ศาลอาญายกคำร้องประกันตะวัน-แฟรงค์คดีบีบแตรใส่ตร.ท้ายขบวนเสด็จ ระบุอาการป่วยมีแพทย์ดูแลใกล้ชิดแล้ว

25 กุมภาพันธ์ 2567 เวลาประมาณ 11.00 น. พ่อและแม่ของตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ยื่นเอกสารเพิ่มเติมประกอบคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวตะวันและแฟรงค์-ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ต่อศาลอาญาในคดีมาตรา 116 จากกรณีการบีบแตรใส่ตำรวจปิดท้ายขบวนเสด็จเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 เอกสารที่ยื่นวันนี้เป็นใบรับรองแพทย์ที่ระบุอาการของทั้งสอง ซึ่งครอบครัวและผู้ที่เกี่ยวข้องไปยื่นขอจากโรงพยาบาล กรณีของแฟรงค์ขอจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์เมื่อวันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 และกรณีของตะวันขอจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เมื่อวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 

ข่าวตะวัน-แฟรงก์

วันนี้ทั้งสองอดอาหารและน้ำเป็นวันที่ 12 แล้ว และจะเป็นวันที่ครบกำหนดฝากขังครั้งที่หนึ่งในชั้นสอบสวนของพนักงานสอบสวน บรรยากาศที่ศาลอาญามีครอบครัวและเพื่อนมารอฟังคำสั่ง เวลา 13.36 น. เจ้าหน้าที่ศาลอาญาอ่านคำสั่งของศาลผ่านเครื่องขยายเสียงให้ครอบครัวและเพื่อนที่มารอติดตามฟังภายในห้องชั้นสอง รายละเอียดดังนี้ 

“สืบเนื่องจากนายสมหมาย ตัวตุลานนท์ บิดาของนางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ผู้ต้องหาที่หนึ่ง ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสอง รายละเอียดตามคำร้องลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 และวันนี้ผู้ร้องยื่นใบความเห็นแพทย์ ซึ่งตรวจร่างกายทั้งสองใช้ประกอบการพิจารณาสองฉบับ นายสนธิญา สวัสดีในฐานะประชาชนชาวไทยยื่นคำคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 สำเนาให้ผู้ร้อง พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขออนุญาตฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองต่ออีก 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567  ถึงวันที่ 8 มีนาคม 2567 อ้างว่า ยังไม่เสร็จสิ้นเนื่องจากต้องรอผลการตรวจสอบประวัติการต้องโทษและสอบพยานเพิ่มเติมห้าปาก ศาลมีคำสั่งอนุญาต 

เกี่ยวกับคดีนี้เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร คนรู้จักกับผู้ต้องหาทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสอง  ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตเหตุผลที่ศาลไม่อนุญาตประกันคือ ผู้ต้องหาทั้งสองมีพฤติการณ์ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย ก่อให้เกิดความปั่นป่วนความความสงบเรียบร้อยสังคมโดยรวม ต่อมาเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาวจีรนุชก็ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสองอีกครั้งหนึ่ง โดยอ้างว่าผู้ต้องหาทั้งสองมีอาการป่วยเนื่องจากอดข้าว อดน้ำและไม่รับการรักษาจนอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต เนื่องจากเห็นว่า กรณีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำมีอาการเจ็บป่วย เป็นอำนาจและดุลพินิจของกรมราชทัณฑ์ในการดูแลหรือส่งตัวไปรักษาตามพระราชบัญญัติและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ศาลพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งสอง และมีคำสั่งแนบท้ายรายงานกระบวนพิจารณาฉบับนี้ ได้แจ้งคำสั่งให้ผู้ร้องทราบ ให้มีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ต้องหาทั้งสองทราบด้วย…

อนึ่งศาลอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองครั้งที่สอง ด้วยเหตุที่พนักงานสอบสวนอ้างว่า รอผลการตรวจสอบประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหาและสอบปากคำพยานเพิ่มเติมห้าปากนั้น เห็นว่า พนักงานสอบสวนต้องเร่งรัดการสอบสวนให้เสร็จสิ้นและทำความเห็นส่งพนักงานอัยการฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองต่อศาลโดยเร็ว มิฉะนั้นศาลจะพิจารณาสั่งคำร้องฝากขังอย่างเคร่งครัด ให้แจ้งคำสั่งให้พนักงานสอบสวนทราบ”

ในคำสั่งแนบท้ายรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 ระบุว่า “พิเคราะห์คำร้องขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสอง ประกอบความเห็นของแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งตรวจรักษานางสาวทานตะวัน ผู้ต้องหาที่หนึ่ง พบว่า เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯด้วยอาการทุพโภชนาการและระดับเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ ปฏิเสธการให้สารน้ำและยาทางหลอดเลือดดำ เห็นสมควรเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ถึงปัจจุบัน ให้ผู้ป่วยได้รับสารน้ำและเกลือแร่อย่างเพียงพอและตรวจติดตามสังเกตอาการและติดตามผลเลือดเป็นระยะต่อไป

ส่วนแพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งตรวจร่างกายของนายณัฐนนท์ผู้ต้องหาที่สอง มีความเห็นว่า เข้ารับการรักษาตัวในหอผู้ป่วยอายุรกรรมชายชั้นหกของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ด้วยอาการปวดท้องอ่อนเพลียสามวันเนื่องจากอดอาหารจากความประสงค์ของผู้ป่วยเอง (สอบถามสาเหตุเป็นอุดมการณ์ทางการเมือง ไม่ใช่อาการทางจิต) แพทย์เห็นว่า ปัจจุบันยังนอนพักภายในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เพื่อสังเกตอาการใกล้ชิด ผู้ป่วยปฏิเสธการรับยา ปฏิเสธการรับสารน้ำทางหลอดเลือด ปฏิเสธการรับการรักษาทางการฉีดยาน้ำเกลือ

เห็นว่า ศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสอง โดยระบุเหตุผลไว้ชัดเจนแล้ว ส่วนกรณีอาการเจ็บป่วยของผู้ต้องหาทั้งสอง ขณะนี้อยู่ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์โดยใกล้ชิดแล้ว กรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสอง ยกคำร้อง” 

You May Also Like
อ่าน

นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนพฤษภาคม 2567

เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมสิบคดี แบ่งเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นแปดคดี ศาลอุทธรณ์และฎีกาอย่างละหนึ่งคดี
อ่าน

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อของวอยซ์ทีวี หลังประกาศปิดฉาก 15 ปี

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ที่เรียกว่า อายุเกือบครึ่งหนึ่งของวอยซ์ทีวีต้องเผชิญกับการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพ