เห็นพ้องต้องรวมมาตรา 112 ในการนิรโทษกรรม หวั่นแยกใช้ช่องอภัยโทษจะดึงสถาบันฯเป็นคู่ขัดแย้ง

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 16.00 น. ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา  เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนจัดงานเสวนา หัวข้อ “ข้อหาหยุมหยิม นิรโทษกรรมเท่าที่ได้ก่อนดีไหม?” เสวนาแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรกคือ ภาพรวมปัญหาการดำเนินคดีความทางการเมือง มีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนได้แก่ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw อัครชัย ชัยมณีการเกษ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและกตัญญู หมื่นคำเรือง ผู้ต้องหาคดีทางการเมืองในคดีอย่างมาตรา 116 และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และช่วงที่สองในประเด็นทางออกยังมีอีกไหม ถ้าไม่ได้นิรโทษกรรม โดยมี ดร.อดิศร จันทรสุข จากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร. พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลและ ผศ.ดร. เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชชกุล

เห็นพ้องต้องรวมม. 112 ในการนิรโทษกรรม หวั่นแยกใช้อภัยโทษจะดึงสถาบันฯเป็นคู่ขัดแย้ง

ในบรรยากาศทางสังคมที่มีข้อถกเถียงว่า มาตรา 112 อาจจะเป็นจุดตัดสำคัญที่ทำให้ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา ผู้ร่วมเสวนากลับเห็นว่า การนิรโทษกรรมจำเป็นต้องรวมมาตรา 112 ด้วยเหตุผลในเชิงหลักกฎหมายที่คดีมาตรา 112 เป็นคดีที่มีรอยด่างพร้อยในกระบวนการพิจารณาคดี ไม่ว่าจะเรื่องการเสาะหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ที่มักจะมีอุปสรรค จำเลยที่ถูกดำเนินคดีจากการกลั่นแกล้งทางการเมือง  การยอมถอยให้เก็บคดีมาตรา 112 ไว้นิรโทษกรรมในภายหลังอาจทำให้จำเลยคดีมาตรา 112 ถูกลืมในที่สุด อีกนัยหนึ่งคือการนิรโทษกรรมครั้งนี้อาจเป็นโอกาสเดียวของพวกเขาเหล่านั้น

หลังปี ‘63คดีการเมืองท่วม – มองใช้อภัยโทษกับคดี 112 จะดึงสถาบันฯมาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง

อัครชัย ชัยมณีการเกษ หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศและนโยบาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เริ่มที่การตั้งข้อสังเกตแรกว่า ประเทศไทยยังอยู่ในวิกฤตสิทธิเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุม เหตุผลที่ตั้งข้อสังเกตนี้สืบเนื่องจากสถิติคดีการเมือง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก่อตั้งขึ้นมาสองวันหลังการรัฐประหารในปี 2557  “องค์กรของเราให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายเฉลี่ยปีละ 30-40 คดี แต่ถ้าหากดูกราฟตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563-2564 คดีจาก 30-40 คดีต่อปี เป็น 200 คดีต่อปีและภายในปี2564 หรือ 2565 กระโดดขึ้นไปเป็นเกือบมากกว่า 800 คดีต่อปี มันมีการขึ้นของตัวเลขสถิติการเมืองอย่างมีนัยสำคัญซึ่งในสังคมประชาธิปไตยปกติแล้ว ถ้าเราเห็นการดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างเยอะขนาดนี้แล้วก็คิดว่ามันไม่ปกติแล้ว”

“และถ้าหากเรามาดูคดีตั้งแต่ปีมกราคม 2564 เราก็จะเห็นได้ว่า มกราคม 2564 ถึงเดือนมกราคม2567 เห็นว่าจำนวนคดีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญเลยทีเดียวในเดือนมกราคม 2564 เราจะเห็นได้ว่ามีการดำเนินคดีทางการเมืองกับประชาชนเพียง 183 คดีแต่ภายในต้นปีนี้ มกราคม 67 กระโดดขึ้นมาเป็น 1,268 คดี หรือว่าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 593% ซึ่งถือว่าเยอะมากเลยทีเดียวซึ่งปัจจุบันในขณะที่เรากำลังมีวงเสวนาที่เรากำลังพูดถึงอยู่แล้วตอนนี้ คดียังอยู่ในชั้นศาลคดีที่อยู่ในชั้นสอบสวนมีมากกว่า 822 คดีหรือนับเป็นมากกว่า 1,400 คน แสดงว่าปัจจุบันนี้เยาวชนรวมทั้งประชาชนทั่วไปยังต้องถูกดำเนินคดียังต้องไปศาล ยังต้องอยู่ภายในกระบวนการยุติธรรมอยู่เนื่องจากการออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แสดงว่าปัญหานี้มันยังไม่หมดไป ปัญหานี้มันยังเกิดขึ้นอยู่ ณ วันนี้”

“แล้วถ้าเรามาดูตัวคดีเฉพาะคดีมาตรา 112 โดยเฉพาะ เราจะเห็นได้ว่าการขึ้นของสถิติคดีมาตรา 112 มีการขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกันถ้าเราดูที่มกราคมปี 2564 ช่วงนั้นก็จะมีประชาชนถูกดำเนินคดี 42 คนแต่ต่อมาตอนต้นปีนี้หรือว่ามกราคม 2567 กระโดดขึ้นมาเป็น 288 คนหรือจำนวนคดีบวกขึ้นมาเป็นบวกๆขึ้นมามากกว่า 586% เลยทีเดียว ซึ่งข้อมูลที่น่าสนใจหนึ่ง ข้อมูลเคยก็คือทุกๆสำนวนคดีที่ทางตำรวจส่งให้กับอัยการและอัยการตัดสินใจว่าสำนวนคดีนี้จะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง อัยการสั่งฟ้องใน 100% ของทุกคดีนั้นหมายความว่าจะทุกสำนวนคดีที่ทางตำรวจมีความเห็นให้อัยการสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องยังไม่มีคดีไหนสักคดีเลยตั้งแต่ปี 2563 ที่อัยการสั่งว่าจะไม่ฟ้องคดีภายใต้มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ณ ตอนนี้ก็ยังมีประชาชนหลายคนมากกว่า 80 คนที่คดียังอยู่ในศาลชั้นต้นมากกว่า 70 คนที่คดียังอยู่ในศาลอุทธรณ์ และมากกว่า 25 คนที่คดียังอยู่ในศาลฎีกาแสดงว่า ประชาชนจำนวนมากกว่า 100 คนที่ยังถูกดำเนินคดีภายใต้มาตรา 112 อยู่ทุกวันนี้ปัญหามันยังไม่หมดไป”

Untitled Artwork

“และถึงแม้ว่าเราจะมีรัฐบาลใหม่แล้วแต่ว่า คดีทางการเมืองก็ยังเพิ่มขึ้นทุกๆเดือนถ้าหากเราดูตัวกราฟ จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 เป็นต้นมาก็ยังมีคดีการดำเนินเพิ่มขึ้นทุกๆเดือนประมาณ 4-5 คดีทุกเดือน และหากเราดู 112 แล้วก็จะเห็นได้ว่าเช่นเดียวกันว่า การฟ้องประชาชนหรือการแจ้งข้อกล่าวหากับประชาชนภายใต้มาตรา 112 ก็ยังดำเนินขึ้นถึงแม้ว่าเราจะมีรัฐบาลใหม่แล้ว อาจจะไม่ได้เยอะมากแต่ว่าต้องเข้าใจด้วยว่า…ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมาก็มีคำพิพากษาแล้วประมาณอย่างน้อย 50 คำพิพากษา ซึ่ง 41 ใน 50 คำพิพากษา ศาลก็มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยภายใต้มาตรา 112 นั่นหมายความว่าหลายๆการกระทำของจำเลยที่ถูกแจ้งข้อหาจากการเข้าร่วมชุมนุมหรือการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในช่วงปี 2563-2565 ปีนี้เป็นช่วงที่ศาลกำลังจะออกคำพิพากษา เป็นช่วงพิจารณาคดีเริ่มเสร็จแล้วศาลเริ่มมีคำตัดสินแล้วแสดงว่าปีนี้ความเสี่ยงที่ประชาชนจะถูกคำพิพากษา ต้องโทษจำคุกส่งเข้าไปอยู่ในเรือนจำความเสี่ยงมันจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในปีนี้เพราะมันจะเป็นปีที่คำพิพากษาจะออกมาเรื่อย ๆดังนั้นปัญหามันยังไม่หมดไป ถึงแม้ว่าหลายๆท่านอาจจะสังเกตว่า เอ๊ะ! ตัวเลขที่ขึ้นในแต่ละเดือนตัวเลขที่ขึ้นภายใต้มาตรา 112 อาจจะไม่ได้เยอะเหมือนแต่ก่อนแต่ว่าตอนนี้อีกความเสี่ยงจะตกอยู่ที่คำพิพากษานี้ออกมาในชั้นศาล”

“ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ที่ผมพูดถึงมันก็คือชีวิตคน เรากำลังพูดถึงชีวิตของคนเช่น ทนายอานนท์ นำภา ซึ่งตั้งแต่ทางทนายอานนท์ นำภาได้ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันฯ ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาก็ถูกจำคุกภายใต้มาตรา 112 แล้วอย่างน้อยสองคดี ซึ่งคดีแรกในเดือนกันยายน 2566 และคดีที่สองในเดือนมกราคม 2567 รวมแล้วทนายอานนท์ถูกลงโทษจำคุกภายใต้มาตรา 112 ทั้งหมดแปดปี รวมเป็นสองคดี ซึ่งยังเหลืออีก 12 คดีภายใต้มาตรา 112 ที่ทางศาลยังไม่มีคำวินิจฉัยยังไม่มีคำพิพากษาออกมา” นอกจากนี้ยังกล่าวถึงคำพิพากษามาตรา 112 ของบัสบาส มงคล ถิระโคตรที่มีคำสั่งให้ลงโทษยาวนาน 50 ปี เขาระบุว่า คดีของบัสบาสเป็นคดีประวัติศาสตร์ในเรื่องระยะเวลาการจำคุก ซึ่งนานาชาติให้ความสนใจในประเด็นนี้เป็นอย่างมาก

“ในขณะเดียวกันตัวเลขเหล่านี้ก็หมายถึงชีวิตที่ตอนนี้ต้องอยู่ในเรือนจำชีวิต ของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกที่ยังต้องถูกคุมขังอยู่อย่างน้อย 38 คน ณ ตอนนี้ซึ่งภายใน 38 คน มากกว่า 50% ของบุคคลที่อยู่ในเรือนจำตอนนี้ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำก็เพราะมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเวลาเราพูดถึงนิรโทษกรรมประชาชน มันปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเราต้องพูดถึงคดีมาตรา 112 ด้วย เพราะว่า มาตรา 112 ตอนนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้ประชาชนต้องใช้ชีวิตในเรือนจำมากที่สุด ณ ตอนนี้ และสุดท้ายการดำเนินคดีทางการเมืองก็ไม่ได้เว้นเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ณ ตอนนี้ เยาวชนมากกว่าอย่างน้อย 286 คนใน 217 พอดีก็ถูกดำเนินคดีทางการเมืองเรียบร้อยแล้วจากการออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ณ ปัจจุบัน เยาวชนอย่างน้อย 20 คนถูกดำเนินคดีภายใต้มาตรา 112 และเยาวชนสองรายปัจจุบันตอนนี้ที่ถูกคุมขังอยู่ที่สถานพินิจเนื่องจากถูกดำเนินคดีภายใต้มาตรา 112 ดังนั้นนี่ก็เป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งเพราะว่าการดำเนินคดีทางการเมืองเนี่ยก็เป็นเครื่องมือที่ถูกใช้กับเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่าอายุ 18 ปีด้วยเช่นกัน”

อัครชัยมองว่า เวลานี้เป็นจังหวะที่ดีที่ประเทศไทยจะหาทางออกร่วมกัน ซึ่งเขามองว่า กฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนเป็นทางออกที่ดี เนื่องจากไทยสมัครเขาเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องสนับสนุนสิทธิมนุษยชน ดังนั้นจึงคิดว่า ก่อนการเลือกตั้งในเวทีสหประชาชาติจึงอยากขอชวนรัฐไทยออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนเป็นการแสดงความจริงใจต่อเวทีโลก

ต่อข้อคำถามถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรม เขาระบุว่า กระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะคดีการเมืองมันมีปัญหาอยู่หลายส่วน หลายประการตั้งแต่ขั้นตอนการจับกุม การคุมขังและการดำเนินคดีในห้องพิจารณาคดี เขายกตัวอย่างในชั้นพิจารณาคดีที่มีปัญหา เช่น ปัญหาการเข้าถึงข้อมูลเอกสารในคดีมาตรา 112 เพื่อพิสูจน์ว่า สิ่งที่จำเลยแสดงออกเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่ข้อมูลเท็จหรือพูดไม่จริงอย่างที่ถูกกล่าวหา แต่ศาลก็ไม่มีการออกหมายเรียกพยานหลักฐานให้กับทางจำเลย เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับงบสถาบันพระมหากษัตริย์หรือว่าการเดินทางของพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ยังมีการสืบพยานโดยไม่มีทนายความ เมื่อจำเลยโต้แย้งว่า ขณะที่การสืบพยานกำลังดำเนินไปทนายความไม่ได้อยู่ด้วย ขอเลื่อนได้หรือไม่เพื่อให้สู้คดีอย่างเต็มที่ ศาลกลับระบุว่า ให้สิทธิจำเลยในการถามค้านพยานเอง ซึ่งในขั้นตอนควรจะต้องเป็นทนายความเป็นผู้รับผิดชอบไม่ใช่จำเลยเนื่องจากมีรายละเอียดทางข้อกฎหมาย

“ความจริงแล้วกระบวนการยุติธรรมไทยในคดีอาญาทั่วไปในคดีแพ่งทั่วไป ผมคิดว่าปัญหามันไม่ได้มีเยอะ แต่เวลากระโดดมาเป็นคดีการเมืองปุ๊บ เวลากระโดดมาเป็นคดี 112 ปุ๊บมันเหมือนตกอยู่ในสภาวะยกเว้นทันที อยู่ดีๆปัญหาที่ปกติแล้วไม่ได้มีขึ้นในกระบวนการยุติธรรม อยู่ดีๆก็ขึ้นมาเฉยเลยเวลาเราพูดถึงคดีทางการเมืองอันนี้มันก็เลยเป็นปัญหาที่ผมคิดว่ามันมีความเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับคดีทางการเมืองโดยเฉพาะ แล้วก็หลายๆครั้งเราก็อาจจะเข้าใจว่า ไม่ว่าจะเป็นศาลเองหรือผู้พิพากษาเองก็อาจจะมีข้อจำกัดในตัวของตัวเองเช่น เรายกตัวอย่างเอกสารกฎหมายที่เราเรียกกันว่า ระเบียบว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญก็จะเห็นว่าผู้พิพากษาหลายครั้งก่อนที่จะออกคำพิพากษาก็ต้องส่งร่างคำสั่งร่างคำพิพากษาไปให้ผู้พิพากษาอาวุโสอ่านก่อนรอบนึงเพื่อให้ความเห็น ดังนั้นคำถามที่ตามมาก็คือหลักสากลที่ว่าความเป็นอิสระของผู้พิพากษาในการดำเนินคดีที่อยู่ในมือของตน ความเป็นอิสระนั้นอยู่ในมือของผู้พิพากษาจริงหรือไม่ซึ่งเป็นหลักขั้นพื้นฐานในกฎหมายระหว่างประเทศหรือหลักสากลเลย”

ในตอนท้ายอัครชัยให้ความเห็นเรื่องการแยกมาตรา 112 ออกจากการนิรโทษกรรมให้เป็นเรื่องการขออภัยโทษแทนว่า  “ประเด็นสุดท้าย หลายคนอาจกล่าวว่าสำหรับผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 อาจเป็นการรอพระราชทานอภัยโทษไหม อาจเป็นการขออภัยโทษไหม ผมคิดว่าการที่เสนอแบบนี้เป็นการผลักภาระให้สถาบันฯ สถาบันฯ ควรเป็นกลางทางการเมือง ดังนั้นการที่ผลักภาระในการอภัยโทษ การดึงผู้ต้องขังออกมาจากเรือนจำไว้กับสถาบันฯ นั่นเป็นการดึงสถาบันฯ เข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนโดยตรง ดังนั้นผมคิดว่าทำผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ ทำผ่านผู้แทนราษฎรจะเป็นทางออกที่ดีกว่าที่ผู้ต้องขังต้องไปขอพระราชทานอภัยโทษและให้สถาบันมาเป็นผู้เล่นทางการเมืองเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการ”

คดี 112 เสี่ยงถูกลืมหากไม่รวมนิรโทษกรรม นายกฯ ช่วยกู้กระบวนการยุติธรรมบกพร่องได้ (ถ้าจะทำ)

ผศ.ดร. เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ก็คือว่าทุกคนที่โดน 112 ไม่ว่าจะอยู่ในคุกตัดสินแล้วหรือสู้คดี หนึ่งก็คือมันเป็นต้นทุนมหาศาลและการเดินทาง คือระบบการยุติธรรมเรามันไม่ได้มีประสิทธิภาพ…ไปตรวจพยานหลักฐานแล้วก็ต้องลาทั้งวันเพื่อไปตรวจ จริงๆตรวจแป๊บเดียวแต่ว่าต้องเสียเวลาหนึ่งวัน…ที่ตามมาก็คือในแง่ส่วนตัว ผู้ที่โดน 112 จะไม่สามารถวางแผนชีวิตล่วงหน้าได้ อยากจะมีแฟน อยากแต่งงาน อยากมีครอบครัวแล้วก็อาจจะต้องชะลอไปก่อนเพราะว่าไม่รู้ว่าถ้าเกิดมีคำตัดสินจะทำยังไงต่อบางคนวางแผนมีลูกก็ต้องชะลอไป”

ในประเด็นสถานการณ์สิทธิมนุษยชน เขามองว่า “ตั้งแต่เปลี่ยนรัฐบาลมาไม่ดีขึ้น สถานการณ์สิทธิมนุษยชนสถานการณ์การใช้ 112 ไม่ดีขึ้น นอกจากไม่ดีขึ้นแล้วยังแย่ลงอย่างต่อเนื่อง อย่างวันนี้จะเห็นท่าทีของนายกรัฐมนตรีที่พูดเรื่องมาตรการคุ้มกัน [ขบวนเสด็จ] คือต้องพูดว่าไงดี ใช้ท่าทีที่แข็งกร้าวแล้วก็ยืนยันเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอะไรต่างๆ ไม่ดียิ่งกว่าสมัยคุณประยุทธ์ตอนท้ายๆ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับกระบวนการทางการเมือง ทางประชาธิปไตยของไทยคือหลังจากการเลือกตั้งที่ค่อนข้างเสรีและเป็นธรรม จริงๆแล้วผลปรากฏกลับกลายเป็นว่าสถานการณ์รัฐบาลแย่ลงกว่าสมัยเป็นรัฐบาลกึ่งเผด็จการทหารกึ่งเลือกตั้ง อันนี้เป็นเป็นเรื่องน่าเสียดาย เรื่องความอึดอัดคับข้องอันนี้ผมคิดว่าน่าจะตรงกันทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่สอนหนังสือในสายสังคมศาสตร์ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับพัฒนาการของสังคมโดยตรง อย่างผมสอนกฎหมายรัฐธรรมนูญ มันไม่ใช่แค่การเฝ้าสังเกตพัฒนาการของสังคมเฉยๆแต่ว่ามันมีการสอนกฎหมายซึ่งมันเป็นคุณค่าที่ควรจะเป็นของสังคม เราพูดเรื่องนิติธรรม เราพูดเรื่องการแบ่งแยกอำนาจพูดคือเราสอนไปตั้งเยอะตั้งแยะ ผลปรากฏคือนอกห้องเรียนมันไม่มีอะไรตรงกับที่เราสอนไปสักอย่าง เราสอนว่าหลักการตีความที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างนี้พอศาลรัฐธรรมนูญตีความออกมาจริงๆก็ไม่เหมือนความรู้ในห้องเรียนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงมันห่างออกจากกันเรื่อยๆ เราบอกว่าคนเพราะกฎหมายมันสอนอย่างนึงขึ้นมามีความสม่ำเสมอในการบังคับใช้ใครทำผิดก็ต้องถูกลงโทษตรงไปตรงมาแต่เราจะพบว่าก็มีคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งสามารถทำผิดอะไรได้หลายๆข้อโดยที่ไม่ต้องลงโทษเลยถ้าเกิดคุณใส่เสื้อให้ถูกสีหรือว่าติดสติกเกอร์หรือทำอะไร”

Untitled Artwork

“ถามว่า อันนี้เป็นวิกฤติมหาวิทยาลัยหรือวิกฤติความรู้ทั้งหมดของสังคมไทยไหม ผมคิดว่าใช่ ถ้าเราจัดการความขัดแย้งตรงนี้ไม่ได้ผมคิดว่า มหา’ลัยไทยโดยเฉพาะในฝั่งสังคมศาสตร์ไม่มีทางรอดเลย คืออาจารย์ก็สอนไม่ได้ความรู้เป็นความรู้ที่สุดท้ายนิสิตนักศึกษาก็ไม่สนใจเพราะรู้อยู่แล้วว่าอันนี้มันไม่ใช้อะไรกับสังคมไทย ในขณะที่ผู้บริหารมหาลัยก็จะพยายามตะโกนใส่พวกเราว่าคุณต้องผลิตความรู้ที่มันสอดคล้องกับความเป็นจริง หรือว่าทำอะไรที่มันเวิร์ก ซึ่งเราทำไม่ได้เพราะคนที่ทำให้มันไม่สอดคล้องกับความรู้มันไม่ใช่เรา มันเป็นคนอีกฝั่งนึง อันนี้เป็นเป็นเรื่องในห้องแต่ว่าโดยรวมบรรยากาศผมคิดว่าอันที่น่าตกใจคือประมาณสิบกว่าปีที่ผ่านมาเกือบ 20 ปี บรรทัดฐานสังคมไทย มันถอยๆจนถึงจุดหนึ่งที่ว่ามันไม่มีแล้วแล้วอย่างเช่นอะไรคือสิ่งที่ดีงามอะไรคือความดีอะไรคือสิ่งที่ถูก ที่ควรประพฤติ เราจะพบว่าปัจจุบันนี้มันไม่มีความละอาย มันไม่มียางอายอะไรเหลืออยู่ในสังคม” เขากล่าวถึงภูมิหลังของกลุ่มผู้ที่ปกป้องสถาบันฯ แต่ตอนนี้กลายเป็นคนที่มีบทบาทแล้วสิ่งนี้มันทำให้บรรทัดฐานบางอย่างของสังคมในเรื่องความดีความงามอะไรที่ควรจะเป็นนั้นมันหายไปหมด

เข็มทองกล่าวถึงเรื่องการนิรโทษกรรมและมาตรา 112 ว่า “ปัญหาหนึ่งที่ทุกคนพูดมาตลอดก็คือสังคมไทยไม่เคยเรียนรู้วิธีการจัดการความขัดแย้ง…อันหนึ่งที่ทุกคนเคยเห็นตลอด ถ้าเป็นผู้ใหญ่เมืองไทยแล้วขอโทษไม่ได้ ทำผิดไม่เป็นอันนี้คือวิธีการจัดการความขัดแย้งของไทยจะเป็นวิธีการอำนาจนิยมมากๆ คือเอาอำนาจมาปิดปากผู้น้อย…นิรโทษกรรมส่วนหนึ่งมันเป็นการบอกว่าผู้ใหญ่ก็ผิดได้แต่ว่ายินดีที่จะปรับเปลี่ยนท่าทียอมคุย การนิรโทษกรรมมีหลายรูปแบบอาจจะออกมาเป็นกฎหมายให้ทุกคนเลยก็ได้หรือในหลายๆที่ทั่วโลกก็เป็นระบบคณะกรรมการมาดูอีกทีหนึ่งก็ได้ แต่ว่าอย่างน้อยที่สุดมันเริ่มหนึ่งมันเป็นการหยุด หยุดยิง หยุดขัดแย้งกันชั่วคราว…และสองมามีเวลาสะสางกันเพราะว่าการยุติความขัดแย้ง มันยุติไม่ได้ถ้าเกิดถ้าเกิดในขณะที่พยายามจะยุติความขัดแย้งก็ยังมีอะไรการจับกุมการดำเนินคดีอยู่ อันนี้ก็เป็นความสำคัญของตัวนิรโทษกรรมคืออย่างน้อยคุณมีโอกาสหยุดแล้วก็พักตรงนี้ชั่วคราว ลดบรรยากาศตึงเครียดแล้วก็แล้วก็มาเริ่มคุยกันหรือจัดการเรื่องความขัดแย้งตัวใจกลางปัญหาใหม่”

“เรื่องที่สอง ต้องเข้าใจก่อนว่า หลายคนที่โดน 112 เป็นคนปกติธรรมดาที่ไม่ได้คิดร้ายอะไรเลยแต่ว่าพอถูกยื่นข้อหานี้แล้วก็การใช้ข้อหานี้ในประเทศไทยมันไม่มีมาตรฐานตามมาตรฐานนิติศาสตร์สากล หลายคนก็ตกระกำลำบากแล้วต้องพูดอย่างนี้แล้วก็หลายคนที่เราเห็นอยู่ก็เป็นโดนหนักๆ จริงๆหลายคนอาจจะไม่ได้อยากเป็นนักกิจกรรม  ก็คืออาจจะอยากถอย อาจจะอยากวางมือแต่ว่าตอนนี้ทำไม่ได้เพราะว่าเพราะว่าไอ้ข้อหาต่างๆโดยเฉพาะ 112 มันค้ำอยู่แล้วมันทำให้โอกาสการลดการขัดแย้ง มันน้อยมากๆ ผมก็ยังยืนยันว่า 112 ต้องเอามาคิดร่วมในนิรโทษกรรม การนิรโทษกรรมที่ง่ายที่สุดคือไม่รวม 112 แต่ว่าในขณะเดียวกันถ้าเกิดเป็นนิรโทษกรรมที่ไม่รวม  112 มันทำให้นิรโทษกรรมมันไม่มีความหมาย หลายคนอาจจะฝากความหวังว่าก็ค่อยๆทำไปทีละอย่าง ครั้งนี้นิรโทษฯพวกนี้ก่อนเดี๋ยว 112 ค่อยว่าแต่ผมคิดว่าประสบการณ์การเมืองไทยคือถ้าเกิดทำอย่างนั้นที่น่าจะเป็นที่สุดคือ 112 จะถูกทิ้งถูกลืมเพราะฉะนั้นอันนี้ผมคิดว่า คำตอบคือยังไงก็ควรจะต้องเอามาคุยเอามารวมกัน หลายๆคนที่โดนอย่างที่บอก บางคนเกิดจากการถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองชัดเจนเพราะฉะนั้นไม่ควรทิ้งเพราะว่าการใช้กฎหมายลงโทษให้ถูกข้อหาถูกการกระทำ มันเป็นส่วนหนึ่งของนิติธรรมที่ดีแล้วคือใช้กฎหมายถูก ซึ่งตอนนี้ 112 เป็นตัวอย่างของการใช้ที่ผิด ผิดชัดเจน ถ้าเกิดเราไม่เริ่มตรงนี้เราก็เอานิติธรรมกลับมาไม่ได้”

ในตอนท้ายเขาระบุว่า “นายกฯชอบพูดว่าให้เป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมๆ ซึ่งไม่จริง นายกฯกำลังบอกให้เป็นเรื่องของศาลแต่จริงๆถามว่าหน้าที่การอำนวยความยุติธรรมเป็นหน้าที่ศาลอย่างเดียวหรือเปล่าในประเทศนี้คำตอบคือไม่ นิติบัญญัติเองเวลาออกกฎหมายก็ต้องคิดเรื่องความยุติธรรม ภาครัฐตำรวจ อัยการอะไรต่างๆก็ต้องคิดเรื่องความยุติธรรมในการดำเนินนโยบายไม่ใช่แค่ศาล อะไรที่ศาลให้ไม่ได้ ฝ่ายการเมืองฝ่ายรัฐบาลควรจะต้องเป็นคนรับผิดชอบในเรื่องการสร้างความยุติธรรม ผมยกตัวอย่างง่ายๆป้าอัญชัญทำไมถึงติดคุกจำนวนปีถึงเยอะจริงๆข้อหานิดเดียวแต่พอฟ้องไปหลายกรรม 29 กระทง ทีนี้ตัวกฎหมายมันบอกว่าขั้นต่ำคือสามปี ไม่สามารถจะลดต่ำกว่านี้ได้เพราะต่อๆกันมันก็เลยกลายเป็นว่า ผู้ต้องขังคดี 112 ที่สถิติสูงมากๆกลายเป็นคนจริงๆไม่ได้ทำอะไรเลยเพียงแต่ว่าโดยทางเทคนิคกฏหมายศาลเองก็ลดให้ไม่ได้เหมือนกัน ลดจนสุดเพดานแล้วก็ยังเป็น 20-30 ปี”

“ในเมื่อเรายอมรับว่ากฎหมายมันมีความบกพร่องอย่างนี้ฝ่ายการเมืองก็ต้องเข้ามาช่วย ไม่ใช่บอกว่าต้องเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรม นี่ไม่ใช่เรื่องกระบวนการยุติธรรม คุณแค่โยนความรับผิดชอบให้ฝ่ายกฎหมายและศาล แต่จริงๆความยุติธรรมฝ่ายการเมืองก็ต้องยุติธรรม มันไม่ใช่คุณบอกว่านี้เป็นเรื่องของศาลแปลว่าอะไรแปลว่าฝ่ายการเมืองจะไม่ยึดความยุติธรรมในการทำงานเลยเหรอซึ่งอันนี้แบบเฮ้ยได้เหรอคุณเป็นรัฐบาลนะ มันผิด ทีนี้ถามทำอะไรได้บ้างมันมี สองขั้น ขั้นแรกก็คือก่อนการตัดสินคดี ตั้งแต่ชั้นตำรวจนายกฯนั่งก.ตร จริงๆมันสามารถมอบนโยบายได้สิ่งที่เราเลือกเป็น Moratorium คือให้ยุติการบังคับใช้หยุดการแจ้งความยุติ การหยุดเอาไว้ก่อน มันออกคำสั่งวันนี้ ทำเลยได้ไหมคำตอบคือได้ อัยการแน่นอนเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญในแบบหนึ่ง ในอัยการเองมันมีหนังสือเวียนในเรื่องแนวทางการดำเนินคดี 112 เรื่องการตั้งกรรมการในเรื่องคณะกรรมการกลั่นกรองและอะไรอื่นๆ แต่ว่า ถ้าวันนี้รัฐบาลส่งสัญญาณจะให้สำนักงานอัยการสูงสุดยุติหรือระงับหนังสือเวียนนั้นหรือถอนหนังสือเวียนนั้น หรือมีหนังสือเวียนฉบับใหม่ก็จบเลยวันนี้คดีที่มีอยู่มันสามารถยุติระงับลงหรือว่าถอนคดีได้เลยเพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องอะไรที่ทำไม่ได้จริงๆจนกว่าศาลจะมีคำตัดสินถึงที่สุดมันทำได้ตลอด ฝ่ายการเมืองเข้าไปทำได้ตลอดเพราะมันมีจุดเกาะเกี่ยวกันในเรื่องของตัวบุคคลที่เข้าไปนั่งในคณะกรรมการพวกนี้อยู่”

“แม้กระทั่งเมื่อตัดสินคดีไปแล้ว มันต้องกลับไปที่ราชทัณฑ์ ศาลไม่ใช่เป็นคนเอาไปจำคุก ราชทัณฑ์เป็นคนเอาไปบังคับถูกไหม งั้นก็ต้องมีคำถามเช่น เวลามีเกณฑ์การลดโทษทั่วประเทศ จริงๆมันสามารถทบทวนได้นะ มันสามารถทำให้เป็นคุณได้ อันนี้มันเป็นเรื่องนโยบายหรือว่าคดีประเภทไหนที่จะให้อภัยโทษ คดีประเภทไหนที่ไม่อภัยโทษลดโทษอะไรพวกนี้ เพราะฉะนั้นอันนี้ถ้าเราเคลียร์กันตรงนี้ได้ ก่อนที่จะไปถึงจุดที่ผ่านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มันมีของที่ทำได้ทันที ทำวันนี้แน่นอนมันไม่ได้มันไม่ได้ผลเหมือน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯซึ่งเป็นการล้างหมดเลย แต่ว่า มันก็ทำได้เป็นก้าวแรก ผมยกตัวอย่างง่ายๆในเมืองสมัยก่อนที่ผมอยู่เดียวรัฐบาลอังกฤษกำลังจะมีแผนยกเลิกกัญชาจากยาเสพติด แต่ว่าประมาณ 4-5 ปีก่อนหน้านั้นทิศทางมันมาแล้วว่า ยังไงวันนึงอังกฤษก็จะเอากัญชาออกจากบัญชียาเสพติดสิ่งที่ตำรวจทำคือประกาศเลยว่ามีนโยบายว่าต่อไปนี้ถ้าเจอเสพย์ไม่จับ จะจับเฉพาะผู้ค้าหรือผู้ปลูก คือถามว่าโดนกฎหมายจริงมันต้องจับหมดแต่ตำรวจเขาก็พูดชัดเจนว่าอันนี้คือนโยบายการเมืองมันชัด คือจริงๆตามกฎหมายจนถึงก่อนเที่ยงคืนวันที่จะถอนออกก็จะจับก็ได้นะแต่จับแล้วพรุ่งนี้ก็ต้องปล่อย คำถามคือทำไปทำไมคือเขารู้อยู่แล้วว่าแนวทางคือ มันจะออกอยู่แล้ว เขาก็หยุดการบังคับก็เท่านั้นเองเพราะฉะนั้นจะเห็นว่ากฎหมายกับนโยบายการเมืองมันไปด้วยกันตลอด มันมีของที่ทำได้ผมยืนยัน มันมีอะไรที่ฝ่ายการเมืองทำวันนี้ได้มีอะไรที่นายกรัฐมนตรีทำวันนี้ได้ถ้าจะทำ”

เห็นพ้องต้องรวมมาตรา 112 ในการนิรโทษกรรมทางการเมือง

ดร.อดิศร จันทรสุข  คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า “ผมเชื่อว่า มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีซึ่งมีญาติพี่น้อง คนรัก ไม่อยากเสี่ยง ไม่อยากเอาคดี 112 มาร่วมด้วย มีคนที่ได้รับผลกระทบแล้วเขาไม่อยากรอ ผมคิดว่าแน่นอน เราต้องยืนยันในเชิงหลักการ แต่สังคมไทยมันมีสองทางคือเอาความรู้สึกหรือหลักการ เราสามารถที่จะเข้าใจผู้คนที่เจอความทุกข์ที่เขาต้องการออกจากคุก ที่ไม่ต้องการอยู่ในเกมอะไรอีกแล้ว บางคนเป็นเสาหลักของครอบครัวต้องรีบออกมาทำมาหากินเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว มีคนกลุ่มนี้อยู่จริง ๆ ในสังคม ซึ่งแฟร์กับเขาถ้าเขาไม่อยากจะยุ่งเกี่ยว”

“แต่ในเชิงหลักการผมคิดว่าเราต้องยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่มากกว่าแค่คนที่จะติดคุก เราต้องยืนยันว่าอะไรคือสิ่งที่เราจะต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมในสังคม อะไรที่เราต้องยืนยันความเชื่อของเราเพื่อรักษาสิทธิของพลเมืองในการแสดงความคิดเห็น ผมคิดว่าการที่เรายืนยันในทางหลักการและนำหลักการเข้าไปสู่กระบวนการ ถึงแม้ว่ามันจะปัดตก แต่มันจะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าใครตีตก ดีกว่าเราเลือกที่จะถอนตั้งแต่เริ่มต้น ผมเชื่อมั่นว่าต้องใส่คดีนี้ (มาตรา 112) เข้าไป เพื่อยืนยันว่าเราทำหน้าที่อย่างถึงที่สุดแล้ว

 ผศ.ดร. พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า  ถ้าเอา 112 ออกไป คิดว่าสังคมไทยจะกลับมาสงบสุข มีความเป็นธรรม อย่างนั้นหรือ มีหลักประกันอะไรไหม ต้องตั้งคำถามเหมือนกัน…ไม่ควรที่จะเอา 112 ออก ถ้าเราเอา 112 ออก เราเหมือนทิ้งปมปัญหาใหญ่ให้มันขยายออกไป ปัญหานี้มีมานานแค่ไหนแล้ว รัชกาลที่แล้วเคยมีพระราชดำรัสว่า ไม่มีใครกล้าเอาคนที่ด่าพระมหากษัตริย์เข้าคุก เพราะพระมหากษัตริย์จะเดือดร้อน เขาจะหาว่าพระมหากษัตริย์เป็นคนไม่ดี อย่างน้อยที่สุดก็เป็นคนที่จับจี้ ใครว่าอะไรก็จับเข้าคุก พระมหากษัตริย์ไม่เคยให้จับเข้าคุก แล้วทีนี้กลไกลตรงไหนกันแน่ที่ทำให้เกิดกระบวนการการจับคนเห็นต่าง คิดต่าง หรือคนที่ตั้งคำถามที่ไม่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์โดยตรงด้วยซ้ำ และสภาควรทำหน้าที่หากลไกนั้นให้เจอแล้วแก้ตรงนั้น ดิฉันยืนยันว่าก็ต้องเอานิรโทษกรรมประชาชน กรณี 112 เข้าไปอยู่ในสภาให้ได้ และสภาต้องทำหน้าที่พิทักษ์ปกป้องสิทธิเสรีภาพประชาชน”