ตามระบอบประชาธิปไตย ประชาชนคือผู้มีส่วนร่วมและมีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารจัดการโครงสร้างและแนวนโยบายบริหารประเทศ ผ่านการออกเสียง ทั้งลงคะแนนเลือกตั้งผู้นำมาบริหารจัดการในส่วนต่างๆ ของประเทศ เลือกผู้แทนไปออกกฎหมาย รวมถึงการออกเสียงประชามติเพื่อตัดสินใจสิ่งที่มีความสำคัญในระดับชาติ
ในอดีตที่ผ่านมากว่าหลายร้อยปี ความหมายของคำว่า “ประชาชน” ในแต่ละประเทศที่จะมาใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเพื่อกำหนดทิศทางของประเทศไม่ได้หมายถึงประชาชนทั้งหมดภายในประเทศ หลายประเทศที่มีการพัฒนาประชาธิปไตยมักริเริ่มระบอบประชาธิปไตยโดยให้อำนาจและสิทธิแก่ “ผู้ชาย” ก่อน “ผู้หญิง” แต่ก็มีหลายประเทศที่ริเริ่มระบอบประชาธิปไตยโดยไม่นำเหตุแห่งเพศมาเลือกปฏิบัติ
วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันที่ทั้งโลกร่วมรำลึกถึงขบวนการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศของผู้หญิงทั่วโลกที่เคยถูกเอารัดเอาเปรียบจากการใช้แรงงานที่กดขี่และเอาเปรียบโดยอาศัยเหตุแห่งเพศเป็นปัจจัยในการกดขี่ ในโอกาสวันสตรีสากล ชวนย้อนดูประวัติศาสตร์สิทธิเลือกตั้งของผู้หญิง ห้าประเทศ ได้แก่ นิวซีแลนด์ ไทย สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และปากีสถาน ว่าผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งกันเมื่อไร
นิวซีแลนด์ ชาติแรกของโลกที่ให้สิทธิผู้หญิงเลือกตั้งอย่างเท่าเทียม
แม้หลายรัฐทั่วโลกก่อนจะรวมเป็นประเทศที่รู้จักกันในปัจจุบัน จะเคยให้สิทธิผู้หญิงมีส่วนร่วมออกเสียงเลือกตั้งในบางระดับมาก่อนหน้าแล้ว เช่น ให้ผู้หญิงเจ้าของที่ดินมีสิทธิเลือกตั้งบางพื้นที่ชนบทของฟรีสแลนด์ (Friesland, ในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์) แต่การให้สิทธิเลือกตั้งข้างต้นกลับถูกจำกัดด้วยปัจจัยบางอย่าง เช่น ต้องเป็นเจ้าของที่ดิน เป็นผู้มีการศึกษา หรือเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมหรือองค์กรที่ผู้ชายเป็นคนจัดการดูแล และในหลายประเทศที่ให้สิทธิผู้หญิง ก็มักจะมีการยกเลิกสิทธิในภายหลัง เช่น ในพื้นที่ยูทาห์ (ก่อนจะรวมเป็นหนึ่งในรัฐของสหรัฐอเมริกาในภายหลัง) ในปี 1870 (พ.ศ. 2413) ที่ให้สิทธิกับผู้หญิงในการออกเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นและในการเลือกตั้งทั่วไป ก่อนจะถูกยกเลิกโดยการผ่านกฎหมาย Edmund-Tucker Act ในปี 1887 (พ.ศ. 2430)
ภายใต้ความผิดหวังและการต่อสู้เพื่อให้ผู้หญิงได้รับความเท่าเทียมในสิทธิเลือกตั้ง ในช่วงปี 1887-1893 (พ.ศ. 2430 – 2436) สหภาพผู้หญิงคริสเตียน (Woman’s Christian Temperance Union หรือ WCTU) ได้รณรงค์ให้ฝ่ายนิติบัญญัติของนิวซีแลนด์ในขณะนั้นผ่านกฎหมายเพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ในระยะช่วงแรกของการรณรงค์คู่ขนานกับการพิจารณากฎหมายในรัฐสภานิวซีแลนด์ การรณรงค์ไม่เป็นที่ประสบความสำเร็จมากนัก ฝ่ายที่ต่อต้านมักอ้างว่าผู้หญิงอยู่นอกเหนือขอบเขตของการเมืองและควรที่จะอยู่ที่บ้านเพื่อดูแลครอบครัวมากกว่า ภายหลังจากที่กฎหมายถูกปัดตกในสภาหลายครั้งในที่สุดในปี 1893 (พ.ศ. 2436) ทั้งสภาล่างและสภาสูงของนิวซีแลนด์ก็ได้ให้ความเห็นชอบกับการให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้ง นอกจากการขับเคลื่อนให้กฎหมายผ่านในรัฐสภาแล้ว Kate Sheppard นักรณรงค์จาก WCTU ยังรวบรวมรายชื่อเพื่อร่วมกันสนับสนุนให้รัฐสภาเห็นถึงความจำเป็นของการผ่านกฎหมายเพื่อความเท่าเทียมนี้ด้วย โดยในปี 1893 (พ.ศ. 2436) รายชื่อทั้งหมดซึ่งเป็นพลเมืองหญิงที่มีอายุมากกว่า 21 ปี ได้รับการสนับสนุนกว่า 32,000 รายชื่อ ซึ่งเกือบเทียบเป็นหนึ่งในสี่ของประชากรหญิงเชื้อชาติยุโรปทั้งหมดที่มีอยู่ในนิวซีแลนด์
หลังจากการผ่านกฎหมายเพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งเท่าเทียมกับผู้ชายแล้ว นับจากปี 1893 (พ.ศ. 2436) เป็นต้นมา ผู้หญิงก็เริ่มมีเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน โดยตั้งแต่ปี 1856 (พ.ศ. 2399) จนถึงปี 2024 (พ.ศ. 2567) นิวซีแลนด์มีนายกรัฐมนตรี 42 คน เป็นผู้หญิงสามคน โดยคนแรกคือ Jenny Shipley ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1997-1999 (พ.ศ. 2540-2542) ตามมาด้วย Helen Clark ที่ดำรงตำแหน่งยาวถึงสามวาระ ตั้งแต่ปี 1999-2008 (พ.ศ. 2542-2551) และ Jacinda Ardern ที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดีที่ดำรงตำแหน่งถึงสองวาระ ในช่วงปี 2017-2023 (พ.ศ. 2560-2566)
ประเทศไทย สิทธิเลือกตั้งที่มาพร้อมการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ขยับจากนิวซีแลนด์มาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยหรือราชอาณาจักรสยามในช่วงเวลาก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 (ค.ศ. 1932) เคยให้สิทธิแก่ราษฎรทั้งชายหญิงมีที่อายุ 20 ปีขึ้นมีสิทธิเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 (ค.ศ. 1914) โดยไม่ได้แบ่งแยกประเภทของราษฎรว่าราษฎรประเภทหรือเพศ อย่างไรก็ดี ก็ยังมีการกำหนดว่าผู้ที่จะเป็นผู้หใหญ่บ้านได้ต้องเป็นชายเจ้าบ้าน ที่ไม่ใช่คนใช้และลูกจ้างของผู้อื่น แต่ไม่ได้เป็นทหารในกองประจำการ แต่ในการเลือกตั้งท้องถิ่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอจึงทำให้ไม่อาจชี้วัดได้ว่าผู้หญิงมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมทางการเมืองในสยามมากน้อยเพียงใด
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 (ค.ศ. 1932) พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก มาตรา 14 กำหนดให้ราษฎรไม่ว่าเพศใด มีสิทธิออกเสียงเลือกผู้แทนหมู่บ้านได้ถ้ามีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ เช่น อายุ 20 ปี จะเห็นได้ว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ก็ไม่ได้จำกัดสิทธิเลือกตั้งเฉพาะเพศใดเพศหนึ่งไว้ ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับที่สอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ในบทเฉพาะกาลก็กำหนดให้ราษฎรมีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่ได้ระบุเจาะจงเพศใดเพศหนึ่ง
กล่าวได้ว่า นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยหรือสยามก็ไม่เคยมีการกำหนดให้เพศใดเพศหนึ่งมีสิทธิเหนือว่าในการเลือกตั้ง จึงทำให้ในการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศไทยผู้หญิงมีทั้งสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง รวมถึงมีสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งในการดำรงตำแหน่งต่างๆ อีกด้วย ในการเลือกตั้งครั้งแรกๆ ในประวัติศาสตร์ไทย พบว่ามีผู้หญิงลงสมัครรับเลือกตั้งในหลายตำแหน่ง เช่น ผู้แทนตำบล และผู้แทนราษฎร แม้จะไม่ได้รับการเลือกตั้งแต่ก็สะท้อนว่าภายในระยะเริ่มแรกของการมีประชาธิปไตย ประเทศไทยไม่เคยมีการใช้เหตุแห่งเพศมาจำกัดสิทธิเลือกตั้งของประชาชนมาก่อน
หลังจากการเริ่มมีประชาธิปไตยแบบไม่แบ่งแยกเพศ ผู้หญิงก็ได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางการเมืองในหลายมิติโดยเฉพาะในการลงสมัครและการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในปี 2491 (ค.ศ. 1948) อรพินทร์ ไชยกาล ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานีและถือว่าเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แม้ว่าในฝ่ายอำนาจนิติบัญญัติจะไม่เคยมีผู้นำเช่นตำแหน่งประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภาที่เป็นเพศหญิงมาก่อน แต่ประเทศไทยเคยมีรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สองที่เคยเป็นผู้หญิงซึ่งคือ ลลิตา ฤกษ์สำราญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยรักไทย ในขณะเดียวกันสำหรับตำแหน่งผู้นำในอำนาจบริหาร ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยได้รับเลือกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก) ในปี 2555-2557 (ค.ศ. 2012-2014) และหมดวาระลงด้วยการรัฐประหาร และในฟากอำนาจตุลาการพบว่าประเทศไทยเคยมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้หญิงคนแรกและคนเดียวคือ เสาวนีย์ อัศวโรจน์ ซึ่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ 2540 และในส่วนของศาลยุติธรรม เคยมีผู้หญิงดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกามาแล้วสามคน ได้แก่ เมทินี ชโลธร ในปี 2563–2564 (ค.ศ. 2020-2021) ปิยกุล บุญเพิ่ม ในปี 2564–2565 (ค.ศ. 2021-2022) และอโนชา ชีวิตโสภณ ซึ่งเริ่มเข้าสู่ตำแหน่งประธานศาลฎีกาตั้งแต่ปี 2566 (ค.ศ. 2023)
สหรัฐอเมริกา ร้อยกว่าปีในการต่อสู้ให้ผู้หญิงทุกคนมีสิทธิเลือกตั้ง
ในปี 1788-1789 (พ.ศ. 2331-2332) หลังจากสหรัฐอเมริกาก่อตั้งประเทศและมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนแรก ภายในระยะเวลาใกล้เคียงกันก็มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แต่ในการเลือกตั้งครั้งแรกนั้นไม่เหมือนกับประเทศไทยที่ได้มีการให้สิทธิกับผู้หญิงในการออกเสียงเลือกตั้งหรือสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งต่างๆ ของประเทศ กว่าผู้หญิงจะมีสิทธิเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกันทั้งสหรัฐก็กินเวลายาวนานตั้งแต่ก่อตั้งประเทศร้อยกว่าปี ซึ่งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มเติมบัญญัติใหม่ในครั้งที่ 19 เพิ่งจะเป็นครั้งแรกที่มีการให้สิทธิแก่ผู้หญิงในการเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมในระดับชาติ
สหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นจากการวบรัฐหลายรัฐเข้าด้วยกันเป็นสหรัฐอเมริกา โดยมีรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นที่ทำหน้าที่แตกต่างกัน จึงทำให้รัฐบาลท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการตนเองรวมถึงออกกฎหมายเพื่อกำหนดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป โดยในช่วงระยะแรกหลังจากก่อตั้งประเทศมีเพียงไม่กี่รัฐที่ให้สิทธิผู้หญิงในการเลือกตั้ง แต่ด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น สีผิว เชื้อชาติ ฐานะทางเศรษฐกิจ และสถานะทางสังคมจึงทำให้ “ไม่ใช่” ผู้หญิงทุกคนจะมีสิทธิเลือกตั้ง เช่นกรณีของ Lydia Taft หม้ายผู้ร่ำรวยที่ได้รับสิทธิในการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นในเมืองภายในรัฐ Massachusetts แต่ผู้หญิงกลุ่มอื่นกลับไม่ได้รับสิทธินั้นเช่นเดียวกับ Lydia สิทธิของผู้หญิงในการเลือกตั้งในระยะแรกบางรัฐกำหนดให้ต้องเป็นผู้หญิงที่มีสถานะที่เป็นหม้าย เป็นเจ้าของที่ดินที่ต้องเสียภาษี หรือต้องเป็นผู้นำครัวเรือน เท่านั้น
ภายหลังสิ้นสุดสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐทางเหนือและรัฐทางใต้ในประเด็นของการครอบครองทาสแอฟริกันอเมริกัน สหรัฐอเมริกาก็ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 14 ในปี 1868 (พ.ศ. 2411) โดยเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้สิทธิความเป็นพลเมืองและสิทธิเลือกตั้งให้แก่ประชาชนสหรัฐอเมริกาโดยไม่แบ่งแยกสีผิว และในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้นก็ได้มีการออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อยกเลิกการครอบครองและค้าขายทาสเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์โดยไม่สนว่าจะมีสีผิวใดก็ตาม ในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 14 ระบุว่า
“Representatives shall be apportioned among the several states according to their respective numbers, counting the whole number of persons in each state, excluding Indians not taxed. But when the right to vote at any election for the choice of electors for President and Vice President of the United States, Representatives in Congress, the executive and judicial officers of a state, or the members of the legislature thereof, is denied to any of the male inhabitants of such state, being twenty-one years of age, and citizens of the United States, or in any way abridged, except for participation in rebellion, or other crime, the basis of representation therein shall be reduced in the proportion which the number of such male citizens shall bear to the whole number of male citizens twenty-one years of age in such state.”
ใจความสำคัญในบทบัญญัตินี้คือแบ่งสรรจำนวนผู้แทนราษฎรในรัฐต่างๆ และพยายามป้องกันไม่ให้รัฐต่างๆ เลือกปฏิบัติกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อความได้เปรียบทางการเมือง หากแต่ในข้อความในมาตรา 2 มีกำหนดเพศโดยเฉพาะเจาะจง มีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่จะได้รับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิตามการแก้ไขครั้งนี้ นอกจากนี้ในรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 15 ในปี 1870 (พ.ศ. 2413) มาตรา 1 ระบุถึงสิทธิการเลือกตั้งของพลเมืองสหรัฐอย่างเท่าเทียม โดยกำหนดไว้ว่า “The right of citizens of the United States to vote shall not be denied or abridged by the United States or by any State on account of race, color, or previous condition of servitude.” ซึ่งมีใจความสำคัญว่าสิทธิในการเลือกตั้งจะไม่ถูกปฏิเสธโดยสหรัฐหรือรัฐในเครือโดยเหตุแห่งเชื้อชาติ สีผิว หรือสภาวะความเป็นทาสที่มีอยู่ก่อนหน้า โดยไม่มีลักษณะของเพศที่ถูกกำหนดให้เป็นลักษณะที่จะได้รับสิทธิในการเลือกตั้ง
นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งประเทศเป็นต้นมารวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งที่ 14 และ 15 ขบวนการเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งให้แก่ผู้หญิงก็เริ่มรณรงค์เรื่อยมา โดยพยายามคัดค้านและนำเสนอว่าผู้หญิงก็ควรมีสิทธิเลือกตั้งได้อย่างทัดเทียมกับผู้ชายในระดับชาติ (ทั่วทุกรัฐ) โดยมีองค์หลักสององค์กรได้แก่ National Woman Suffrage Association (NWSA) และ American Women Suffrage Association (AWSA)
ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1872 (พ.ศ. 2415) Susan B. Anthony จาก NWSA พยายามลงทะเบียนเพื่อมีสิทธิเลือกตั้งในรัฐนิวยอร์คโดยใช้เหตุผลว่ารัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 14 ให้สิทธิเลือกตั้งแก่เธอ ต่อมาเธอถูกจับกุม แม้เธอจะปฏิบัติการกระบวนการแต่ก็ถูกตัดสินให้ต้องจ่ายค่าปรับ 100 ดอลลาร์ สำหรับการไปเลือกตั้ง ในปีเดียวกันนั้น Victoria Woodhull ก็ได้รับการเสนอชื่อจากพรรค Equal Rights Party ให้เป็นประธานาธิบดี เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นประธานาธิบดี นอกจากนี้ในปี 1875 ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาก็ได้ตัดสินในคดี Minor v. Happersett ให้ผู้หญิงไม่ได้รับสิทธิการเลือกตั้งตามบทบัญญัติการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 14 ในช่วงเวลาต่อจากนั้นจนถึงปี 1900 (พ.ศ. 2443) ก็ได้มีความพยายามหลายครั้งและหลายรัฐในการผ่านกฎหมายเพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้ง แต่มักถูกยกเลิกภายหลังจากการผ่านกฎหมายอีกฉบับมาแทนหรือการตัดสินจากศาลสูงสุดว่าผู้หญิงไม่มีสิทธิเลือกตั้ง
ในปี 1890 (พ.ศ. 2433) NWSA และ AWSA ผนวกรวมกันเป็น National American Woman Suffrage Association (NAWSA) และเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการผลักดันสิทธิการเลือกตั้งของผู้หญิงในระดับชาติ โดยในปี 1908 (พ.ศ. 2451) ก็ได้มีการเดินรณรงค์เพื่อสนับสนุนสิทธิการเลือกตั้งของผู้หญิงครั้งแรกที่ Oakland รัฐ California นับจากนั้นการรณรงค์ก็เริ่มแผ่ขยายขึ้นเป็นระดับชาติ หลายพรรคการเมืองต่างหันมาให้ความสำคัญกับการให้สิทธิผู้หญิงในการเลือกตั้งมากยิ่งขึ้น รวมถึงประธานาธิบดี Woodrow Wilson ประธานาธิบดีของสหรัฐในยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ก็ได้ให้คำมั่นว่าพรรค Democrat จะให้การสนับสนุนสิทธิการเลือกตั้งของผู้หญิง โดยในปี 1918 (พ.ศ. 2461) เมื่อมีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐครั้งที่ 19 เขาก็ได้สนับสนุนตามที่ให้คำมั่นไว้ รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 19 ก็ได้ผ่านในสภาผู้แทนราษฎร และได้รับสัตยาบันจากรัฐต่างๆ ในสหรัฐในปี 1920 (พ.ศ. 2463) ซึ่งบทบัญญัติในการแก้ไขครั้งนี้ มีใจความว่า “สิทธิของพลเมืองสหรัฐในการเลือกตั้งจะไม่ถูกปฏิเสธหรือถูกตัดทอนโดยสหรัฐ หรือรัฐใดๆ ด้วยเหตุแห่งเพศ” ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศที่ผู้หญิงในสหรัฐอเมริกา (ยกเว้นผู้หญิงแอฟฟริกันอเมริกัน และผู้ที่ไม่สามารถจ่ายภาษีเลือกตั้งได้ ซึ่งถูกยกเลิกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 24 รวมถึงการผ่านกฎหมาย Voting Rights Act ในปี 1965) มีสิทธิเลือกตั้งอย่างทัดเทียมกันทั่วทั้งสหรัฐ ตั้งแต่ปี 1776 จนถึง 1920 (พ.ศ. 2319-2463) นับเป็นเวลากว่า 144 ปี กว่าที่ผู้หญิงสหรัฐจะมีสิทธิเลือกตั้ง และนับเป็นเวลากว่า 189 ปี กว่าที่ผู้หญิง “ทุกคน” ไม่ว่าจะสีผิวใดๆ ในสหรัฐอเมริกาจะได้รับสิทธิเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกันทั้งสหรัฐ
แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะยังไม่เคยมีประธานาธิบดีที่เป็นผู้หญิง แต่ในสมัยของ Joe Biden ปี 2020-2024 (พ.ศ. 2563-2567) ก็มี Kamala Harris รองประธานาธิบดีที่เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเลือกตำแหน่งสูงที่สุดรองจากประธานาธิบดี นอกจากนี้สหรัฐอเมริกายังเคยมีตุลาการในศาลสูงสุดหลายคนที่เป็นผู้หญิงโดยคนที่ทั้งโลกรู้จักเป็นอย่างดีคือ Ruth Bader Ginsburg ที่เสียชีวิตในปี 2020 และเรื่องราวของเธอถูกทำเป็นภาพยนตร์เรื่อง On the Basis of Sex (2018)
เยอรมนี ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งในระบอบใหม่
ขยับมาที่ทวีปยุโรป หลังการรวมชาติของเยอรมันภายใต้การนำของปรัสเซียจึงได้ก่อกำเนิดจักรวรรดิเยอรมันในปี 1871 (พ.ศ. 2414) แม้ภายใต้การปกครองในระบอบนี้จะยังไม่ใช่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เพราะอำนาจในการบริหารประเทศยังเป็นของไคเซอร์ (จักรพรรดิ) แต่ก็ยังมีการจัดให้มีการเลือกตั้งเพื่อให้มีผู้แทนของเขตต่างๆ ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงในรัฐสภาเยอรมัน ซึ่งในการเลือกตั้งนี้เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา ไม่ได้มีการให้สิทธิแก่ผู้หญิงในการมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อออกเสียงเลือกตั้ง โดยในกฎหมายการเลือกตั้งของเยอรมันซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่ยุคปรัสเซีย (Electoral Law for the Reichstag of the North German Confederation ปี 1869 หรือ พ.ศ. 2412) กำหนดไว้อย่างชัดเจนในมาตราแรกว่า “ผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งจะต้องเป็นผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และเขา (he) ต้องอาศัยอยู่ในรัฐที่ลงคะแนน” ซึ่งหมายความว่าในการเลือกตั้งภายในจักรวรรดิเยอรมันจะมีแค่เพียงผู้ชายเท่านั้นที่มีสิทธิในการเลือกตั้ง
ช่วงหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จักรวรรดิเยอรมันสิ้นสุดลงหลังไคเซอร์ตัดสินใจยอมสละราชสมบัติในฐานะจักรพรรดิแห่งจักวรรดิเยอรมันหลังจากที่ปฏิเสธมาหลายครั้ง (การสละราชสมบัติเป็นส่วนหนึ่งในเงื่อนไขเจรจาเพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสำหรับเยอรมนี) ภายหลังจากที่สละราชสมบัติก็ได้ก่อกำเนิดสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic) ขึ้นมาในปี 1919-1933 (พ.ศ. 2462-2476) ภายใต้สาธารณรัฐไวมาร์แห่งใหม่นี้ก็ได้เปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญมาสู่ระบอบสาธารณรัฐโดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข มีการปกครองระบบรัฐสภา โดยในรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐไวมาร์ มาตรา 22 หมวดสภาผู้แทนแห่งจักรวรรดิ (Der Reichstag) กำหนดไว้ว่า สมาชิกสภาผู้แทนผู้แทนจะถูกเลือกตั้งโดยทั่วไป โดยเสมอภาค โดยตรง และโดยลับ จากผู้ชายและผู้หญิงทุกคนที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ นอกจากนี้ในมาตรา 109 หมวดสิทธิขั้นพื้นฐานและหน้าที่ของชาวเยอรมัน ยังกำหนดไว้ว่า ชาวเยอรมันทุกคนเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย ผู้ชายและผู้หญิงมีสิทธิและหน้าที่พลเมืองเดียวกัน จึงทำให้ภายใต้การปกครองของสาธารณรัฐไวมาร์ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งและสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ทัดเทียมกับผู้ชายเป็นครั้งแรกในเยอรมนี
สาธารณรัฐไวมาร์ถูกแปลงรูปแบบการปกครองภายใต้การปกครองของพรรคนาซีไปเป็นระบอบเผด็จการที่มีแนวคิดสังคมนิยมชาตินิยม หากแต่สิทธิการเลือกตั้งของผู้หญิงยังคงอยู่เช่นเดิม ไม่เพียงแต่ภายใต้ระบอบนาซีเท่านั้น หลังจากการสิ้นสุดของระบอบนาซี (หลังสงครามโลกครั้งที่สอง) และนำไปสู่การแยกเป็นเยอรมันตะวันออกและตะวันตก ผู้หญิงยังคงมีสิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้งและยังสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนในระดับต่างๆ ได้ หากแต่ในบางระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยดังเช่น เยอรมันตะวันออกที่ถูกควบคุมโดยสหภาพโซเวียต หรือเยอรมันภายใต้การปกครองของพรรคนาซี ที่มีการควบคุมพัฒนาการของประชาธิปไตยอย่างเข้มงวด การมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะถูกควบคุมอย่างเข้มงวดหรือในบางกรณีก็มีการมอบบทบาทพิเศษให้กับผู้หญิงดังเช่นในการปกครองของนาซี โดยการมอบบทบาทความเป็นแม่และความเป็นผู้หญิงเพื่อเป็นตัวแทนแนวคิดตามอุดมคติของพรรคนาซี
ภายหลังการรวมประเทศครั้งที่สองของเยอรมันในปี 1990 (พ.ศ. 2533) สิทธิการเลือกตั้งของผู้หญิงในเยอรมนียังถูกคงไว้ดังเดิมตั้งแต่มีการก่อตั้งสาธารณรัฐไวมาร์ โดยในรัฐธรรมนูญเยอรมัน มาตรา 3 ระบุไว้ว่า (1) บุคคลทุกคนเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย (2) ผู้ชายและผู้หญิงมีสิทธิเสมอภาคกัน รัฐต้องพึงส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและขจัดความไม่เป็นธรรมที่ยังมีอยู่ (3) ไม่มีใครควรได้รับความโปรดปรานหรือความเกลียดชังด้วยเหตุแห่งเพศ ความเป็นบิดามารดา เชื้อชาติ ภาษา ถิ่นที่กำเนิด ความเชื่อทางศาสนา หรือความคิดเห็นทางการเมือง และไม่มีใครได้รับความเกลียดชังด้วยเหตุแห่งความพิการ นั่นจึงทำให้เยอรมันเป็นประเทศที่ผู้หญิงมีสิทธิทัดเทียมกับผู้ชายในทางการเมือง โดยนักการเมืองที่โด่งดังและมีวาระการดำรงตำแหน่งมายาวนานในประวัติศาสตร์เยอรมันในศตรวรรษที่ 21 คือ Angela Merkel จากพรรค Chistlich Demokratische Union Deutschland (CDU, Christian Democratic Union of Germany) โดย Merkel ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งเยอรมนีตั้งแต่ปี 2005-2021 (พ.ศ. 2548-2564) รวมระยะเวลายาวนานกว่า 16 ปีภายใต้การปกครองของผู้หญิงในเยอรมนี
ปากีสถาน นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในโลกมุสลิม
ในปี 1947 (พ.ศ. 2490) พร้อมกันกับหลายประเทศที่ได้รับเอกราชภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ปากีสถาน พร้อมด้วยประเทศต่างๆ ที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองแบบอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ เมื่อได้รับเอกราชแล้วภายในระยะเริ่มแรกของการก่อตั้งประเทศได้มีการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยโดยไม่ได้แบ่งแยกกีดกันสิทธิในการเลือกตั้งด้วยเหตุแห่งเพศ ในปีเดียวกันนั้น อาเจนติน่า จีน มอลตา อินเดีย เนปาล และสิงคโปร์ ก็เริ่มให้สิทธิการเลือกตั้งให้กับผู้หญิงเช่นเดียวกับปากีสถาน
ช่วงระยะเริ่มแรกของการก่อตั้งประเทศปากีสถานตั้งแต่ปี 1947-1969 (พ.ศ. 2490-2512) แม้จะไม่ได้มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับใดถึงสิทธิในการเลือกตั้งของผู้หญิง แต่ผู้หญิงก็มีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งผ่านการลงคะแนนออกเสียงเลือกตั้งและการลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งต่างๆ ทัดเทียมกับผู้ชาย จนถึงในปี 1970 (พ.ศ. 2513) นายกรัฐมนตรี Zulfikar Ali Bhutto ได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมทางการเมือง ในรัฐบาลคณะนี้ได้มุ่งผลักดันความเท่าเทียมทางเพศ โดยได้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และประกาศใช้ในปี 1973 (พ.ศ. 2516) ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวในมาตรา 51 สรุปใจความว่าผู้หญิงจะมีตำแหน่งในสภาตามสัดส่วนพิเศษและจะได้รับการเลือกตั้งตามสัดส่วนที่พรรคการเมืองต่างๆ เสนอชื่อ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดไว้ในหมวดการส่งเสริมความยุติธรรมในสังคมและขจัดความชั่วร้ายในสังคม ตามมาตรา 37 สรุปใจความว่า รัฐพึงจัดให้มีข้อกำหนดในการรักษาเป็นธรรมและมีมนุษยธรรมของการทำงานเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กและสตรีไม่ถูกจ้างงาน อาชีพที่ไม่เหมาะสมกับอายุหรือเพศ และการคลอดบุตร ผลประโยชน์สำหรับผู้หญิงในการจ้างงาน
Zulfikar Ali Bhutto ถูกรัฐประหารในปี 1977 (พ.ศ. 2519) โดย นายพล Muhammad Zia-ul-Haq ตลอดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของ Zia รัฐบาลได้เริ่มนำข้อบังคับทางศาสนาอิสลามมาบังคับใช้ โดยบังคับให้ผู้หญิงต้องสวมผ้าปิดเส้นผมในสถานที่สาธารณะต่างๆ รวมถึงจำกัดสิทธิของผู้หญิงในการมีส่วนร่วมทางสังคมและการเมืองในหลายระดับ ก่อนจะยอมให้มีการเลือกตั้งในปี 1988 (พ.ศ. 2531) Benazir Bhutto ลูกสาวของ Zulfikar Ali Bhutto ได้ลงสมัครในการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้จะถูกต่อต้านจากกลุ่มผู้นิยมศาสนาอย่างรุนแรงแต่พรรคของ Benazir ก็ได้รับการเลือกตั้ง 93 จาก 205 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคที่ต่อต้านเธอได้เพียงแค่ 54 ที่นั่ง จึงทำให้เธอสามารถจัดตั้งรัฐบาลและกลายเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในโลกมุสลิม และในวัย 35 ปี ทำให้เธอได้กลายเป็นผู้นำที่มีอายุน้อยที่สุดที่ได้รับการเลือกตั้งในโลกมุสลิม รวมถึงนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดในโลกรองจาก Sanna Mirella Marin นายกรัฐมนตรีหญิงฟินแลนด์ (2019-2023 หรือ พ.ศ. 2562-2566)
แม้ว่าปากีสถานจะให้สิทธิการเลือกตั้งกับผู้หญิงมาตั้งแต่ริเริ่มการก่อตั้งประเทศแต่ในปัจจุบันสตรีนิยมในปากีสถานยังคงถูกท้าทายด้วยค่านิยมทางสังคมและวัฒนธรรมทางศาสนาที่ยังคงเป็นอุปสรรคไม่ให้ผู้หญิงได้มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเต็มที่
หลายประเทศทั่วโลก ผู้หญิงได้รับสิทธิในการลงคะแนนออกเสียงเลือกตั้งด้วยสาเหตุที่แตกต่างกัน บางประเทศได้รับหลังจากที่ได้รับเอกราช (รวมถึงในบางประเทศที่ถูกปกครองภายหลังจากที่แพ้สงครามดังเช่นญี่ปุ่น) ซึ่งประเทศเจ้าอาณานิคมหรือประเทศผู้ดูแลเหล่านั้นได้ให้สิทธิเลือกตั้งแก่ผู้หญิงมาก่อนหน้าแล้ว จึงทำให้ประเทศในประเภทนี้มีแนวโน้มที่จะเริ่มระบอบประชาธิปไตยโดยไม่เอาสาเหตุแห่งเพศมาเป็นอุปสรรคในการให้ความเท่าเทียมแก่พลเมืองของตน หากแต่ก็มีหลายประเทศเช่นกันที่ผู้หญิงได้รับสิทธิเลือกตั้งผ่านขบวนการเรียกร้องยาวนานดังเช่นสหรัฐอเมริกา สะท้อนให้เห็นว่าสิทธิทางการเมืองบางประการไม่สามารถรอให้ผู้มีอำนาจหยิบยื่นให้ได้ตามความเมตตา หากแต่มาจากการต่อสู้ เรียกร้องรณรงค์อย่างเข้มข้นเพื่อให้ตนได้มีสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง