ศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด ป.ป.ช.ต้องเปิดเผยข้อมูลคดี นาฬิกายืมเพื่อนของ พล.อ.ประวิตร เพื่อความโปร่งใส

16 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00 น. ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องเปิดเผยรายงานการตรวจสอบคดีนาฬิกาหรูของพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตามที่มีผู้ร้องขอ

เหตุของคดีนี้สืบเนื่องมาจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ในคดีหมายเลขดำที่ 2557/2562 คดีหมายเลขแดงที่ 1327/2564 ระหว่างพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโสสำนักข่าวออนไลน์ The MATTER (ผู้ฟ้องคดี) กับสำนักงานป.ป.ช. ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ในมูลเหตุที่ป.ป.ช. ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคดีนาฬิกาหรูของพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ต่อมา ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ป.ป.ช. ต้องเปิดเผยเอกสารสองรายการให้กับ The MATTER (โดยปกปิดข้อมูลที่มีลักษณะเฉพาะของบุคคล)  ได้แก่

  1. รายงานสรุปผลการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานซึ่งคณะทำงานรวบรวมเสนอต่อที่ประชุม ป.ป.ช. ในวันที่มีมติเกี่ยวกับคดีนี้ (27 ธันวาคม 2561) รวมถึงเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  2.  คำชี้แจงของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ยื่นชี้แจงต่อ ป.ป.ช. ในคดีนี้ทั้งหมดสี่ครั้ง

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ (16 มิถุนายน 2566) ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ ป.ป.ช. กระทำตามหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าว 

ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลโดยสรุปว่า ข้อมูลที่ผู้ร้องขอ ขอให้ป.ป.ช. เปิดเผยเป็นข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของป.ป.ช. และมีที่มามาจากการปฏิบัติหน้าที่ของป.ป.ช. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ เป็นข้อมูลข่าวสารราชการตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) ทั้งนี้ ข้อมูลที่ผู้ร้องขอขอให้เปิดเผยไม่ได้มีลักษณะจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรืออาจทำให้การบังคับใช้กฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเสื่อมประสิทธิภาพหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของ ป.ป.ช. อีกทั้งข้อมูลดังกล่าวได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วเป็นคนละมูลกับกับกรณีที่อ้างมา การเปิดเผยข้อมูลจึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของป.ป.ช. รวมถึงข้อกล่าวอ้างอื่นๆ ที่ป.ป.ช. ยกอ้างขึ้นอุทธรณ์ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน  

นอกจากนี้ ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลประกอบเพิ่มเติมอีกว่าการเปิดเผยข้อมูลจะแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสของป.ป.ช. อันเป็นการคำนึงถึงหลักประโยชน์สาธารณะและประโยชน์เอกชนที่เกี่ยวข้อง