จำคุกป่าน 2 ปี ม.116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปมเพจทะลุฟ้าโพสต์ชวนชุมนุม ‘ไล่ล่าทรราช’ มุ่งหน้าไปบ้านพักประยุทธ์ราบ 1

22 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.40 น. ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาในคดีของกตัญญู หมื่นคำเรือง หรือ ป่าน ในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และข้อหานำข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) มูลเหตุของคดีนี้สืบเนื่องจาก กตัญญูและพวกถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความลงบนเพจ “ทะลุฟ้า” เชิญชวนไปร่วมชุมนุมสองโพสต์ ได้แก่ โพสต์เชิญชวนชุมนุม #ม็อบ11สิงหา “ไล่ทรราช” และ #ม็อบ13สิงหา “ศุกร์13ไล่ล่าทรราช” ซึ่งการชุมนุมทั้งสองครั้งนั้น เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม ปี 2564 โดยนัดหมายที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อมุ่งหน้าไปยังกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ราบ 1) ซึ่งมีบ้านพักของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยู่ในนั้น ในการชุมนุมดังกล่าว เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุม และธนัตถ์ ธนากิจอำนวย หรือลูกนัท หนึ่งในผู้ร่วมชุมนุม ถูกกระสุนยางยิงใส่ตาจนตาข้างขวาบอด

คดีของกตัญญู พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (2) (3) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ลงโทษจำคุกกระทงละหนึ่งปี รวมสองกระทง รวมโทษจำคุกสองปี ไม่รอลงอาญา โดยศาลให้เหตุผลว่า เนื่องจากช่วงเวลาการชุมนุม มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจากการระบาดของโรคโควิด-19 การโพสต์เชิญชวนคนไปชุมนุม อาจทำให้เกิดการแพร่โรค เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง จนกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน

สำหรับคำพิพากษาโดยละเอียด มีใจความว่า ศาลเห็นว่าพยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกันและชี้ชัดว่า จำเลยเข้าร่วมการชุมนุมและเป็นผู้ไลฟ์สดในวันเกิดเหตุจริง แสดงให้เห็นว่า จำเลยย่อมรู้เห็นเกี่ยวกับการโพสต์เชิญชวนให้คนมาชุมนุม จึงมาร่วมชุมนุมและไลฟ์สดได้

ที่จำเลยนำสืบว่า พยานโจทก์ไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าตนเป็นคนโพสต์เชิญชวนให้คนมาชุมนุม จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ เมื่อจำเลยรู้เห็นเกี่ยวกับการโพสต์ข้อความทั้งสองโพสต์ จึงถือเป็นการทำให้ปรากฏแก่ประชาชนในลักษณะหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุจูงใจให้คนมาร่วมชุมนุมกันเพื่อขับไล่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ออกจากตำแหน่ง

แม้ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ 2560 จะรับรองเสรีภาพในการชุมนุมไว้ แต่ในวรรคสอง ก็ระบุว่า การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน บุคคลจึงไม่สามารถอ้างเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อปฏิเสธหน้าที่และความรับผิดชอบของตนได้

การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต โดยได้กระทำในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งในขณะนั้นมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ดังนั้น การที่จำเลยกับพวกชักชวนให้คนมาชุมนุม จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาประสงค์ต่อผลให้มีการรวมตัวกันของบุคคลจำนวนมาก เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน และเล็งเห็นผลได้ว่า จะเกิดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ได้โดยง่าย จนอาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อันจะทำให้การแพร่กระจายของโรคโควิด-19 เกิดขึ้นได้โดยง่าย เป็นการล่วงละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (2) (3) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาฯ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนและเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามมาตรา 116 และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 116 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกกระทงละหนึ่งปี รวมสองกระทง รวมโทษจำคุกสองปี ไม่รอลงอาญา

ทนายได้ยื่นคำร้องขอประกันกตัญญูระหว่างอุทธรณ์ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวโดยเพิ่มหลักทรัพย์เป็นจำนวน 75,000 บาทจากเงินประกันเดิม รวมเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดเพิ่มเติม

 อ่านบันทึกการสืบพยาน https://tlhr2014.com/archives/61729

You May Also Like
อ่าน

นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนพฤษภาคม 2567

เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมสิบคดี แบ่งเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นแปดคดี ศาลอุทธรณ์และฎีกาอย่างละหนึ่งคดี
อ่าน

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อของวอยซ์ทีวี หลังประกาศปิดฉาก 15 ปี

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ที่เรียกว่า อายุเกือบครึ่งหนึ่งของวอยซ์ทีวีต้องเผชิญกับการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพ