ต้นปี 2557 สายลมหนาวปกคลุมกรุงเทพมหานครยาวนานอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน แต่อุณหภูมิทางการเมืองออกมาตรงกันข้าม ร้อนแรงและรุนแรงอย่างไม่เคยเห็นมาก่อนเช่นกัน
คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ใช้เหตุผลการทุจริตคอรัปชั่นภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติการ SHUT DOWN กรุงเทพฯ เรียกร้องตั้งสภาประชาชนปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง
คนจำนวนมากกินนอนกันบนท้องถนนมาหลายคืนแล้ว
ปัญหาที่หลากหลายและซับซ้อน ผลักคนออกมาบนถนน หรือผลักคนออกไปยังคูหา ด้วยเนื้อหาคนละอย่าง แต่เป้าหมายอาจแตกต่างกันไม่มาก
หากเดินจากหน้าเวทีชุมนุมของกปปส.จุดห้าแยกลาดพร้าวมาตามถนนวิภาวดีรังสิตระยะทางพอได้เหงื่อ จะเห็นเวทีขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็กตั้งขวางถนน พร้อมเต้นท์และป้ายผ้าบ่งบอกความไม่พอใจต่อหน่วยงานเจ้าของตึกใหญ่ๆ บริเวณนั้น
ขณะที่ กปปส.ประกาศตั้งเวที 7 จุดปิดกรุงเทพฯ ปิดหน่วยงานราชการต่างๆ คนกลุ่มหนึ่งเรียกตัวเองว่า “กองทัพประชาชนและเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย” ตั้งเวทีหมายเลข 7.5 ปิดกระทรวงพลังงานและสำนักงานใหญ่ปตท.เรียกร้อง “ปฏิรูป” การคอรัปชั่นในกิจการพลังงาน
ถ้าขับรถผ่านๆ อาจคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของกปปส.เวทีห้าแยกลาดพร้าว ถ้าดูแต่ข่าวทีวีก็อาจไม่รู้เลยว่ามีเวทีตรงนี้อยู่ด้วย
พวกเขาเรียกตัวเองว่าเป็น “ติ่ง” กปปส.
คือเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการใหญ่ เรียกร้องการปฏิรูปประเทศไทยด้วย แต่ไม่ได้รับคำสั่งตรงจากเวทีใหญ่ บริหารจัดการข้อเรียกร้องและภารกิจของตัวเอง
พวกเขากางเต๊นท์นอนหน้ากระทรวงพลังงานต่อเนื่องมาหลายวันหลายคืน เคลื่อนไหวไปพร้อมกับส่วนอื่นของกปปส. เพื่อสร้างความ “ตื่นรู้” ของประชาชน
เดินผ่านรั้วสูงเข้ามาหน้าตึกปตท.สำนักงานใหญ่ พื้นที่อันกว้างขวางสวยงามบัดนี้ไร้ซึ่งผู้คนมาปฏิบัติงานตามหน้าที่มีทหารชั้นผู้น้อยสิบกว่าคนนั่งเหงาๆ คอยเฝ้าไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในตัวอาคารได้ อิฐบูรณ์ อ้นวงษา หนึ่งในกรรมการกองทัพประชาชนและเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย นั่งรอตอบคำถามอยู่หน้าสระน้ำ ท่ามกลางแสงแดดยามสายและสายลมเย็นท้ายฤดูหนาว
รูปแบบการคอรัปชั่นในกิจการพลังงาน เป็นยังไง? พิเศษยังไง?
ในมุมด้านกิจการพลังงาน เป็นเรื่องของอำนาจในการกำกับดูแลที่ทับซ้อน ทุกอย่างทำถูกกฎหมายหมด ไม่มีอะไรที่ผิดกฎหมาย ถ้าอะไรที่ผิดกฎหมายก็จะมีการแก้ให้ถูกกฎหมาย
เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นพื้นฐานของการทุจริตคอรัปชั่น ต้องผิดกฎหมาย แต่มีการแก้ไขพ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.2535 [1] ในหมวดเรื่องคุณสมบัติของคณะกรรมการ ให้มีข้อยกเว้นว่าสามารถมีผลประโยชน์ทับซ้อนได้ในกรณีรัฐวิสาหกิจมอบหมายให้ข้าราชการไปนั่งดำรงตำแหน่งในบริษัทเอกชนที่รัฐวิสาหกิจนั้นถือหุ้นอยู่ เท่ากับว่าถือ ถ้ารัฐวิสาหกิจไหนไปถือหุ้นในบริษัทแค่ 1% ก็ให้ข้าราชการไปนั่งเป็นกรรมการได้แล้ว
นอกจากนี้ เมื่อปตท.เป็นเอกชนแล้ว จึงมิใช่องคาพยพของรัฐอีกต่อไป สิทธิและอำนาจ รวมทั้งสมบัติต่างๆ ที่ปตท.เคยมีอยู่ก่อนแปรรูปต้องกลับคืนมาเป็นของรัฐเสียก่อน แต่รัฐยังเอาคนของตัวเองไปนั่งบริหารปตท. นี่คือจุดที่อันตราย เช่น ปลัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่พิจารณาให้สัมปทานปิโตรเลียมและตกลงเจรจาราคาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับผู้รับสัมปทาน แต่ตัวเองไปนั่งเป็นประธานบริษัทแม่ของปตท. และประธานบอร์ดของปตท.สผ. ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับสัมปทานก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยด้วย
มันไม่มีทางที่จะเป็นไปโดยความโปร่งใสได้ เพราะขณะที่ไปนั่งอยู่ปตท.ก็ได้ผลประโยชน์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยประชุมหรือเงินเดือนซึ่งได้มากกว่าเงินเดือนจากตำแหน่งปลัดกระทรวง
มีก๊วนของเอกชนที่อยากจะเปิดร่องธุรกิจอะไร ก็จะให้ปลัดกระทรวงพลังงานไปนั่งเป็นบอร์ด แล้วหลังจากนั้นลูกน้องในหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบ ก็ทำหน้าที่ไม่ได้
บีโอไอตั้งอยู่ตรงนี้ ตึกตรงกันข้าม ปตท.ตั้งอยู่ตรงนี้ ถามว่าปตท.ใหญ่โตขนาดนี้แล้วสมควรได้รับการส่งเสริมการลงทุนอีกหรือไม่? ตอนนี้มีอำนาจมากกว่าบริษัทอื่นๆ ขนาดนี้แล้วยังได้รับบีโอไอทุกกิจการ ได้รับยกเว้นภาษี 8 ปี และลดภาษี 50% อีก 5 ปี พอครบสิบสามปีก็ยุบรวมบริษัท ตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาแล้วมาขอบีโอไอใหม่ ในขณะที่แม่ค้าธุรกิจรายย่อยหมดสิทธิ
อิฐบูรณ์อธิบายพลาง ชี้มือชี้ไม้ไปพลาง ตึกสูงใหญ่ตั้งตระหง่านพร้อมตรา “ปตท.” ถัดกันด้วยตึกกระจกทรงกลมดูสง่างาม คือ “กระทรวงพลังงาน” และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ทั้งหมดตั้งอยู่ด้วยกัน ดูคล้ายหน่วยงานเดียวกันแต่แยกส่วนแยกแผนก
การมีผลประโยชน์ทับซ้อนของข้าราชการในกิจการพลังงาน ทำให้ปตท.กลายเป็นบริษัทที่แข่งขันในตลาดแบบเอาเปรียบคู่แข่งแทบจะผูกขาดไป มีอำนาจประกาศราคาก๊าซหุงต้ม ราคาน้ำมัน โดยที่หน่วยงานของรัฐได้แต่มองตาปริบๆ ปตทได้.ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่ควรจะเป็นของรัฐ เช่น ท่อส่งก๊าซ แท่นขุดเจาะ รัฐเสียเปรียบในการต่อรองส่วนแบ่งสัมปทาน ฯลฯ
ผลประโยชน์จากการทุจริตคอรัปชั่นในกิจการพลังงาน ซับซ้อน อาศัยโครงสร้างหลายส่วน และตัวเลขมากมาย อาจไม่ฟังเข้าใจง่ายๆ เหมือนการโกงข้อสอบหรือโกงนมโรงเรียน
ช่องทางการตรวจสอบ ตามระบบปัจจุบัน?
ป.ป.ช.ตรวจสอบอะไรไม่ได้เพราะเป็นเงินที่ได้มาโดยถูกกฎหมาย เราเคยส่งข้อเสนอแก้ไขเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนไปที่ป.ป.ช. ให้ป.ป.ช.ใช้อำนาจตามมาตรา 100 [2] เพื่อกำหนดตำแหน่งต้องห้ามไม่ให้ข้าราชการเข้าไปนั่ง ตอนนี้ผ่านมาสองปีแล้ว ถ้าป.ป.ช.ทำงานดี ประชาชนก็ไม่ต้องลงมาเดินบนท้องถนนแบบนี้
ก่อนหน้านี้ภาคประชาชนเคลื่อนไหวต่อต้านการขึ้นราคาแก๊ซ ราคาน้ำมัน มีการส่งตัวแทนของภาคประชาชนเข้าไปทำงานกับกรรมาธิการส.ส.และส.ว.เพื่อตรวจสอบ แต่ก็ได้ผลตามสภาพเท่าที่อำนาจของกลไกต่างๆ จะมีอยู่
การชุมนุมที่เกิดขึ้นสะท้อนความล้มเหลวขององค์กรอิสระที่จะมากำกับดูแลอำนาจบริหาร หรืออำนาจนิติบัญญัติ เมื่อความเสียหายสั่งสมมากขึ้น เช่น ระหว่างที่นั่งอยู่ในตำแหน่งก็ไปปรับราคาเชื้อเพลิง ราคาก๊าซหุงต้ม ก็ไปกดดันประชาชนเมื่อไม่มีทางออกก็ต้องออกมาที่ท้องถนน
ข้อเสนอ ในการปฏิรูป?
หนึ่ง ปรับเปลี่ยนโครงสร้างคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้มีตัวแทนของภาคประชาชนเข้าไปมากกว่านักการเมืองหรือข้าราชการ ตอนนี้ทั้ง 100% เป็นนักการเมืองและข้าราชการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน สอง สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการพลังงานให้มากที่สุด คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานก็ต้องมีสัดส่วนภาคประชาชนให้มากเหมือนกัน
สอง ยกเลิกกฎหมายสัมปทานปิโตรเลียม แล้วเปลี่ยนเป็นกฎหมายพัฒนาปิโตรเลียม เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากขึ้น ซึ่งภาคประชาชนอาจหมายถึงนักวิชาการที่มีความรู้ก็ได้ ตั้งบริษัท พลังงานแห่งชาติ จัดตั้งกองทุนปิโตรเลียม เปลี่ยนจากระบบสัมปทานที่ล็อกว่ารัฐจะได้ค่าสัมปทานเท่าไร เป็นระบบแบ่งปันผลผลิตระหว่างรัฐกับเอกชน เปลี่ยนสถานภาพเอกชนจากเจ้าของสัมปทานมาเป็นผู้รับจ้างผลิต ให้ผลตอบแทนเป็นปิโตรเลียมที่ผลิตได้ แต่ปิโตรเลียมทั้งหมดเป็นของรัฐ ซึ่งจะเอามาจำหน่ายจ่ายแจกตั้งราคาเท่าไรก็ได้
มีบริษัทพลังงานแห่งชาติเป็นคนจัดเก็บรายได้ ครึ่งหนึ่งเอาเข้าคลังเป็นของรัฐ อีกครึ่งหนึ่งวางไว้ให้กับประชาชนสำหรับจัดการศึกษาและสวัสดิการ และจัดอีกส่วนหนึ่งไว้ให้กับชุมชนรอบแหล่งผลิตซึ่งจะได้รับเป็นพิเศษเพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการขุดเจาะปิโตรเลียมโดยตรง
รูปแบบนี้ เป็นโครงสร้างที่ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทุกคนต้องมีสิทธิเข้าไปตรวจสอบความโปร่งใส ซึ่งโมเดลแบบนี้เหมือนกับที่มาเลเซียใช้กับปิโตรนาส
หลักกฎหมาย ต้องแก้ตั้งแต่กรอบรัฐธรรมนูญ ต้องเขียนไว้ว่า ทรัพยากรธรรมชาติเป็นของรัฐ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนสูงสุด ไม่ใช่เฉพาะปิโตรเลียม แต่จะคุมทรัพยากร แร่ธาตุทั้งหมดของประเทศ ให้เป็นของรัฐจะให้สัมปทานไม่ได้ ต้องใช้วิธีการประมูลและใช้ระบบสัญญารับจ้างผลิต
อิฐบูรณ์อธิบายข้อเสนออย่างฉะฉาน เหมือนเขาพูดถึงมันมาสักร้อยกว่าครั้งแล้ว
ข้อเสนอเหล่านี้ เกิดจากการทำงานติดตามปัญหามาอย่างต่อเนื่องยาวนั้น โดยอิฐบูรณ์เป็นแค่คนหนึ่ง ในเครือข่าย ที่เคลื่อนไหวทั้งทางวิชาการ โลกออนไลน์และบนท้องถนนมาก่อนหน้านี้กว่าห้าปีแล้ว
อาจคุ้นหูกันในชื่อแคมเปญ “ทวงคืน ปตท.” ซึ่งมีกระแสข้อมูลหลายด้านที่ยังถกเถียงกันไม่จบ
สำหรับข้อเสนอ “กฎหมายพัฒนาปิโตรเลียม” นั้น อิฐบูรณ์บอกว่าตอนนี้ศึกษาจนได้หลักการมาเป็นส่วนๆ แล้ว หากมีโอกาสที่จะทำได้จริงก็แค่ให้นักกฎหมายไปร่างเป็นกฎหมายต่อไปได้
จะไปต่อยังไงบ้าง?
หนึ่ง เรื่องนี้ต้องทำให้เกิดการตื่นรู้ รับรู้ข้อมูลให้ได้มากที่สุด สอง ต้องให้ฝ่ายการเมืองตอบรับโมเดลนี้ ไม่ว่าฝ่ายไหนก็แล้วแต่ เนื่องจากต้องสู้กับทั้งพลังของธุรกิจที่เสียผลประโยชน์แล้วยังต้องสู้กับฝ่ายการเมือง ซึ่งจับมือเหนียวแน่นกันมายาวนาน ดังนั้น ถ้าไม่สามารถสร้างความรู้จนเกิดความตื่นรู้ได้ ก็จะไม่สามารถไปต่อสู้กับพลังกลไกของเขาได้เลย ต้องสร้างความตื่นรู้ให้เกิดในระดับที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้
ห้าปีที่เราขยับเรื่องนี้ คนก็รับทราบกันแบบทั่วๆ ไป เป็นระดับความรับรู้ แต่ยังไม่ถึงระดับตื่นรู้
แต่กลุ่มที่มาทำงานตรงนี้ก็ยังต้องต่อสู้กับทิศทางการควบคุมมวลชนของกปปส. ที่นี่ก็ยังต้องต่อสู้เพื่อให้มีตัวตน ให้มีเนื้อหา เราต้องสร้างพื้นที่ให้เขาเห็นให้สปอตไลท์มาจับให้ได้
หลังจากนั้นต้องทำโมเดลที่ว่ามานี้ให้เป็นเอกสารแล้วชวนให้ประชาชนเข้าร่วมสนับสนุน แล้วไปกดดัน เมื่อมีเสียงประชาชนสนับสนุนนักการเมืองก็ต้องถอย
อิฐบูรณ์และทีมงานของเขา มองเวทีหมายเลข 7.5 เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการกปปส. พวกเขาปฏิบัติการ SHUT DOWN กรุงเทพฯ เริ่มต้นในวันที่ 13 มกราคม พร้อมกับเวทีจุดอื่นๆ แต่อิฐบูรณ์ยังไม่เคยได้รับเชิญให้ขึ้นเวทีอื่นๆ อีก 7 เวทีเลย ซึ่งเป็นภารกิจหนึ่งที่ต้องสร้างพื้นที่ให้ประเด็นของเขาเป็นที่รับรู้มากขึ้นและมากขึ้นด้วย
ในบรรดาข้อเสนอปฏิรูปของกปปส. ก็จะเห็นการปฏิรูปตำรวจ แก้ไขระบบเลือกตั้ง กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ฯลฯ แม้กระทั่งข้อเสนอเรื่องการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ก็มีเรื่องแก้กฎหมายให้ไม่มีอายุความและให้ประชาชนเป็นโจทก์ฟ้องเองได้ แต่ยังไม่เคยเห็นแกนนำจากเวทีใหญ่ของกปปส.พูดถึงเรื่องการแก้ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในกิจการพลังงานเลย
แล้วทำไมถึงเลือกเข้าร่วมกับกปปส.?
ระบบปกติ ใช้วิธีโลกสวยปกติ ก็สามารถทำได้ระดับหนึ่ง แต่ความเสียหายก็จะเกิดขึ้นเป็นรายวัน
ถ้าไม่มีการปฏิรูปครั้งใหญ่ครั้งนี้กับกปปส. เชื่อว่าการปฏิรูประบบพลังงานจะต้องใช้เวลานานกว่านี้เยอะ ภายใต้กำลังอันจำกัด ทรัพยากรอันจำกัด
บริบทของบ้านเมืองไทยต้องมีเครื่องมือช่วยมากกว่าสามอำนาจ (อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ) บ้านเรามีระบบอำนาจนิยมฝังรากอยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจ จึงต้องสร้างโครงสร้างอำนาจอีกแบบหนึ่งขึ้นมา ล้อกับแบบอย่างของเยอรมันที่ต้องการล้างอำนาจนิยมแบบฮิตเลอร์
เราคิดว่าเรามีความมุ่งมั่น มีเป้าหมายชัดเจนที่อยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ได้หมายความว่ามุ่งมั่นแล้วจะยึดกรอบตรงนี้ ถ้าใครมีโมเดลหรือปรับกรอบของเราให้แหลมคมยิ่งขึ้น เราโอเคทั้งหมด แต่ตอนนี้ข้อเสนอแบบนี้ในระบบกลไกปกติมันไม่มีเลย
ถ้าเป้าหมายของกปปส.สำเร็จ เป้าหมายของเราจะสำเร็จหรือไม่?
เราไม่ประมาทว่าถ้าเป้าหมายของกปปส.สำเร็จ เรื่องนี้จะถูกนำไปปฏิรูปด้วย เราไม่ประมาทนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดทั้งนั้น ดังนั้นเราต้องมีฐานประชาชนสนับสนุนเหมือนกัน ก็อาจจะยังต้องเคลื่อนไหวต่อเพื่อนำข้อเสนอของกลุ่มเข้าสู่การเมืองต่อไป
ไอ้นั่นเลิก แต่ไอ้นี่เลิกไม่ได้ มันเป็นภาคบังคับ ต้องสร้างความรับรู้และความตื่นรู้ให้มากขึ้น มันคือการทำงานความคิด
แต่ว่าต้องมีอำนาจในทางการเมืองระดับนึงที่จะเปลี่ยนแปลงทีละขั้นตอน คงไม่สามารถที่จะเปลี่ยนระบบปิโตรเลียมจากสัมปทานมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตได้ทันทีหลังจากที่ประชาชนสามารถยึดอำนาจหรือหลังเลือกตั้ง ที่พูดมาทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าจะทำภายในล็อตเดียว
การปรับเปลี่ยนมันต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ว่าจะมาถึงแล้วยึดเลย แบบนั้นมันเป็นการทุบโครงสร้างในการลงทุน ถึงแม้จะส่งคนของตัวเองเข้าไปได้ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนราคาน้ำมันราคาอะไรได้ทันที วิธีการคืออะไรที่ทำได้ก็ทำแบบคุยกัน ไม่ต้องให้ปตท.หรือเชฟรอนต้องเสียผลประโยชน์ ไม่ได้จะเปลี่ยนแปลงแบบปฏิวัติ เราถึงใช้คำว่าปฏิรูป ไม่มีใครต้องเสียหายเกินควร ประเทศชาติกลับมาได้ เอกชนได้ผลประโยชน์ที่เป็นธรรมและเหมาะสม แต่ไม่ใช่เกินควรแบบที่ผ่านมา
มองวิธีการจัดการปัญหาคอรัปชั่นในภาพรวมยังไง?
สังคมไทยมีปัญหา ติดกับดักว่าเราต้องหาคนดี ซึ่งผมเบื่อมาก เสื้อแดงก็เบื่อเหมือนกัน คนดีถ้ามาอยู่ในกรอบที่ชั่วแม่งก็เป็นคนไม่ดี แต่ถ้าคนชั่วมาอยู่ในกรอบที่ดีมันเป็นคนดีทันที เพราะฉะนั้นจะทำยังไงที่เราจะสร้างกรอบที่ดีเพื่อให้ใครก็ได้มาทำงานแล้วรันโปรแกรมไปอย่างงี้ เหมือนแมนยูฯ ป๋าสร้างกรอบมาจับใครมาแม่งเล่นเก่งชิบหายเลย พอถอดกรอบของป๋าออกไปคนคนเดียวกันแม่งเล่นห่วยแตกเลย
สาเหตุที่ระบบของอเมริกานั้นดีได้ เพราะมีกรอบที่ดี วางกรอบเหล็ก และคนที่มาปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กรอบเหล็กนั้นเจ๋ง เก่ง ซื่อสัตย์ และเถรตรง แต่นั่นต้องหมายความว่ารัฐต้องให้ผลประโยชน์ไอ้คนนี้สูงมากจนไม่ต้องไปรับจากที่อื่น ลูกเมียอยู่สบาย
แต่เราจะสร้างสังคมแบบนั้นได้ยังไง เมื่อคุณโผล่มาที่โรงเรียนก็ลอกข้อสอบกันแล้ว เด็กก็ลักขโมยดินสอกันแล้ว แล้วครูก็หย่อนมาก ไม่มีบทลงโทษเลย มันหย่อนกันมากจนลามไปถึงเด็กแล้วคุณจะสร้างพื้นฐานประชาธิปไตยที่สำคัญคือความซื่อสัตย์ได้ยังไง
อิฐบูรณ์ให้ภาพปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นอย่างเป็นกลางๆ ถึงแม้เขาจะเข้าร่วมกับกปปส. แต่เขาก็ไม่ได้เชื่อว่าแนวทางการเคลื่อนไหวบนท้องถนนของกปปส.จะทำให้ปัญหาที่เขาทำงานมาหลายปีหมดไปได้ทันที เพียงแต่เขาเชื่อว่าแนวทางนี้ทำให้ข้อเสนอของเขาดูมีความหวังมากกว่าเดิมขึ้นมาได้
ถึงแม้สุเทพ เทือกสุบรรณ จะไม่ได้แก้ปัญหานี้ขณะที่ตัวเองเป็นรองนายกรัฐมนตรี
ถึงแม้มวลชนที่เข้าร่วมกับกปปส.จะยังไม่เห็นตัวตนของขบวนการปฏิรูปกิจการพลังงาน
แต่อิฐบูรณ์และเพื่อนร่วมงานก็ยังใส่เสื้อยืดรณรงค์ SHUT DOWN ปตท. และปักหลักท้าลมหนาวอยู่ริมถนนวิภาวดีรังสิตต่อไป … อย่างน้อยก็จนกว่ากระแสลมร้อนของฤดูกาลใหม่จะมาถึง และหวังว่าอุณหภูมิของการเมืองจะพัดเปลี่ยนทิศทางให้กลับเย็นขึ้นบ้าง
แล้วถ้ากปปส.ไม่ชนะ แล้วจะเป็นยังไง?
เรื่องพลังงานไม่มีอะไรเสียเลยนะ ถ้าไอ้นี่ไม่มีเราก็ยังคงเดินทำงานของเราเหมือนเดิมต่อไป บริบทของการทำหน้าที่เราก็ยังเหมือนเดิม ถ้ามันชนะเราก็ได้กำไร ถ้ามันแพ้เราก็ไม่ได้มีอะไรเสีย
และตามจริงถึงประชาชนแพ้ก็ไม่มีอะไรเสีย เพราะเมืองไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว พอแพ้ครั้งนี้ก็จะสรุปบทเรียนว่าครั้งหน้าจะเอายังไง มันก็จะมีความพยายามต่อไปในการพัฒนาของมัน กดดันนักการเมืองกดดันพรรคการเมืองให้มาทำหน้าที่แทนประชาชนอย่างจริงจัง
พันธมิตรแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า เสื้อแดงก็แพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า ต่างคนต่างแพ้ ที่ผ่านมารู้สึกว่าแพ้ แต่ตามจริงแล้วความตื่นรู้มันเกิด สังคมแห่งการวิจารณ์ ความกล้าหาญในการวิจารณ์ด้วยสติปัญญาด้วยความคิดเท่าที่ตัวเองมีอยู่ มันเกิด การใช้กำลังเริ่มลดน้อยถอยลงไป ….
อ้างอิง
[1] พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕
มาตรา ๕/๑ กรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ต้อง
(๑) ไม่เป็นผู้ถือหุ้นหรือรู้เห็นเป็นใจหรือยินยอมให้คู่สมรสของตนถือหุ้นในนิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิต การส่ง หรือจำหน่ายพลังงานสิ้นเปลือง หรือไฟฟ้า หรือ
(๒) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในนิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิต การส่งหรือจำหน่ายพลังงานสิ้นเปลืองหรือไฟฟ้า เว้นแต่เป็นกรณีที่กรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาตินั้นเป็นข้าราชการประจำซึ่งได้รับมอบหมายจากทางราชการ หรือคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจนั้นมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งกรรมการหรือดำรงตำแหน่งอื่นในรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานนั้นหรือในนิติบุคคลที่รัฐวิสาหกิจนั้นเป็นผู้ถือหุ้น
ให้ผู้ซึ่งเข้ามาเป็นกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามวรรคหนึ่งภายในหกสิบวันนับแต่วันที่เข้ามาดำรงตำแหน่ง
[2] พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
มาตรา ๑๐๐ ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดดำเนินกิจการ ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี
(๒) เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒
อำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี
(๓) รับสัมปทานหรือคงถือไว้ซึ่งสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว
(๔) เข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงานหรือลูกจ้างในธุรกิจของเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่หรือปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจของเอกชนนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น
เจ้าหน้าที่ของรัฐตำแหน่งใดที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ให้นำบทบัญญัติในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับคู่สมรสของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามวรรคสอง โดยให้ถือว่าการดำเนินกิจการของคู่สมรสดังกล่าว เป็นการดำเนินกิจการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ