กฎหมายฮาเฮ: ระวัง! จับไมโครโฟนอย่าพูด “ฮัลโหล เทสต์”

ที่มาภาพ Tamaki Sono

 

ปกติเวลาทดสอบว่าไมโครโฟนใช้ได้ดีหรือยัง เรามักมีคำติดปากกันว่า “ฮัลโหล เทสต์” ถ้าอยากจะดูมืออาชีพหน่อยก็ “วัน ทู วัน ทู” ซึ่งเป็นคำที่เอามาจากภาษาอังกฤษทั้งนั้น

การพูดภาษาอังกฤษใส่ไมโครโฟนหรือเครื่องขยายเสียงก็ไม่เห็นจะแปลกอะไร ถ้าอยากจะประชาสัมพันธ์ให้คนต่างชาติเข้าใจ ก็ต้องพูดภาษาต่างชาติทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น พม่า ฯลฯ หรือถ้าคนต่างชาติประกาศอะไรใส่ไมโครโฟนก็คงพูดภาษาของเขาเอง

แต่ไม่ง่ายแค่นั้น เมื่อเปิดดูกฎหมายเก่าฉบับหนึ่ง ชื่อ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 7 กลับบอกไว้ว่า “การโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงจะต้องโฆษณาเป็นภาษาไทย” ซึ่งคำว่า “ภาษาไทย” นั้น รวมถึงภาษาพื้นเมืองบางแห่งในประเทศไทยด้วย

หน้าที่หลักของกฎหมายฉบับนี้ คือ กำหนดว่าการโฆษณาโดยเครื่องขยายเสียงต้องขออนุญาตก่อนเสมอ หากฝ่าฝืนให้ปรับไม่เกิน 200 บาท คำว่า “โฆษณา” ในที่นี้ก็รวมทั้งการบอกกล่าว ชี้แจง แนะนำ หรือแสดงความคิดเห็นแก่ประชาชนทุกประเด็น ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องจำกัดเฉพาะการโฆษณาขายของเท่านั้น

ส่วนเครื่องขยายเสียง ก็รวมทุกประเภททั้งไมโครโฟน โทรโข่ง ไม่ว่าจะเสียงดังหรือเสียงเบาแค่ไหนก็ตาม ถ้าเป็นการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้

พ.ร.บ.ฉบับปี 2493 ยังกำหนดโทษไว้ด้วยว่า หากใครฝ่าฝืนมาตรา 7 พูดเป็นภาษาอื่นนอกจากภาษาไทยใส่เครื่องขยายเสียง ให้มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ถอนใบอนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงด้วย เป็นโทษที่หนักที่สุดตามกฎหมายฉบับนี้เลยก็ว่าได้

รู้แบบนี้แล้ว คราวหลังใครจะพูดผ่านไมโครโฟนก็ระวังหน่อย ความรู้ภาษาต่างประเทศที่ร่ำเรียนกันมาอย่าเพิ่งใช้ พูดไทยอย่างเดียวไปก่อน หากคนชาติไหนฟังไม่ออกคงต้องให้ไปหาล่ามแปลกันเอาเอง

อ้อ! แต่กฎหมายนี้ก็ยังมีข้อยกเว้นนะ ถ้าเป็นการโฆษณาคำสอนในทางศาสนา เป็นงานของหน่วยราชการ เป็นการแสดงละครหรือคอนเสิร์ตในสถานที่เฉพาะ แบบนี้ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ จะไม่ขออนุญาตและไม่ใช้ภาษาไทยก็ได้

แต่ถ้าเป็นการหาเสียงเลือกตั้ง หรืองานการกุศล แม้จะไม่ต้องขออนุญาตก่อนแต่ก็ยังต้องใช้ภาษาไทยเท่านั้นนะ

ดู พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 คลิกที่นี่