แนวคิด ‘การปฏิรูปสื่อ’ เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ซึ่งในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองช่วงนั้น สื่อถูกปิดกั้น รัฐบาลแทรกแทรงและควบคุมการนำเสนอข่าวสาร รวมถึงโฆษณาชวนเชื่อได้เบ็ดเสร็จ เนื่องจากรัฐเป็นผู้ถือครองคลื่นความถี่ที่ใช้ในการสื่อสารอยู่ในมือแทบทั้งหมด เมื่อรัฐเป็นเจ้าของทรัพยากรความถี่และให้สิทธิเอกชนใช้ผ่านการให้สัมปทาน การควบคุมสื่อจึงไม่ใช่เรื่องยาก
ข้อมูลของสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยระบุว่า จากสถานีวิทยุที่คลื่นความถี่อยู่ในมือของหน่วยงานรัฐทั้งหมด 537 สถานี กองทัพ ถือครองคลื่นความถี่วิทยุมากที่สุด รวมกันถึง 198 สถานี แบ่งเป็น กองทัพบก 127 สถานี กองทัพอากาศ 36 สถานี กองทัพเรือ 21 สถานี และกองบัญชาการกองทัพไทย 14 สถานี
เมื่อเกิดการปฏิรูปการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ข้อความอันทรงพลังหนึ่งจึงเกิดขึ้นในมาตรา 40 “คลื่นความถี่ถือเป็นทรัพยากรสาธารณะ” และกำหนดให้มีองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่จัดสรรการเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ใหม่ทั้งหมด กสทช. หรือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จึงเกิดขึ้นในฐานะองค์กรที่เป็นอิสระจากอำนาจรัฐ อิสระจากอำนาจทุนขนาดใหญ่ เพื่อมาทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ วิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ จัดการประมูล เพื่อให้คลื่นความถี่ถูกใช้ในทางที่เป็นประโยชน์กับสาธารณะ และรัฐได้ผลประโยชน์ตอบแทนจากเอกชนที่เข้าใช้คลื่นอย่างคุ้มค่า
กสทช. ก่อตั้งขึ้นในปี 2553 และ 2 ปีต่อมาก็ได้ออกแผนแม่บท 3 ฉบับ วางกรอบเวลาที่จะเรียกคืนคลื่นความถี่ที่อยู่ในมือหน่วยงานรัฐทั้งหมดเพื่อจัดสรรใหม่ โดยนับถอยหลังให้ 5 ปี สำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียง 10 ปี สำหรับกิจการโทรทัศน์ และ 15 ปี สำหรับกิจการโทรคมนาคม
อย่างไรก็ดี ภารกิจปฏิรูปสื่อของ กสทช. เริ่มขึ้นยังไม่ทันเต็มตัวนัก 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ทำรัฐประหารเข้ายึดอำนาจการปกครอง และดึงเอาอำนาจการตัดสินใจทุกอย่างในประเทศกลับไปอยู่ที่ คสช. รวมทั้งภารกิจของหน่วยงานที่ควรจะเป็นอิสระอย่าง กสทช. ก็เดินหน้าไปตามความมุ่งหมายของการปฏิรูปสื่อได้อย่างกระท่อนกระแท่นเท่านั้น เพราะ คสช. ยังคอยใช้อำนาจพิเศษออกประกาศ คำสั่ง และคำสั่งหัวหน้า คสช. เป็นระยะๆ เพื่อใช้อำนาจอยู่เหนือ กสทช. อีกชั้นหนึ่ง ทำให้หลักความเป็นอิสระขององค์กรแห่งนี้ค่อยๆ ถูกทำลายเหลือเพียงความเป็นหน่วยงานราชการธรรมดาๆ
ตลอดระยะเวลาสี่ปี หัวหน้าคสช. ใช้อำนาจพิเศษตาม "มาตรา 44" ออกคำสั่งรวมเก้าฉบับ เพื่อใช้อำนาจสั่งการต่างๆ แทนองค์กรอิสระอย่าง กสทช. ได้แก่ คำสั่งช่วยเหลือผู้ประกอบการสื่อโทรคมนาคมและทีวีดิจิทัลสี่ฉบับ, คำสั่งยืดเวลาคืนคลื่นความถี่ของกองทัพและหน่วยงานของรัฐออกไปอีก 5 ปี, ขยายอำนาจ กสทช. ให้เข้าควบคุมเนื้อหาของสื่อมวลชน และออกคำสั่งเพื่อต่ออายุกรรมการ กสทช. ชุดเดิมไว้อีกสามฉบับ นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขกฎหมายกสทช. โดยตรง 1 ครั้งเพื่อนำเงินมาให้รัฐบาล คสช. ใช้ และต่อมาก็แก้ไขที่มาของกรรมการ กสทช. ใหม่ทั้งหมด
ประเดิม! คสช. สั่งแก้กฎหมาย กสทช. ส่งเงินเข้าคลัง
9 กรกฎาคม 2557 ไม่ถึง 2 เดือนหลังการเข้ายึดอำนาจ คสช. ออก ประกาศ คสช. ฉบับที่ 80/2557 แก้ไข กฎหมายของ กสทช. หรือ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 กำหนดให้เงินที่ได้จากการประมูล/เงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ “นำส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน” แทนการ “นำส่งเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)”
หากเงินยังไม่ได้นำส่งเข้ากองทุนกทปส. ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินภายใน 15 วันและให้กองทุนกทปส.ให้กระทรวงการคลังสามารถยืมเงินกองทุนไปใช้ในกิจการของรัฐอันเป็นประโยชน์สาธารณะได้
อีกทั้ง ยังแก้ไข “คณะกรรมการการบริหารกองทุน” ให้เพิ่มปลัดกระทรวงกลาโหมเข้ามา และลดจำนวนผู้ทรงคุณวุฒิลงจาก 4 คน เหลือ 2 คน โดยไม่ระบุว่าต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านใด จากเดิม พ.ร.บ. กสทช. 2553 ระบุว่า ต้องมี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพัฒนาบุคคลากรและวิชาชีพสื่อกระจายเสียง 1 คน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการโทรคมนาคมพื้นฐาน 1 คน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคหรือการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน 1 คน และ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส 1 คน รวม 4 คน
สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. เห็นว่า สาเหตุของการปรับคณะกรรมการกองทุนฯ มาจากประเด็นเรื่องเงิน ไม่ว่าจะเป็น กรณีคูปองสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัล 1,000 บาท หรือเงินชดเชยให้อาร์เอสกรณีฟุตบอลโลก 427 ล้านบาท และมองว่า การปรับแก้บางมาตรา เช่น เรื่องกองทุน ทำง่ายกว่าปรับเปลี่ยน กสทช. ทั้งชุด ซึ่งจริงๆ ก็คงอยากปรับ กสทช.ด้วย แต่คงต้องรื้อกฎหมายทั้งฉบับ จึงคาดว่าคงรอไปแก้ภายหลัง
ยืมเงินกองทุนวิจัย ทำ “โครงการพัฒนาระบบน้ำและขนส่ง” 14,800 ล้านบาท ไม่คิดดอกเบี้ย
ปีถัดมา (17 มิถุนายน 2558) กสทช. มีมติ 9 ต่อ 1 เสียง เห็นชอบให้กระทรวงการคลังยืมเงินจากกองทุน กทปส. ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 พฤษภาคม 2558 เพื่อนำไปใช้แทนเงินกู้บางส่วนสำหรับโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำและระบบขนส่งทางถนนเร่งด่วน เป็นเงิน 14,300 ล้านบาท เบื้องต้นระยะเวลา 3 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ย ขณะที่ ก่อนหน้านั้นกองทุน กทปส. มีเงินอยู่ทั้งหมด 19,000 ล้านบาท ให้ยืมไป 14,800 ล้านบาท จึงคงเหลือ 4,200 ล้านบาท
สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ในขณะนั้น แสดงความคิดเห็นคัดค้านว่า การนำเงินกองทุนไปใช้ในกิจการพัฒนาระบบน้ำและพัฒนาขนส่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. ตามพ.ร.บ. กสทช. แม้สำนักงาน กสทช. จะอ้างประกาศ คสช. และความต้องการของกระทรวงการคลัง แต่ก็ยังต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการพัฒนาระบบน้ำและขนส่ง กับการพัฒนาด้านโทรคมนาคมขั้นพื้นฐาน ว่าอะไร คือ ภารกิจสำคัญของ กสทช. และกสทช. หรือรัฐบาล ใครควรนำเงินไปใช้มากกว่ากัน
คสช. สั่งเองโดยตรง ยืดสัปทานไปอีก 1 ปี แก้ปัญหา “ซิมดับ”
แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ พ.ศ. 2555 ของ กสทช. กำหนดว่า เมื่อสัญญาสัปทานที่เอกชนเช่าจากหน่วยงานรัฐสิ้นสุดลงต้องคืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่ แต่ในปี 2556 เมื่อสัญญาสัมปทานบนย่านคลื่น 1800 MHz ของบริษัททรูมูฟกำลังจะสิ้นสุดลง ในวันที่ 15 กันยายน 2556 แต่การประมูลหาเอกชนมารับช่วงต่อยังจัดทำไม่เรียบร้อย ด้าน บริษัททรูมูฟ/ผู้ให้บริการอ้างว่ายังมีลูกค้าทรูมูฟ/ผู้ใช้บริการที่ไม่ได้โอนย้ายออกจากระบบประมาณ 17 ล้านหมายเลข และหากตัดสัญญาเมื่อสัญญาหมดทันทีอาจส่งผลกระทบ "ซิมดับ" ได้
16 สิงหาคม 2556 กสทช. จึงเข้าแทรกแซงมาแล้วครั้งหนึ่งด้วยการออกประกาศ กสทช. คุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราว โดยอนุญาตให้ผู้บริการรายเดิมใช้คลื่นให้บริการต่อไปฟรีอีก 1 ปี พร้อมเร่งรัดการโอนย้ายในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือใช้งานได้ตามปกติ ไม่ต้องสะดุดลงเพราะซิมดับ
ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการออกประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราว เพราะควรเร่งจัดประมูลคลื่นความถี่ให้ทันก่อนสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง แต่เมื่อมติที่ประชุมเลือกทำเช่นนี้เพื่อป้องกันเหตุการณ์ซิมดับ ก็เห็นว่า สำนักงานต้องเร่งรัดผู้ให้บริการโอนย้ายลูกค้าออกจากระบบเก่าโดยเร็วที่สุด
มาตราการเยียวยาเฉพาะหน้าของ กสทช. ครั้งนี้มีอายุสิ้นสุดในวันที่ 15 กันยายน 2557 และแม้ว่า ปัญหาซิมดับยังไม่จบ ลูกค้าทรูมูฟยังค้างไม่ได้โอนย้ายอีก 3 ล้านราย แต่ก็คาดกันว่าจะจัดการจัดประมูลคลื่นบนย่านความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ได้ในช่วงเดือนสิงหาคม 2557 แต่ปรากฎว่า 1 เดือนก่อนนั้น วันที่ 17 กรกฎาคม 2557 คสช. ออก คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 94/2557 ให้ กสทช. ชะลอการดำเนินการเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม ออกไปเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์ใช้งานได้ปกติไม่มีการสะดุดลง
ประวิทย์ ตั้งข้อสังเกตว่า ปริมาณโอนย้ายลูกค้าของทรูมูฟในปริมาณมากเกิดขึ้นในเดือนแรกหลังสัมปทานสิ้นสุดเพียงเดือนเดียวเท่านั้น แต่หลังจากนั้นปริมาณอยู่ในระดับเดือนละ 3-4 แสนหมายเลข ซึ่งน้อยมาก ในขณะที่ความสามารถของระบบรองรองรับการโอนได้เดือนละ 1.8 ล้านราย ข้อมูลฟ้องว่า ทรูมูฟไม่ได้เร่งรัดการโอนย้ายอย่างจริงจัง ในระหว่างช่วงเวลาการขยายระยะเวลาให้บริการ การอ้างว่า ออกมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเพื่อแก้ปัญหา "ซิมดับ" จึงไม่จริง
คสช. ตั้งประมูลคลื่น 900 MHz ราคา 75,654 ล้านบาท
สิ้นปี 2558 มีการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ในย่าน 1800 MHz ทรู มูฟ เอช ชนะประมูลด้วยราคา 39,792 ล้านบาท และเอไอเอสชนะด้วยราคา 40,986 ล้านบาท ใน 900 MHz แจส โมบาย ชนะด้วยราคา 75,654 ล้านบาท และทรูมูฟเอสชนะด้วยราคา 76,298 ล้านบาท แต่พอถึงเส้นตาย (21 มีนาคม 2559) ที่ต้องนำเงินค่าประมูลงวดที่ 1 มาจ่ายให้ กสทช. กลับเป็นว่า แจส โมบาย ไม่นำเงินมาจ่ายและทิ้งใบอนุญาต
12 เมษายน 2559 คสช. จึงแก้ปัญหาด้วยการออกคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2559 ให้ กสทช. จัดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 ในราคาประมูลเริ่มต้นที่ 75,654 ล้านบาท ซึ่งเมื่อถึงวันประมูล เอไอเอส ชนะการประมูลด้วยการยืนยันราคาประมูลเป็นเงิน 75,654 ล้านบาท
"มาตรา 44" อุ้มทีวีดิจิทัล ต่อเวลาจ่ายเงินค่าประมูล
26 ธันวาคม 2556 มีการจัดประมูลทีวีดิจิทัล พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. กล่าว่าเป็น "การประมูลทีวีดิจิทัลครั้งแรกของไทยและของโลก" เปลี่ยนผ่านจากยุคสัมปทานสู่ยุคใบอนุญาต จากการผูกขาดของรัฐสู่เสรีทางธุรกิจโทรทัศน์ สรุปผลประมูลทีวีดิจิทัล 24 ช่อง วงเงินประมูลรวม 50,862 ล้านบาท แต่ต่อมาธุรกิจทีวีดิจิทัลก็ไปได้ไม่ดีนัก หลายช่องขาดทุน ถึงขนาด "เจ้ติ๋ม ทีวีพูล” หรือ พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย บริษัท ไทยทีวี จำกัด ตัดสินใจไม่ชำระค่าใบอนุญาตงวดที่สอง ของช่อง ไทยทีวี และ LOCA เป็นเงิน 288.46 ล้านบาท
20 ธันวาคม พ.ศ. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ออก คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 76/2559 ขยายเวลาการชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่/ค่าประมูลทีวีดิจิทัล จากเดิมจ่ายเป็นงวดภายใน 3 ปี เป็น 4 ปี สำหรับใบอนุญาตที่ประมูลในราคาขั้นต่ำ และจากเดิม 5 ปี เป็น 8 ปี สำหรับใบอนุญาตที่ประมูลเกินราคาขั้นตำ่ นอกจากนี้ ยังให้ กสทช. ช่วยจ่ายค่าเช่าเสาโครงข่ายสัญญาณดาวเทียมเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลใช้ออกอากาศอยู่ตาม “กฏมัสแครี่ย์” ที่ กสทช. บังคับให้ทีวีดิจิทัลออกอากาศทุกช่องทางเพื่อให้ประชาชนได้รับชมตามสิทธิขั้นพื้นฐาน
ทหารหวงก้าง! ยืดเวลาถือครองคลื่นความถี่ต่อ 5 ปี
ไม่ใช่แค่ทุนสื่อทีวีดิจิทัลเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จาก คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 76/2559 เพราะ ข้อ 7 ของคำสั่งฉบับนี้ยังยืดเวลาคืนคลื่นความถี่สถานีวิทยุที่กองทัพและหน่วยงานราชการถือครองอยู่ ออกไปอีกเป็นเวลา 5 ปี เท่ากับความฝันของแผนการปฏิรูปสื่อตั้งแต่ปี 2540 อันเป็นที่มาของ กสทช. ก็ยังไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ แต่กลับถูกสั่งเลื่อนออกไปอย่างง่ายดาย
สำหรับคลื่นความถี่ที่อยู่ในมือหน่วยงานรัฐถือครองอยู่ จำนวน 537 สถานี แบ่งเป็นคลื่นที่กองทัพถือครองไว้ มากที่สุด 198 สถานี แบ่งเป็น กองทัพบก 127 สถานี กองทัพอากาศ 36 สถานี กองทัพเรือ 21 สถานี และกองบัญชาการกองทัพไทย 14 สถานี มากที่สุดอันดับสอง คือ กรมประชาสัมพันธ์ถือครองคลื่นวิทยุรวม 145 สถานี รองลงมา บริษัท อสมท จำกัด 62 สถานี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 44 สถานี สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 16 สถานี สำนักงาน กสทช. 8 สถานี และกรมอุตุนิยมวิทยา 6 สถานี
พักชำระหนี้ทีวีดิจิทัล 3 ปี แลกด้วยการโดนคุมเนื้อหา
หนึ่งปีกว่า หลังช่วยขยายเวลาจ่ายค่าสัมปทานให้ทีวีดิจิทัลไปแล้วครั้งแรก 24 เมษายน 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออก คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2561 ให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลสามารถพักชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตได้ไม่เกิน 3 ปี อีกทั้งยังให้ กสทช. ช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจ่ายค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล (MUX) ครึ่งหนึ่งของค่าเช่านาน 2 ปี แต่ความช่วยเหลือครั้งนี้ก็มาพร้อมเงื่อนไข คือ ข้อ 9 ของคำสั่งนี้ระบุว่าผู้รับใบอนุญาต้อง “ผลิตรายการหรือการดำเนินรายการที่ดี ให้ข้อมูลที่มีความถูกต้อง ชัดเจน มีสาระ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม เนื้อหารายการมีความหลากหลาย ไม่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน” มิเช่นนั้น กสทช. อาจพิจารณายกเลิกการพักชำระหนี้ได้
นอกจากนี้ คำสั่งนี้ยังให้ประโยชน์แก่กรมประชาสัมพันธ์ ผู้ถือครองคลื่นความถี่มากเป็นอันดับสองรองจากกองทัพ โดยในข้อที่ 10 เปิดช่องให้สื่อในกรมประชาสัมพันธ์ มีรายได้จากการโฆษณาได้เท่าที่จำเป็นและเพียงพอต่อการผลิตรายการตามวัตถุประสงค์ จากเดิมที่มีกฎหมายระบุไว้ว่า ห้ามให้สื่อในกรมประชาสัมพันธ์มีรายได้จากการโฆษณา
ขยายอำนาจ กสทช. สั่งปิดสื่อ โดยมีช่องทางยกเว้นความรับผิด
กสทช. มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลเนื้อหาที่ออกอากาศทางวิทยุและโทรทัศน์มาตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นแล้ว ปี 2553 แล้ว แต่มาถูกติดอาวุธเพิ่มโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 41/2559 ที่ออกเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 ขยายอำนาจให้ กสทช. พิจารณาว่า เนื้อหาประเภทใดที่ออกอากาศแล้วถือว่า เป็นข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความสับสนหรือความขัดแย้ง เป็นข่าวสารที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือเป็นการวิจารณ์ คสช. โดยไม่สุจริตด้วยข้อมูลเท็จ ซึ่งตั้งแต่เข้ายึดอำนาจ คสช. เคยใช้อำนาจตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 สั่งห้ามสื่อนำเสนอเนื้อหาประเภทนี้ไว้แล้ว แต่คำสั่งฉบับนี้มาโอนภารกิจให้ กสทช. เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย และใช้อำนาจสั่งลงโทษ
เดิมที่ กสทช. ก็มีอำนาจพิจารณาเนื้อหาตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่กำหนดว่า เนื้อหาที่ต้องห้ามออกอากาศ หมายถึง รายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง โดยมีบทลงโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือสั่งระงับการออกอากาศรายการ หรือเพิกถอนใบอนุญาตก็ได้ ซึ่งหมายถึงสั่งปิดสถานีนั้นๆ ได้
นอกจากจะเพิ่มหลักเกณฑ์ให้ กสทช. ใช้อำนาจวินิจฉัยได้กว้างขึ้นแล้ว คำสั่งที่อาศัยอำนาจ "มาตรา 44" ฉบับนี้ ยังเปิดช่องทางให้ กสทช. ใช้อำนาจได้โดยไม่ต้องรับผิด โดยในข้อ 2 กำหนดให้การใช้อำนาจของกรรมการ กสทช., เลขาธิการ, เจ้าหน้าที่ หรือบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจ เพื่อพิจารณาเนื้อหาของสื่อและสั่งลงโทษ หากทำไปโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เกินสมควรแก่เหตุ ย่อมได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย
"มาตรา 44" ป้องกันขาเก้าอี้กรรมการ กสทช. 3 ครั้ง ให้ยิงยาวเกินวาระ
กรรมการ กสทช. มีจำนวน 11 คน ซึ่งมีที่มาจากระบบการคัดเลือกที่ซับซ้อนเพื่อคุ้มครองความเป็นอิสระ และเนื่องจากงานของ กสทช. เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ต้องใช้คลื่นความถี่ที่มีมูลค่ามหาศาล กฎหมายจึงต้องกำหนดคุณสมบัติและวาระการดำรงตำแหน่งให้ชัดเจน เพื่อคุ้มครองให้ตำแหน่งกรรมการ กสทช. เป็นบุคคลที่ปราศจากข้อครหา แต่ในยุคของ คสช. การเข้าและออกจากตำแหน่งก็ไม่ได้เป็นไปตามระบบปกติทั้งหมด เมื่อ คสช. มีอำนาจพิเศษ "มาตรา 44" อยู่ในมือ จึงออกคำสั่งที่ส่งผลถึงการดำรงตำแหน่งของกรรมการ กสทช. ไปแล้วถึง 3 ครั้ง
• ครั้งที่ 1 ไม่ต้องสรรหาใหม่แทนคนที่ลาออก
ภายหลังสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช. ด้านกฎหมาย ลาออกเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2557 เพื่อไปรับตำแหน่งใหม่เป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ทำให้ตำแหน่ง กรรมการ กสทช. ว่างลง 1 ตำแหน่ง แต่เมื่อมีการสรรหาและคัดเลือกบุคคลที่จะมาแทนที่ในตำแหน่งที่ว่างลง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กลับมีมติไม่เลือกบุคคลทั้ง 4 รายชื่อ ผู้สมัคร ที่คณะกรรมการสรรหายื่นบัญชีรายชื่อเสนอมา โดยอ้างเรื่องคุณสมบัติไม่เหมาะสมและมีลักษณะต้องห้าม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ สนช. มีมติไม่เห็นชอบแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ทำให้เกิดช่องว่างทางกฎหมายว่าจะทำอย่างไรสำหรับตำแหน่งนี้
24 เมษายน 2558 คสช. จึงออก คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 8/2558 สั่งให้กรรมการ กสทช. ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่ ไม่ต้องไม่ต้องสรรหาและคัดเลือกบุคคลแทนตำแหน่งที่ว่างลง
• ครั้งที่ 2 ไม่ต้องสรรหาใหม่ จนกว่ากฎหมายจะผ่าน
ในปี 2559 พันตำรวจเอก ทวีศักดิ์ งามสง่า ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย อายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ ขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการและต้องพ้นจากตำแหน่ง ทำให้คณะกรรมการ ในขณะนั้นเหลืออยู่ 9 คน และในขณะเดียวกัน 30 มิถุนายน 2559 สนช. ก็รับหลักการ ร่างพ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนและคุณสมบัติกรรมการ กสทช. จาก 11 คน เหลือ 7 คน และร่างฉบับดังกล่าวก็กำหนดให้กรรมการ กสทช. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ขณะนั้นอยู่จนครบวาระ และไม่ให้นำคุณสมบัติตามร่างฉบับใหม่มาบังคับใช้กับกรรมการ กสทช. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่
20 ธันวาคม 2559 ขณะที่ร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสนช. คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 75/2559 ก็ออกมาบอให้ระงับการคัดเลือกและการสรรหากรรมการ กสทช. แทนตำแหน่งที่ว่างลง และให้ กสทช. ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่จนกว่าร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่ จะผ่านสนช. และบังคับใช้เป็นกฎหมาย โดยคำสั่งฉบับนี้ให้เหตุผลว่า เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานภาครัฐและไม่ให้เกิดความสิ้นเปลืองและซ้ำซ้อนทางด้านงบประมาณ
• ครั้งที่ 3 คว่ำ ว่าที่กรรมการชุดใหม่ คสช. พอใจต่ออายุให้ชุดเก่าอีกยาว
ภายหลัง ราชกิจานุเบกษาประกาศใช้ พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่ และกรรมการกสทช. หมดวาระลงทั้งหมด เนื่องจากอยู่มาจนครบวาระ 6 ปี จึงเกิดกระบวนการสรรหาและคัดเลือกกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ขึ้น แต่เมื่อถึงขั้นตอนแต่งตั้งใน สนช. วันที่ 19 เมษายน 2561 สนช. ประชุมลับและลงมติไม่เลือก ผู้สมัครกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ โดยอ้างว่า รายชื่อทั้ง 14 คน ที่คณะกรรมการสรรหาคัดเลือกมา ให้ สนช. คัดเหลือ 7 คน นั้น คุณสมบัติไม่เหมาะสมและมีลักษณะต้องห้ามถึง 8 คน
ตามมาตรา 7 พ.ร.บ. กสทช. ที่ห้าม กสทช. เป็นหรือเคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ที่ปรึกษา พนักงาน ผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลอื่นใดบรรดาที่ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ในระยะ 1 ปีก่อนได้รับคัดเลือก ทำให้จำนวนรายชื่อไม่ครบ 2 เท่าตาม มาตรา 8 พ.ร.บ. กสทช. เสี่ยงถูกฟ้องในอนาคต ผลทำให้ต้องเริ่มต้นกระบวนการสรรหาใหม่อีกครั้ง
สำหรับเหตุการณ์นี้ต่อมามีคลิปเสียงหลุดออกมา ตอนหนึ่งว่า “ท่านนายกฯ ไม่แฮปปี้กับ 14 รายชื่อนี้ ” ซึ่ง พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภาสนช. ชี้แจงว่า ไม่ใช่คลิปที่เกิดในที่ประชุมคณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติฯ และ สนช. เตรียมตั้งคณะกรรมการสอบสวนในกรณีคลิป
5 วันหลังจากการไม่เห็นชอบ กรรมการ กสทช. ชุดใหม่ 24 เมษายน 2561 หัวหน้า คสช. แก้ไขปัญหานี้ด้วยการออก คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 7/2561 ยกเลิกและระงับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกบุคคล กรรมการ กสทช. ชุดใหม่ และให้กรรมการกสทช. ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ยังคงดำรงตำแหน่งไปพลางก่อน ในระหว่างนี้ หากกรรมการ กสทช. พ้นจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ กรรมการ กสทช. ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่
พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่ลดความเป็นอิสระของ กสทช. ตัดที่มาจากภาคประชาชน
นอกจาก คสช. จะใช้อำนาจพิเศษ "มาตรา 44" ออกคำสั่งต่างๆ เพื่อยุ่งเกี่ยวกับการทำงานของ กสทช. และการสรรหากรรมการชุดใหม่แล้ว ความเคลื่อนไหวสำคัญในยุคของ คสช. ที่จะส่งผลต่อแนวทางการปฏิรูปสื่อในอนาคต คือ การแก้ไข พ.ร.บ. กสทช. โดยเฉพาะในประเด็นที่มาของกรรมการ กสทช.
31 มีนาคม 2560 สนช. ผ่านร่างแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. โดยมีเนื้อหาที่อาจทำให้ความเป็นอิสระของ กสทช. ถูกลดลง กลายเป็นองค์กรที่ต้องทำงานอยู่ใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยกำหนดให้ กสทช. ต้องจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ให้สอดคล้องกับนโยบายและแผ่นระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
นอกจากนี้ พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่รื้อโครงสร้างที่มาของกรรมการทั้งหมด เปลี่ยนให้กรรมการมี 7 คน เปลี่ยนคุณสมบัติเรื่องอายุจากเดิม 35 – 70 ปี เป็น 40-70 ปี เพิ่มคุณสมบัติของกรรมการให้เป็นได้ยากขึ้น ต้องเคยเป็นข้าราชการระดับหัวหน้ากรมขึ้นไป และยกเลิกวิธีการคัดเลือกกันเองขององค์กรภาคประชาสังคมทั้งหมดออกไป และให้มาจากระบบสรรหาโดยตัวแทนจากศาลต่างๆ เลิกการกำหนดโควต้าว่า กรรมการต้องมีความเชี่ยวชาญด้านใดบ้าง
นายแพทย์ประวิทย์ และสุภิญญา สองกรรมการ กสทช. เสียงข้างน้อย เคยส่งจดหมายถึง สนช. คัดค้านข้อเสนอแก้ไขพ.ร.บ. กสทช. ฉบับนี้ โดยระบุว่า คณะกรรมการสรรหา 7 คน ที่ประกอบไปด้วยศาลและองค์กรอิสระไม่ใช่ผู้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือมีประสบการณ์ด้านอุตสาหกรรมสื่อ จึงไม่อาจเป็นหลักประกันได้ว่าจะคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมได้ และเห็นว่า การกำหนดโควต้าที่นั่งตามความรู้ความเชี่ยวชาญยังจำเป็น เพื่อให้มีหลักประกันว่าจะได้กรรมการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญครบทุกด้าน