“ยกเครื่องใหม่” คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ภายหลังการให้ความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดปัจจุบันมาแล้ว ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวเป็นหนึ่งในกฎหมายลูกที่ต้องร่างขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อกำหนดรายละเอียดที่มา และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระคอยตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของหน่วยงานรัฐ

โดยสาระสำคัญของร่างฉบับปัจจุบัน ได้ “ยกเครื่อง” คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเสียใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเติมคุณสมบัติของกรรมการสิทธิฯ แก้ไขเรื่องผู้ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสรรหา และเพิ่มหน้าที่ชี้แจงเพื่อ “แก้ต่าง” สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ เป็นต้น

 

จำนวนเก้าอี้ ‘คณะกรรมการสิทธิฯ’ เท่าเดิม เพิ่มเติมคือคุณสมบัติ

ตามร่างกฎหมายลูกว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิฯ ไม่ได้ปรับเปลี่ยนในเรื่องจำนวนคณะกรรมการที่จากเดิมกำหนดให้มี 7 คน แต่มีการขยายเรื่องคุณสมบัติเฉพาะที่อ้างว่าเทียบเคียงมาจากคุณสมบัติกรรมการสิทธิฯ ของประเทศนิวซีแลนด์ เช่น ต้องมีความรู้และประสบการณ์ในด้านหนึ่งด้านใดต่อไปนี้

  • หลักการด้านสิทธิมนุษยชนที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจ
  • กฎหมายภายใน กฎหมายต่างประเทศ หรือกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน
  • สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ แนวโน้มสถานการณ์สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งผลกระทบของแนวโน้มดังกล่าวที่มีต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ
  • ความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ด้านการบริหารงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเติมคุณสมบัติต้องห้ามของกรรมการสิทธิฯ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เช่น ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาก่อน ไม่เป็นหรือเคยเป็นนักการเมืองหรือข้องเกี่ยวกับพรรคการเมืองเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี ไม่เคยมีความผิดที่ถูกตัดสินให้จำคุกเว้นแต่เป็นความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และไม่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการฯ เป็นต้น

 

เปลี่ยนที่มาของคณะกรรมการสรรหาใหม่ เพิ่มนักวิชาการและตัวแทนองค์กรสิทธิฯ

ตามรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้ คณะกรรมการที่มีหน้าที่สรรหากรรมการสิทธิฯ มีจำนวน 7 คนประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน และบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน

แต่ในร่างกฎหมายลูกกำหนดที่มาของคณะกรรมการสรรหาใหม่ โดยเปลี่ยนตัวแทนจากบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกอย่างละหนึ่งคน เป็นตัวแทนจากสถาบันอุดมศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน “ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้” และให้คัดเลือกกันเองให้เหลือแค่ 2 คน นอกจากนี้ ยังเพิ่มกรรมการสรรหาที่มาจากผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนและให้คัดเลือกกันเองจากทุกองค์กรให้เหลือแค่ 2 คน

 

อำนาจตรวจสอบยังคงอยู่ แต่เพิ่มหน้าที่ “แก้ต่าง” ต่อสาธารณะ กับมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน

ในส่วนของอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนนั้น หลายสิ่งยังเหมือนกับอำนาจที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการเสนอแนะมาตรการป้องกันหรือแก้ไขเยียวยาให้หน่วยงานของรัฐ รัฐสภา คณะรัฐมนตรีหรือเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการแก้ไข หรืออย่างการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองวินิจฉัย ในกรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือกฎ คำสั่ง หรือการกระทำในทางปกครองกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายก็ยังสามารถทำได้เช่นเดิม แต่ส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมา เช่น

  1. อำนาจยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมหรือศาลทหารเพื่อขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฎหมาย คำสั่ง หรือการกระทำใด ขัดต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
  2. เพิ่มหน้าที่ใหม่อีกหนึ่งอย่าง คือ “ช่วยแก้ต่าง” ในกรณีที่มีการรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม หากคณะกรรมการสิทธิฯ เห็นว่า เป็นเรื่องที่กระทบต่อผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชน
  3. ในระหว่างการตรวจสอบ หากคณะกรรมการเห็นว่า ผู้ร้องหรือผู้เสียหายต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน หากไม่ดำเนินการแก้ไขอาจได้รับความเสียหายที่ไม่อาจแก้ไขเยียวยาได้ ก็ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการได้ เช่น จัดให้มีการเข้าถึงการรักษาพยาบาล การเปลี่ยนสถานที่คุมขัง หรือดำเนินการอื่นๆ ที่จำเป็น

 

ลดอำนาจตรวจสอบอนุกรรมการ ให้หลีกเลี่ยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ถูกละเมิดสิทธิ

ที่ผ่านมา ในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิ คณะกรรมการสิทธิฯ มีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อทำหน้าที่สืบสวนและตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมถึงรับฟังคำชี้แจงและพยานหลักฐาน เพื่อเสนอกลับมายังคณะกรรมการสิทธิฯ ได้ แต่ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ปรับเปลี่ยนสาระสำคัญบางประการอันเป็นการควบคุมอำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ของอนุกรรมการขึ้นมา นั่นก็คือ ห้ามอนุกรรมการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกับบุคคลใดก็ตามที่ถูกเบิกตัวเป็นพยานในคดีที่มีการร้องเรียน หรือเป็นผู้ที่รู้เห็นเหตุการณ์ หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องที่ร้องเรียน หรือมีความเกี่ยวข้องทางใดทางหนึ่งกับผู้ร้องหรือผู้ถูกร้อง หรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาก่อน เป็นต้น

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น