ส.ว. ขอเวลาศึกษาอีก 45 วัน ยังไม่เคาะส่งครม. ทำประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

ย้อนกลับไปเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติให้ความเห็นชอบญัตติที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ฝ่ายค้าน เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการตามที่รัฐสภามีมติในการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนต่อว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2565 (พ.ร.บ.ประชามติ) โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบให้มีการทำประชามติ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 324 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 7 เสียง หลังจากสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบญัตติดังกล่าวแล้ว ก็ต้องส่งไม้ต่อมาให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ หากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ จึงจะเข้าสู่กระบวนการให้ครม. ดำเนินการประชามติ

เมื่อถึงคราวประชุมวุฒิสภา 21 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมวุฒิสภาก็ยังไม่ได้ลงมติว่าจะเห็นชอบกับการให้จัดทำประชามติ แต่กลับตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อพิจารณาศึกษาญัตติดังกล่าว 30 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 20 ธันวาคม 2565 

อย่างไรก็ดี วุฒิสภาก็ยังไม่ได้ลงมติว่าจะเห็นชอบให้ส่งเรื่องต่อไปยังครม. เพื่อจัดทำประชามติหรือไม่ เพราะกมธ. ชุดดังกล่าว “ขอเวลา” อีก 45 วัน เพื่อพิจารณาญัตติดังกล่าวอีก โดยให้เหตุผลว่า เรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จึงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาจำนวนมากและต้องรับฟังความคิดเห็นข้อมูลจากหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนรอบด้าน 

สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธานกมธ. ชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภาในการประชุมวันนี้ (20 ธันวาคม 2565) ว่า ญัตติดังกล่าว กระทบหลายภาคส่วน เพราะจะให้ประชาชนออกเสียงประชามติว่าจะเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 และไปร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 

“เป็นการเสนอญัตติที่เป็นกระดาษเพียงสองแผ่น ไม่มีหลักการเหตุผลสาระที่มีรายละเอียดมากเพียงพอต่อประชาชน ที่จะทำให้วุฒิสภาตัดสินใจได้ว่าจะส่งเรื่องนี้ไปให้คณะรัฐมนตรีพร้อมกับให้ประชาชนลงมติได้อย่างไร” สมชายกล่าว

สมชายชี้แจงต่อไปว่า กมธ. จึงได้เชิญผู้เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง ประกอบด้วย ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส. พรรคก้าวไกล และจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ผู้เสนอญัตติเรื่องนี้ เข้ามาพูดคุยกับกมธ. ซึ่งได้ความว่าเป็นการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ไม่ใช่การแก้รัฐธรรมนูญบางมาตรา สามารถร่างได้ใหม่ทั้งหมดทุกมาตราตามที่สสร. จะร่างขึ้น 

นอกจากนี้ กมธ.ยังเชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้ามาชี้แจง พบว่ากรณีของการเลือกตั้ง ใช้งบประมาณราวสี่พันล้าน การจัดทำประชามติ จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเท่า เท่ากับว่าจะใช้เงินอีกประมาณสี่พันล้าน การเลือกตั้งและการจัดประชามติไม่สามารถทำไปพร้อมกันได้เนื่องด้วยข้อกฎหมาย 

กมธ. เห็นว่า เรื่องการทำประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เป็นเรื่องใหญ่และเรื่องสำคัญของประเทศชาติ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด หากจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยไม่มีกรอบไม่มีหลักประกัน จะเกิดปัญหาขึ้น และการออกเสียงประชามติเรื่องนี้ก็เป็นครั้งแรกของประเทศ จึงจะเชิญผู้แทนที่เกี่ยวข้องมาอย่างน้อยสามกลุ่ม ประกอบด้วย ประธานกมธ. พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติ ผู้แทนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้มอบหมายให้ เจษฎ์ โทณะวณิก เป็นผู้ชี้แจง และผู้แทนสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 

สมชายชี้แจงต่อไปว่า ยังมีรายละเอียดที่กมธ.ต้องพิจารณาศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น ข้อพิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดระบอบการปกครองของรัฐ ข้อพิจารณาเกี่ยวกับบทบัญญัติพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่ได้อยู่แค่ในหมวด 1 และหมวด 2 แต่ยังมีอีก 38 มาตราที่อยู่ในหมวดอื่นๆ อีก 

ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ กมธ. จึงขอขยายเวลาพิจารณาออกไปอีก 45 วัน ขณะที่เฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. โต้แย้งว่าไม่ควรขยายเวลานานถึง 45 วัน ควรไม่เกิน 30 วันและไปเร่งพิจารณา ไม่เช่นนั้นประชาชนจะมองว่าส.ว. ยื้อเวลา ด้านศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ซึ่งนั่งเป็นประธานในที่ประชุม กล่าวว่า “เนื่องจากนับแต่วันนี้เป็นต้นไปวันหยุดมันเยอะนะครับท่านเฉลิมชัย 30 วันท่านให้ได้ ก็ขออีก 15 วันเป็นไง จะได้ไม่ต้องลงมติครับท่าน เพื่อความสามัคคีปรองดอง นะครับ 30 วันท่านให้ได้ ก็ขออีก 15 วัน ผมขออีก 15 วันละกัน” ฝั่งเฉลิมชัยตอบกลับว่า เห็นแก่ท่านประธานคนที่สอง ก็ไม่ขัดข้อง

หลังจากนั้น ศุภชัย สมเจริญ จึงถามสมาชิกในที่ประชุมว่ามีผู้ใดคัดค้านหรือไม่ เมื่อไม่มีส.ว. คนใดโต้แย้งอีก ศุภชัยก็สรุปว่าที่ประชุมวุฒิสภามีมติขยายเวลาการพิจารณาญัตติขอให้สภามีมติส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียง ประชามติให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ ออกไปอีก 45 วัน ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่ามีช่วงเวลาให้ส.ว. มีการโหวตลงมติด้วยวิธีเสียบบัตรหรือวิธีอื่นแต่อย่างใด

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น