สหประชาชาติส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทย กรณีใช้สปายแวร์ “เพกาซัส” ต่อประชาชน

การใช้งานสปายแวร์ “เพกาซัส” ในประเทศไทยไม่ได้เกิดขึ้นเพียงระหว่างปี 2563-2564 ปรากฏขึ้นหลังจากบริษัทแอปเปิล ออกคำเตือนไปยังผู้ใช้งานไอโฟน เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 จนต่อมามีการสืบสวนสอบสวนพบว่า คนไทยอย่างน้อย 35 คน ถูกเจาะระบบ “ล้วงข้อมูล” ในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนโดยอาวุธสงครามไซเบอร์จากอิสราเอลที่ผลิตขายให้กับรัฐบาลเท่านั้น ข้อเท็จจริงที่ค้นพบในประเทศไทยนี้เป็นการเปิดเผยการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลครั้งใหม่ภายใต้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะที่หลายประเทศในโลกก็พบว่า รัฐบาลใช้งานอาวุธนี้ต่อประชาชน ทั้งนักข่าว นักการเมือง นักเคลื่อนไหว ในทำนองเดียวกัน

ในวันที่ 19 เมษายน 2566 รัฐบาลไทยยังได้รับจดหมายแสดงความกังวลและยื่นข้อเรียกร้องจาก “ผู้รายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติ” (UN special rapporteur) เพื่อให้ประเทศไทย “คลี่คลาย” กรณีการใช้สปายแวร์คุกคามและล้วงข้อมูลประชาชนโดยเร็ว 

จดหมายแสดงความกังวลครั้งนี้ถูกเขียนโดยผู้รายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติถึงสี่คนด้วยกัน ประกอบไปด้วย 1) ผู้รายงานพิเศษเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น 2) ผู้รายงานพิเศษเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มโดยสันติ 3) ผู้รายงานพิเศษเรื่องสถานการณ์การปกป้องสิทธิมนุษยชน และ 4) ผู้รายงานพิเศษเรื่องสิทธิในความเป็นส่วนตัว 

เนื่องจากผู้ตกเป็นเหยื่อขอสปายแวร์เพกาซัสส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองและร่วมการชุมนุมทางการเมือง รวมทั้งยังมีคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่จกเป็นเหยื่อด้วย การใช้เพกาซัสในประเทศไทยจึงเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิหลายมิติ จดหมายแสดงความกังวลฉบับดังกล่าวระบุว่าสหประชาชาติอาศัยข้อความตามประกาศของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (United Nations Human Rights Council) หรือ UNHRC ในการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำตามข้อเรียกร้องทั้งเจ็ดข้อ ดังต่อไปนี้:

ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อกล่าวการใช้สปายแวร์เพกาซัสต่อประชาชนภายในประเทศ

ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการการปกป้องสิทธิส่วนบุคคล เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการรวมกลุ่ม ของบุคคลทั้ง 35 คนที่ตกเป็นเหยื่อของสปายแวร์เพกาซัส รวมถึงมาตรการปกป้องทุกคนในประเทศจากสปายแวร์ล้วงข้อมูลด้วยเช่นกัน

ให้ข้อมูลด้านกฎหมายตามความเป็นจริงเกี่ยวกับข้อกล่าวหาดังกล่าว ซึ่งหากข้อกล่าวหานั้นเป็นจริงก็ขอให้รัฐบาลไทยระบุเพิ่มเติมว่า การกระทำเช่นนี้เป็นไปตามมาตรฐานหลักสิทธิมนุษยชนสากลอย่างไรบ้าง

ขอความกรุณาทำให้ขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนเป็นที่กระจ่างมากขึ้น รวมถึงให้ข้อมูลว่ารัฐบาลไทยวางแผนที่จะปกป้องเหยื่อของสปายแวร์ชนิดนี้จากการคุกคามสิทธิมนุษยชนโดยภาคธุรกิจ โดยเฉพาะการคุกคามจากบริษัทผู้ผลิตเพกาซัสอย่าง NSO Group ตาม “หลักการชี้แนะเรื่องสิทธิมนุษยชนสำหรับธุรกิจ” (UN Guiding Principles on Business and Human Rights) อย่างไรบ้าง

ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลไกการรับเรื่องร้องทุกข์ของรัฐบาลไทยเมื่อมีการคุกคามสิทธิมนุษยชนจากกิจกรรมที่จัดโดยสันติ โดยเฉพาะกลไกการรับเรื่องร้องทุกข์ การเยียวยา และการชดเชยค่าเสียหาย ของกรณีการใช้สปายแวร์เพกาซัสต่อประชาชน

ให้ข้อมูลแผนการสนับสนุนนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลไทย ไม่ว่าจะเป็นนักเคลื่อนไหวผู้ทำงานแบบออฟไลน์หรือออนไลน์ ให้สามารถทำงานได้โดยปราศจากความหวาดกลัว การข่มขู่ หรือคุกคาม 

ให้ข้อมูลวิธีการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐกลายเป็นผู้ละเมิดหลักการสิทธิมนุษยชนเสียเอง รวมถึงการให้รับประกันว่าพวกเขาก็ไม่ได้ถูกตรวจตราสอดส่องด้วยสปายแวร์ชนิดนี้เช่นกัน

ผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติให้เวลารัฐบาลไทยในการตอบกลับอยู่ที่ 60 วัน นับจากวันที่ 19 เมษายน 2566 แต่เนื่องด้วยรัฐบาลไทยไม่ได้ตอบกลับตามจดหมายดังกล่าวจึงทำให้ UNHRC จึงเปิดเผยจดหมายข้อเรียกร้องฉบับนี้ลงบนเว็บไซต์ของ UNHRC โดยไม่ได้มีคำอธิบายจากรัฐบาลไทยประกอบด้วย  

You May Also Like
อ่าน

นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนพฤษภาคม 2567

เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมสิบคดี แบ่งเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นแปดคดี ศาลอุทธรณ์และฎีกาอย่างละหนึ่งคดี
อ่าน

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อของวอยซ์ทีวี หลังประกาศปิดฉาก 15 ปี

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ที่เรียกว่า อายุเกือบครึ่งหนึ่งของวอยซ์ทีวีต้องเผชิญกับการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพ