สรุปคำพิพากษา ม.112 เดือนตุลาคม: จาก 15 คดี มียกฟ้องแค่สามราย

เดือนตุลาคม 2566 มีการนัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 มากถึง 15 คดี เป็นเดือนที่มีการนัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 มากที่สุดเท่าที่เคยมีบันทึกมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กระบวนการดำเนินคดีทางการเมืองเหล่านี้ ไม่ได้ยุติลงแม้จะผ่านการเลือกตั้ง 2566 ไปแล้ว แต่ในทางตรงกันข้ามกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาที่รู้ผล และยังคงสร้างผลกระทบเป็นความหวาดกลัวให้กับสังคมในทิศทางเดียวกับยุคของสมัยภายใต้รัฐบาลก่อนหน้า

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าในจำนวน 15 คดี มีคดีที่รอการกำหนดโทษหนึ่งคดีถือเป็นนิมิตรหมายที่น่าสนใจ ยังไม่ทราบคำพิพากษาหนึ่งคดี มีคำพิพากษาลงโทษ แต่ให้รอลงอาญาห้าคดี และมีคำพิพากษาให้ลงโทษ แต่ไม่รอลงอาญาอีกห้าคดี โดยมีสามคดีเท่านั้นที่ศาลตัดสินใจยกฟ้อง

ในจำนวนคดีทั้งสิ้น 15 คดีที่มีผลคำพิพากษาในเดือนตุลาคมนี้ ยังมีถึงสามคดีที่เป็นการ “ฟ้องทางไกล” ทำให้จำเลยที่อยู่อาศัยที่จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ และกรุงเทพฯ ต้องเดินทางไปฟังคำพิพากษาถึงจังหวัดนราธิวาส และทำให้บางคนถูกตัดสินจำคุกที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ซึ่งยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัว

คดีที่มีการลงโทษจำคุก โดยไม่รอลงอาญา: ห้าคดี

4 ตุลาคม 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดยะลาว่า พรชัย ชาวปกาเกอะญอจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีความผิดตามมาตรา 112 รวมทั้งยังผิดหลักการของรัฐธรรมนูญในมาตรา 6 ว่าด้วย “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”  จากการไลฟ์สดและโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กรวม 3 ครั้ง

พรชัยได้รับโทษจำคุกสามปี จากการไลฟ์สดการกระทำเดียว แต่โพสเฟซบุ๊กศาลยกฟ้องเพราะไม่มีหลักฐานว่าจำเลยเป็นผู้โพสจริง เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์จึงเหลือโทษจำคุกสองปี ไม่รอลงอาญา ต่อมาศาลจังหวัดยะลามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างชั้นฎีกาโดยเพิ่มหลักประกันขึ้นอีกครึ่งหนึ่งจากที่เคยวางไว้แล้วในระหว่างอุทธรณ์ พรชัยจึงได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์จำนวน 112,500 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

10 ตุลาคม 2566 ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาว่า วรรณวลี หรือ “ตี้ พะเยา” นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง มีความผิดตามมาตรา 112 จากกรณีชูป้ายข้อความในการชุมนุมเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งคดีนี้เริ่มขึ้นที่เชียงใหม่เพราะสุกิจ เดชกุล สมาชิกกลุ่มไทยภักดีเข้าแจ้งร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จังหวัดเชียงใหม่

ศาลจังหวัดเชียงใหม่เห็นว่า ข้อความบนป้ายมีลักษณะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน จึงสั่งลงโทษจำคุกสี่ปี แต่วรรณวลีให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษเหลือจำคุกสองปีแปดเดือน ไม่รอลงอาญา และต่อมาศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้อนุญาตให้ใช้สิทธิประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ด้วยหลักทรัพย์ 150,000 บาท

19 ตุลาคม 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาในคดีของสหรัฐ หรืออดีตสามเณร “โฟล์ค” จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม #บ๊ายบายไดโนเสาร์ ของกลุ่มนักเรียนเลวบริวณสยามสแควร์ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2563  ว่า จำเลยมีความผิดจริงตามมาตรา 112 ซึ่งศาลมองว่าจะทำให้ประชาชนเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ไม่น่าเคารพ

ศาลพิพากษาให้จำคุกสามปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษเหลือจำคุกสองปี ไม่รอลงอาญา ซึ่งต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ด้วยหลักทรัพย์ 300,000 บาท พร้อมเงื่อนไขห้ามออกนอกราชอาณาจักร ห้ามชุมนุมอันจะทำให้เกิดความวุ่นวายต่อบ้านเมือง และห้ามกระทำการใดๆ ที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมพระเกียรติ

20 ตุลาคม 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดนราธิวาส ให้จำคุก ‘กัลยา’ พนักงานบริษัทจากจังหวัดนนทบุรีเป็นระยะเวลาหกปี ไม่รอลงอาญา เนื่องจากการโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 สองข้อความ ซึ่งคดีนี้เริ่มขึ้นโดย พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ประชาชนชาวนราธิวาสจากเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบัน (คปส.) เป็นผู้ริเริ่มให้ดำเนินคดีในจังหวัดนราธิวาส

ต่อมาวันที่ 22 ตุลาคม 2566 ศาลจังหวัดนราธิวาสอ่านคำสั่งศาลฎีกาไม่ให้ประกันตัว ‘กัลยา’ แม้ทนายความพยายามวางหลักทรัพย์แล้วเป็นเงินสดจำนวน 500,000 บาท 

30 ตุลาคม 2566 ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำพิพากษา มงคลหรือ “บัสบาส” มีความผิดตามมาตรา 112 จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊กสองข้อความ ซึ่งนับเป็นคดีที่สามที่มงคลได้รับจากมาตรา 112 

ศาลลงโทษจำคุกกระทงละสามปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษเหลือกระทงละสองปี และให้บวกโทษจากคดีอื่นที่จำเลยเคยถูกลงโทษมาก่อนหกเดือน รวมโทษจำคุกเป็นสี่ปีหกเดือน ซึ่งศาลจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์ภาคห้าเป็นผู้วินิจฉัย

ต่อมาวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ศาลอุทธรณ์ภาคห้าจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ด้วยหลักประกัน 300,000 บาท พร้อมมีเงื่อนไขว่าห้ามกระทำการใดๆ ที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียอีก และห้ามออกนอกราชอาณาจักร

คดีที่รอการกำหนดโทษ: หนึ่งคดี

4 ตุลาคม 2566 ศาลจังหวัดพิษณุโลกอ่านคำพิพากษาในคดีของ ‘เซ็นเตอร์’ นักศึกษาปริญญาโท ว่ามีความผิดตามมาตรา 112 จากการโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์การสลายการชุมนุมด้วยกระสุนยาง แก๊สน้ำตา และปืนฉีดน้ำแรงดันสูง ระหว่างการชุมนุมช่วงเดือนตุลาคม 2563 

ศาลมีคำพิพากษาว่า ‘เซ็นเตอร์’ มีความผิดตามคำฟ้อง แต่จำเลยให้การสารภาพ จึงให้รอการกำหนดโทษเป็นระยะเวลาสองปี และต้องรายงานตัวต่อนักจิตวิทยาสังคมของศาลอีกสี่ครั้งภายในระยะเวลาหนึ่งปี

คดีที่มีการลงโทษจำคุก แต่ยังให้รอลงอาญา: ห้าคดี

11 ตุลาคม 2566 ศาลอาญาพิพากษา ‘เวฟ’ ชาวนนทบุรี ตามมาตรา 112 จากกรณีแชร์โพสต์และเขียนข้อความวิพากษ์วิจารณ์การผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ของบริษัทสยามไบโอไซน์ว่าใช้ภาษีประชาชน เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ

ศาลจึงมีคำสั่งพิพากษาลงโทษจำคุก ‘เวฟ’ สามปี แต่พิเคราะห์แล้วมีเหตุให้บรรเทาโทษเหลือจำคุกหนึ่งปีหกเดือน แต่ศาลยังเชื่อว่าสามารถกลับตัวเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมได้ จึงมีคำสั่งให้รอลงอาญาสองปี และต้องรายงานตัวต่อผู้คุมประพฤติสี่ครั้งภายในหนึ่งปี รวมทั้งต้องทำงานบริการสังคมให้ครบ 24 ชั่วโมงภายในระยะเวลาสองปี

25 ตุลาคม 2566 ศาลอาญาจังหวัดตลิ่งชันพิพากษาว่า พัชรพล มีความผิดตามมาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุกสามปี จากกรณีแสดงความคิดเห็นเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 ในโพสต์ลงนามถวายพระพรของเพจกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564

ศาลมีความเห็นว่าจำเลยให้การสารภาพ กระทำไปด้วยการขาดความยับยั้งชั่งใจและโง่เขลาเบาปัญญา จึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุกหนึ่งปีหกเดือน และให้รอลงอาญาเป็นระยะเวลาสามปี 

25 ตุลาคม 2566 ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาว่า ‘ต้น’ มีความผิดตามมาตรา 112 จากกรณีชูป้ายในการชุมนุมคาร์ม็อบ #มินิด่วนนครพิงค์เชียงใหม่ไล่ประยุทธ์ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 พิพากษาลงโทษจำคุกสามปี แต่จำเลยให้การสารภาพจึงลดโทษเหลือหนึ่งปีหกเดือน 

อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่าต้นไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงมีคำสั่งให้รอลงอาญาสองปี

30 ตุลาคม 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งพิพากษาจำคุก เบนจา อะปัญ  จากกรณีปราศรัยและอ่านแถลงการณ์เกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนโควิด19 หน้าบริษัทซิโน-ไทยระหว่างกิจกรรม “คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช” เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564

ศาลลงความเห็นว่าการปราศรัยของเบนจามีลักษณะล่วงเกินรัชกาลที่ 10 จึงเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 ลงโทษจำคุกสามปี พร้อมมึความผิดในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุกหนึ่งปี และปรับ 12,000 บาท แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษจำคุกเหลือสองปีแปดเดือน ปรับ 8,000 บาท แต่เนื่องจากเบนจาไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และขณะกระทำความผิดมีอายุเพียง 21 ปี ศาลถือว่าเป็นการกระทำผิดโดยขาดวุฒิภาวะ จึงให้รอลงอาญาไว้เป็นระยะเวลาสองปี

30 ตุลาคม 2566 ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษาคดีของมณีขวัญ ว่ามีความผิดตามมาตรา 112 จากกรณีแชร์โพสต์วิจารณ์รัชกาลที่ 10 จากเพจ “KonthaiUK” จำนวนสองโพสต์ลงในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาเก็ตเพลส” เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 ลงโทษจำคุกกระทงละสามปี รวมหกปี แต่จำเลยให้การสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกสองปี 12 เดือน

อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งให้รอลงอาญาสามปี และต้องให้ไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติทุกสองเดือน เป็นระยะเวลาสองปี พร้อมทำกิจกรรมบริการสังคมอีก 48 เดือน

คดีที่ยกฟ้อง: สามคดี

24 ตุลาคม 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดกระบี่ ยกฟ้องคดีมาตรา 112 ของสุรีมาศเนื่องจากอุทธรณ์ของอัยการโจทก์ฟังไม่ขึ้น คดีนี้มีเหตุจากการที่สุรีมาศแชร์คลิปพิธีขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาเก็ตเพลส” ซึ่งมีภาพโปรไฟล์ของกลุ่มเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจึงเข้าใจผิดว่าสุรีมาศใช้คำพูดไม่เหมาะสมต่อพระหมากษัตริย์ตามมาตรา 112

ศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้องสุรีมาศ

25 ตุลาคม 2566 ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษายกฟ้องคดีมาตรา 112 ของพิพัทธ์ จากกรณีโพสต์ข้อความในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาเก็ตเพลส” เมื่อปี 2563 เนื่องจากหลักฐานและพยานโจทก์ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า พิพัทธ์เป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริง

ศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้องพิพัทธ์

26 ตุลาคม 2566 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลจังหวัดนราธิวาสให้ยกฟ้องคดีมาตรา 112 ของ ‘วารี’ พนักงานขายจากจังหวัดสมุทรปราการ เนื่องจากพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักมากเพียงพอว่า จำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว คดีนี้ถูกริเริ่มโดยพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปส.) ชาวอำเภอสุไหงโกลก ทำให้จำเลยมีภาระต้องเดินทางไปต่อสู้คดีทางไกล

ศาลอุทธณ์จึงพิพากษายืน ยกฟ้อง ‘วารี’ 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *