‘ได้หมาย Young’ EP.1 คุยกับสามนักกิจกรรมกลุ่ม ‘โคราชมูฟเมนต์’

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือ ‘อีสาน’ เป็นภูมิภาคหนึ่งที่มีการชุมนุมทางการเมืองอย่างคับคั่งไม่น้อยไปกว่ากรุงเทพมหานคร รายการ ‘ได้หมาย Young’ โดย iLaw พาไปรู้จักกับเยาวชนในภาคอีสานที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองและถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามหรือดำเนินคดีในช่วงที่ผ่านมา 
สำหรับในตอนแรก วันที่ 13 กันายยน 2564 ‘ได้หมาย Young’ ได้เดินทางไปที่จังหวัดนครราชสีมาซึ่งจนถึงตอนนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 19 ราย โดยมีเยาวชนเข้าร่วมพูดคุยทั้งหมดสามคนจากกลุ่มโคราชมูฟเมนต์ได้แก่ บุ๊ค วรัญญู, เตอร์ มกรพงษ์ และ เปเปอร์ ภูษณิศา โดยพรุ่งนี้ทั้งสามคนจะมีกำหนดเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองนครราชสีมาจากการถูกแจ้งความดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.โรคติดต่อ

โซเชียลมีเดียและประสบการณ์เป็นจุดเปลี่ยนทำให้เริ่มสนใจการเมือง

นักกิจกรรมกลุ่ม ‘โคราชมูฟเมนต์’ เล่าจุดเริ่มต้นในเส้นทางนักกิจกรรมทางการเมืองไว้ตรงกันว่าเริ่มต้นจากประสบการณ์ส่วนตัวและโซเชียลมีเดียที่ได้ให้ข้อมูลใหม่ ๆ เปเปอร์ ซึ่งปัจจุบันอายุเพียง 14 ปีเท่านั้น เล่าเรื่องราวของตนเองว่าโดยพื้นฐานนั้นเป็นคนสนใจประวัติศาสตร์อยู่แล้ว และตนก็เคยลองเข้าไปอ่านและได้เรียนรู้เรื่องเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ จากในทวิตเตอร์ ทำให้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็มีความสนใจในการเมืองและเริ่มเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมือง
ในขณะที่ เตอร์ กล่าวว่าจุดเปลี่ยนของตนเองจากที่ตอนแรกไม่ได้สนใจการเมืองเลยนั้นอยู่ที่การได้มีประสบการณ์เลือกตั้งครั้งแรกและเริ่มเห็นความไม่โปร่งใสของกระบวนการ ส่วนเหตุการณ์ที่ทำให้เริ่มออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองคือการได้รับชมการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกของรัฐบาล และหลังจากนั้นจึงได้เริ่มปราศรัยในการชุมนุมเรื่อยมา
สุดท้าย บุ๊ค เล่าว่าการได้ไปเที่ยวในประเทศแถบสแกนดิเนเวียเป็นจุดหักเหที่สำคัญของตนเอง เพราะทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างประเทศอื่นกับประเทศไทย ที่สแกนดิเนเวีย ผู้สูงอายุสามารถอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียวโดยไม่ต้องพึ่งพาลูกหลานให้มาเลี้ยงดู รัฐจัดหาสวัสดิการรักษาพยาบาลให้อย่างครบถ้วน ด้วยเหตุนี้ตนจึงตั้งใจจะเรียกร้องให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นจริงในประเทศไทยบ้าง

รัฐสวัสดิการและความเท่าเทียมคือความฝัน

บุ๊ค เน้นย้ำว่าความต้องการของเขาก็คือการเห็นรัฐสวัสดิการในประเทศไทย เขายกตัวอย่างยายของตัวเองที่ปัจจุบันอายุ 80 กว่าปีแล้วแต่ยังต้องอาศัยความช่วยเหลือจากลูกหลานอยู่ จากที่เคยมีสวัสดิการของราชการ ก็ต้องเสียไปตั้งแต่สามีเสียชีวิต ดังนั้น ‘บุ๊ค’ จึงต้องการรัฐสวัสดิการที่ช่วยเหลือ โดยสิ่งเหล่านี้นั้นก็ต้องมาพร้อมกับประชาธิปไตยเพราะในอนาคตเอง เขาก็ต้องการเกษียณอายุโดยมีสวัสดิการรองรับเช่นกัน
เตอร์ เห็นด้วยกับเรื่องรัฐสวัสดิการ แต่ในระยะสั้น สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดคือการได้วัยรุ่นของตนเองคืนมา ทุกวันนี้มีหลายคนที่เรียนจบมาแล้วต้องเดินเตะฝุ่น นอนอยู่บ้าน หรือไม่มีงานทำ เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจที่ตกต่ำ ความสุขที่วัยรุ่นพอจะได้ในตอนนี้ก็คือการออกไปใช้ชีวิตข้างนอกบ้าน ดังนั้นอีกประการหนึ่งที่อยากเห็นก็คือการได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ สามารถป้องกันโควิดได้จริง คนจะได้กลับไปใช้ชีวิตอีกครั้ง
ส่วนสิ่งที่ เปเปอร์ ใฝ่ฝันคือสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ประชาชนทุกคนสามารถกำหนดชีวิตของตนเองได้ ยกตัวอย่างประเทศโมลโดวา ซึ่งมีสังคมที่ทุกคนเท่ากัน ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ แม้แต่ครูก็ต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยใครก็ตามที่มาจากการเลือกตั้งแล้วไม่ทำตามเจตจำนงที่ประชาชนต้องการ ก็สามารถโดนถอดถอนได้ 

แรงกดดันมีทั้งทางตรงและทางอ้อม

เปเปอร์ กล่าวว่าตอนนี้ตนต้องดรอปเรียน เนื่องจากออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองทำให้มุมมองที่คนอื่นมองเราเริ่มต่างออกไปและเริ่มรู้สึกกับแรงกดดัน ทำให้ตัดสินใจหยุดพักการศึกษาไว้ก่อน ที่ผ่านมา ไม่รู้สึกว่าตนเองโดนคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง แต่อาจจะเป็นทางอ้อมมากกว่า อาจจะเพราะตัวเองเป็นเด็ก และมีพ่อเป็นข้าราชการด้วยทำให้มีตำรวจโทรศัพท์มาหาพ่อบ้างจนกลายเป็นปัญหาครอบครัว เจ้าหน้าที่นั้นมักจะติดกับดักความอาวุโส เลยทำให้ตนเองมักถูกมองว่าเป็นเด็กและถูกสั่งสอนเสมอ ส่วนที่โรงเรียนครูก็มีความพยายามที่จะพูดคุยด้วยดี ๆ แต่บางครั้งการโดนเรียกไปคุยบ่อยครั้งก็ทำให้การเรียนมีปัญหา โดยครูก็มักจะเริ่มด้วยการชมว่าการกล้าแสดงออกนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ว่าอยากให้แสดงออกในเรื่องดี ๆ มากกว่า
ด้าน เตอร์ ก็กล่าวในลักษณะเดียวกันว่าตำรวจไม่เคยมาหาที่บ้านแต่ต้องเจอปัญหาในครอบครัว โดยตนมักจะถูกแม่ถามเสมอว่าไปทำกิจกรรมทางการเมืองทำไม หรืออย่างเรื่องงานนั้นก็มีปัญหาบ้าง ตนเข้าใจดีว่านักกิจกรรมทางการเมืองในประเทศไทยนั้นหางานค่อนข้างลำบาก ตอนนี้ตนก็โดนคดี พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มาแล้วถึงสามคดี โดยการไปรับทราบข้อกล่าวหาแต่ละครั้งก็ทำให้ต้องหยุดงานและขาดรายได้ และพอที่ทำงานรู้ว่าไปม็อบก็โดนสั่งให้หยุดงานทันทีอีก
บุ๊ค เล่าประสบการณ์ว่าตนเคยโดนญาติที่ทำงานอยู่หน่วยข่าวกรองเคยพยายามซักประวัติตนเองกับญาติอีกคนส่วนเวลาที่จัดกิจกรรมทางการเมืองตนก็มักจะเป็นตำบลกระสุนตก โดนเรียกเข้าไปคุยทุกครั้งก่อนการจัดกิจกรรมโดยมีไปบ้างเป็นครั้งคราวเพราะอยากรู้เหตุผลที่ใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ให้จัดกิจกรรม เคยมีการนำเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมานั่งล้อมวงคุยและยกเรื่องการระบาดของโควิดมาอ้างเพื่อไม่ให้จัดการชุมนุม ล่าสุดเจ้าหน้าที่ทหารของกองทัพภาคที่ 2 ถึงกับยื่นหนังสือให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าทำไมถึงปล่อยให้มีการจัดกิจกรรมได้
ส่วนอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่จำได้คือตนเคยไปสังเกตการณ์ม็อบเสื้อเหลืองกับเพื่อน แล้วโดนคนใส่เสื้อเหลืองสิบกว่าคนวิ่งกรูเข้ามาในร้านกาแฟเพื่อจะมาตบ ตั้งแต่นั้นมาจึงสงสัยว่าทำไมคนเหล่านั้นต้องทำเช่นนั้น ทั้งที่ตนเองไม่เคยคิดจะทำร้ายพวกเขาเลย

ยืนยันสามข้อเรียกร้อง ถึงเวลาเจ้าหน้าที่รัฐยืนข้างประชาชน

ข้อเรียกร้องของนักกิจกรรมเยาวชนภาคอีสานนั้นก็ไม่ได้ต่างจากที่อื่นมากนัก สามนักกิจกรรมจากกลุ่มโคราชมูฟเมนต์กล่าวยืนยันทั้งสามข้อเรียกร้อง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ นายกรัฐมนตรีต้องลาออก และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ของการชุมนุมที่กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ ยังเพิ่มข้อเรียกร้องการกระจายอำนาจให้กับแต่ละจังหวัดด้วย เพราะที่ผ่านมา รัฐไทยที่มีลักษณะรวมศูนย์ส่งผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่ได้มีความเข้าใจในพื้นที่ ดังนั้น ควรจะให้มีการเลือกคนที่มีความเข้าใจเข้ามาบริหารมากกว่า

ทั้งสามคนยังกล่าวอีกว่า เข้าใจว่าข้าราชการถูกระบอบอำนาจครอบงำอยู่ ทำให้มีทางเลือกไม่มากนัก แต่ที่ผ่านมาประชาชนก็ได้ออกมาเรียกร้องอย่างมากมายแล้ว ดังนั้นก็ต้องขอฝากถึงเจ้าหน้าที่รัฐทั้งชั้นผู้น้อย ชั้นกลาง ไปถึงชั้นผู้ใหญ่ ว่าอาจจะถึงเวลาแล้วที่ข้าราชการอาจจะต้องก้าวออกมาแล้วยืนข้างประชาชน หากการเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้จริง ข้าราชการเองก็จะได้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย