พ.ร.บ.ชุมนุมฯคือกฎหมายปิดปากประชาชน หากไม่ปฏิรูปต้องยกเลิก

25 พฤษภาคม 2568 ที่ห้อง LT12 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ We Fair ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือพีมูฟ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ และเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ร่วมจัดเสวนาหัวข้อ “การฟ้องคดีโดยรัฐ: การปิดปากขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน” เนื้อหาแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ หนึ่ง การนำเสนอภาพรวมของปัญหาการใช้เสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุม สอง ตัวอย่างการชุมนุมของลูกจ้างอดีตแรงงานยานภัณฑ์และพีมูฟ และสาม ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อปัญหาดังกล่าว

ต้องปฏิรูปพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพื่ออำนวยเสรีภาพชุมนุม

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การชุมนุมเป็นเสรีภาพที่มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ ซึ่งไม่ได้มีสิทธิแค่เลือกผู้แทน ตั้งรัฐบาลไปแล้วก็จบ แต่ยังคงเป็นเจ้าของประเทศอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นประชาธิปไตยจึงไม่ได้มีแค่เรื่องของการเลือกตั้ง แต่ยังคงมีเรื่องของการแสดงออกของเจ้าของประเทศอยู่เฉกเช่นเดียวกัน โดยมีเงื่อนไขเพียงข้อเดียวคือ สงบและปราศจากอาวุธ การมี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จึงต้องมีเพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากว่าการจำกัด

ทั้งนี้เสรีภาพในการชุมนุม เป็นเสรีภาพที่มีถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและหลักการสากล มีอยู่โดยธรรมชาติและไม่จำเป็นต้องขออนุญาตใคร เพราะหากหน่วยงานใดมีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตและห้ามไม่ให้ใช้เสรีภาพของรัฐได้ก็จะเป็นการที่เสรีภาพนั้นตกอยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายบริหาร ไม่ใช่เสรีภาพที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญอีกต่อไป ดังนั้นการใช้เสรีภาพการชุมนุมจึงไม่จำเป็นต้องขออนุญาตเพียงแต่แจ้งให้ฝ่ายรัฐทราบเพื่อประโยชน์ของการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยของผู้ชุมนุม

และถึงแม้เจตนาจะดี แต่ในทางปฏิบัติเกิดปัญหาขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะการแจ้งชุมนุมแล้วถูกดำเนินคดี แจ้งแล้วอัตราโทษหนักขึ้น แจ้งแล้วทำให้มีเงื่อนไขเพิ่มติดพันผิดธรรมชาติกับการชุมนุม ทำให้คนไม่ค่อยอยากจะไปแจ้ง รวมทั้งเมื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีก็เกิดอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างฝ่ายรัฐและประชาชนผู้ออกมาแสดงความคิดเห็น

ปริญญา ยกตัวอย่างจากคดีฟ้องปิดปากในฝั่งเอกชน ซึ่งมักใช้พูดถึงสถานการณ์ที่บริษัทขนาดใหญ่ที่มีสินค้าหรือบริการที่ไม่ดีตามที่โฆษณาหรือกล่าวอ้าง และถูกลูกค้าวิพากษ์วิจารณ์หรือพูดข้อเท็จจริง และบริษัทเหล่านั้นได้ใช้มาตรการทางกฎหมายฟ้องคดีปิดปากให้หยุด ซึ่งเป็นความได้เปรียบ เนื่องจากบริษัทฯมีเงินจ้างสำนักงานทนายความที่เก่งกว่า ส่วนประชาชนก็ลำบาก 

เช่นเดียวกับภาครัฐก็ไม่ได้ต่างกัน หากภาคเอกชนมีสำนักงานทนายความ รัฐก็มีตำรวจ และมาตรา 6 ของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ กำหนดให้ สตช. เป็นส่วนราชการภายใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี เมื่ออยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ก็จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปิดปากและในการควบคุมการแสดงออกของประชาชนโดยสันติและปราศจากอาวุธ เราจึงจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายนี้ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว การบังคับใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จึงจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ถ้าไม่มีการปรับปรุงและยังเป็นแบบนี้ เขาเห็นว่า ไม่มีกฎหมายนี้อาจดีกว่า

พ.ร.บ.ชุมนุมฯ คือมรดกรัฐประหารใช้เป็นเครื่องมือกดปราบ เรียกร้องยกเลิกทันที

ต่อมาเป็นเสวนาวงที่หนึ่ง ภายใต้หัวข้อ “เมื่อกฎหมายเป็นเครื่องมือคุกคาม: การเคลื่อนไหวกลายเป็นความผิด ปากคำผู้ถูกฟ้องคดี มุมมองและข้อเสนอเชิงนโยบาย” ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากภาคประชาชนที่เป็นผู้ประสบปัญหากับการบังคับใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ได้แก่ สุนทร บุญยอด ตัวแทนแรงงานยานภัณฑ์ จรัสศรี จันทร์ฉ้าย สหพันธ์เกษตกรภาคเหนือ นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ We Fair และธนพร วิจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ดำเนินรายการโดย พชร คำชำนาญ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ 

จรัสศรี จันทร์ฉ้าย สมาชิกสหพันธ์เกษตกรภาคเหนือ กล่าวว่า เครือข่ายของเธออกมาเคลื่อนไหว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากนโยบายและกฎหมายของรัฐที่ออกมาบังคับใช้โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐบาลภายใต้การนำของเศรษฐา ทวีสินให้คำมั่นสัญญาเชิงนโยบายไว้ ซึ่งเมื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเครือข่ายจึงจำเป็นต้องทวงถามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา แต่นั่นก็ได้นำไปสู่การถูกฟ้องดำเนินคดีในฐานะผู้จัดการชุมนุม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ทำให้การแสดงออกของประชาชนไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่ และไม่สามารถส่งเสียงและส่งต่อปัญหาถึงรัฐบาลได้ ทั้งยังทำให้เกิดภาระในการดำเนินคดี โดยเฉพาะคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด แต่จำเป็นต้องเดินทางมาเรียกร้องที่ส่วนกลาง เพราะไม่เกิดการกระจายอำนาจแท้จริง หากมีการกระจายการตัดสินใจไปที่ต่างจังหวัด ประชาชนก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้าเมืองกรุงเพื่อมาเรียกร้อง

พ.ร.บ.ชุมนุมฯคือกฎหมายปิดปากประชาชน หากไม่ปฏิรูปต้องยกเลิก

และปัญหาสำคัญของภาครัฐ คือ ข้าราชการเมืองต้องสั่งการและควบคุมการทำงานของข้าราชการประจำได้ ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ผ่านไปสองสมัยรัฐบาลแล้ว มีคำสั่งจากฝ่ายการเมืองก็แล้ว แต่ข้าราชการประจำก็ยังไม่ทำงาน นี่จึงเป็นสาเหตุที่เราต้องออกมาชุมนุม ออกมาเพื่อติดตามความคืบหน้า แต่เมื่อติดตามก็ถูกคดี แต่ถ้าไม่มีติดตามก็ไม่มีความคืบหน้า ดังนั้น จึงจำเป็นต้องยกเลิก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพราะกฎหมายนี้ไม่มีความหมายใดๆ โดยเฉพาะการห้ามชุมนุมในพื้นที่ 50 เมตรจากทำเนียบรัฐบาล 

สุนทร บุญยอด อดีตแรงงานยานภัณฑ์ เล่าถึงปัญหาของการบังคับใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่กลายเป็นช่องว่างให้นายจ้างฉวยใช้เป็นมาตรการทางกฎหมายเพื่อปิดกั้นการใช้สิทธิแรงงาน โดยยกตัวอย่างจากเหตุการณ์ที่บริษัทยานภัณฑ์ฯยื่นแจ้งความต่อตำรวจ โดยอ้าง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ว่ากลุ่มลูกจ้างยานภัณฑ์ได้ชุมนุมกีดขวางทางเข้าออกของบริษัท ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ออกคำสั่งให้ยุติและแก้ไขการชุมนุม เมื่อตำรวจมีคำสั่งเช่นนั้น สิ่งที่ตามต่อมาคือนายจ้างได้อาศัยคำสั่งของตำรวจไปยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัด เพื่อให้กลุ่มลูกจ้างยุติการชุมนุม และศาลก็ได้มีคำสั่งให้ยุติการชุมนุมภายในสามวัน พร้อมกับการยื่นฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท

สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงช่องว่างและฉวยโอกาสของบริษัทฯ ในการแทรกแซงและระงับสิทธิในการเรียกร้องของแรงงาน หากตำรวจไม่ออกคำสั่งตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ให้ยุติและแก้ไขการชุมนุม ทางบริษัทฯ ก็คงไม่สามารถอ้างคำสั่งดังกล่าวไปยื่นต่อศาลขอให้ไต่สวนสั่งยุติการชุมนุมได้ 

ทั้งนี้ ในอดีต สิทธิของแรงงานเองก็มีการรับรองไว้ใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ ซึ่งมีการประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2518 ก่อน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยกำหนดว่าในกรณีที่มีข้อพิพาทแรงงานและไม่ใช่เวลาทำงาน ลูกจ้างมีสิทธิออกมาชุมนุมชี้แจงข้อเรียกร้องแก่นายจ้างที่หน้าโรงงานได้ แต่ตัดกลับมาที่ปัจจุบัน การมาถึงของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ทำให้แม้ว่าการชี้แจงจะใช้เวลาไม่นาน เพียงแค่ครึ่งชั่วโมง หรือการประท้วงโดยไม่ทำโอที กฎหมายก็กำหนดให้ต้องแจ้งชุมนุม ซึ่งไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของการชุมนุมและสลับซับซ้อนกับ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ

สุนทรยังทิ้งท้ายว่า เขาไม่เห็นถึงความจำเป็นใดๆ ที่ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จะต้องมีอยู่ เนื่องจากแรงงานก็สามารถใช้สิทธิในการเรียกร้องชุมนุมตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ ได้อยู่แล้ว ส่วนของประชาชนก็ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ หากมีการทำลายทรัพย์สินหรือก่อความวุ่นวายก็ใช้ประมวลกฎหมายอาญา ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จะต้องมีอยู่ หากมีอยู่แล้วกลายเป็นช่องว่างในการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน 

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ We Fair กล่าวถึงความสงสัยของตนว่าหตุใดตนจึงเป็นคนเดียวที่ถูกดำเนินคดีจากการปราศรัยบนรถ ทั้งที่ประเสริฐ จันทรทรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีก็ได้ขึ้นมาพูดคุยกับผู้ชุมนุมผ่านเครื่องเสียงบนรถคันเดียวกัน อยู่ในระยะ 50 เมตรเหมือนกัน ซึ่งหากตนถูกดำเนินคดี รองนายกรัฐมนตรีก็ควรจะต้องถูกดำเนินคดีด้วย สิ่งนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากฎหมายได้กลายเป็นเครื่องมือในการคุกคาม แบ่งแยกและปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน

และหากย้อนกลับไปที่มาของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ นิติรัตน์กล่าวว่า สิ่งนี้เป็นมรดกของคณะรัฐประหาร คสช. โดยแท้ ซึ่งในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ก็มีความพยายามผลักดันมาตั้งแต่สมัยรัฐประหาร พ.ศ. 2549 แต่ไม่สำเร็จ แต่มาปี 2558 นั้นสำเร็จ รัฐประหารได้ปีเดียว ก็ตรากฎหมายออกใช้บังคับเลย ดังนั้นเป้าหมายของกฎหมายจึงเป็นการควบคุมมากกว่าคุ้มครอง การมีอยู่ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จึงเป็นต้นทุนและความเสี่ยงของประชาชนที่ต้องแบกรับในการใช้สิทธิเสรีภาพ ส่งผลให้เกิดความหวาดกลัว ความเงียบในพื้นที่สาธารณะ และทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมการเมืองลดน้อยถอยลง

นิริรัตน์เสนอว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องยุติการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกดปราบสิทธิเสรีภาพประชาชน และยุติการใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ รวมถึงถอนฟ้องและนิรโทษกรรมคดีชุมนุมโดยสงบโดยทันที 

ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นหนึ่งในปัญหาที่หมักหมมอยู่ในวงการแรงงานมาอย่างยาวนาน เพราะนอกจากจะมีความทับซ้อนกับการใช้สิทธิในการชุมนุมเพื่อเรียกร้องตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯแล้ว พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ยังไม่มีการกำหนดรายละเอียดข้อยกเว้นส่งผลให้การชุมนุมทุกอย่างของขบวนการแรงงานต้องปฏิบัติอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แม้ว่าการชุมนุมจะเกิดขึ้นในพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมหรือโรงงานที่ไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลภายนอกก็ตาม

ธนพรยกตัวอย่างจากเหตุการณ์รณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่แรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ ซึ่งเมื่อมีการแจ้งการชุมนุมแล้ว ตำรวจก็ยกกำลังมาเป็นกองร้อยเพื่อควบคุมสถานการณ์ ทั้งที่จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีเพียงหลัก 20-30 คน ซึ่งไม่ได้สัดส่วนกับการกระทบสิทธิเสรีภาพที่เกิดขึ้นแต่เป็นการสร้างความหวาดกลัว หนำซ้ำตำรวจฉวยโอกาสใช้เหตุผลในเรื่องการชุมนุม จับกุมแรงงานข้ามชาติและนำตัวไปที่ ตม.พร้อมแจ้งความดำเนินคดีแก่ตนว่าช่วยเหลือซ่อนเร้นแรงงานข้ามชาติอีกด้วย

การถูกดำเนินคดีเป็นภาระอย่างมากแก่ประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกถึงความคิดเห็นของตน ซึ่ง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ได้ทำหน้าที่ให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนแม้แต่น้อย แต่เป็นเครื่องมือในการสร้างภาระ ตนจึงขอเรียกร้องไปยังหน่วยงานรัฐว่า ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้ ก็ไม่ต้องเสนอหน้ามายัดคดีเพื่อสร้างปัญหาให้กับประชาชนเพิ่ม 

เปิดข้อเสนอคุ้มครองเสรีภาพการชุมนุม : ใช้ระบบไต่สวนแทนกล่าวหาและลงนามอนุสัญญาแรงงาน

เสวนาวงที่สองภายใต้หัวข้อ “การเมืองของการฟ้องปิดปาก: สิทธิพลเมืองภายใต้การคุกคามทางกฎหมาย มุมมองและข้อเสนอนโยบายภาคประชาสังคม ภาคการเมือง” ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากภาคการเมืองที่มีทั้งผู้ประสบปัญหากับถูกฟ้องคดีปิดปากและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายและกฎหมาย จากวิทยากรสี่คน ได้แก่ จำนงค์ หนูพันธ์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและหนึ่งในผู้ถูกฟ้องคดีปิดปาก รัชนก ศรีนอก สส.พรรคประชาชน สหัตวัต คุ้มคง สส.พรรคประชาชน และ รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง สมาชิกวุฒิสภา ดำเนินรายการโดย ธีรัตน์ พณิชอุดมพัชร์ We Fair 

เสนอเปลี่ยนระบบกล่าวหาเป็นไต่สวนในคดีพ.ร.บ.ชุมนุมฯ

จำนงค์ หนูพันธ์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและหนึ่งในผู้ถูกฟ้องคดีปิดปาก เริ่มต้นจากการจำกัดความว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นมรดกของ คสช. และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกเลิก เพราะเมื่อไม่ยกเลิก ก็จะกลายเป็นสภาวะที่ระบอบประชาธิปไตยนำมรดกของเผด็จการมาใช้ไทย อย่างเช่นในปัจจุบัน ภายใต้การนำพรรคเพื่อไทย ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้น

การฟ้องคดีที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากมาตรฐานทางกฎหมาย แต่เกิดขึ้นจากความพึงพอใจและดุลยพินิจของตำรวจ ซึ่งในที่นี้ นายกรัฐมนตรีก็เป็นประธานบอร์ดตำรวจฯ แค่เอ่ยปากเพียงคำเดียวว่าคดีแบบนี้อย่าฟ้องคดี อย่าดำเนินคดีเลย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็คงไม่เกิด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือนายกฯ ไม่ทำ แต่กลับใช้กฎหมายมาสร้างภาระและความไม่ยุติธรรมแก่ประชาชน 

จำนงค์จึงขอเสนอให้เปลี่ยนระบบการพิจารณาคดีตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จากระบบกล่าวหาเป็นระบบไต่สวน เพราะปัญหาเกิดขึ้นตั้งแต่ชั้นตำรวจ พอตำรวจไม่ยุติธรรม การแจ้งความกล่าวหาก็ไม่ยุติธรรม แต่หากชั้นนี้มีความยุติธรรม คดีเจ้าปัญหาก็คงไม่เกิดขึ้น 

นักการเมืองต้องโอบรับเสียงวิจารณ์ เร่งปฏิรูปกฎหมาย ลงนาม ILO

รักชนก ศรีนอก สส.พรรคประชาชน และหนึ่งในผู้ถูกฟ้องคดีปิดปาก เน้นย้ำถึงหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จำเป็นต้องนำเสนอขึ้นมูลเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน โดยยกตัวอย่างจากเหตุการณ์ถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาทโดยสุชาติ ชมกลิ่น อดีตรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและรัฐมนตรีช่วยกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะทั้ง สส.และนักการเมือง ที่เลือกใช้วิธีการเอากฎหมายมาปิดปาก แทนที่จะช่วยสนับสนุนให้มีการตรวจสอบและเปิดเผยข้อมูลที่ซ่อนอยู่ ทั้งนี้ รัชนกยืนยันว่า แม้เธอจะเป็น สส. แต่ผลกระทบและภาระที่เกิดขึ้นก็ไม่แตกต่างกับประชาชนอื่น ที่สำคัญคือทุกวินาทีที่เสียไปกับการสู้คดี ควรจะได้นำไปใช้ประโยชน์กับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทน และหากขนาด สส. ยังลำบากขนาดนี้ ประชาชนคนธรรมดาที่ออกมาต่อสู้จะลำบากแค่ไหน สิ่งนี้ก็เป็นความเหลื่อมล้ำในระบบกฎหมายไทยรูปแบบหนึ่ง

รักชนกยังขอเรียกร้องไปถึงอำนาจทั้งสามส่วน คือนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ให้ช่วยกันรับผิดชอบแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะฝ่ายบริหารที่มีอำนาจในการออกนโยบายผ่อนปรนให้ตำรวจปฏิบัติตามได้ พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์และก่นด่าได้ เพราะสุดท้ายนั้นก็เป็นเพียงเครื่องมือเพียงอย่างเดียวที่ประชาชนมี รัฐบาลจำเป็นต้องใจกว้างกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น 

สหัตวัต คุ้มคง สส.พรรคประชาชน และหนึ่งในผู้ถูกฟ้องคดีปิดปาก กล่าวว่า นักการเมืองเป็นอาชีพที่ทรงเกียรติ เพราะได้รับการแต่งตั้งจากประชาชน เป็นเกียรติที่ได้รับจากการกากบาทเลือกให้เข้าไปทำหน้าที่ในวันที่ประชาชนเดินเข้าคูหาการเลือกตั้ง เกียรติมาจากประชาชน และนักการเมืองไม่ได้มีเกียรติด้วยตนเอง ดังนั้นแล้วนักการเมือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้อยู่ในอำนาจ จำเป็นต้องมีภาระรับผิดชอบมากกว่าประชาชนปกติ ต้องรับผิดชอบในอำนาจที่มีอยู่และต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าคนทั่วไป

เมื่อมองบนหลักการข้างต้นแล้ว นักการเมืองไม่มีเหตุใดๆ ทั้งสิ้นที่จะมาฟ้องคดีประชาชนหรือใครก็ตามที่ออกมาแสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามถึงการทำงานในฐานะนักการเมือง สหัตวัตยกตัวอย่างรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ของญี่ปุ่นที่ออกมาพูดว่า ผมไม่เคยต้องซื้อข้าวกิน เพราะได้รับบริจาคมาตลอด ซึ่งถูกก่นด่าวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนทั่วญี่ปุ่น สิ่งที่เขาทำคือลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ไม่ใช่ไล่ฟ้องคดีแก่ประชาชน สิ่งนี้ไม่ใช่วัฒนธรรมประชาธิปไตย

การชุมนุม เป็นอาวุธสุดท้ายแล้วที่แรงงานนำมาใช้ ซึ่งพิจารณาแล้วว่า จำเป็นจริง ๆ หากไม่จำเป็นจะหยิบมาใช้ เพราะการมานอนที่ชุมนุมไม่ใช่เรื่องสบาย ใครจะสนับสนุนค่าน้ำค่าข้าว แต่ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ วันนี้ กำลังจะทำลายเครื่องมือสุดท้ายของแรงงานเหล่านี้ในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของตน

สหสวัตจึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายแรงงานโดยเร็ว เพราะกรณีของยานภัณฑ์จะไม่ใช่กรณีสุดท้าย พร้อมกับลงนามในอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 89และ 98 เพื่อรับรองเสรีภาพในการรวมตัวและแก้ไขกฎหมายการชุมนุมให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน

แก้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 7 สร้างหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน ไม่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ  

รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่ให้อำนาจ ตำรวจประกาศพื้นที่ไม่ให้เข้าใกล้เกิน 50 เมตรจากรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาล เป็นมาตราที่มีปัญหาและความน่าสนใจมากที่สุด โดยวรรคที่สำคัญคือวรรคสี่ ที่มีการบัญญัติถึงถึงหลักเกณฑ์การประกาศของ ผบ.ตร. ว่าจะต้องคำนึงถึงจำนวนของผู้เข้าร่วมชุมนุมและพฤติกรรมในการชุมนุมด้วย

ประภาสระบุว่า จากการทำงานของเขาในคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ และอนุกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ ของวุฒิสภา ที่ได้เชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาให้ข้อมูลว่าการคำนึงดังกล่าวมีหลักเกณฑ์อย่างไร แต่ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถตอบได้ ไม่มีเอกสาร หรือแม้แต่จำนวนผู้ชุมนุม ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อาจอาศัยเป็นช่องว่างในการตีความและปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้

และที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข หากแก้ไขได้ ประชาชนก็ย่อมไม่ออกมาชุมนุมเรียกร้อง การชุมนุมเป็นเครื่องมือเดียวที่มีประสิทธิภาพที่สุดและใช้ในการต่อรองกับอำนาจรัฐ แต่ปัจจุบันก็ถูกละเมิดด้วยเงื่อนไขต่างๆที่ไม่มีความชัดเจน และปัญหาที่ยังคงคาราคาซังก็ไม่ได้รับการแก้ไขและทำให้ประชาชนเดือดร้อน 

เขาจึงขอเสนอให้มีการยกเลิก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ หากยกเลิกไม่ได้ก็ต้องแก้ไข โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 7 วรรค 4 สามารถเริ่มได้ทันทีโดยอาศัยอำนาจของนายกรัฐมนตรี ผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และประธานบอร์ด สตช. ออกประกาศหรือระเบียบก็แล้วแต่ในเรื่องของหลักเกณฑ์ตามมาตรา 7 วรรค 4 ให้มีความชัดเจน ไม่ใช่อำเภอใจ รวมถึงผู้บังคับใช้กฎหมาย จำเป็นต้องเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองต่อการชุมนุม ไม่ใช่ล้าหลังเปรียบผู้ชุมนุมเป็นฝูงชนบ้าคลั่งเหมือนตำราที่ยังสอนในอดีต และยังขอชวนทุกคนให้คอยจับตาร่างกฎหมายอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อการยับยั้งคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน 

ภายหลังเสวนามีการอ่านแถลงการณ์ร่วมของเครือข่ายประชาชนผู้ร่วมจัดวงเสวนา มีเนื้อหาดังนี้

แถลงการณ์ร่วมเครือข่ายภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

เรื่อง หยุดฟ้องคดีโดยรัฐ หยุดปิดปากประชาชน

จากปัญหาความเดือดร้อนของภาคประชาชนในด้านที่ดินทำกินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของประชาชนในนามสมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า, สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม รวมถึงปัญหาการถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมของกลุ่มยานภัณฑ์ พาพี่น้องประชาชนคนยากจนให้ออกมาติดตามเรียกร้องกับรัฐบาลให้เร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหา ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 ซึ่งรัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อความทุกข์ร้อนของประชาชน และตอบรับข้อเรียกร้อง เดินหน้าแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน

แต่ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกลับประกาศให้พื้นที่รัศมี 50 เมตรรอบทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่ห้ามชุมนุม ซึ่งทำให้สถานีตำรวจนครบาลดุสิตใช้อ้างในการดำเนินคดีกับพวกเราจำนวน 11 คน ในความผิดฐานร่วมกันชุมนุม ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ขณะที่รัฐบาลก็นิ่งเฉยต่อการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าว นอกจากจะไม่รับฟังเสียงของประชาชนและเดินหน้าแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว กลับยังซ้ำเติมความเดือดร้อนโดยการยัดคดีความอันไม่เป็นธรรม

การดำเนินการของสถานีตำรวจนครบางดุสิต เป็นการบังคับใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย จำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของภาคประชาชน การชุมนุมเพื่อเรียกร้องการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาลย่อมสามารถกระทำได้โดยมิควรขัดต่อหลักกฎหมายใด เรามีข้อเรียกร้องที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน รวมถึงได้เคยยื่นข้อเรียกร้องมาแล้วก่อนหน้านี้แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง เราจึงใช้สิทธิของเรา ในการออกมาชุมนุมติดตามจากรัฐบาล ซึ่งศูนย์กลางคือทำเนียบรัฐบาล และเรายืนยันว่าการชุมนุมของเราครั้งนี้เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และไม่มีปัญหา ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสาธารณะและความสงบเรียบร้อยของประชาชน รวมถึงผู้ชุมนุมไม่มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงใดๆ ฉะนั้นการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลดุสิตจึงไม่เป็นธรรม ไม่ชอบธรรม ขัดต่อรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชนสากลชัดเจน

เรายืนยันไม่ยอมรับการบังคับใช้กฎหมายจากยุค คสช. และยืนยันว่ากฎหมายละเมิดสิทธิในการแสดงออกของประชาชนเช่นนี้ควรจบสิ้นไปพร้อมกับรัฐบาลเผด็จการทหาร เราจึงขอประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลดุสิต และรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร จงหยุดฟ้องคดีเพื่อปิดปากประชาชน และเราจะต่อสู้ในทางคดีให้ถึงที่สุด ยืนยันความบริสุทธ์ของเราว่าการเรียกร้องต่อรัฐบาลไม่ใช่อาชญากรรม และหากการมีกฎหมายชุมนุมเป็นอุปสรรคต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน เรายืนยันจะประสานเชื่อมโยงเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อขับเคลื่อนให้ยกเลิก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ อย่างถึงที่สุด

เชื่อมั่นและศรัทธาในพลังประชาชน

25 พฤษภาคม 2568

ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage