วิทิต มันตาภรณ์ แนะไทยหยุดใช้กฎหมายละเมิดสิทธิ ก่อนชิงเก้าอี้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ

2 กุมภาพันธ์ 2567 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยและศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้จัดงาน “Thailand’s Road to the UN Human Rights Council: หนทางสู่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ประเทศไทยจะทำได้หรือเปล่า?” ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (Foreign Correspondents’ Club of Thailand: FCCT) เพื่อประเมินความพร้อมและแสดงข้อกังวลต่อความพยายามชิงตำแหน่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) ของประเทศไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมปี 2567

ในงานดังกล่าว วิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ได้ร่วมประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย รวมทั้งยังตั้งข้อสังเกตหากรัฐบาลไทยมีความตั้งใจจริงที่จะชิงตำแหน่งคณะมนตรีฯ กับประเทศอื่น

ข้อเสนอแนะของวิทิตเรียกร้องให้รัฐไทยยุติการใช้กฎหมายที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และลบล้างส่วนที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยออกไปจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายหลายฉบับก่อนจะสมัครเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รวมทั้งเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อเสนอแนะของสหประชาชาติทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของไทย อย่างน้อยที่สุดควรถูกเผยแพร่ให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคน เพื่อให้การเริ่มต้นแก้ไขสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนสามารถเริ่มต้นได้ในรัฐสภา

การชิงตำแหน่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน และข้อได้เปรียบของไทย

วิทิตเล่าถึงบทบาทในอดีตของประเทศไทยในคณะมนตรีฯ ที่ผ่านมา โดยระบุว่าคณะมนตรีฯ ประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งสิ้น 47 รัฐ และประเทศไทยเคยเป็นสมาชิกมาแล้วระหว่างปี 2553-2556 ซึ่งเคยเป็นประธานคณะมนตรีฯ อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศกลุ่มทวีปแอฟริกาอีกด้วย การทำหน้าที่ในครั้งจึงเป็นหนึ่งในประวัติการทำงานบนเวทีโลกที่ดีของไทยในสายตานานาชาติ อย่างไรก็ตามความพยายามชิงตำแหน่งคณะมนตรีฯ ครั้งต่อมากลับต้องสะดุดลงเพราะปัญหาทางการเมืองภายใน

“ครั้งที่สองที่เราอยากเป็นสมาชิกในช่วงปี 2556-2560 เราเสนอตัวแต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง เพราะในปี 2557 มีการรัฐประหารและมีความขรุขระทางการเมือง เพราะฉะนั้นเรื่องการเมืองก็เกี่ยวข้องไม่มากก็น้อยกับฝ่ายอื่นทั้ง 190 กว่าประเทศที่ต้องลงคะแนนเลือกตั้ง”

วิทิตระบุว่า ในครั้งนี้ที่เราพยายามจะชิงตำแหน่งคณะมนตรีฯ ช่วงเดือนตุลาคม 2567 มีคู่แข่งจากประเทศในเอเชียด้วยกันอยู่ถึงห้าประเทศ คือ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ประเทศกาตาร์ ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศไซปรัส และสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชล 

“แน่นอนว่าการเข้าไปจะต้องมีความรับผิดชอบทางจิตใจ อย่างน้อยก็ต้องพัฒนาสิทธิมนุษยชน แต่หลายรัฐที่เข้าไปก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ประวัติก็ไม่ได้ดีมาก ก็มีการเมืองเข้ามา เวลาท่านชั่งน้ำหนักก็ต้องดูด้วยว่าไม่ได้มีแค่เรื่องสิทธิมนุษยชนแต่มีเรื่องอื่นในการเมืองระหว่างประเทศด้วย ไม่มีเงื่อนที่บอกว่าต้องประชาธิปไตยเพื่อเข้าร่วมคณะมนตรีฯ ไม่มีเงื่อนไขที่บอกว่าประวัติด้านสิทธิมนุษยชนต้องดีร้อยเปอร์เซ็นต์  มันมีสองมาตรฐานเข้ามาเสมอ อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายระหว่างประเทศด้วยแต่เราก็พยายามให้มีมาตรฐานที่เป็นคุณกับทุกฝ่ายมากที่สุด”

วิทิตพูดถึงจุดเด่นที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วสำหรับการลงชิงตำแหน่งคณะมนตรีฯ ครั้งนี้ ซึ่งเขาระบุว่ามีทั้งหมดห้าประการ

“หนึ่ง รัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้งไม่ได้มาจากการรัฐประหาร ท่านบอกว่ามีเศษเหลือของการรัฐประหาร ไม่ได้ปฏิเสธ แต่อย่างน้อยมาจากการเลือกตั้ง ถึงแม้มีความขรุขระในการตั้งรัฐบาล” 

“สอง ตามสัญญาที่เราให้ไว้นอกเหนือจากการเป็นภาคีของสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนทั้งเจ็ดฉบับ และร่วมกับระบบ The Universal Periodic Review (UPR) ภายใต้คณะมนตรีที่อยู่ภายใต้อาณัติของสหประชาชาติ เราก็สัญญาเหมือนกันว่าเราจะเป็นภาคีข้อตกลงอนุสัญญาต่อต้านการอุ้มหาย และเรากำลังจะส่งถอนข้อสงวนในเรื่องสิทธิเด็กในข้อสงวนสุดท้ายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย คือเรากำลังจะยอมรับหลักประกันให้แก่ผู้ลี้ภัย น่าจะเป็นส่วนที่บวกและเป็นเจตนาที่ดีต่อการเมืองระหว่างประเทศ” 

“สาม ส่วนที่ดีที่สุดสำหรับผมคือเรื่องสาธารณสุข คือ ผมเกิดอุบัติเหตุที่เชียงคานมาก่อน ก็ได้รับบริการที่ดี ผมก็จ้องเหมือนกันว่าชาวบ้านได้รับยาที่ดีหรือไม่ มีบรรจุภัณฑ์ที่ดีไหม ซึ่งก็โอเคอย่างน้อยมี บางประเทศไม่มี ประเทศไทยน่าจะภูมิใจในระบบสาธารณสุขมากและควรช่วยพัฒนาให้ทั่วถึงมากขึ้น” 

“สี่ กฎหมายที่ได้รับการชื่นชมหน่อยคือกฎหมายเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ถึงแม้มีข้อยกเว้นที่ไม่ค่อยดีนักแต่การปฏิบัติค่อนข้างเอื้อ และช่วงนี้ผมเชื่อว่าแต้มหนึ่งที่เราจะได้หากเราสามารถผ่านได้คือ พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ เพื่อให้เพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้ ผมคิดว่าเป็นเจตนาของรัฐบาลปัจจุบัน น่าจะเป็นแต้มที่ดีมากและเป็นจุดเด่นด้านบวกของไทย 

“ประการสุดท้าย คือ เราเป็นตัวตนที่มีน้ำหนักในระบบพหุภาค จริงๆ เราเป็นกลางในซ้ายแต่น้ำหนักเราเยอะมาก เพราะการทูตของเราเก่งเรื่องนี้มานานแล้ว อย่างที่ท่านทราบดีว่าเกิดอะไรขึ้นในสงครามโลกครั้งที่สอง”

ความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชนของไทย ข้อตกหล่นจากมาตรฐานสากลที่ต้องรีบแก้ไข

วิทิต กล่าวถึงข้อท้าทายด้านสิทธิมนุษยชนของไทยสำหรับการลงชิงตำแหน่งคณะมนตรีฯ ดังนี้

“หนึ่ง เศษเหลือของส่วนที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยจากการรัฐประหาร รวมทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายหลายส่วนด้วย ไม่ใช่ผมพูดนะครับแต่สหประชาชาติแนะนำมาตลอดว่าต้องมีการแก้ไขส่วนเหลือของเผด็จการที่มีอยู่”

“สอง คือ คดีทั้งหลายที่ท่านทราบกันอยู่ว่าไม่สมกับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนมีจำนวนมาก ไม่ต้องดูไกลให้ไปดูว่า ที่สหประชาชาติประเมินหรือแสดงออกนั้นเขาว่าอย่างไร เขาว่าเราสมมาตรฐานหรือไม่ ผมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเดี๋ยวสหประชาชาติก็แสดงออกไม่ช้านี้ ไม่ว่าภายในประเทศจะมองอย่างไรแต่ข้างนอกเขาก็มองเราด้วยเจตนาที่ดีและมีความเป็นปรวิสัย (Objectivity) ที่ช่วยให้เราพัฒนาด้วย” 

“สาม คือ การปฏิบัติต่อเด็กในช่วงนี้ วันนี้ที่เราได้ยินคือคดีทั้งหลายที่เกี่ยวกับเด็กประมาณ 280 กรณีในสามปี เราจะพัฒนาอย่างไรได้บ้าง ขอเชิญชวนเจ้าหน้าที่ที่เคารพที่มาฟังที่นี่ ในกรณีที่เด็กทำผิดเรามีกฎหมายอยู่แล้วที่น่าจะเป็นคุณได้ คือ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ถ้าจะมากกว่านั้นก็ใช้ พ.ร.บ.วิฯ เด็ก (พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553) ไม่น่าจะใช้กฎหมายความมั่นคงหรือกฎหมายอาญาที่ขัดต่อหลักสากลต่อเด็ก ขอความเป็นธรรมนะครับเรื่องนี้ อย่าใช้กฎหมายที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งแรก และมีหลายกฎหมายที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนที่กระทบเด็กอยู่มาก” 

“สี่ มีหลายคดีที่เกี่ยวข้องกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการถูกฟ้องของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิง บางทีก็โดยกลุ่มเจ้าหน้าที่-กลุ่มรัฐ เช่น ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น อันนี้เรียกว่า SLAPP เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อยากจะให้พัฒนาโปร่งใสและเคารพสิทธิของเขาในการแสดงออก” 

“สุดท้าย คุณภาพของการบังคับใช้กฎหมายเป็นประเด็นมาก เจ้าหน้าที่บางคนก็เป็นประเด็นมาก คือไม่ค่อยโปร่งใส ไม่ค่อยสมดุลในเรื่องสิทธิที่ควรเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน และสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด (Impunity) เยอะมาก เช่น รายงานสหประชาชาติเกี่ยวกับภาคใต้ของไทย เป็นต้น มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เยอะมาก ไม่มีการเยียวยาอย่างแท้จริง เป็นต้น ก็ขอฝากให้หน่วยงานภายในประเทศดูความโปร่งใสภายในหน่วยงานของท่านด้วย”

ลู่ทางสู่อนาคตคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน จุดที่ต้องการการพัฒนาเพิ่มเติม

สุดท้าย วิทิตกล่าวถึงลู่ทางสู่อนาคตด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยเอาไว้ดังนี้ 

“หนึ่ง เปิดพื้นที่ให้มากขึ้นในเรื่องที่หลากหลาย โดยเฉพาะสิทธิทางการเมือง พูดง่ายทำยากแต่ก็ยังต้องทำ เชื่อว่าเจ้าหน้าที่หลายคนก็เห็นด้วยกับประชาชน เพราะก็เป็นประชาชนเช่นกัน พยายามหน่อยนะครับ ท่านไม่ต้องตามเศษที่เหลือของสิ่งที่ไม่พึงปราถนา”

“สอง ในเรื่องส่งแวดล้อม ประเทศไทยก็มีเจตนาที่ดีอยู่แล้วในหลายส่วนแต่ต้องทำอีกเยอะ เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศก็รอ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ก็ขอเชียร์หน่อยนะครับ ให้มีการมีส่วนร่วมและตรวจตราของประชาชนมากขึ้น ถ้าเกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจบทบาทของความโปร่งใสเองก็สำคัญในเรื่องของการตรวจตราและการประเมิน” 

“สาม สหประชาชาติฝากเราไว้ในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีสิทธิมนุษยชน (Development and Human Rights Economy) ทำยังไงให้สิทธิทางเศรษฐกิจของเรามันเป็นกลางทางเศรษฐกิจด้วยกัน เป็น Economy ของสิทธิมนุษยชน ต้องกระจายผลทางเศรษฐกิจออกไป ประเทศไทยจะประสบปัญหาด้านการผูกขาดเยอะ ตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจไปจนถึงเรื่องสิทธิทางการเมือง ดังนั้นต้องช่วยกันเพื่อเปิดพื้นที่” 

“สุดท้าย คือ มีประเด็นใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยี-ดิจิทัลที่เข้ามามากก็มีกฎหมายใหม่มาก แต่กลับมีข้อยกเว้นเยอะ การกระทบถึงเด็กด้วยเทคโนโลยีก็เยอะ เราต้องช่วยกันทำในอนาคต ยิ่งมีเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (AI) มากขึ้นก็ยิ่งเตรียมการให้ดี โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ในการที่เป็นมนุษย์ที่เอื้อต่อกันและกัน สุดท้ายจึงหนีไม่พ้นการสร้างพลังในเรื่องความเข้าใจ จิตใจเอื้อเฟื้อ ที่ต้องผ่านการศึกษาและการมีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีต่อกันและกัน ” 

ประการสุดท้าย วิทิตกล่าวถึงภาพรวมของการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนในไทยและส่งข้อความถึงหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดังนี้

“น้องๆ ที่เป็นเยาวชนที่กรุงเทพฯ ก็น่าจะร่วมกับเยาวชนที่ภาคใต้ด้วย น้องๆ เยาวชนที่ไม่เคยโดนคดีทั้งหลายก็น่าไปเยี่ยมน้องๆ ที่ถูกคดีบ้าง ผมเป็นผู้รายงานพิเศษทราบดี ต้องไปเยี่ยมคุกและสถานที่ที่เด็กๆ ถูกกักที่อาจจะไม่ใช่คุกด้วย ฝากไว้หน่อยนะครับ ให้กำลังใจทุกคน”

“ที่เป็นประเด็นมากสำหรับประเทศไทย คือ เราต้องช่วยกันคืนสิทธิคืนพื้นที่ทางประชาธิปไตยให้กับประชาชน ประเด็นที่ปวดหัวมากคือการกระทบกับสิทธิทางการเมืองและการจำกัดสิทธิทางการเมือง ถ้าจะสรุปก็คืออยากจะฝากคำขวัญเอาไว้ให้ทุกคนมุ่งสู่ความหวังด้วยกัน อย่าท้อแต่ให้เตรียมการณ์อยู่เสมอ และหากสถานการณ์กำลังย่ำแย่ ให้ฉลาดเฉลียวในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต่อไป อยากให้เรามีความหวังในการเชื่อมสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย สันติภาพ การพัฒนาที่ยั่งยืน การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เข้าด้วยกัน เป็นหุ้นส่วนกัน และใครที่พรากประชาธิปไตยหรือสิทธิจากประชาชน ก็น่าจะรู้ด้วยว่าตัวเองมีจริยธรรมแบบใด”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You May Also Like
อ่าน

นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนพฤษภาคม 2567

เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมสิบคดี แบ่งเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นแปดคดี ศาลอุทธรณ์และฎีกาอย่างละหนึ่งคดี
อ่าน

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อของวอยซ์ทีวี หลังประกาศปิดฉาก 15 ปี

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ที่เรียกว่า อายุเกือบครึ่งหนึ่งของวอยซ์ทีวีต้องเผชิญกับการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพ