สิบเรื่องแปลก ในกระบวนการยุติธรรมของคดี 112 ยุค 2563-2565

ตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้บังคับกฎหมาย “ทุกฉบับ ทุกมาตรา” กับผู้ชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 สถิติการดำเนินคดีประชาชนด้วยข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็พุ่งสูงขึ้น เป็นยุคสมัยที่มาตรานี้ถูกนำมาใช้มากที่สุดในประวัติศาสตร์

เมื่อคดีมาตรา 112 มีความละเอียดอ่อนเพราะมีมิติที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อความศรัทธาประกอบกับมิติทางกฎหมาย และการดำเนินคดีมีความผกผันไปตามบรรยากาศทางการเมือง ทำให้เราพบเห็นกระบวนการ “แปลกๆ” ที่อาจจะสอดคล้องกับกฎหมายที่มีอยู่ แต่แทบจะไม่เกิดขึ้นในการดำเนินคดีอาญาข้อหาอื่นๆ ตามมาหลายเรื่องหลายประการ สะท้อนให้เห็นถึงสถานะของมาตรา 112 ที่เป็นเครื่องมือเพื่อ “ปิดปาก” คนที่ต่อต้านอำนาจรัฐ และทำให้กฎหมายมาตรานี้ยิ่งมีความพิเศษโดดเด่นเพิ่มขึ้น ควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้กันอย่างจริงจัง

1. ใช้มาตรา 112 กับการแสดงออกต่อบุคคลที่กฎหมายไม่ได้คุ้มครอง

มาตรา 112 กำหนดบุคคลที่กฎหมายให้ความคุ้มครองอย่างชัดเจน 4 ตำแหน่ง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมุ่งคุ้มครองผู้ดำรงตำแหน่ง ในขณะดำรงตำแหน่งเท่านั้น เมื่อพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยสาเหตุใดบุคคลดังกล่าวย่อมพ้นไปจากความคุ้มครองของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ไปอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายอื่น เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 328 ข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา หรือมาตรา 393 ข้อหาดูหมิ่นซึ่งหน้า เป็นต้น ซึ่งข้อกฎหมายประเด็นนี้มีความชัดเจนไม่ต้องอาศัยการตีความมากนัก

อย่างไรก็ตามมีกรณีที่ตำรวจตั้งข้อกล่าวหากับบุคคลด้วยมาตรา 112 โดยที่การกระทำตามข้อกล่าวหาของบุคคลดังกล่าวไม่ได้เป็นการกระทำต่อบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าว เช่น กรณีของจรัสที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 โดยถูกกล่าวหาว่าแสดงความคิดเห็นตอบโต้ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนอื่นโดยวิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจพอเพียง ในลักษณะที่อาจเป็นการพาดพิงถึงรัชกาลที่เก้า ซึ่งขณะเกิดเหตุสวรรคตไปแล้ว คดีนี้ศาลจังหวัดจันทบุรีมีคำพิพากษาในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ยกฟ้องจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยให้เหตุผลตอนหนึ่งว่า รัชกาลที่เก้าเสด็จสวรรคตไปแล้ว จึงขาดองค์ประกอบความผิด 

กรณีนักกิจกรรมขึ้นป้ายผ้า ‘งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19’ ที่จังหวัดลำปาง ข้อความบนป้ายไม่ได้ระบุพระนามของบุคคลที่มาตรา 112 คุ้มครอง ทั้งผู้จัดทำงบประมาณก็เป็นรัฐบาล ไม่ใช่ผู้ที่มาตรา 112 คุ้มครอง โดยที่บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาก็ไม่ได้ให้รายละเอียดว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯอย่างไร เพียงแต่บรรยายเหตุการณ์ที่มีสายตรวจไปประสบเหตุจึงปลดป้ายและนำมาร้องทุกข์กล่าวโทษ กรณีเกียรติชัยปราศรัยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ซึ่งตอนหนึ่งเขาปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การเลิกทาสสมัยรัชกาลที่ห้าว่า แม้จะเลิกทาสแล้วก็ยังคงมีการขี่ประชาชนอยู่ และวิจารณ์ว่าการเขียนในแบบเรียนว่า รัชกาลที่ 7 เป็นพระบิดาของระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องหลอกลวง ข้อความทั้งสองเกี่ยวกับอดีตพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว แต่ถูกพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวันนำมาเป็นเหตุที่แจ้งข้อหามาตรา 112 กับเกียรติชัย

2. ใช้มาตรา 112 กับการกระทำที่อธิบายไม่ได้ว่า “หมิ่นฯ” อย่างไร

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 134 ตำรวจมีหน้าที่ต้องแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าเป็นความผิด และแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาได้ทราบและเข้าใจ แต่ในทางปฏิบัติการดำเนินคดีมาตรา 112 หลายคดีการกระทำไม่เข้าองค์ประกอบการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ตำรวจก็แจ้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับพฤติกรรมเพียงลอยๆ โดยไม่ได้อธิบายว่าการกระทำของผู้ต้องหาเข้าองค์ประกอบความผิดอย่างไร

ตัวอย่างเช่น คดีการชุมนุมหน้าหน้ากรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ราบ 11) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 พิมพ์สิริ หรือมุก ปราศรัยถึงหน้าที่ของกองทัพไทยและสถาบันในการทำรัฐประหาร พร้อมกล่าวถึงข้อคิดเห็นของผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าไม่มีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ณัฎฐธิดา หรือแหวน ปราศรัยว่า “มึงยัด 112 ให้กู ซึ่งกูไม่เคยรู้เรื่อง 112 จากพวกมึงเลย” และ “เมื่อถามคนบนฟ้าใครสั่งยิงก็ไม่ตอบ” ซึ่งถูกตำรวจและอัยการตั้งข้อกล่าวหาว่า ผิดมาตรา 112 

หรือคดีของทานตะวัน หรือตะวัน จากการทำโพลที่ห้างสยามพารากอนเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ถามคำถามว่า “คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่?” โดยพฤติการณ์ข้อกล่าวหา ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าส่วนใดของกิจกรรมดังกล่าวที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามข้อหามาตรา 112 

3. ฟ้องคดีทางไกล สร้างภาระให้จำเลย

ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของมาตรา 112 คือเป็นกฎหมายที่ “ใครฟ้องก็ได้” เพราะมาตรา 112 บัญญัติอยู่ในหมวด “ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่จำเป็นต้องให้ผู้เสียหายตัดสินใจริเริ่มคดีเอง แต่ “ใครก็ได้” ที่พบเห็นการกระทำและสงสัยว่า เป็นการกระทำความผิดก็สามารถเอาพฤติการณ์ไปแจ้งต่อตำรวจเพื่อให้ตำรวจสืบสวนสอบสวน และดำเนินคดีได้เลย ปัญหาที่ต่อเนื่องมา คือ คือ คดีจำนวนไม่น้อยริเริ่มขึ้นในสถานีตำรวจที่ผู้กล่าวหาสะดวก แต่เป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจากที่อยู่ของผู้ถูกกล่าวหาอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ผู้ต้องหามีภาระต้องเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาและต่อสู้คดีในจังหวัดที่ได้มีการไปกล่าวโทษไว้

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ประมาณครึ่งหนึ่ง เกิดจากประชาชน “ใครก็ได้” กล่าวโทษให้ริเริ่มคดี รวมทั้งประชาชนที่รวมกลุ่มเพื่อ “ปกป้องสถาบัน” และกล่าวโทษคนจำนวนมากๆ อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ตัวอย่างเช่น

“บุญลือ” (นามสมมติ) อายุ 24 ปีอาศัยอยู่ในจังหวัดสุโขทัย ต้องเดินทางไปรายงานตัวตามหมายเรียกในคดี มาตรา 112 จากจากคอมเมนต์เรื่องลักษณะที่ดีของกษัตริย์ และเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในเฟซบุ๊ก ที่สภ.ทุ่งคาโงก อำเภอเมือง จังหวัดพังงา คดีนี้มีนางสาวกัลฐิตา ชวนชม ซึ่งทำงานอยู่ที่จังหวัดพังงาเป็นผู้กล่าวหา โดยก่อนการแจ้งความทั้งสองคนเคยโต้เถียงกันบนเฟซบุ๊ก ทำให้กัลฐิตาตัดสินใจไปแจ้งความ

อุดม ประชาชนวัย 33 ปี อาศัยอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี ได้รับหมายเรียกจาก สภ.สุไหงโก-ลก ในคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับกษัตริย์ 7 ข้อความ โดยอุดมได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวเพียงลำพังเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ในคดีนี้มีผู้กล่าวหา คือ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน คนธรรมดาคนหนึ่งที่พบเห็นข้อความบนเฟซบุ๊กโดยไม่เคยรู้จักกันมาก่อน 

ดูรายละเอียดเรื่องนี้ ต่อได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/node/1046

4. กำหนดเงื่อนไขประกันตัว ห้ามสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ศาลเริ่มมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวนักกิจกรรมทางการเมืองกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีท่ามกลางการชุมนุมที่ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ในเดือนเมษายน 2564 ศาลเริ่มหยิบเอาอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108 วรรคสาม มาเริ่มทยอยให้ประกันตัวอีกครั้งพร้อมกับการกำหนด “เงื่อนไข” ประกอบสัญญาประกันตัว ในวันที่ 9 เมษายน 2564 ศาลให้ประกันตัวปติวัฒน์ หรือ หมอลำแบงค์ โดยกำหนดเงื่อนไข ห้ามไม่ให้กระทำการลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือไปร่วมกิจกรรมที่อาจทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล ขณะที่สมยศและจตุภัทร์ หรือ ไผ่ ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 23 เมษายน 2564 โดยรับเงื่อนไขของศาลเช่นเดียวกัน 

ตลอดปี 2564 นักกิจกรรมทางการเมืองอีกหลายคนทยอยถูกดำเนินคดีมาตรา 112 บางคนได้รับอนุญาตให้ประกันตัวพร้อมเงื่อนไขทันที แต่อีกหลายคนก็ต้องเข้าไปใช้ชีวิตในเรือนจำช่วงเวลาหนึ่งก่อนจึงได้รับประกันตัวพร้อมเงื่อนไขภายหลัง เช่น ปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อ 3 พฤษภาคม 2564 จากคดีการโพสต์ภาพป้าย #วัคซีนหาซีนให้วัง หรือเงื่อนไข “ไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่จะทําความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” วรรณวลี หรือ ตี้ ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อ 7 พฤษภาคม 2564 จากคดีปราศรัยที่วงเวียนใหญ่ ศพร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำผิดซ้ำ อันจะทำให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ต่อมาพบว่า ศาลยังนำประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์มาตั้งเป็นเงื่อนไขให้กับจำเลยในคดีอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ด้วย เช่น คดีการสาดสีหน้าพรรคภูมิใจไทย ของผู้ต้องหากลุ่มทะลุฟ้าสี่คน ซึ่งอัยการยื่นฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และ 216 แต่ศาลให้ประกันตัวโดยระบุเงื่อนไขว่า “ห้ามทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์และศาลเสื่อมเสีย” แม้พฤติการณ์ในวันเกิดเหตุเป็นเพียงการยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องให้พรรคภูมิใจไทยถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล และไม่ได้มีเป้าประสงค์เพื่อโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด 

ในช่วงต้นปี 2565 การกำหนดเงื่อนไขของศาลยังขยายขอบเขตมากขึ้นไปอีก ด้วยการคุ้มครอง “ศาล” เองด้วย เริ่มต้นจากเมื่อ 13 มกราคม 2565 หนึ่งในเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราวของปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ระบุไว้ว่า “ห้ามทำกิจกรรมหรือกระทำการใด ๆ ที่อาจกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน” ต่อมา 24 กุมภาพันธ์ 2565 ในเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราวของพริษฐ์ ชิวารักษ์ ปรากฏข้อความในลักษณะเดียวกัน แต่มีการเพิ่มข้อความเจาะจงให้ละเอียดมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มคำว่า “สถาบัน” ก่อนหน้าคำว่า “ศาล” คือ “ห้ามจำเลยทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ที่อันจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียหรือด้อยค่าต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันศาลในทุกด้าน” นอกจากนี้ ยังเพิ่มเงื่อนไข “ห้ามกระทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล” ขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไข เช่นเดียวกับการปล่อยตัวอานนท์ นำภา เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ที่มีการระบุทั้งสองเงื่อนไขข้างต้นพ่วงมากับคำสั่งปล่อยตัว

5. กำหนดเงื่อนไขประกันตัว คล้ายคำสั่งห้ามไปชุมนุม

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108 เมื่อศาลทีคำสั่งให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ก็อาจกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่หรือเงื่อนไขอื่นได้ โดยวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้จำเลยหลบหนีหรือไปก่อเหตุซ้ำ ซึ่งในคำสั่งที่กำหนดเงื่อนไขใดๆ ศาลจะต้องระบุเหตุผลประกอบไว้ด้วยว่า เงื่อนไขนั้นๆ มีขึ้นเพื่อสาเหตุใด ตามมาตรา 186(6) แต่การกำหนดเงื่อนไขในคดีมาตรา 112 หลายคดี ศาลไม่ได้อธิบายเหตุผลประกอบให้เข้าใจได้

จากบริบททางการเมืองที่ผู้จัดการชุมนุมในช่วงปี 2563-2564 มักนัดหมายจัดกิจกรรมกันในช่วงเวลาเย็นของแต่ละวันไปจนถึงช่วงค่ำ โดยเปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อยๆ และกิจกรรมแต่ละครั้งใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง เมื่อการกำหนดเงื่อนไข “ห้ามออกนอกเคหสถาน” ของศาลหลายกรณีศาลสั่งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องอยู่แต่ในบ้านตั้งแต่ช่วงเวลาเย็นถึงเช้าของวันใหม่ พร้อมให้ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) โดยไม่ได้อธิบายเหตุผลให้ชัดเจน จึงเข้าใจได้ว่าศาลต้องการจำกัดไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมทางการเมือง หรือไม่ต้องการให้ไปร่วมกิจกรรมได้เลย ซึ่งกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอาจไม่ได้มีการกระทำความผิดต่อกฎหมายใดก็ได้ การกำหนดเงื่อนไขจำกัดเวลาออกนอกเคหสถานของศาลนอกจากจะกระทบกับการใช้ชีวิต การทำงาน และการศึกษาของผู้ที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขแล้ว ยังส่งผลเป็นคำสั่งที่ช่วยรัฐบาลควบคุมไม่ให้การชุมนุมเกิดขึ้นได้

ตัวอย่างเช่น

กรณีของสุพิชฌาย์ หรือเมนู นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง จำเลยคดีมาตรา 112 หลายคดี ซึ่งได้ประกันตัวจากศาลอาญาในคดีทำโพลที่บริเวณจตุจักรถามว่า “คุณเห็นด้วยหรือไม่ ที่รัฐบาลอนุญาตให้กษัตริย์ใช้อํานาจได้ตามอัธยาศัย” พร้อมเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่ 16.00 – 06.00 น. 

กรณีของอานนท์ นำภา จำเลยคดีมาตรา 112 หลายคดีซึ่งได้ประกันตัวจากศาลอาญากรุงเทพใต้ในคดีชุมนุมวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 และ 3 สิงหาคม 2564 พร้อมเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่ 19.00-06.00 น. 

กรณีของชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด จำเลยคดีมาตรา 112 กรณีโพสต์ข้อความถึงสถาบันกษัตริย์ “ราษฎรสาส์น” แม้ข้อกล่าวหาในคดีจะเป็นการโพสเฟซบุ๊กแต่ศาลก็กำหนดเวลาห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่ 20.00-05.00 น. ซึ่งต่อมาได้ยกเลิกเงื่อนไขนี้ 

6. จำเลยต่อสู้คดียาก เมื่อศาลไม่ให้นำสืบพยานผู้เชี่ยวชาญ

โดยหลักการแล้วคู่ความทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยต้องมีสิทธิอย่างเต็มที่ในการนำพยานหลักฐานของตัวเองเข้านำเสนอต่อศาล ขณะที่ศาลก็มีอำนาจสั่งไม่รับหรือตัดพยานหลักฐานที่เห็นว่า ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นในคดีได้ ซึ่งในการต่อสู้คดีมาตรา 112 หลายคดี จำเลยมีความจำเป็นต้องต่อสู้โดยใช้พยานผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นว่า ข้อความที่จำเลยแสดงออกนั้นไม่ใช่การฝ่าฝืนต่อกฎหมาย รวมทั้งต้องการถามค้านพยานที่มาให้ความเห็นของฝั่งโจทก์ด้วย แต่ก็เป็นไปอย่างยากลำบากเพราะศาลก็จะถือว่าการตีความเหล่านี้เป็นประเด็นที่ศาลคิดเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องฟังความเห็นบุคคลอื่น ตัวอย่างเช่น 

คดีติดสติ๊เกอร์ กูKult ของนรินทร์ ในระหว่างการสืบพยานศาลปรึกษากับอัยการว่า จะขอตัดพยานผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นนักวิชาการที่อัยการเตรียมมานำสืบในประเด็นเกี่ยวกับถ้อยคำบนสติกเกอร์ว่า เป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือไม่ เพราะเห็นว่าการติดสติกเกอร์ในที่ที่ไม่ควรติดก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดแล้ว ศาลระบุด้วยว่าพอจะทราบว่าเพจ กูkult เป็นเพจอะไร แต่ความหมายของข้อความไม่ใช่ประเด็นหลัก ประเด็นอยู่ที่การติดสติกเกอร์ในที่ไม่สมควรติด ขณะเดียวกันเมื่อทนายจำเลยหารือกับศาลว่า จำเลยจะรับว่าเป็นผู้ติดสติกเกอร์แล้วต่อสู้ว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยต้องการนำสืบพยานผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านกฎหมายและศิลปะ ศาลจึงขอนำประเด็นนี้ไปหารือกับผู้บริหารศาล ก่อนจะมาแจ้งว่า หากจำเลยยอมรับว่าเป็นคนติดสติ๊กเกอร์ก็ไม่ต้องนำพยานเข้ามาสืบ ให้จำเลยไปเขียนคำแถลงในประเด็นเจตนามาส่งศาลแล้วศาลจะนัดฟังคำพิพากษาเลย กรณีที่เกิดขึ้นทำให้ตัวจำเลยไม่ประสงค์ขึ้นเบิกความหรือนำพยานเข้าสืบเพราะเห็นว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดี ดูรายละเอียดคดีของนรินทร์ 

คดีของธนกร หรือ เพชร และณัฐกรณ์ หรือ บีม ที่ถูกดำเนินคดีจากการไปร่วมกิจกรรมแต่งชุดครอปท็อปเดินสยามพารากอน เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งในนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ให้ตัดพยานผู้เชี่ยวชาญ ที่เป็นนักวิชาการหรือนักกฎหมายที่จะมาให้ความเห็นออกไป และแจ้งว่าศาลจะฟังประจักษ์พยานและข้อเท็จจริงเท่านั้น โดยศาลจะวินิจฉัยตามข้อกฎหมายเอง เพื่อความสะดวกรวดเร็วและไม่ทำให้ทุกฝ่ายเสียเวลา 

ในคดีของชูเกียรติหรือจัสตินที่ถูกกล่าวหาว่านำป้ายกระดาษเขียนข้อความ ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูลไปติดที่พระบรมฉายาลักษณ์ ศาลไม่ได้สั่งให้ตัดพยานผู้เชี่ยวชาญ แต่ได้พูดกับทนายจำเลยเป็นระยะว่าเวลาถามค้านขอให้ต่อสู้ไปในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง หากจำเลยให้การว่าไม่ได้กระทำการ ก็ให้สู้เฉพาะประเด็นดังกล่าว ยกเว้นจำเลยรับว่าเป็นผู้กระทำการจริงแต่ต้องการพิสูจน์เรื่องเจตนาศาลก็จะเปิดโอกาสให้ต่อสู้ในประเด็นดังกล่าวอย่างเต็มที่ แต่ไม่ควรต่อสู้ในลักษณะเหมารวม 

7. จำเลยต่อสู้คดียาก เมื่อศาลไม่ออกหมายเรียกหลักฐานสำคัญ

เมื่อข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องสามข้อของราษฎร หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยว่า การเคลื่อนไหวจะต้องมีการปราศรัยหรือตั้งคำถามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งนำมาสู่คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในชั้นศาลนักกิจกรรมจำเป็นที่ต้องใช้พยานเอกสารที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ได้กล่าวถึง และหลักฐานหลายอย่างก็อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานรัฐที่เข้าถึงยาก อย่างไรก็ตามศาลกลับไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารที่เป็นตัวชี้ขาดประเด็นของคดี

ในคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายจำเลยขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสาร เช่น ข้อมูลการเดินทางเข้าออกประเทศของในหลวงรัชกาลที่สิบ เนื่องจากเมื่อไปขอแล้วหน่วยงานที่ถือครองข้อมูลอย่างบริษัทการบินไทยไม่ยอมให้มาใช้ในการพิจารณาคดี ทั้งที่จำเป็นในการพิสูจน์ว่า เนื้อหาที่จำเลยปราศรัยถึงการอยู่ต่างประเทศของรัชการที่สิบนั้นเป็นเท็จหรือไม่  เอกสารอีกชิ้นที่ไม่สามารถขอมาได้คือคำพิพากษาศาลแพ่งฉบับเต็มในคดีที่กระทรวงการคลังเคยฟ้องรัชกาลที่เจ็ด ให้ต้องชดใช้เงินคืนแก่กระทรวงการคลัง เมื่อไปขอต่อศาลแพ่งแล้วก็ไม่ได้มาเนื่องจากไม่ใช่คู่ความในคดี

ศาลให้เหตุผลว่า ศาลเข้าไปขอเอกสารจากภายนอกไม่ได้ ศาลไม่ได้มีอำนาจมากมายขนาดนั้น และจะเป็นการก้าวล่วงเกินไป ศาลไม่คิดว่าสามารถทำตามที่ทนายขอได้ เป็นหน้าที่ของทนายจำเลยที่ต้องแสวงหาหลักฐานดังกล่าวเอง 

นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความของภาณุพงศ์ จาดนอก หนึ่งในจำเลยแถลงต่อศาลว่า ภาณุพงศ์ถูกกล่าวหาในประเด็นที่ปราศรัยว่า รัชกาลที่สิบบินไปต่างประเทศแล้วลงพระปรมาภิไธยเอกสารระหว่างประทับต่างประเทศ ข้อกล่าวหานี้ก็จะยุติได้ถ้ามีบันทึกการเดินทางเข้าออกประเทศ หากศาลเรียกพยานเอกสารนี้ให้จำเลยก็จะสามารถสู้คดีได้อย่างเต็มที่ เพราะฝ่ายโจทก์ฟ้องว่า ข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จจึงต้องการให้ศาลออกหมายเรียกพยานหลักฐานมา มิเช่นนั้นจำเลยก็ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ 

ดูรายละเอียดดี 19 กันยาฯ ในฐานข้อมูลได้ที่ : https://freedom.ilaw.or.th/case/921#progress_of_case

8. ศาลพิพากษาคดีมาตรา 112 สามวันหลังพิจารณาแล้วเสร็จ

ในวันที่ 1 เมษายน 2565 ศาลอาญาพิจารณาคดีติดสติกเกอร์ กูKult นรินทร์แล้วเสร็จ หลังการพิจารณาคดีศาลนัดนรินทร์ฟังคำพิพากษาในวันที่ 4 เมษายน 2565 หรือเพียงสามวันหลังสืบพยานแล้วเสร็จ ซึ่งถือเป็นการนัดฟังคำพิพากษาที่เร็วที่สุดเท่าที่ไอลอว์บันทึกได้ ในกรณีคดีที่พิจารณาโดยศาลยุติธรรมและเป็นคดีที่จำเลยต่อสู้คดีมีการสืบพยาน โดยคดีของนรินทร์มีพยานขึ้นเบิกความต่อศาลรวมทั้งสิ้น 11 ปาก 

ในคดีอื่นๆ ศาลมักใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือนในการนัดฟังคำพิพากษาหลังวันสืบพยานวันสุดท้ายหรือวันยื่นคำแถลงปิดคดี เช่น คดีของสมบัติทองย้อย ศาลอาญากรุงเทพใต้สืบพยานแล้วเสร็จวันที่ 16 มีนาคม 2565 นัดฟังคำพิพากษา 28 เมษายน 2565 คดีของอิศเรศ ศาลจังหวัดนครพนมสืบพยานแล้วเสร็จวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ทนายจำเลยยื่นคำแถลงปิดคดีในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 จากนั้นศาลจึงนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 16 มีนาคม 2565 หรือคดีของอัญชัญซึ่งเป็นคดีที่โอนย้ายจากศาลทหารกรุงเทพมาพิจารณาต่อที่ศาลอาญาและศาลนัดสืบพยานนัดที่เหลือระหว่างวันที่ 15 – 16 ธันวาคม 2564 เมื่อถึงวันนัดอัญชัญเปลี่ยนใจให้การรับสารภาพ ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 19 มกราคม 2565 

นอกจากนั้นก็ยังมีบางคดีที่ศาลนัดจำเลยฟังคำพิพากษาหลังเสืบพยานแล้วเสร็จนานเกินหนึ่งเดือนอาทิ คดีที่ “เค” วัยรุ่นชาวชลบุรีถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความขายเหรียญเข้าข่ายผิดมาตรา 112 ในช่วงหลังการสวรรคตของรัชกาลที่เก้า ซึ่งคดีดังกล่าวศาลสืบพยานแล้วเสร็จตั้งแต่ 18 พฤษภาคม 2561 แล้วไปนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 ซึ่งเป็นเวลาประมาณเดือนครึ่งโดยให้เหตุผลว่าที่ศาลเว้นช่วงฟังคำพิพากษาเป็นเวลานานเพราะต้องนำร่างคำพิพากษาและสำนวนคดีไปให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 ตรวจทานก่อน    

9. ศาลสั่ง “ห้ามจด” และพิจารณาลับ

ในการพิจารณาคดีมาตรา 112 เมื่อมีประเด็นเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง มีคนสนใจเป็นจำนวนมาก ทำให้ศาลถูกจับจ้องและถูกวิจารณ์ หรือหลายกรณีศาลก็ตกเป็นเป้าในการแสดงความเห็นด่าทอบนโลกออนไลน์ หลายคดีศาลจึงใช้อำนาจสั่งผู้สังเกตการณ์ว่า “ห้ามจดบันทึก” แม้ไม่มีมาตราใดในกฎหมายที่ห้ามผู้สังเกตการณ์จดบันทึกระหว่างการพิจารณาคดี แต่มีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 ให้อำนาจศาลออกข้อกำหนดใดๆ กับบุคคลที่อยู่ต่อหน้าศาล เพื่อความเรียบร้อยในบริเวณศาลได้ ซึ่ง

ตัวอย่างเช่น คดีจากการโพสเฟซบุ๊กของสมบัติ ทองย้อย ในการพิจารณาคดีวันแรกผู้สังเกตการณ์ยังจดบันทึกได้ แต่เมื่อรายงานต่อสาธารณะว่า ทนายความจำเลยมีประวัติใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด19 แต่ศาลไม่ให้เลื่อนคดี ให้สืบพยานไปก่อนโดยที่จำเลยไม่มีทนายความนั่งอยู่ด้วย วันต่อมาศาลก็เรียกผู้สังเกตการณ์ไปคุยเพื่อขอให้ลบโพสดังกล่าวและสั่งห้ามจดบันทึกอีก มิเช่นนั้นจะไม่ให้เข้าฟังการพิจารณาคดี หรือคดีของนรินทร์จากการแปะสติกเกอร์ กูkult ในการพิจารณาคดีวันแรกผู้สังเกตการณ์ยังจดบันทึกได้เช่นกัน แต่ในวันที่สองเมื่อศาลเห็นว่ามีคนจดบันทึกหลายคนมากขึ้น จึงสั่งห้าม และอ้างว่าคนที่จดบันทึกจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเท่านั้น โดยอนุญาตให้เพียงทนายความจดได้

นอกจากนี้ยังมีคดีมาตรา 112 อีกอย่างน้อยสองคดีที่ศาลสั่งพิจารณาคดี “เป็นการลับ” คือ ไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าฟังการพิจารณาได้เลย ไม่อนุญาตให้มีผู้สังเกตการณ์คดี โดยอ้างเหตุเพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งเป็นอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 177 คือ คดีของมงคล ที่ศาลจังหวัดเชียงราย จากการโพสเฟซบุ๊กรวม 27 ข้อความ และคดีของศิระพัทธ์ ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี จากการทิ้งกรอบรูปพระบรมฉายาลักษณ์ลงในคลอง 

10. การไม่เผยแพร่ชื่อผู้พิพากษา

ในช่วงเวลาที่นักกิจกรรมทางการเมืองที่มีชื่อเสียงหลายคนถูกส่งตัวเข้าเรือนจำเพราะศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว สังคมได้มุ่งความสนใจไปที่องค์กรตุลาการมากขึ้นจนเกิดกรณีการเปิดเผยชื่อและข้อมูลส่วนบุคคลของผู้พิพากษาในโซเชียลมีเดีย และการวิจารณ์รวมทั้งกล่าวโจมตีผู้พิพากษาเป็นรายบุคคล ทำให้ในเอกสารของบางคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 บางคดี ศาลเลือกที่จะไม่ระบุชื่อผู้พิพากษาไว้ท้ายคำสั่ง เช่น กรณีศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และหมอลำแบงค์-ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ในท้ายคำสั่งปรากฏเพียงลายเซ็น แต่ไม่ได้พิมพ์ชื่อตัวบรรจงผู้พิพากษาที่ลงคำสั่งกำกับด้วย 

นอกจากนี้ 19 เมษายน 2565 พริษฐ์ ปิยะนราธร ผู้พิพากษาในคดีไต่สวนเพิกถอนสัญญาประกันตัวของ ลูกเกด-ชลธิชา แจ้งเร็ว ได้กล่าวถึงกรณีผู้พิพากษาถูกเผยแพร่ชื่อบนโลกออนไลน์ในช่วงท้ายของการไต่สวนว่า การกระทำดังกล่าวส่งผลให้ผู้พิพากษาตกเป็นเป้าโจมตีของสาธารณชน พร้อมตักเตือนในกรณีที่ทนายความเป็นผู้โพสต์ จะทำเรื่องแจ้งสภาทนายความให้รับทราบ ส่วนกรณีที่ประชาชนเป็นผู้กระทำ จะมอบหมายไปยังสำนักงานของศาลให้ดำเนินคดีต่อไป 

ประเด็นการไม่ลงชื่อผู้พิพากษาเคยถูกหยิบยกมาตั้งคำถามโดยภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2564 ผ่านการส่งหนังสือถึงอธิบดีศาลอุทธรณ์ โดยระบุถึงกรณีที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว พริษฐ์ ชิวารักษ์ ฉบับลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งไม่ปรากฏชื่อผู้พิกพากษาท้ายคำสั่งว่า การกระทำดังกล่าวขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 10 ซึ่งเป็นหลักทั่วไปที่บัญญัติว่า “ถ้อยคำสำนวนต้องระบุชื่อศาล สถานที่ และวันเดือนปีที่จด ถ้าศาลจดถ้อยคำสำนวนตามคำสั่งหรือประเด็นของศาลอื่น ให้กล่าวเช่นนั้น และแสดงด้วยว่าได้ทำไปอย่างใด ผู้พิพากษาที่จดถ้อยคำสำนวนต้องลงลายมือชื่อของตนในถ้อยคำสำนวนนั้น”