สรุปร่างรัฐธรรมนูญ: กรธ.ไม่เขียน “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” แต่สั่งรัฐสนับสนุนเฉพาะพุทธเถรวาท

ร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ฉบับลงประชามติ ไม่เขียนให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ตัดเรื่องการเสริมสร้างความสมานฉันท์ระหว่างศาสนาออก และเขียนนวัตกรรมใหม่ให้รัฐต้องส่งเสริมและเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท และเพิ่มข้อยกเว้นเสรีภาพในการนับถือศาสนาต้อง “ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ”

ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เปิดเผยร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่จะนำไปทำประชามติให้ประชาชนได้เห็น เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 สำหรับประเด็นการคุ้มครองเสรีภาพในการนับถือศาสนา และการรับรองสถานะของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อถกเถียงที่อ่อนไหวในสังคมไทยมานานหลายปีนั้น กรธ.เขียนสองประเด็นดังกล่าวไว้ดังนี้

         “มาตรา 31 บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”

         “มาตรา 67 รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น
         ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทําลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดําเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย”

 

ไม่เขียน “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” แต่เป็นครั้งแรกที่สั่งให้รัฐสนับสนุนพุทธเถรวาท 

จากมาตรา 67 จะเห็นว่า กรธ.ตัดสินใจเขียนรับรองสถานะของพระพุทธศาสนาว่า เป็น “ศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน” โดยไม่เขียนรับรองว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” ตามที่มีข้อเรียกร้องจากชาวพุทธกลุ่มหนึ่ง

จุดยืนของ กรธ.ในประเด็นนี้ค่อนข้างชัดเจนมาตลอด โดยเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2559 เว็บไซต์วิทยุรัฐสภา เคยรายงานไว้ว่า กรธ. ชี้แจงข้อเสนอที่ให้เขียนว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาตินั้นไม่สามารถบัญญัติได้ เพราะกรรมการมองว่าเป็นเรื่องที่อันตราย และในมาตรา 65 ได้บัญญัติสิ่งที่จะคุ้มครองทุกศาสนาไว้อยู่แล้ว

และในการแถลงข่าวของประธาน กรธ. เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 มีชัย ก็ยังกล่าวด้วยว่า ประเด็นที่มีเสียงเรียกร้องให้บัญญัติว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ การบัญญัติเช่นนั้นอาจจะเกิดปัญหา และได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า จึงบัญญัติขึ้นมาใหม่ให้มีการส่งเสริมการส่งเสริมการศึกษา และเผยแผ่หลักฐานของพระพุทธศาสนาเถรวาท เป็นครั้งแรกที่เราจะกำหนดในรัฐธรรมนูญให้มีการพัฒนาจิตใจและปัญญา

ในประเด็นนี้มีข้อสังเกตว่า แม้มาตรา 67 จะไม่ได้บัญญัติว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยกหรือขัดแย้งระหว่างคนที่อยู่อาศัยในประเทศไทยที่นับถือศาสนาต่างกัน แต่มาตรา 67 ก็ยังเขียนให้รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท ให้รัฐมีมาตรการปกป้องการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา แต่ไม่ได้กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องส่งเสริมการเผยแพร่หลักธรรมของศาสนาอื่นหรือศาสนาพุทธนิกายอื่นด้วย เท่ากับว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงมีบทบัญญัติให้รัฐปฏิบัติต่อศาสนาหรือบุคคลที่นับถือศาสนาแตกต่างกันอย่างไม่เท่าเทียมกันได้

หากย้อนดูรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 และ 2550 ในประเด็นนี้ ก็จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญสองฉบับก่อนหน้านี้เขียนไว้ในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ให้รัฐมีหน้าที่อุปถัมภ์และคุ้มครองทุกศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ได้กำหนดให้ส่งเสริมการเผยแพร่หลักธรรมของศาสนาใด หรือนิกายใดเป็นการเฉพาะ นอกจากนี้รัฐธรรมนูญสองฉบับนี้ยังบัญญัติให้รัฐต้องส่งเสริมความสมานฉันท์ระหว่างทุกศาสนาด้วย ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. ตัดประเด็นนี้ออกไป

รัฐธรรมนูญ 2550 
          “มาตรา 79 รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านานและศาสนาอื่น ทั้งต้องส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา รวมทั้งสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต”

รัฐธรรมนูญ 2540 
           “มาตรา 73 รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา รวมทั้งสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต”

ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญไทยฉบับใด เขียนให้ “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ”

หากย้อนดูประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทยทั้ง 19 ฉบับที่ผ่านมา ไม่มีฉบับใดเลยที่เคยบัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งเว็บไซต์วิกิพีเดีย ขณะสืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ให้ข้อมูลว่า กระแสเรียกร้องให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ได้เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อต้นปีพุทธศักราช 2550 โดยชาวพุทธ 7 องค์หลัก กล่าวคือ มหามกุฏราชวิทยาลัย, มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก, ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย, คณะสงฆ์อณัมนิกาย, คณะสงฆ์จีนนิกาย, และพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ได้เริ่มต้นเรียกร้อง ต่อมากลุ่มชาวพุทธได้ขยายเพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 300 องค์กรทั่วประเทศและได้ผนึกกำลังกันเรียกร้องขึ้นมา

ที่มาก่อนหน้านั้น เมื่อ พ.ศ. 2546 สมัยรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร นักวิชาการชาวไทยพุทธได้เขียนตำราเรียนวิชาพระพุทธศาสนาในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการและกล่าวไว้ว่า ‘พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ’ แต่ถูกวินัย สะมะอุน ชาวมุสลิม ท้วงติงว่ากล่าวเช่นนั้นไม่ได้ เพราะไม่มีในรัฐธรรมนูญและอาจขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วย ทำให้กรมวิชาการต้องสั่งให้ตัดประโยคดังกล่าวออกไปจากหนังสือหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการทุกเล่ม ซึ่งหมายความว่าถ้าจะบอกว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของไทย ก็จะกล่าวได้แต่เฉพาะในกรณีที่ไม่เป็นทางการเท่านั้น

ในระหว่างการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในปี 2550 มีการชุมนุมใหญ่ของพระสงฆ์และกลุ่มชาวพุทธหลายต่อหลายครั้ง และมีการจัดกิจกรรมรณรงค์กันอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีกระแสคัดค้านจากชาวพุทธอีกกลุ่มหนึ่งและกลุ่มคนที่นับถือศาสนาอื่นอีกไม่แพ้กัน สุดท้ายแม้สภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 จะยังไม่ได้บัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติโดยตรงแต่ก็ได้รับรองเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกไว้ในมาตรา 79 ว่า พระพุทธศาสนาเป็น “ศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน”

 

รอบนี้ชาวพุทธยื่น 100,000 รายชื่อกดดัน แต่ยังไม่เป็นผล

ในระหว่างกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ. ในปี 2558-2559 ก็ยังมีกลุ่มชาวพุทธที่เคลื่อนไหวรณรงค์ผลักดันให้บัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนจะถูกยกเลิกไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วก็ตาม แต่ชาวพุทธกลุ่มนี้ก็ยังนำแบบฟอร์มการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย หรือแบบฟอร์ม ขก.1 มาใช้รวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนเพื่อนำไปยื่นต่อ กรธ.

โดยเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2559 ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า มีการนำรายชื่อประชาชนผู้สนับสนุน 10,000 ชื่อ ไปยื่นให้ กรธ. แต่เมื่อ กรธ.เปิดเผยร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกต่อสาธารณะ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 โดยไม่ได้บัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ต่อมาวันที่ 22 มีนาคม 2559 ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า กลุ่มชาวพุทธอีกกลุ่มหนึ่งจึงนำรายชื่อผู้สนับสนุนอีก 100,000 รายชื่อ มายื่นต่อ กรธ. แต่สุดท้าย กรธ.ก็ไม่ได้บัญญัติประเด็นนี้ไว้ให้ตรงตามข้อเรียกร้องของชาวพุทธกลุ่มนี้

 

มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่เพิ่มข้อจำกัดต้อง “ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ”

สำหรับประเด็นเสรีภาพในการนับถือศาสนา ร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. รับรองเสรีภาพทั้งการนับถือศาสนา การปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ไว้ในมาตรา 31 โดยมีเหตุผลที่อาจเป็นข้อจำกัดเสรีภาพได้สามประการ คือ
         1) ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย
         2) ต้องไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ
         3) ต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

หากย้อนดูประเด็นเสรีภาพในการนับถือศาสนาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ ตั้งแแต่ฉบับที่ประกาศใช้เมื่อ 10 ธันวาคม 2475 เป็นต้นมา รวมทั้งรัฐธรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 ต่างก็เขียนไว้คล้ายกัน แต่กำหนดเหตุผลที่เป็นข้อจำกัดเสรีภาพไว้เพียงสองประการเท่านั้น คือ 1) ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง 2) ต้องไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ดังนั้น เหตุผลที่จะจำกัดเสรีภาพทางศาสนา ว่าต้องไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ จึงเป็นเรื่องใหม่ที่มีขึ้นเป็นครั้งแรกในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นข้อสังเกตว่า รัฐธรรมนูญที่เขียนรับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนา ตั้งแต่ฉบับปี 2492 เป็นต้นมา ล้วนเขียนหลักการในวรรคสองไว้คล้ายกันทุกฉบับทำนองว่า บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐลิดรอนสิทธิหรือต้องเสียประโยชน์ เพราะเหตุที่นับถือศาสนาแตกต่างจากบุคคลอื่น แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ. ไม่ได้เขียนหลักการนี้ไว้ด้วย

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage