จากกระแสการกลับมาของ “ม็อบธงชาติ” ที่เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่ง รวมถึงเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลทันที ทำให้ภาพในวันที่เคยมีการชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรีนามสกุล “ชินวัตร” สองคนก่อนหน้านี้ย้อนกลับมา ที่สำคัญคือ เรายังได้เห็น “คนหน้าเดิมๆ” ออกมาร่วมเคลื่อนไหวอีกครั้ง อาทิ สนธิ ลิ้มทองกุล, สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม, อัญชะลี ไพรีรัก, ประพันธ์ คูณมี เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน สภาผู้แทนราษฎรก็กำลังมีกำหนดจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมคดีการเมืองทั้ง 4 ฉบับ เมื่อเปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 หลังประกาศเลื่อนกฎหมาย “คาสิโน” ออกไป โดยร่างกฎหมายที่จะถูกนำกลับมาพิจารณาประกอบไปด้วย ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน จากเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม, ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ของพรรคก้าวไกล ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุขของพรรครวมไทยสร้างชาติ และ ของพรรคครูไทยเพื่อประชาชน (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ เปรียบเทียบร่างกฎหมายนิรโทษกรรม-สร้างเสริมสังคมสันติสุข 4 ฉบับ)
ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข เสนอโดยสส. พรรครวมไทยสร้างชาติ และกำลังจะกลายเป็น “ร่างหลัก” เนื่องจากคณะรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทยไม่ได้นำเสนอร่างฉบับอื่นเข้ามาด้วย จึงเป็นร่างฉบับเดียวจากพรรคร่วมรัฐบาลที่มีอยู่ ซึ่งเนื้อหาของร่างนี้ต้องการจะยุติการดำเนินคดีทางการเมืองมี ‘กรอบเวลา’ ย้อนกลับไปไกลที่สุด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ถึง พ.ศ. 2565 โดยยกเว้น คดีมาตรา 112, คดีทุจริต, และคดีฆ่าคนตายหรือทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ชีวิต
กรอบระยะเวลานิรโทษกรรมของร่างทั้งสี่ฉบับ
ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมทั้งสี่ฉบับกำหนดกรอบระยะเวลาไว้แตกต่างกัน ดังนี้
ช่วงเวลาที่เริ่มต้นนิรโทษกรรม | ช่วงเวลาที่สุดท้ายที่จะนิรโทษกรรม | |
ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน (เสนอโดยประชาชน | 19 กันยายน 2549 | วันที่พ.ร.บ.ประกาศใช้ |
ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง (เสนอโดยพรรคก้าวไกล) | 11 กุมภาพันธ์ 2549 | วันที่พ.ร.บ.ประกาศใช้ |
ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข (เสนอโดยพรรคครูไทยเพื่อประชาชน) | 19 กันยายน 2549 | 30 พฤศจิกายน 2565 |
ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข (เสนอโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ) | พ.ศ. 2548 | พ.ศ. 2565 |
ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เสนอให้เริ่มต้นการนับกรอบเวลาความขัดแย้งจากวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นวันที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ทำรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ด้านร่างฉบับพรรคก้าวไกลนับย้อนกลับไปตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งเป็นช่วงที่การชุมนุมต่อต้านทักษิณ ชินวัตร เริ่มยกระดับเป็นการชุมนุมใหญ่ในนาม ‘พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย’ ในส่วนของร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุขที่เสนอโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ กำหนดให้การนิรโทษกรรมเริ่มต้นตั้งแต่ ปี 2548 ซึ่งเป็นช่วงที่พรรคไทยรักไทยเพิ่งชนะเลือกตั้งและเริ่มมีการชุมนุมกดดันให้ทักษิณ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีขายหุ้นกลุ่มชินคอร์ป
ส่วนกรอบเวลาสิ้นสุดนั้น ร่างของภาคประชาชนและพรรคก้าวไกลครอบคลุมไปถึงวันที่กฎหมายประกาศใช้ ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่ากฎหมายนี้จะได้ประกาศใช้จริงเมื่อใด แต่ร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติ จะสิ้นสุดเพียงแค่ ปี 2565 เท่านั้น ทำให้คดีการเมืองที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่จะไม่ได้รับการนิรโทษกรรมไปด้วย ในขณะที่คดีความผิดที่เกิดขึ้นก่อนหน้า โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการชุมนุมใหญ่ในอดีตนับตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ อาจเข้าเงื่อนไขในการนิรโทษกรรมได้ทั้งหมด
จากการตีกรอบเวลาทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า ข้อเสนอของพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น “ใส่ใจ” การชุมนุมในอดีต ย้อนไปถึงยุคสมัยของพันธมิตรฯ และก่อนหน้านั้น แต่ “ไม่สนใจ” การชุมนุมในยุคหลังโดยเฉพาะการแสดงออกของประชาชนที่อาจเกิดขึ้นต่อรัฐบาลที่พวกเขาสังกัดอยู่ในตอนนี้
จึงอยากชวนดูรายชื่อแกนนำ ‘ตัวตึง’ จากยุคสมัยการชุมนุมของพันธมิตรฯ และกปปส. ที่ใช้แนวทางการชุมนุมแบบ “ปักหลักยืดเยื้อ” เพื่อรบกวนการใช้ชีวิตอันปกติสุขของประชาชนทั่วไป ขัดขวางการทำงานของรัฐบาล และมีแววว่าจะได้รับการนิรโทษกรรม หากร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ของพรรครวมไทยสร้างชาติผ่านการพิจารณาได้สำเร็จ

กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ “กลุ่มเสื้อเหลือง”
ปลายปี พ.ศ. 2548 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พันธมิตรฯ) เป็นกลุ่มคนที่ออกมาขับไล่รัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร ซึ่งยุติบทบาทลงภายหลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) รัฐประหารยึดอำนาจอดีตนายกฯ ทักษิณ ในวันที่ 19 กันยายน 2549 แต่ต่อมาในเดือน กันยายน 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศการชุมนุมใหญ่อย่างต่อเนื่อง เพื่อขับไล่รัฐบาลของพรรคพลังประชาชน มีการเคลื่อนขบวนแบบดาวกระจาย เข้าปิดล้อมรัฐสภาและทำเนียบรัฐบาล บุกยึดสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) รวมถึงการเข้ายึดพื้นที่สนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชน
ตัวอย่างคดีความจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ
ในช่วงเวลาที่กลุ่มพันธมิตรฯเคลื่อนไหว มีผู้ถูกดำเนินคดีประมาณ 200 คน โดยส่วนใหญ่เป็นข้อหาจากการชุมนุม เช่น คดีกบฏและก่อการร้ายจากเหตุการณ์ปิดสนามบิน คดีบุกรุกสถานที่ราชการจากการยึดทำเนียบรัฐบาล คดียุยงปลุกปั่นจากการปิดล้อมรัฐสภา คดีอั้งยี่-ซ่องโจร, บุกรุก และทำให้เสียทรัพย์จากการบุกยึดสถานีโทรทัศน์ NBT
คดีสำคัญและรายชื่อแกนนำที่ถูกดำเนินคดีในช่วงการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ อาทิ
คดีกลุ่มพันธมิตรฯบุกทำเนียบรัฐบาล ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกโดยกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ผู้ที่ถูกดำเนินคดีประกอบด้วย
- พล.ต.จำลอง ศรีเมือง
- สนธิ ลิ้มทองกุล
- พิภพ ธงไชย
- สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์
- สมศักดิ์ โกศัยสุข
- สุริยะใส กตะศิลา
ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกแกนนำทั้ง 6 คน คนละ 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
คดีพันธมิตรปิดสนามบิน ในความผิดฐานเป็นกบฏ-ก่อการร้ายฯ และ บุกรุกสถานที่ราชการและฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้ที่ถูกดำเนินคดีประกอบด้วย
- พล.ต. จำลอง ศรีเมือง
- สนธิ ลิ้มทองกุล
- พิภพ ธงไชย
- สมศักดิ์ โกศัยสุข
- สุริยะใส กตะศิลา
- ศิริชัย ไม้งาม
- สำราญ รอดเพชร
- มาลีรัตน์ แก้วก่า
- สาวิทย์ แก้วหวาน
- สันธนะ ประยูรรัตน
- ชนะ ผาสุกสกุล
- อมร อมรรัตนานนท์ หรือรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี
- บริษัท เอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด
ศาลอาญาพิพากษาปรับแกนนำและแนวร่วม 13 คน คนละ 20,000 บาท ในข้อหาบุกรุกสถานที่ราชการและฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พร้อมยกฟ้องจำเลยทั้งหมดในข้อหากบฏ ก่อการร้าย และข้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง
นอกเหนือจากนั้น 25 มีนาคม 2554 ศาลแพ่งยังมีคำพิพากษาให้แกนนำทั้ง 13 คนมีความผิดในข้อหาละเมิดกรณีนำกลุ่มผู้ชุมนุมปิดสนามบินสุวรรณภูมิ และ ดอนเมือง ปี 2551 พร้อมให้ชดใช้ความเสียหายจำนวนกว่า 522 ล้านบาท ซึ่งจำเลยไม่ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวจึงถูกกรมบังคับคดีอายัดทรัพย์สิน
คดีชุมนุม “ดาวกระจาย” ขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ในความผิดฐานมั่วสุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามมาตรา 66 ผู้ที่ถูกดำเนินคดีประกอบด้วย
- พล.ต.จำลอง ศรีเมือง
- สนธิ ลิ้มทองกุล
- พิภพ ธงไชย
- สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์
- สมศักดิ์ โกศัยสุข
- สุริยะใส กตะศิลา
- ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์
- อมร อมรรัตนานนท์ หรือรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี
- เทิดภูมิ ใจดี
31 สิงหาคม 2564 ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, นายอมร อมรรัตนานนท์ และนายเทิดภูมิ ใจดี คนละ 1 ปี ส่วนแกนนำอีก 6 คนที่เหลือในคดีนี้ศาลฎีกายกฟ้องเนื่องจากเป็นการฟ้องจำเลยซ้ำกับคดี พธม. บุกรุกทำเนียบรัฐบาล
คดีบุกยึดสถานีโทรทัศน์ NBT ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุก มั่วสุม สร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง อั้งยี่ซ่องโจรฯ ผู้ที่ถูกดำเนินคดีประกอบด้วย
- สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์
- อัญชะลี ไพรีรัก
- ภูวดล ทรงประเสริฐ
- ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที
- ชิติพัทธ์ ลิ้มทองกุล
- ธเนศร์ คำชุม กับพวกรวม 85 คน
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ จำคุก นายธเนศร์ คำชุม กับพวกรวม 85 คนในข้อหาบุกรุก มั่วสุม และทำให้เสียทรัพย์ และยกฟ้องในข้อหาอั้งยี่ซ่องโจรฯ
ในส่วนของแกนนำทั้ง 5 คนศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำคุก นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ 2 ปี และจำคุก นางอัญชะลี ไพรีรัก, นายภูวดล ทรงประเสริฐ, นายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที, นายชิติพัทธ์ ลิ้มทองกุล คนละ 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา

กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)
กลุ่ม กปปส. ก่อตั้งขึ้นในช่วงปลายปี พ.ศ. 2556 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อขับไล่รัฐบาลของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และปฏิรูปประเทศไทยก่อนการเลือกตั้ง โดยมีแกนนำหลักคือ สุเทพ เทือกสุบรรณ และกลุ่มอดีตสส. ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ลาออกจากตำแหน่งมาเพื่อนำการชุมนุม การชุมนุมของ กปปส. มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องและยืดเยื้อหลายเดือน มีการปิดถนนสายหลักในกรุงเทพฯ ใช้ชื่อเรียกกิจกรรมตอนนั้นว่า Shut Down Bangkok และบุกยึดสถานที่ราชการสำคัญหลายแห่ง จนนำไปสู่การยุบสภา จากนั้นมีการชุมนุมเพื่อขัดขวางไม่ให้การเลือกตั้งดำเนินไปได้ตามปกติ และตามมาด้วยการทำรัฐประหารโดย คสช. ในปี 2557
ตัวอย่างคดีความจากการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.
จากการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ในช่วงปี พ.ศ. 2556-2557 มีแกนนำและผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีประมาณ 221 คน โดยส่วนใหญ่เป็นคดีจากการชุมนุมในข้อหากบฏ, ก่อการร้าย, ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116), บุกรุกสถานที่ราชการ, ขัดขวางการเลือกตั้ง และความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
คดีสำคัญและรายชื่อแกนนำที่ถูกดำเนินคดีในช่วงการเคลื่อนไหวของกลุ่มกปปส. เช่น
คดีกบฏและก่อการร้าย คดีหลักของการชุมนุมยุคนี้ในฐานความผิดร่วมกันยุยงให้เกิดการร่วมกันหยุดงานเพื่อบังคับรัฐบาล, ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาอันมิใช่ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ, ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยผู้ใดผู้หนึ่งมีอาวุธเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก, ร่วมกันบุกรุกสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่น, ร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น, ร่วมกันกระทำการใดโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิได้ ผู้ที่ถูกดำเนินคดีประกอบด้วย
- สุเทพ เทือกสุบรรณ
- ชุมพล จุลใส
- พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์
- อิสสระ สมชัย
- ถาวร เสนเนียม
- ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ
- สมศักดิ์ โกศัยสุข
- สุวิทย์ ทองประเสริฐ (พุทธะอิสระ)
- เรือตรี แซมดิน เลิศบุศย์
- คมสัน ทองศิริ
- สาวิทย์ แก้วหวาน
- สุริยะใส กตะศิลา
- สำราญ รอดเพชร
- อมร อมรรัตนานนท์
- วิทยา แก้วภราดัย
- เอกนัฏ พร้อมพันธ์
- อัญชะลี ไพรีรัก
- สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์
- ถนอม อ่อนเกตุพล
- สาธิต เซกัลป์
- พลอากาศโท วัชระ ฤทธาคนี
- พลเรือเอก ชัย สุวรรณภาพ
- มั่นแม่น กะการดี
- พิเชษฐ พัฒนโชติ
- กิตติชัย ใสสะอาด
- ทยา ทีปสุวรรณ
ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาในคดีแกนนำ กปปส. โดยตัดสินจำคุกสุเทพ เทือกสุบรรณ ถูกจำคุก 5 ปี, ชุมพล จุลใส 9 ปี 24 เดือน, พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 7 ปี, อิสสระ สมชัย 7 ปี 16 เดือน, ถาวร เสนเนียม 5 ปี, ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 6 ปี 16 เดือน และสุวิทย์ ทองประเสริฐ (พุทธะอิสระ) 4 ปี 8 เดือน
นอกจากนี้ ศาลยังสั่งตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี สำหรับ ชุมพล จุลใส, อิสสระ สมชัย, ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ, สุวิทย์ ทองประเสริฐ, เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์, สำราญ รอดเพชร และทยา ทีปสุวรรณ จำเลยที่เหลือศาลเห็นว่าเป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุม หรือเป็นแกนนำแต่กระทำความผิดน้อยกว่า และไม่ปรากฏพฤติการณ์รุนแรง หรือไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้ รอการลงโทษเป็นเวลา 2 ปี
คดีขัดขวางการเลือกตั้ง ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ โดยมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ อั้งยี่ซ่องโจรฯ ขัดขวางการเลือกตั้ง และบุกรุกสถานที่ราชการ ผู้ที่ถูกดำเนินคดีประกอบด้วย
- สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม
- สกลธี ภัททิยกุล
- สมบัติ ธำรงธัญวงศ์
- เสรี วงศ์มณฑา
ในคดีนี้ศาลชั้นต้นเคยพิพากษายกฟ้อง แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้กลับคำตัดสินบางส่วน โดยพิพากษาว่าสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม มีความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. และให้จำคุก 1 ปี โดยลดโทษให้หนึ่งในสามเหลือจำคุก 8 เดือน และไม่รอลงอาญา พร้อมมีคำสั่งให้ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี

จับตาสภาพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม คดีพันธมิตร-กปปส.
จากการพิจารณาเงื่อนไขของร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีกรอบเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 – 2565 และครอบคลุมทั้งคดีอาญาและความรับผิดทางแพ่งต่อหน่วยงานของรัฐ แต่ยกเว้นคดี 112, ทุจริต, และอาญาร้ายแรงที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าหรือทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ชีวิต ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า แกนนำตัวตึงจากทั้งกลุ่มพันธมิตรฯ และ กปปส. ที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมประท้วง เป็นกลุ่มคนกลุ่มหลักที่ได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรมครั้งนี้เป็นหลัก โดยเฉพาะผู้ที่มีคำพิพากษาคดีแพ่งให้ต้องชดใช้ค่าเสียหายมหาศาลแก่หน่วยงานรัฐ เช่น การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เป็นต้น
สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ การนิรโทษกรรมไม่ได้เป็นความหวังของกลุ่มพันธมิตรฯ หรือ กปปส. เท่านั้น เพราะยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ถูกดำเนินคดีจากการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองและกำลังรอการนิรโทษกรรมอยู่เช่นกัน ทั้งกลุ่มคนเสื้อแดง (นปช.) กว่า 1,150 คน และการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีคนกว่า 1,683 คน ถูกดำเนินคดี หากการนิรโทษกรรมจะเป็นไปเพื่อสร้างสังคมสันติสุขตามชื่อร่างพ.ร.บ.จริง การที่ร่างฉบับของพรรครวมไทยสร้างชาติกำหนดกรอบเวลาสิ้นสุดไว้ที่ปี พ.ศ. 2565 และ ยังคงยกเว้นคดีมาตรา 112 ทำให้คดีการเมืองที่เกิดขึ้นหลังปี 2563 ซึ่งส่วนใหญ่เผชิญข้อหา มาตรา 112 และข้อหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากกรอบเวลาดังกล่าว และทำให้การพยายามนิรโทษกรรมในรอบนี้เป็นไปแบบ “เลือกข้าง” ช่วยเฉพาะบางกลุ่มและทิ้งอีกกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลัง