รอการลงโทษจำคุกเบนจา 2 ปี คดี 112 กรณีอ่านแถลงการณ์แนวร่วมมธ. ฉ.2 ศาลชี้เห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตัว

30 ตุลาคม 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดเบนจา อะปัญ อดีตนักกิจกรรมแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112  ที่เธอถูกกล่าวหาว่าปราศรัยและอ่านแถลงการณ์แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมฉบับที่สอง เรื่อง นายทุน-ขุนศึก-ศักดินา และการเมืองหลังระบบประยุทธ์ ระหว่างคาร์ม็อบวันที่ 10 สิงหาคม 2564 โดยที่เนื้อหาบางตอนของแถลงการณ์พาดพิงและก่อให้เกิดความเสียหายกับพระมหากษัตริย์ โดยศาลพิพากษาว่าเบนจามีความผิด ให้ลงโทษจำคุกในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเวลา 3 ปี และในความผิดฐานร่วมการชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 1 ปี กับปรับ 12,000 บาท  เนื่องจากเบนจาให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษจำคุกให้หนึ่งในสาม ลงโทษจำคุก 2 ปีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และจำคุก 8 เดือนกับปรับ 8,000 บาท ในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และศาลให้รอการลงโทษจำคุกไว้เป็นเวลา 2 ปีเพราะเห็นว่าเบนจาไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนทั้งขณะเกิดเหตุเบนจาเพิ่งอายุ 21 ปี จึงอาจกระทำการไปด้วยความคึกคะนอง สมควรให้โอกาสกลับตัวต่อไป

บรรยากาศที่ห้องพิจารณาคดี 402 ตั้งแต่ก่อนเวลานัด 9.00 น. มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยศาลประจำการอยู่บริเวณหน้าห้องพิจารณาคดี ขณะเดียวกันที่ทางเท้าฝั่งตรงข้ามศาลอาญากรุงเทพใต้ก็มีตำรวจอย่างน้อยสองนายประจำการอยู่โดยคาดว่าน่าจะมาเตรียมรับสถานการณ์เพราะก่อนหน้านี้สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ประกาศจะรวมตัวนั่งรถมาให้กำลังใจเบนจาที่ศาลในวันนี้ ตั้งแต่เวลาประมาณ 9.30 น. ผู้สังเกตการณ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงประชาชนที่ต้องการให้กำลังใจเบนจาประมาณ 30 คน ทยอยเดินทางมาถึงศาล โดยมีตัวแทนสหพันธ์สิทธิมนุษยชนนานาชาติ (FIDH) 2 คน แอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนลประเทศไทย 1 คน รวมอยู่ด้วย เนื่องจากในห้องพิจารณาคดีมีผู้เข้าสังเกตการณ์คดีนี้จนที่นั่งเต็ม ผู้พิพากษาจึงให้ผู้ที่ไม่มีที่นั่งสามารถยืนฟังคำพิพากษาได้ พร้อมกำชับให้ทุกคนอยู่ในความเรียบร้อย

เวลาประมาณ 10.00 น. เบนจามาถึงห้องพิจารณาคดี ผู้พิพากษาสอบถามเบนจาเรื่องการเรียนเล็กน้อยก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษาซึ่งพอสรุปได้ว่า พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นเป็นที่ยุติว่า ในวันและเวลาเกิดเหตุซึ่งอยู่ระหว่างเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด19 มีประชาชนมาชุมนุมกันที่หน้าอาคารชิโน-ไทย มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

ความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องห้ามรวมตัวกันทำกิจกรรมเกินห้าคนในสถานที่ใดๆ โจทก์มีพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความว่าขณะเกิดเหตุมีการประกาศห้ามรวมตัวทำกิจกรรมเกินห้าคนเนื่องจากขณะนั้นกรุงเทพมหานครถูกประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตัวพยานได้ทราบจากผู้บังคับบัญชาและจากเฟซบุ๊กของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมว่าจะมีการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปที่อาคารชิโน-ไทย จึงได้เตรียมการรับสถานการณืและได้ไปอยู่ในสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งพบว่าในเวลาประมาณ 14.00 น.ของวันเกิดเหตุ (10 สิงหาคม 2564) มีการชุมนุมและมีการปิดถนนที่หน้าอาคารชิโน-ไทย โดยมีผู้ชุมนุมบางส่วนยืนบนถนน และมีการแจกแผ่นพับ และเห็นว่าเบนจากำลังปราศรัยอยู่บนรถที่ติดเครื่องขยายเสียง นอกจากนั้นก็มีพยานที่เป็นประชาชนซึ่งเป็นผู้กล่าวหาจำเลย 2 คนเบิกความว่าเห็นจำเลยปราศรัยที่หน้าอาคารชิโน-ไทยผ่านทางเฟซบุ๊ก นอกจากนั้นก็ได้ความจากตัวจำเลยว่าเข้าร่วมและกล่าวปราศรัยจริงรวมทั้งมีหลักฐานเป็นภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวขณะจำเลยกำลังปราศรัยเป็นหลักฐานยืนยัน จึงเห็นว่าจำเลยเข้าร่วมการชุมนุมและอ่านแถลงการณ์จริง โดยที่ในขณะเกิดเหตุมีการประกาศให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามรวมตัวทำกิจกรรมเกินห้าคนในที่ใดๆโดยไม่ได้รับอนุญาต

เห็นว่า แม้จะไม่ปรากฎว่าจำเลยเป็นผู้ลงโฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมบนเฟซบุ๊กส่วนตัว แต่จากพฤติการณ์ที่จำเลยเป็นผู้อ่านแถลงการณ์บนรถติดเครื่องขยายเสียงแสดงให้เห็นว่าการชุมนุมครั้งนี้มีการวางแผนเตรียมการกันมา ทั้งการร่างแถลงการณ์ การกำหนดสถานที่ชุมนุมที่ตึกชิโน-ไทยเพื่อประท้วงการทำงานของอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่ากระกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ซึ่งจากพฤติการณ์ทำให้เห็นว่าแม้จำเลยจะไม่ได้เป็นผู้ลงโฆษณาให้คนมาร่วมชุมนุมแต่ก็เป็นผู้ร่วมจัดให้มีการชุมนุม แม้จำเลยจะต่อสู้ว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นรูปแบบคาร์ม็อบที่ต่างคนต่างอยู่บนรถของตัวเอง แต่ไม่ปรากฎว่าในการชุมนุมได้มีการชี้แจงมาตรการควบคุมโรคใดๆ ทั้งยังมีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งรวมตัวอยู่บนถนนมากกว่า 5 คน ไม่ได้ชุมนุมอยู่แต่บนรถดังที่จำเลยกล่าวอ้าง จำเลยจึงมีความผิดในข้อนี้

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ผู้กล่าวหาในคดีนี้เบิกความสอดคล้องกันว่าได้พบจำเลยอ่านแถลงการณ์บนเฟซบุ๊กโดยที่เนื้อหาของแถลงการณ์มีลักษณะเป็นการด้อยค่าใส่ร้ายพระมหากษัตริย์ทำนองว่าทรงมุ่งเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนโดยไม่คำนึงถึงการบริหารราชการแผ่นดิน และเห็นว่าจำเลยมุ่งกล่าวถึงพระมหากษัตริย์โดยตรง เห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 2 กำหนดให้ประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมาตรา 6 กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการระ ผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ ทั้งยังมีบทบัญญติตามประมวลกฎหมายอาญาที่กำหนดฐานความผิดที่กระทำต่อพระมหากษัตริย์เป็นการเฉพาะ ทำให้เห็นได้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ บุคคลจะใช้เสรีภาพในการเป็นปฏิปักษ์ต่อพระมหากษัตริย์ไม่ได้ รวมถึงจะกระทำการเสียดสีหรือเปรียบเปรยให้เกิดความเสียหายไม่ได้ 

ที่จำเลยกล่าวทำนองว่าที่ประเทศตกต่ำเป็นเพราะการบริหารงานของรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นรัฐบาลทรราชย์ โดยมีการเอ่ยพระนามของพระมหากษัตริย์จึงย่อมทำให้คนที่ได้ยินได้ฟังเข้าใจไปว่าจำเลยต้องการสื่อว่าที่ประเทศตกต่ำเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ และพระมหากษัตริย์ทรงมุ่งเอื้อประโยชน์ต่อชนชั้นสูง ส่วนที่จำเลยอ้างว่าในการปราศรัยเพียงแต่ต้องการโจมตีการบริหารงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จำเลยจะต้องเอ่ยพระนามของพระมหากษัตริย์ออกมา นอกจากนั้นในตอนท้ายของการอ่านแถลงการณ์จำเลยยังได้พูดถึงการหวังให้มีรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากประชาชนโดยตรง ไม่ได้มาจากชนชั้นศักดินาโดยได้มีการเอ่ยพระนามของพระมหากษัตริย์ก็ย่อมทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้ว่า จำเลยต้องการสื่อว่าต้องการรัฐบาลประชาธิปไตย ไม่ใช่รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ที่พระมหากษัตริย์แต่งตั้ง ซึ่งหากจำเลยต้องการตำหนิการบริหารของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์จริงๆก็ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องเอ่ยพระนามของพระมหากษัตริย์ในลักษณะดังกล่าว จึงแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย

การกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระ ให้ลงโทษการกระทำทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี ฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 1 ปี ปรับ 12,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้หนึ่งในสามมาตรา 112 จำคุก 2 ปี และจำคุก 8 เดือนปรับ 8,000 บาทในความผิดฐานร่วมจัดการชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมจำคุก 2 ปี 8 เดือนปรับ 8,000 บาท จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ขณะเกิดเหตุจำเลยเพิ่งอายุ 21 ปี จึงอาจกระทำความผิดไปเพราะความคึกคะนองและขาดประสบการณ์ ทั้งจำเลยยังศึกษาอยู่ จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัว โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี

สำหรับมูลเหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นวันครบรอบหนึ่งปี การชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทนเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มีการอ่านแถลงการณ์แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ฉบับที่หนึ่งที่มีข้อเรียกร้องสิบข้อเพื่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ สำหรับแถลงการณ์ที่เบนจาอ่านมีสาระสำคัญไปที่การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความล้มเหลวของรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนที่ตัวแถลงการณ์วิจารณ์ในเชิงตั้งคำถามว่าการบริหารจัดการวัคซีนอาจเป็นไปเพื่อการเอื้อประโยชน์ต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  ระบุด้วยว่า ในคดีนี้เบนจาไม่เคยถูกออกหมายเรียก แต่เจ้าหน้าที่สน.ทองหล่อทราบว่าเบนจาจะเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาคดีอื่นที่ สน.ลุมพินี ในวันที่ 7 ตุลาคม 2564 จึงได้ติดตามไปแสดงหมายจับและจับกุมตัวเธอที่หน้าสน.ลุมพินี พนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อยื่นคำร้องขอฝากขังเบนจากับศาลอาญากรุงเทพใต้ในวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังจนครบผัดฟ้อง และไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเบนจาเป็นเวลา 99 วัน ก่อนให้ประกันตัวเธอในวันที่ 14 มกราคม 2565 โดยกำหนดเงื่อนไขเข้มขวด – ห้ามทำกิจกรรมที่จะกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 18:00 – 06:00 น. ห้ามเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตและให้ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว