เมื่อ “ผู้สังเกตการณ์” ถูกหมายเรียกฐานชุมนุมทางการเมือง เพราะไปบันทึกข้อมูล

31 สิงหาคม 2559 ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น เรียกให้ผู้ต้องหา 6 คน มารับทราบข้อกล่าวหา ฐานชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 จากการจัดเวที “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน” เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2559 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยผู้ต้องหา 2 ใน 6 คนนี้ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรม แต่ไปอยู่ในที่เกิดเหตุเพื่อสังเกตการณ์ในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เราจึงมาทำความรู้จักกับทั้งสองคนเพิ่มเติม

case

 

รู้จัก ดวงทิพย์-นีรนุช ฝ่ายข้อมูลศูนย์ทนายฯ ที่วันนี้ต้องกลายมาเป็นผู้ต้องหา

ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ หรือ ‘มะฟาง’ อายุ 29 ปี ปัจจุบันทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลภาคอีสาน ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เธอเป็นคนอีสานจากจังหวัดกาฬสินธุ์ ทำงานเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนมา 2-3 ปี ก่อนหน้านี้เคยทำงานหลากหลาย ทั้งงานบริษัทเอกชน และทำงานวิจัยประเด็นเกษตรอินทรีย์ แต่ด้วยความสนใจประเด็นสังคมการเมืองอยู่แล้ว เธอจึงถูกชักชวนให้ได้มาทำงานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนภายใต้ยุครัฐบาล คสช. 

นีรนุช เนียมทรัพย์ หรือ ‘น้อง’ อายุ 47 ปี เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลภาคอีสานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนอีกคนหนึ่ง พื้นเพเป็นคนจากจังหวัดลพบุรี แต่มาใช้ชีวิตอยู่จังหวัดมุกดาหาร ตั้งแต่เรียนจบมา นีรนุชก็ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรภาคประชาชน ทั้งในชุมชนแออัดคลองเตยและในภาคอีสานมาต่อเนื่อง หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 เธอได้มีบทบาทในการทำงานเก็บข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชน กับศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) และผันตัวเองไปเป็นเกษตรกรอยู่หลายปี ก่อนจะกลับมารับบทบาทบันทึกข้อมูลต่อในตำแหน่งปัจจุบัน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 หลัง คสช.เข้ายึดอำนาจ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง โดยนอกจากงานด้านกฎหมายที่เป็นภารกิจของทนายความแล้ว ยังมีงานด้านข้อมูลซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบงานข้อมูล 11 คน ประจำอยู่ในกรุงเทพมหานครภาคเหนือและภาคอีสาน ทำหน้าที่สังเกตการณ์และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน การดำเนินคดีทางการเมือง โดยจะเผยแพร่เป็นข่าวหรือบทความทางเว็บไซต์ และสรุปเป็นรายงานนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางแก้ไขต่อไป

ก่อนหน้านี้ ทั้งสองคนต้องติดตามบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคอีสานมาแล้วหลายกรณี เช่น การพิจารณาคดีตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ในกรณีที่ชาวจังหวัดขอนแก่นชุมนุมคัดค้านการย้ายสถานีขนส่งออกไปอยู่นอกเมือง ซึ่งเป็นคดีแรกที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายนี้, สังเกตการณ์การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นกรณีการทำเหมืองแร่โปแตช ที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งไปจัดในค่ายทหารและสร้างความกดดันให้ชาวบ้านที่จะแสดงความคิดเห็นคัดค้านการเปิดสัมปทานเหมืองแร่, การจับกุมและดำเนินคดีกับผู้ต้องหา 26 คน ในคดี “ขอนแก่นโมเดล” ด้วยข้อหาครอบครองอาวุธสงครามและชุมนุมกันเกิน 5 คน ที่ศาลทหารขอนแก่น, สังเกตการณ์การพิจารณาคดีที่ชาวบ้าน 33 คน จากจังหวัดนครพนมถูกฟ้องข้อหาบุกรุกพื้นที่ส่วนที่จะสร้างนิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น 

ดวงทิพย์และนีรนุช ทั้งสองคนทำงานในตำแหน่งฝ่ายข้อมูลกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมาประมาณ 2 ปี โดยเน้นเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นในภาคอีสานในฐานะผู้สังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งสองคนได้รับหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหา ฐานชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ร่วมกับนักกิจกรรมอีกหลายคนที่เป็นผู้จัดกิจกรรม

 

เมื่อมหาลัยสั่งยกเลิกกิจกรรม ทหาร-ตำรวจเข้ากดดัน จึงต้องมีนักสังเกตการณ์อยู่ร่วมด้วย

ตามที่กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement – NDM) ภาคอีสาน ร่วมกับกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ (New Generation Citizen – NGC) วางแผนจัดงาน “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน” ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ใกล้ถึงวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยนักศึกษาผู้จัดงานทำหนังสือขอใช้สถานที่บริเวณอาคารจตุรมุข คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนเเก่น เรียบร้อยแล้ว มีการเซ็นอนุญาตให้จัดกิจกรรมและจ่ายค่ามัดจำการใช้สถานที่แล้ว

ในคืนก่อนวันจัดงาน ระหว่างที่กลุ่มผู้จัดงานเข้าเตรียมสถานที่และเวที มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ของมหาวิทยาลัย เข้ามาแจ้งว่า ทางคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นบอกให้ผู้จัดยุติการจัดกิจกรรม เนื่องจากกิจกรรมมีความเกี่ยวข้องกับการเมือง อีกทั้งมีนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ประมาณ 50 คน มานั่งกดดันบริเวณใกล้ที่จัดงาน และขับรถวนหลายรอบ โดยขณะนั้นมีทั้งทหารและตำรวจ ร่วมสังเกตการณ์อยู่ด้วย 

นีรนุชซึ่งกำลังกินข้าวอยู่ได้ทราบข่าวจากเพื่อนนักข่าวที่บอกต่อกันมา จึงรีบเข้าไปดูสถานการณ์ที่คณะเกษตรศาสตร์ เพราะเห็นว่า เจ้าหน้าที่เข้ามาปฏิบัติการในช่วงเวลากลางคืน เกรงว่าอาจเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติขึ้นโดยที่ไม่มีใครรับรู้

ช่วงกลางคืนของวันที่ 30 กรกฎาคม 2559 รองคณะบดีคณะเกษตรศาสตร์เข้ามาแจ้งกับผู้จัดงานด้วยตัวเองว่าไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ และมีการตัดน้ำตัดไฟบริเวณอาคารที่จะใช้จัดงาน จนกระทั่งช่วงดึกมีทหารนอกเครื่องแบบเข้ามาแจ้งว่าไม่อนุญาตให้จัดงานอีกครั้ง และร้านโต๊ะจีนที่กลุ่มนักศึกษาติดต่อเช่าเก้าอี้มาใช้จัดงานก็ติดต่อมาขอคืนเก้าอี้ เนื่องจากมีตำรวจติดต่อไปกดดัน โดยนีรนุชเข้าไปแสดงตัวเพื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย และอยู่ในบริเวณที่จัดกิจกรรมเพื่อทำหน้าที่สังเกตการณ์ขั้นตอนและวิธีการข่มขู่ปิดกั้นกิจกรรมตลอดทั้งคืน 

นีรนุชเชื่อว่า คืนนั้นมีนักศึกษาผู้จัดกิจกรรมเตรียมงานอยู่ประมาณ 5-6 คน ขณะที่มีทั้งเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย ทหาร และตำรวจ อยู่ในบริเวณดังกล่าวจำนวนมาก การที่มีผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และมีนักข่าวอีกจำนวนหนึ่งอยู่ในสถานที่ดังกล่าวด้วย ช่วยให้คืนนั้นผ่านไปโดยไม่มีเหตุการณ์ความตึงเครียดหรือความรุนแรง

 

บทบาทของนักสังเกตการณ์ในวันที่กิจกรรมถูกบีบทุกทางให้ยุติ

จนกระทั่งเช้าวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 วันที่มีกำหนดจัดกิจกรรม ผู้จัดงานยืนยันเดินหน้าจัดกิจกรรมต่อไปท่ามกลางการปิดกั้นทุกวิถีทางโดยมีผู้มาเข้าร่วมงานจำนวนหนึ่ง แม้ว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นจะตัดน้ำ-ไฟบริเวณที่จัดงาน เก้าอี้และเครื่องเสียงถูกร้านให้เช่าเอาคืนเพราะตำรวจกดดัน และในช่วงเช้าตำรวจยังเข้ารื้อฉากเวทีและยึดเอกสารที่ผู้จัดงานเตรียมไว้ด้วย 

ในช่วงสาย ขณะที่นีรนุชกลับไปพักผ่อนหลังอยู่ในพื้นที่มาตลอดทั้งคืน ดวงทิพย์จึงเดินทางเข้ามาสังเกตการณ์บริเวณพื้นที่จัดกิจกรรมแทน ดวงทิพย์เล่าว่า เธอเดินทางมาถึงในเวลาประมาณ 10:00 น. เพื่อเข้าไปดูว่าจะมีการใช้กำลังบังคับให้ปิดเวทีหรือไม่ หรือเจ้าหน้าที่จะใช้คำพูดข่มขู่คุกคามหรือไม่ จะมีการจับกุมตัวบุคคลไปที่ไหนหรือไม่ แต่เมื่อไปถึงเธอสังเกตเห็นว่า สถานการณ์คลี่คลายความตึงเครียดแล้ว เธอจึงทำหน้าที่เพียงพูดคุยกับผู้มาร่วมกิจกรรม และถ่ายรูปบรรยากาศโดยทั่วไป

ดวงทิพย์เล่าว่า วันนั้นเข้าไปสังเกตการณ์เหมือนที่ทำเป็นปกติ โดยที่ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรม หรือแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่คนใดเลย บรรยากาศที่สังเกตเห็นในวันนั้น คือ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่บริเวณที่จัดงานเยอะมาก และจะคอยเข้ามากดดันคนจัดงานเรื่อยๆ โดยให้อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์เป็นคนออกหน้าคุยกับคนจัดงาน เธอจึงเดินดูรอบๆ ว่าเจ้าหน้าที่จะดำเนินการอะไรหรือไม่ แต่ก็ไม่เห็นว่าเจ้าหน้าที่จะใช้กำลังหรือใช้ความรุนแรงอะไร

เมื่อกิจกรรมดำเนินไป นีรนุชก็กลับมาร่วมสังเกตการณ์ต่อในช่วงบ่าย จนกระทั่งเวลาประมาณ 16.30 น. เมื่อตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น นำประกาศเข้ามาติดในบริเวณที่จัดกิจกรรมสั่งให้เลิกการชุมนุมภายในเวลา 16.30 น. โดยอ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ นีรนุชซึ่งสังเกตการณ์อยู่จึงได้อธิบายกับกลุ่มผู้จัดกิจกรรมว่า ขั้นตอนตามกฎหมายหลังจากการติดประกาศแจ้งแล้ว ตำรวจก็ยังใช้กำลังเข้าบังคับทันทีไม่ได้ แต่ตำรวจจะใช้กำลังบังคับให้ออกจากสถานที่จัดกิจกรรมได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลก่อนแล้วเท่านั้น นอกจากนี้เธอยังช่วยอธิบายว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะที่ตำรวจอ้างถึงนั้นมีบทยกเว้นอยู่ว่า ไม่ใช้บังคับกับการชุมนุมในสถานศึกษา 

“เราเข้าไปสังเกตการณ์ เราก็พยายามโต้แย้งกระบวนการของตำรวจ-ทหาร ให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย หรือไม่ให้มีการใช้กำลังกับผู้จัดกิจกรรมหรือชาวบ้าน เท่าที่เราจะทำได้ เราก็พยายามจะสื่อสารว่า เขามีสิทธิอะไรบ้าง” นีรนุชเล่าถึงบทบาทของตัวเอง

 

เป็นคนสังเกตการณ์ ทำไมถูกตั้งข้อหาไปด้วย

ดวงทิพย์เล่าว่า ก่อนหน้านี้เธอเคยไปสังเกตการณ์กิจกรรม เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ที่นักศึกษากลุ่มดาวดินไปชูป้ายต้านรัฐประหารแล้วถูกจับ ในวันนั้นเธออยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุจึงถูกจับไปด้วย แต่เมื่อเธอแสดงตัวให้เจ้าหน้าที่ทราบตลอดว่า ทำงานข้อมูลให้กับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อเจ้าหน้าที่รู้จักในฐานะที่มาทำงานเขาก็ปล่อยตัวพร้อมบันทึกประวัติไว้ และก็ยังมีอีกหลายครั้งที่เธอลงพื้นที่เก็บข้อมูลแล้วมีเจ้าหน้าที่เข้ามาซักถาม ซึ่งเธอก็อธิบายบทบาทหน้าที่ของตัวเองเช่นนี้มาตลอด ที่ผ่านมาเธอได้แสดงตัวอย่างเปิดเผยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้รู้จักตลอดมา

ดวงทิพย์มองว่า ในวันจัดกิจกรรมวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 ตอนที่เธอไปอยู่หน้างานไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นแล้ว เจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจที่มาในวันเกิดเหตุก็รู้จักเธออยู่แล้วว่าเป็นใคร และมาทำอะไร ทหารคนหนึ่งยังมาทักทายอยู่เลยว่าจะเลี้ยงกาแฟ จึงเป็นไปไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่จะเข้าใจผิดเกี่ยวกับบทบาทของเธอในวันนั้น เพราะฉะนั้นเธอจึงเห็นว่า การที่เธอถูกตั้งข้อหาร่วมกับผู้จัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการจงใจกลั่นแกล้งคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน 

ส่วนสาเหตุที่ถูกตั้งข้อหาในครั้งนี้ ดวงทิพย์คิดว่า เป็นเพราะพวกเธอถูกเจ้าหน้าที่จับตาอย่างใกล้ชิดมาตลอดอยู่แล้ว และเหตุการณ์ล่าสุดที่อาจจะเป็นเหตุให้เกิดความไม่พอใจระหว่างกัน คือ ตอนที่เธอไปสังเกตการณ์การจัดเวทีเสวนาสาธารณะในหัวข้อ “สิทธิเสรีภาพการแสดงออกในอีสาน” ที่โรงแรมขอนแก่นโฮเต็ล ซึ่งเธอบังเอิญไปถ่ายคลิปตอนที่ทหารพูดขู่คนจัดงานว่า จะดำเนินคดีกับคนที่พูดเรื่องการเมืองและเรื่องมาตรา 112 และนำคลิปไปเผยแพร่ต่อ ซึ่งภายหลังทหารคนดังกล่าวออกมาปฏิเสธว่าไม่เคยพูด และรู้สึกไม่พอใจมากที่ถูกถ่ายคลิปจังหวะนั้นไว้