เปิดตัวกลุ่มผู้เสพสื่อ เป็นปากเสียงต่อต้านเซ็นเซอร์และอนุรักษ์นิยม

กลุ่มผู้เสพสื่อสุดทน เสรีภาพสื่อไทยดำดิ่ง ชวนกันรวมตัวในนาม “ภาคีเครือข่ายรณรงค์เพื่อสิทธิเสรีภาพในการรับสื่อของประชาชนไทย” (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “ภาคีเพื่อเสรีภาพสื่อไทย”) ทำกิจกรรมในฐานะคนดูหนังดูละครฟังเพลงที่ไม่เอาการแทรกแซงจากอำนาจรัฐ

ภาคีเครือข่ายรณรงค์เพื่อสิทธิเสรีภาพในการรับสื่อของประชาชนไทย (ภาคีเพื่อเสรีภาพสื่อไทย) เปิดตัวขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 2พฤษภาคม 2554 โดยเปิดตัวทาง Facebook ในชื่อ Thaimedia Audience Association มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรวบรวมผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกห้ามนำเสนอสื่อ หรือถูกละเมิดสิทธิในการรับและเข้าถึงสื่อทุกประเภทอันเป็นผลจากการกระทำของภาครัฐ

กลุ่มดังกล่าวออกแถลงการณ์ระบุด้วยว่า ที่ผ่านมายังไม่มีกลุ่มหรือองค์กรใดทำหน้าที่เป็นตัวแทนของ “ผู้เสพสื่อ” แต่เดิมอาจมีเพียง ‘เครือข่ายคนดูหนัง’ (Thai Audience Association) ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อดูแลเรื่องสิทธิเสรีภาพของผู้ชมภาพยนตร์เป็นหลัก และ “เครือข่ายพ่อแม่ผู้ปกครอง” ที่มักได้รับการยกให้เป็นตัวแทนประชาชนผู้เสพสื่ออย่างผูกขาดมานาน หากแต่สถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพของสื่อทุกรูปแบบที่นับวันยิ่งตกต่ำลง จึงตัดสินใจก่อตั้ง ‘ภาคีเครือข่ายรณรงค์เพื่อสิทธิเสรีภาพในการรับสื่อของประชาชนไทย’ ขึ้นเพื่อดำเนินการและเป็นตัวแทนของภาคประชาชนที่เป็นผู้เสพสื่อ

“ภาคีฯ มีความเห็นหลักว่าหน้าที่ในการตัดสินสื่อหนึ่งๆ ว่าเหมาะสมหรือไม่นั้นเป็นของประชาชน ไม่ใช่ภาครัฐที่มักใช้ความคิดแบบอนุรักษ์นิยมและอำนาจนิยมในการบริหารจัดการ”

ทั้งนี้ การเริ่มต้นก่อตัวนี้ เกิดขึ้นจากปัจเจกบุคคลรวมตัวกันอย่างอิสระ ซึ่งต้องการความร่วมมือจากประชาชนทั่วไปที่สนใจ โดยเริ่มต้นได้ด้วยการเข้าไปเป็นเพื่อนในเฟซบุคแล้วเสนอแนะความเห็นต่างๆ ทางกลุ่มระบุในแถลงการณ์ว่า ในอนาคตอาจมีกิจกรรมต่อเนื่องเช่นการจัดเสวนา การชุมนุม หรือกิจกรรมลักษณะอื่นๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพในการผลิตและรับสื่อ หรือดำเนินการทางกฎหมายกับหน่วยงานภาครัฐที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

เปิดตัวกลุ่มผู้เสพสื่อ เป็นปากเสียงต่อต้านเซ็นเซอร์และอนุรักษ์นิยม

………………………………………..

 

แถลงการณ์ ภาคีเครือข่ายรณรงค์เพื่อสิทธิเสรีภาพในการรับสื่อของประชาชนไทย

               ในช่วงระยะเวลาเพียงหนึ่งปีที่ผ่านมา เราตระหนักว่าสถานการณ์ด้านสิทธิและเสรีภาพของสื่อในประเทศไทยตกต่ำลงเป็นลำดับอย่างเห็นชัด ทั้งกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของกระทรวงวัฒนธรรมได้มี คำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ด้วยข้อกล่าวหาว่าภาพยนตร์มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในการพิจารณาขั้นต้นและขั้นอุทธรณ์ และศาลปกครองยังมีคำสั่ง ‘ไม่คุ้มครอง’ การฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในลักษณะไม่แสวงผลกำไร รวมถึงกรณีล่าสุดที่ทางสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมได้ออกโรงเรียกร้องให้ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ระงับการฉายละครเรื่อง ดอกส้มสีทอง ด้วยข้อกล่าวหาว่าพฤติกรรมของตัวละครในเรื่องทำให้ผู้ชมลอกเลียนแบบและเป็น ภัยต่อความมั่นคงและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งยังดำเนินการแข็งกร้าวถึงขั้นขู่กลายๆ ให้ทาง อสมท. ที่เป็นเจ้าของสัมปทานสัญญาณโทรทัศน์ของช่อง 3 พิจารณาการต่อสัมปทาน หากว่าทางช่อง 3 ไม่ดำเนินการขั้นเด็ดขาดต่อละครเรื่องดอกส้มสีทองอย่างที่ทางกระทรวงฯ ต้องการ รวมถึงการปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาข่าวสารในอินเตอร์เน็ตของกระทรวง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่นับวันยิ่งขยายวงกว้างยิ่งขึ้น และมีความพยายามจะออกพระราชบัญญัติความผิดทางคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ที่มีเนื้อหาปิดกั้นการนำเสนอข่าวสารและกำหนดฐานความผิดอย่างกว้างขวางครอบ จักรวาล ยิ่งกว่าพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฉบับที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน

                 จากที่แต่เดิมนั้นมีเพียง ‘เครือข่ายคนดูหนัง’ (Thai Audience Association) ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อดูแลเรื่องสิทธิเสรีภาพของผู้ชมภาพยนตร์เป็นหลัก นอกเหนือจากกลุ่มเครือข่ายพ่อแม่ผู้ปกครองที่มักได้รับการยกให้เป็นตัวแทน ประชาชนผู้เสพสื่ออย่างผูกขาดมานาน หากแต่สถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพของสื่อทุกรูปแบบในปัจจุบันที่นับวันยิ่งตก ต่ำลง เราจึงตัดสินใจก่อตั้ง ‘ภาคีเครือข่ายรณรงค์เพื่อสิทธิเสรีภาพในการรับสื่อของประชาชนไทย’ ขึ้น เพื่อดำเนินการรวบรวมผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกห้ามนำเสนอสื่อ หรือถูกละเมิดสิทธิในการรับและเข้าถึงสื่อทุกประเภทอันเป็นผลจากการกระทำของ ภาครัฐ และเป็นตัวแทนของภาคประชาชนที่เป็นผู้เสพสื่อจริง ที่อาจไม่ได้มีความเห็นสอดคล้องกับการกระทำของภาครัฐเสมอไป โดยทางภาคีฯ มีความเห็นหลักว่าหน้าที่ในการตัดสินสื่อหนึ่งๆ ว่าเหมาะสมหรือไม่นั้นเป็นของประชาชน ไม่ใช่ภาครัฐที่มักใช้ความคิดแบบอนุรักษ์นิยมและอำนาจนิยมในการบริหารจัดการ

                 ภาคีเครือข่ายรณรงค์เพื่อสิทธิเสรีภาพในการรับสื่อของประชาชนไทย เกิดขึ้นเพื่อแสดงจุดยืนของภาคประชาชน ภายใต้เจตนารมณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์, ภาพยนตร์, วิทยุ, หนังสือ, นิตยสาร, วรรณกรรม และงานศิลปะ ทั้งในฐานะผู้ผลิตสื่อ, ผู้รับสื่อ และผู้เสพสื่อ โดยถือหลักการนี้เป็นพันธกิจต่อกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของทางภาคีฯ ที่จะมีการเสวนาพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้อง ชุมนุมเรียกร้องหรือจัดกิจกรรมเพื่อให้สังคมตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพในการ ผลิตและรับสื่อ หรือดำเนินการทางกฎหมายกับหน่วยงานภาครัฐที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ขณะนี้ภาคีได้จัดทำหน้าเฟซบุ๊คขึ้นเพื่อทำกิจกรรมรณรงค์ในประเด็นต่างๆ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของภาคได้แล้ว คลิ๊กที่นี่