#แก้รัฐธรรมนูญ season 6 เพื่อไทยเสนอปิดสวิตช์ ส.ว. เลือกนายกก่อนเลือกตั้ง 66

อำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นปมใหญ่ที่ขัดขวางการกลับไปสู่ประชาธิปไตยของไทย และหลังการเลือกตั้ง 2566 สภาแต่งตั้งก็จะยังมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้งก่อนที่จะครบระยะเวลาห้าปีตามบทเฉพาะกาล สรุปรวมแล้ว ส.ว. อาจจะมีส่วนกำหนดโฉมหน้าของผู้ที่จะเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารยาวนานถึงแปดปี
แต่ก่อนที่สภาจะหมดวาระในเดือนมีนาคม 2566 ก็ยังมีโอกาสอีกครั้งในการ “ปิดสวิชต์ส.ว.” โดยรัฐสภามีการบรรจุวาระที่จะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยที่เสนอให้ตัดอำนาจ ส.ว. แต่งตั้งเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งนับเป็นครั้งที่เจ็ดแล้วที่รัฐสภาจะลงมติปิดสวิชต์ ส.ว. แม้ว่าหกครั้งก่อนจะจบลงด้วยการที่ข้อเสนอไม่ได้รับความเห็นชอบเนื่องจากได้เสียง ส.ว. ถึงหนึ่งในสามตามหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พุทธศักราช … ของพรรคเพื่อไทยเสนอให้แก้ไขในสองประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องกับที่มานายกรัฐมนตรี ข้อแรกคือการแก้ไขมาตรา 159 เพื่อเปิดทางให้ ส.ส. ที่สังกัดพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงอย่างน้อยร้อยละห้าของสภาผู้แทนราษฎร หรือ 25 ที่นั่ง สามารถได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ โดยเป็นชื่อที่เพิ่มมาจากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีสามรายชื่อที่พรรคการเมืองต้องส่งก่อนการเลือกตั้งตามมาตรา 88 หมายความว่า พรรคการเมืองจะมีตัวเลือกมากขึ้นในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีโดยไม่จำกัดอยู่เพียงสามรายชื่อแล้ว อย่างไรก็ตามผู้ถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้ถูกกำหนดว่าต้องเป็น ส.ส. อยู่เช่นเดิม
ข้อที่สองคือการยกเลิกมาตรา 272 ซึ่งให้อำนาจ ส.ว. แต่งตั้งร่วมลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งด้วยในระยะเวลาห้าปีแรก รวมถึงยกเลิกช่องทางให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกในกรณีที่รัฐสภาไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากแคนดิเดตของพรรคการเมืองได้ โดยผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญระบุเหตุผลไว้ว่า อำนาจเช่นนี้ของ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน “ขัดต่อหลักการและประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” และยังกล่าวถึงการปฏิรูปประเทศที่สิ้นสุดระยะเวลาห้าปีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไปแล้ว จึงไม่ควรให้ ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีอีก
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการเสนอให้ปิดสวิชต์ ส.ว. ที่ผ่านมา มีข้อเสนอมากถึงหกครั้งจากทั้งพรรคฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาล และภาคประชาชน ตั้งแต่เสนอให้แก้ไขเป็น “แพ็คคู่” คือให้แคนดิเดตนายกมาจาก ส.ส. ได้และตัดมาตรา 272 ออกไปทั้งหมด ไปจนถึงข้อเสนอ “ขั้นต่ำ” ตัดวรรคแรกของมาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ยังเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ แต่ก็ยังไม่เคยได้รับการเห็นชอบเลย
อุปสรรคที่สำคัญที่สุดคือเงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้นอกจากจะต้องได้เสียงกึ่งหนึ่งแล้วยังต้องได้เสียง ส.ว. อย่างน้อยหนึ่งในสามหรือ 84 เสียงด้วย ซึ่งตลอดระยะเวลาเกือบสี่ปีที่ผ่านมา ส.ว. ไม่เคยยกมือตัดอำนาจตัวเองถึงเกณฑ์ขั้นต่ำนี้ แม้ว่าจะได้รับคะแนนเสียงจาก ส.ส. อย่างท่วมท้นก็ตาม ร่างที่ได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว. เยอะที่สุดคือร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ลงมติกันในเดือนพฤศจิกายน 2563 แต่ก็ยังได้เพียงแค่ 56 เสียงเท่านั้น
หากพิจารณาอายุของสภาที่เหลือน้อยเต็มที ข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ก็อาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะปิดสวิชต์ ส.ว. และหากทำสำเร็จ หลังการเลือกตั้งครั้งหน้าก็จะไม่สภาแต่งตั้งร่วมกำหนดอนาคตประเทศอีกต่อไป
You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น