จับประเด็นเสวนา: ทางออกปัญหายาเสพติด ต้องปรับมุมคิดจากอาชญากรสู่ผู้ป่วย

26 กันยายน 2559 มีการจัดสัมมนาวิชาการความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย โดยเวทีในช่วงเช้าเป็นการอภิปรายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดในด้านการป้องกัน การบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสุขภาพผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด 

อย่างไรก็ดี วิทยากรทุกท่านได้ข้อสรุปที่ตรงกันว่า การแก้ปัญหายาเสพติดต้องเริ่มจากปรับมุมมองต่อผู้ที่เสพยาเสียใหม่ จากอาชญากรก็ควรจะเป็นผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาบำบัดฟื้นฟู และให้คงโทษไว้เฉพาะผู้ที่ผลิตหรือครอบครองเพื่อการค้า เพราะแนวทางการแก้ปัญหายาเสพติดแบบเดิมไม่ประสบผลสำเร็จอีกต่อไป

 

จากโลกความฝันสู่โลกความจริง: โลกที่ปลอดยาเสพติดเป็นไปไม่ได้

วีระพันธ์ งามมี กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิโอโซน เริ่มการอภิปรายด้วยการทบทวนแนวคิดของรัฐในอดีตเกี่ยวกับการแก้ปัญหายาเสพติดว่า รัฐต้องการจะสร้างโลกที่ปราศจากยาเสพติด โดยเน้นการห้ามและปราบปรามอย่างเด็ดขาด แต่วิธีการดังกล่าวก็ไม่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดและการใช้ยาเสพติดได้ ทั้งนี้ เนื่องจากว่า ทิศทางนโยบายมองข้ามขั้นตอนที่มีความละเอียดอ่อน และมุ่งแต่จะให้คนเลิกเด็ดขาดผ่านการลงโทษทางอาญา ซึ่งวีระพันธ์มองว่า วิธีการนี้เปรียบเหมือนการติดกระดุมที่ผิดเม็ด

วีระพันธ์กล่าวว่า โจทย์ของวันนี้ไม่ใช่การทำอย่างไรให้โลกปลอดยาเสพติด แต่เป็นจะทำอย่างไรให้สังคมปลอดจากการใช้ยาเสพติดในทางที่ผิด หรือทำอย่างไรให้คนใช้ยาสามารถควบคุมการใช้ยาของคุณได้ จะใช้อย่างไรไม่ให้ติด โดยวีระพันธ์เชื่อว่า ถ้าคนมีทักษะ มีความรู้ว่าจะจัดการกับพฤติกรรมการใช้ยาของตนเองอย่างไร ก็จะช่วยลดผลกระทบทางสังคม เช่น ไม่ก่ออาชญากรรม ไม่ลักขโมย หรือกลายเป็นส่วนหนึ่งของวงจรการค้ายาเสพติด

 

ผู้เสพยาเป็นผู้ป่วยหรืออาชญากร คำถามที่สังคมควรหาคำตอบ

สิ่งหนึ่งที่เลขาธิการมูลนิธิโอโซนพยายามตั้งคำถามอย่างท้าทายก็คือ ท้ายที่สุดแล้ว ผู้เสพยาเป็นอาชญากรหรือผู้ป่วย เพราะคำนิยามของอาชญากรรมคือ การกระทำที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมส่วนรวม แต่ในเมื่อการเสพยาเป็นเรื่องส่วนตัว แล้วแบบนี้จะยังเป็นอาชญากรรมอยู่หรือไม่ อีกทั้งในความเป็นจริงแล้ว การเสพยาเป็นเพียงพฤติกรรมที่อาจจะเสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขภาพ ไม่ต่างจากคนที่กินอาหารเค็มเกิน หวานเกินไป หรือไม่ได้ต่างจากคนที่กินเหล้าสูบบุหรี่

วีระพันธ์มองว่า เราจำเป็นต้องจำแนกผู้เสพยาให้ชัดเสียก่อน ภาพที่หลอนสังคมว่าคนที่เสพยาแล้วมีอาการคลุ้มคลั่งแท้จริงนั้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของผู้ใช้ยา และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ คนที่มีอาการคลุ้มคลั่งเป็นอาการป่วยเฉพาะตัวของผู้ใช้ยาอยู่ก่อนแล้ว ยาไม่ใช่สาเหตุสำคัญ ดังนั้น การใช้สายตามองผู้เสพยาควรต้องอยู่บนฐานเหตุผลและข้อเท็จจริง มิใช่ความเชื่อที่หลอกหลอนอยู่

ทั้งนี้ วีระพันธ์มีข้อเรียกร้องและข้อเสนอส่วนตัวว่า การจะปรับความเข้าใจของคนในสังคมให้ถูกเกี่ยวกับผู้ใช้ยา ต้องอาศัยกระทรวงสาธารณสุขและคุณหมอ ในการอธิบายกับสังคมให้ตรงกันว่า ท้ายที่สุด คนที่เสพยาเป็นคนป่วยใช่หรือไม่

 

“ผู้ที่เสพยาทุกคน ไม่ใช่คนที่ติดยา” การเหมารวมทำให้การแก้ปัญหาผิดจุด

วีระพันธ์ยกตัวเลขของผู้เสพยามาชี้แจงให้เห็นว่า แท้จริงแล้วสังคมยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับผู้เสพยาอยู่ เพราะ “ผู้ที่เสพยาทุกคน ไม่ใช่คนที่ติดยา” 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้เสพยาเป็นพวกเสพเป็นครั้งคราว เป็นความคึกคะนอง อยากลอง หรือตามเพื่อน ในขณะที่ผู้เสพยาที่เข้าข่ายเป็นผู้เสพติดมีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์

วีระพันธ์กล่าวว่า เมื่อผู้เสพยามีความซับซ้อน การแก้ปัญหาจึงไม่ควรใช้วิธีการเดียวในการแก้ปัญหา การเอาคนที่มีฉี่สี่ม่วงทุกคนไปบำบัดในระดับเดียวกัน แบบนี้มันผิดหลักทางการแพทย์ คุณต้องไปจำแนกก่อนว่าเป็นคนป่วยแบบไหน การไปยัดเยียดวิธีการรักษา ไม่ควรเอาคนจับใส่เข่งแล้วจับยัดอยู่ในเสื้อแบบเดียวกัน ทำให้การฟื้นฟูรักษาผู้ป่วยไม่ประสบผลสำเร็จ และหลายครั้งกลายเป็นส่งผลเสีย เช่น การจับคนผิดไปรวมกันกลับกลายเป็นส่งเสริมให้เกิดการขยายเครือข่ายยาเสพติดแทน

วีรพันธ์มองว่า การแก้ปัญหายาเสพติดต้องใช้หลักทางด้านสาธารณสุข โดยใช้แม่แบบการแก้ปัญหาผู้ติดเชื้อเอชไอวีเป็นแม่แบบ นั่นคือ การให้ความรู้ การปรับทัศนคติไม่ให้สังคมตีตรา และพัฒนาทักษะการให้คำปรึกษาและฟื้นฟูเยียวยาผู้ติดยาเสพติด ทั้งนี้ หากเป็นผู้ที่เสพยาเป็นครั้งคราว อาจใช้วิธีการให้คำปรึกษา การให้ความรู้เกี่ยวกับการลดผลกระทบร้ายแรงจากการใช้ยา ส่วนถ้าเป็นผู้เสพยาที่มีภาวะต้องพึ่งพายาหรือเสพติดยาหนัก ก็อาจใช้วิธีการเข้ากระบวนการบำบัดโดยใช้ความรุนแรงของอาการเป็นตัวจำแนกสถานเข้ารักษาตัว

 

ในสายตาของหมอ “ผู้เสพยาคือผู้ป่วย” ที่ต้องรักษา ไม่ใช่เอาไปติดคุก

นพ.วิโรจน์ วีรชัย ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี หนึ่งในผู้อภิปรายชี้แจงว่า ตนในฐานะหมอ เห็นด้วยว่า ผู้เสพยาเป็นผู้ป่วย แต่เนื่องจากทัศนคติของคนในสังคมที่ผ่านมาไม่ได้มองเช่นนั้น สังคมยังมองว่าคนเสพยาเป็นคนผิด เป็นคนชั่ว กฎหมายจึงออกมาในลักษณะของการลงโทษ ยิ่งไม่อยากให้เกิดจึงต้องมีโทษที่รุนแรง

นพ.วิโรจน์มองว่า กรอบคิดแบบเก่าๆ ไม่สามารถแก้ปัญหายาเสพติดได้ อีกทั้งยังทำให้ปัญหามีความรุนแรงมากขึ้น เพราะปัญหายาเสพติดไม่ได้ลดน้อยลง เมื่อกฎหมายแรง ยาเสพติดก็ราคาแพงขึ้น มีผู้ค้ามากขึ้น การเอาคนไปผ่านเรือนจำ มันเป็นการลดทอนคุณค่าของพวกเขา ทำให้พวกเขาไม่สามารถกลับมาเป็นผู้เป็นคนที่ปกติได้

นพ.วิโรจน์กล่าวว่า ในการหารือของสหประชาชาติก็ได้ปรับมุมมองต่อยาเสพติดแล้ว เพราะสารเสพติดหลายชนิดหมอสามารถสั่งเป็นยาให้คนไข้ได้ แต่ประเทศไทยยังไม่ยอมปรับมุมมองของตัวเองให้ถูกต้องเสียที และปัจจุบันนี้ทางการแพทย์สามารถตรวจสอบดูได้ผ่านการสแกนสมอง ว่าผู้เสพยาเป็นประเภทไหน สามารถจำแนกได้ว่ามีภาวะติดยารุนแรงหรือเปล่า เพื่อออกแบบการรักษาให้สอดคล้องกับผู้ป่วย ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดฯ ปิดท้ายว่า ถ้าจำแนกผู้เสพยาได้ น่าจะเป็นก้าวสำคัญในการแก้ปัญหายาเสพติด

 

กฎหมายร่างจากความไม่เข้าใจ ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นปัญหา

ผศ.ดร.ธานี วรภัทร์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากฎหมายยาเสพติดมีปัญหาเพราะมีความเข้าใจเกี่ยวกับผู้เสพยาที่ผิด จึงกำหนดโทษแบบเหมาเข่งไม่อยู่บนฐานของความรู้ทางวิทยาศาสตร์แและสาธารณสุข ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธานีมองว่า ที่สังคมและนักกฎหมายคิดแบบนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะสื่อมวลชนที่สร้าง ทำให้นักกฎหมายและคนในสังคมเข้าใจผิดไปต่างๆ นานา

ผศ.ดร.ธานีกล่าวว่า กฎหมายยาเสพติดเป็นเพียงผลผลิตจากปัญหาความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับผู้เสพยาที่มีน้อย ทำให้กรอบความคิดกฎหมายที่ผ่านมาใช้โทษสถานหนักกับทุกกรณี โดยประเด็นนี้ ผศ.ดร.ธานีมองว่า ผู้เสพยาเสพติดไม่เข้าข่ายความผิดฐานก่ออาชญากรรม เนื่องจากหลักทางอาญาวางกรอบไว้ว่า การกระทำที่ไม่ส่งผลกระทบต่อคนอื่นย่อมไม่ใช่ความผิดทางอาญา

ส่วนระดับไหนที่จะเป็นอาชญากรรมก็คือ ก่อให้เกิดความรุนแรงต่อสังคม เช่น ผลิตหรือค้า แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ แล้วผลิตระดับไหนจึงจะเป็นอาชญากรรม ดังนั้น ในขั้นตอนนี้จึงต้องเอากระบวนการวิทยาศาสตร์เข้ามา ต้องดูว่ามากน้อยขนาดไหนที่จะทำร้ายสังคม หรือพิจารณาจากประสิทธิภาพในการผลิต

อย่างไรก็ดี ปัญหาการแก้ปัญหายาเสพติดแบบเดิมไม่ได้จำกัดอยู่ที่ข้อกฎหมาย แม้แต่ศาล สัญลักษณ์ของความยุติธรรมเองก็มีปัญหา โดย ผศ.ดร.ธานียกตัวอย่างการตีความของศาลในคดีหนึ่งว่า มีผู้ต้องหาเป็นผู้เสพยา แล้วเดินทางจากลาวเข้ามาไทย สุดท้ายโดนศาลพิพากษาโทษจำคุกถึง 25 ปี ทั้งที่ผู้ต้องหารายดังกล่าวมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพียงครึ่งเม็ด แต่ข้อหาที่โดนคือนำเข้ายาเสพติด กรณีนี้สะท้อนว่า ผู้พิพากษาไม่ดูเจตนาแต่บังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว

 

ทางออกจากปัญหาคือ เลิกเอาคนเข้าคุกและส่งให้สาธารณสุขดูแล

ผศ.ดร.ธานีกล่าวว่า ปัญหาจากกฎหมายยาเสพติด คนที่ต้องเรียนรู้มากที่สุดคือ “นักกฎหมาย” เพราะทุกวันนี้ใส่โทษกันมา แต่ไม่บอกว่า การกำหนดโทษตั้งอยู่บนฐานอะไร เป็นการใช้ความคิดความเชื่อส่วนตัวในการกำหนดโทษโดยไม่มีเหตุผลทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์รองรับ ทำให้ผลที่ตามมาก็คือ “คุกแตก” ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธานีมองว่า จริงๆ แล้วกฎหมายไม่ควรกำหนดความผิดทางอาญา และใช้โทษในทางปกครองเพื่อกำกับคุ้มครองและป้องกันคนจากสภาวะติดยา แต่กฎหมายตอนนี้ใส่ความผิดทางอาญา และใส่เรื่องวิธีพิจารณาคดีความอาญาเข้าไปด้วย สะท้อนภาวะความกลัวยาเสพติดแบบขาดความเข้าใจ

อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.ธานีให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ว่า สุดท้ายก็ยังไม่แก้ปัญหา เพราะโดยสาระสำคัญไม่ได้เปลี่ยนไป ยังคงใช้การจัดการผ่านกระบวนการยุติธรรมและกีดกันให้ด้านสาธารณสุขเข้าไปร่วมทำงานด้วยยากเหมือนเดิม เพราะกว่าจะพามาบำบัด ผู้เสพยาต้องไปรับโทษทางอาญาก่อน แทนที่จะส่งตัวให้หมอมาพิจารณาแล้วส่งคนกลับคืนสู่สังคม