บทสรุปภาพรวม
ปี 2563 บรรยากาศประชาธิปไตยของประเทศไทยเบ่งบานและมีความหวังอย่างสูงสุด เมื่อคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาแสดงออกแบบ “ไม่มีแกนนำ” กระจายตัวทั่วประเทศเรียกร้องการคืนอำนาจสูงสุดให้เป็นของประชาชน แต่ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ซึ่งเป็นอุปสรรคสำหรับการรวมตัวทำกิจกรรม และเป็นเหตุให้รัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ หรือ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” เพื่อสั่งห้ามและเอาผิดการชุมนุมทุกรูปแบบ
ปี 2564 เป็นประเทศไทยเข้าสู่ยุคสมัยที่มีการชุมนุมเป็นจำนวนมากที่สุด และมีการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมสูงที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นข้อหาการชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งสามารถใช้ต่อผู้ชุมนุมทั้งที่ก่อความไม่สงบ และการเรียกร้องโดยสงบ หรือการไปยื่นหนังสือต่อหน่วยงานราชการเพียงไม่กี่คน
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกใช้งานอย่างยาวนานตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563 – 30 กันยายน 2565 รวมเป็นเวลาประมาณสองปีครึ่ง ภายใต้กฎหมายนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร “รวบอำนาจ” การบริหารประเทศจากกระทรวงต่างๆ จากพรรคร่วมรัฐบาล มอบอำนาจให้นายทหารมีบทบาทมากขึ้นในบ้านเมือง เปิด “ไฟเขียว” ให้ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุม และยังอาศัยบทยกเว้นความรับผิดทำให้ออกข้อกำหนดอะไรก็ได้ และให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจอย่างไม่เกรงกลัว
หลังวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 บรรยากาศการชุมนุมก็ซบเซาลงไป โดยผู้ชุมนุมและผู้นำการชุมนุมต่างมีคดีความติดตัวคนละ 10-20 คดี รัฐบาลตัดสินใจเลิกบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่คดีความทั้งหลายไม่ถูกยกเลิกไปด้วย ยังคงเป็นพันธะติดตัวสำหรับประชาชนที่แสดงออกทางการเมืองให้ต้องวนเวียนขึ้นศาลเพื่อต่อสู้คดีจนไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุข และยังสร้างภาระเกินจำเป็นให้กับกระบวนการยุติธรรม
แม้พนักงานอัยการจะสั่งไม่ฟ้องคดีไปจำนวนหนึ่ง และศาลพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลที่รับรองเสรีภาพในการชุมนุมได้อย่างชัดเจนหลายคดี แต่ก็ไม่ได้บรรเทาสถานการณ์ด้านคดีความลง ทนายความจำเลยยังมีงานล้นมือทุกวัน จำเลยอีกหลักร้อยคนยังถูกสั่งลงโทษจำคุก และลงโทษปรับ ด้วยเหตุจากการชุมนุมโดยสงบ
สถานการณ์นี้มีทางเลือกในทางกฎหมายมากมายที่จะยุติลงได้ แต่ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนหรือความพยายามจากรัฐบาลชุดใหม่ที่จะหาทางออกอย่างใดอย่างหนึ่ง เสมือนว่าภาระและคดีความของผู้ต้องหาอย่างน้อย 1,469 คน กำลังจะถูกลืมเลือน
ข้อเสนอ เพื่อหาทางออก
การใช้กฎหมายที่ออกมาเพื่อควบคุมโรคระบาดจำกัดเสรีภาพการชุมนุม และดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมอย่างกว้างขวาง เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นตั้งแต่แรก แต่ภายใต้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เข้าสู่อำนาจด้วยการทำรัฐประหาร และสืบทอดอำนาจต่อมาขาดความชอบธรรมทางการเมือง จึงมีแนวทางการใช้กฎหมายเช่นนี้มาอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้าการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ใช้ประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารเป็นเครื่องมือหลักในการชุมนุม
การยกเลิกการดำเนินคดีต่อประชาชนที่ใช้เสรีภาพการชุมนุม สามารถทำได้ด้วยวิธีที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีความชอบธรรม กล่าวคือ เมื่อรัฐบาลยกเลิกการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ควรออกข้อกำหนดฉบับสุดท้าย ให้ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งทุกฉบับสิ้นผลไป โดยให้สิ้นผลไปตั้งแต่ต้นเสมือนหนึ่งไม่เคยมีกฎหมายเหล่านี้ เพราะเหตุแห่งความจำเป็นในการควบคุมโรคหมดลงแล้ว หรือจะกำหนดให้คดีความทั้งหมดสิ้นสุดลงไปด้วยเพื่อความชัดเจนก็ได้
แต่ในข้อกำหนดฉบับลงวันที่ 29 กันยายน 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงให้ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่ง ไม่มีผลบังคับใช้ในภายภาคหน้า แต่ไม่ให้สิ้นผลย้อนหลังด้วย ทำให้คดีความยังคงดำเนินต่อไปได้ โดยในทางข้อเท็จจริงทั้งตำรวจ พนักงานอัยการ และศาล ก็ยังดำเนินคดีต่อไปโดยไม่ได้คำนึงถึงเจตนารมณ์ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเหตุแห่งการประกาศใช้นั้นได้หมดลงแล้ว
ซึ่งทางออกเพื่อยุติการดำเนินคดีความจำนวนมากตามระบบกฎหมายปัจจุบันยังเป็นไปตามสี่ช่องทาง ได้แก่
- บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม สามารถยุติการดำเนินคดีได้ โดยพนักงานอัยการมีอำนาจที่จะสั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้องคดีที่เห็นว่าการดำเนินคดีจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะได้ ขณะที่ศาลก็สามารถสั่งยกฟ้อง หรือจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาในรายละเอียดให้เป็นภาระของทุกฝ่ายก็ได้ หรือศาลอาจพิจารณาและพิพากษาว่าข้อกำหนด หรือประกาศตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงต้องเพิกถอน เพื่อให้คดีทั้งหมดยุติลงก็ได้
- คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ สามารถออกมติคณะรัฐมนตรีเพื่อยืนยันเจตนารมณ์ของรัฐบาลว่า ต้องการให้คดีความภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมดยุติลง ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีมีลำดับศักดิ์เท่ากันกับข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แม้จะไม่มีผลบังคับทางกฎหมายโดยตรง แต่มติคณะรัฐมนตรีอาจเป็นเครื่องสนับสนุนให้ตำรวจและพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีได้ จะทำให้คดีที่ค้างอยู่ในกระบวนการสอบสวน ลดจำนวนลงไปได้ประมาณ 1 ใน 3
- รัฐสภาชุดใหม่ สามารถออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เพื่อยกเลิกการดำเนินคดีความจากเหตุการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมาได้ ซึ่งมีการเสนอและพูดคุยกันโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วหลายครั้ง สำหรับคดีข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นที่เห็นตรงกันของพรรคการเมืองต่างๆ แล้วว่าควรยกเลิก แต่พรรคการเมืองที่จุดยืนแตกต่างกันยังตกลงกันไม่ได้ว่าขอบเขตของการนิรโทษกรรมจะรวมถึงคดีมาตรา 112 ด้วยหรือไม่ ข้อเสนอนี้จึงยังไม่มีความคืบหน้า
- รัฐสภาชุดใหม่ สามารถยกเลิกหรือแก้ไขพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ โดยเฉพาะในมาตรา 9 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการห้ามชุมนุม และในมาตรา 18 ที่ระบุโทษผู้ฝ่าฝืน ซึ่งหากกฎหมายเดิมที่ใช้ดำเนินคดีถูกแก้ไขหรือยกเลิก คดีความที่พิจารณาอยู่ก็จะเป็นอันสิ้นสุดลง โดยเคยมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติมาใช้แทนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว แต่ยังไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา
การดำเนินการเพื่อยุติการดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อาจเริ่มดำเนินการโดยบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม คณะรัฐมนตรี หรือรัฐสภาก็ได้ โดยสามารถทำพร้อมกันไปได้ทั้งสี่ช่องทาง หรือหากจะเลือกวิธีการใดเพียงวิธีการเพียวเพื่อยุติคดีเหล่านี้ก็เพียงพอสำหรับการแก้ปัญหาภาระทางคดีของผู้ที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้
ไฟล์แนบ
- Emergency-Report-TH (3 MB)