ไม่ผ่าน! สภาโหวตคว่ำร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ ระบุเพศ-คำนำหน้า ตามเจตจำนง

21 กุมภาพันธ์ 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ) ที่เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล โดยเป็นการพิจารณาในชั้นวาระหนึ่ง รับหลักการ

สาระสำคัญของ ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ ซึ่งเสนอโดย สส.พรรคก้าวไกลนั้น กำหนดกลไกและผลของการรับรองเพศสภาพ ผู้ที่จะขอให้รับรองเพศสภาพได้นั้น จะต้องมีสัญชาติไทย ไม่เป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยที่จำคุกในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์  และต้องไม่เป็นผู้มีรายชื่อในฐานข้อมูลอาชญากรรมข้ามชาติในคดีความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์

สำหรับผลที่ตามมาจากการขอรับรองเพศสภาพ นายทะเบียนจะต้องแก้ไขข้อมูลในทะเบียนราษฎร ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขคำนำหน้านามและคำระบุเพศสภาพในเอกสารราชการต่างๆ เช่น บัตรประชาชน

หลังจากบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) อภิปรายและธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ผู้เสนอ แถลงปิดแล้วเสร็จ เวลาประมาณ 16.30 น. ที่ประชุมมีมติ “ไม่รับหลักการ” ร่างกฎหมายดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 154 เสียง ไม่เห็นด้วย 257 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ เป็นอันตกไปในวาระหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร

อย่างไรก็ดี นอกจากร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ ซึ่งเสนอโดย สส.พรรคก้าวไกล แล้ว ยังมีร่างกฎหมายอีกสองฉบับที่มีหลักการทำนองเดียวกัน แต่ยังไม่ได้เสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎร คือ

1) ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ ฉบับที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวผลักดันขึ้น ซึ่งหากจะเสนอเข้าสภาจะต้องเสนอผ่ายคณะรัฐมนตรี (ครม.)

2) ร่างพระราชบัญญัติรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ หรือ GEN-ACT) เป็นร่างที่ภาคประชาชนร่างขึ้น โดยใช้กลไกเข้าชื่อเสนอกฎหมายซึ่งต้องรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (อายุ 18 ปีขึ้นไป) อย่างน้อย 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยกำลังเปิดให้เข้าชื่อผ่านทาง https://www.gen-act.org

อ่านสรุป-เปรียบเทียบเนื้อหาร่างกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ-คำนำหน้า ทั้งสามฉบับ ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/6232

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป