายในการฝากขังครั้งที่สาม 

ทั้งนี้ในการถามค้านพ.ต.ต.ธราดลไม่ทราบว่า พยานที่เหลือเป็นใคร แต่คณะสืบสวนทราบในประเด็นนี้และรับว่า ผู้ต้องหาทั้งสองคนไม่สามารถเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ ดังนั้นถ้าหากศาลไม่รับฝากขัง ก็จะไม่เป็นอุปสรรคต่อผู้ร้องแต่อย่างใด หลังไต่สวนเสร็จผู้พิพากษานำคดีไปปรึกษารองอธิบดีศาลอาญาตามระเบียบของศาลอาญาว่าด้วยแนวทางการบริหารจัดการคดีสำคัญและเป็นที่สนใจ จากนั้นเวลา 14.10 น. จึงอ่านคำสั่งให้ฝากขังต่อเป็นผัดที่สาม เนื่องจากพนักงานสอบสวนมีเหตุจำเป็น คำร้องจึงชอบตามกฎหมาย

“คำร้องขอฝากขังครั้งที่ ๓ และข้อเท็จจริงจากการไต่สวนแล้ว เห็นว่า คดียังอยู่ระหว่างการสอบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ และผู้ร้องยังมีพยานบุคคลที่จะต้องสอบอีก ๒ ปาก ซึ่งเป็นพยานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาทั้งสอง ทั้งยังต้องรอผลการตรวจทางวิทยาศาสตร์จากกองพิสูจน์หลักฐาน (คลิปวิดีโอ) ว่ามีการแก้ไข ตัดแปลงหรือไม่ เพื่อประกอบการพิจารณาทำความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสอง กรณีมีเหตุจำเป็นที่ต้องควบคุมผู้ต้องหาทั้งสองต่อไป ดังนั้น คำร้องขอฝากขังครั้งที่ ๓ ของผู้ร้อง จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๗ และในส่วนเรื่องอำนาจการควบคุมตัวผู้ต้องหา เมื่อศาลอนุญาตให้หมายขังตามคำร้องขอฝากขังแล้ว เป็นดุลพินิจของศาลที่จะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๒๙ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๐๘/๑ ซึ่งผู้ต้องหาทั้งสองมีสิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวหรืออุทธรณ์คำสั่งได้ตามกฎหมาย จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องฝากขังได้ตามขอ และกำชับให้พนักงานสอบสวนให้เร่งรัดการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายในการฝากขังครั้งนี้”

You May Also Like
อ่าน

นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนพฤษภาคม 2567

เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมสิบคดี แบ่งเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นแปดคดี ศาลอุทธรณ์และฎีกาอย่างละหนึ่งคดี
อ่าน

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อของวอยซ์ทีวี หลังประกาศปิดฉาก 15 ปี

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ที่เรียกว่า อายุเกือบครึ่งหนึ่งของวอยซ์ทีวีต้องเผชิญกับการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพ