ศาลรอลงการลงโทษจำคุก คดีมายด์ปราศรัยในการชุมนุม #ประเทศนี้เป็นของราษฎร เข้าข่ายผิดมาตรา 112 

31 มกราคม 2564 ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ จากการกล่าวปราศรัยในการชุมนุม #เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร ที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 ศาลมีคำพิพากษาว่าภัสราวลีมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ลงโทษจำคุกสามปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษจำคุกให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี เนื่องจากจำเลยยังเป็นนักศึกษาขาดประสบการณ์ในการดำเนินชีวิต อยู่ในวัยคึกคะนอง ควรให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดี จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนดสามปี ส่วนที่ภัสราวลีถูกฟ้องในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯจากการเข้าร่วมการชุมนุมในวันเกิดเป็นอีกข้อหาหนึ่งด้วย ศาลพิพากษายกฟ้อง

ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาในเวลา 9.25 น. คำพิพากษาของศาลพอสรุปได้ว่า
ที่จำเลยถูกฟ้องในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องห้ามกิจกรรมรวมตัวในลักษณะแออัดเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค จากการสืบพยานเห็นว่าการจัดกิจกรรมต่างๆในวันเกิดเหตุไม่เป็นไปตามมาตการป้องกันโรคโควิด19 ไม่มีจุดบริการน้ำยาฆ่าเชื้อโรค โดยผู้ที่โพสต์ชักชวนประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวคือเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จำเลยเป็นเพียงผู้เข้าร่วมชุมนุมเท่านั้น และจำเลยจะเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวหรือไม่ ไม่ปรากฎในทางนำสืบ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบในการกระทำที่ว่านั้น ให้ยกฟ้องในความผิดส่วนนี้

สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พิจารณาจากคำปราศรัยของจำเลย ซึ่งพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ได้แก่ 

จำเลยปราศรัยว่าประเทศไทยจะต้องมีกองทัพเพียงกองทัพเดียว จะมีหลายกองทัพไม่ได้ จากนั้นจำเลยได้ปราศรัยถึงถึงการออกพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลจากกระทรวงกลาโหมไปเป็นส่วนราชการในพระองค์

จำเลยปราศรัยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์กับการเมือง โดยพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อสังเกตพระราชทานหลังการทำประชามติ และ

จำเลยปราศรัยถึงการจัดการทรัพย์สินพระมหามหากษัตริย์และความสัมพันธ์กับประชาชน โดยพูดถึงการออกกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์สองฉบับที่ส่งผลให้สาธารณสมบัติของแผ่นดินบางส่วนเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยจำเลยยังปราศรัยถึงการถือครองหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์โดยตรงของพระมหากษัตริย์ด้วย

ในการปราศรัย จำเลยไม่ได้กล่าวอ้างหรือชี้แจงเอกสารต่างๆ ดังที่จำเลยนำสืบในชั้นศาลให้ประชาชนที่ฟังการปราศรัยได้รับทราบ เมื่อพิจารณาจากคำปราศรัยและบริบทแวดล้อมขณะเกิดเหตุแล้ว ผู้ได้รับฟังคำปราศรัยอาจเข้าใจไปว่าพระมหากษัตริย์ทรงกระทำการโดยอำเภอใจ ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระมหากษัตริย์  การกระทำของจำเลยจึงเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท ต่อองค์พระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พิพากษาจำคุกสามปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก สองปี เนื่องจากจำเลยยังเป็นนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ขาดประสบการณ์ในการดำเนินชีวิต ขาดการไตร่ตรองถึงผลเสียที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตน ด้วยความคึกคะนอง ขาดความรู้ และการจำคุกระยะสั้นไม่เป็นผลดี เห็นควรให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดสามปี

อ่านสรุปคดีที่นี่