ภาคประชาชนเสนอกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ดูแลผู้เสียหายให้ปลอดภัย ไม่เน้นให้กลับไปอยู่ด้วยกัน

เป็นเวลากว่า 17 ปีแล้วที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ.ความรุนแรงในครอบครัวฯ) บังคับใช้ กฎหมายที่ผ่านการพิจารณาโดยสภาแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร กำหนดกลไกสำหรับการแจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัว การร้องทุกข์ ตลอดจนการพิจารณาคดีสำหรับคดีประเภทนี้โดยเฉพาะ แม้มีข้อดีในแง่การให้ความช่วยเหลือกรณีความรุนแรงในครอบครัว และกำหนดกระบวนการสอบสวน-การพิจารณาคดีโดยศาลสำหรับคดีประเภทนี้โดยตรง แต่กฎหมายฉบับนี้มุ่งเน้นที่จะ “ประนีประนอม” ให้ครอบครัวกลับมาประสานรอยร้าวจากเหตุการณ์ความรุนแรงได้ ทำให้ผู้เสียหายมีแนวโน้มต้องทนอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมมากกว่าเน้นการลงโทษผู้กระทำความผิด

หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง อย่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็ผลักดันแก้ไขกฎหมายดังกล่าวหลายประเด็น ขณะที่มุมมองของภาคประชาชนมองว่า แม้ร่างกฎหมายที่กระทรวง พม. ขับเคลื่อนอยู่ จะมีข้อดีในรายละเอียดบางประการ แต่แนวคิดพื้นฐานของกฎหมายมุ่งเน้นให้ครอบครัวกลับมาอยู่ร่วมกัน ยังไม่ได้มุ่งคุ้มครองผู้ถูกกระทำมากเพียงพอ

เครือข่ายต่อต้านความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยองค์กรภาคประชาสังคม 11 องค์กรที่ทำงานด้านความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ จึงผลักดันร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ฉบับภาคประชาชน มุ่งเน้นที่เอาผิด-ฟื้นฟูผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว จัดระบบดูแลผู้ถูกกระทำและอุดช่องโหว่ วางเงื่อนไขสำหรับการยอมความ/ถอนคำร้องทุกข์/ถอนฟ้อง โดยเปิดให้ประชาชนร่วมเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายนี้ต่อสภา ทางเว็บไซต์ https://changedvlaw.com/

กฎหมายเดิม : ร่างในยุคที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม

พ.ร.บ.ความรุนแรงในครอบครัวฯ เป็นกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือก็คือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่ทำรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549

กระบวนการที่มาของกฎหมายนี้ มีผู้เสนอร่างสองฉบับ ฉบับแรก เสนอโดยกัญจนา ศิลปะอาชา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอีกฉบับเสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในขั้นตอนการพิจารณาวาระหนึ่งเมื่อ 4 เมษายน 2549 สนช. มีมติรับหลักการร่างทั้งสองฉบับแล้วพิจารณาประกบกันโดยใช้ร่างที่ ครม. เสนอเป็นร่างหลักในการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ จากนั้นเข้าสู่การพิจารณาลงมติรายมาตราในวาระสอง และลงมติเห็นชอบในวาระสาม เมื่อ 6 มิถุนายน 2550 ได้รับเสียงเห็นด้วย 106 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง สองเดือนเศษๆ ก็ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2550 เป็นต้นมา

พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว มีเพียง 18 มาตรา มีสาระสำคัญ ดังนี้

กฎหมายเดิม : กำหนดความผิดเฉพาะฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว แต่ยอมความได้

พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวฯ มาตรา 4 กำหนดความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว หากผู้กระทำ กระทำการใดๆ ให้เกิดอันตรายไม่ว่าจะต่อร่างกาย จิตใจ สุขภาพ หรือบังคับหรือใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมให้บุคคลในครอบครัวต้องทำหรือไม่ทำสิ่งใด จะมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คดีตามความผิดฐานนี้ จะพิจารณาโดยศาลเยาวชนและครอบครัว

คำว่า บุคคลในครอบครัว ตามกฎหมายนี้ ไม่ได้จำกัดแค่ผู้ที่มีความสัมพันธ์ในทางกฎหมายอย่างคู่สมรส บุตร บุตรบุญธรรม หรือสมาชิกในครอบครัวเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ที่มีความสัมพันธ์ที่ต้องพึ่งพาอาศัยอยู่เป็นครอบครัวกัน ได้แก่ คู่สมรสเดิม ผู้ที่อยู่กินหรือเคยอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส และบุคคลใดที่ต้องพึ่งพาอาศัยและอยู่ในครัวเรือนเดียวกันด้วย

แม้กฎหมายนี้จะกำหนดฐานความผิดเฉพาะสำหรับการกระทำความรุนแรงในครอบครัว แต่เปิดกว้างให้เป็นคดีที่ “ยอมความได้” หมายความว่า หากผู้เสียหายไม่ติดใจที่จะเอาความอีกต่อไป ตำรวจหรือพนักงานอัยการก็ไม่อาจดำเนินคดีต่อไปได้ โดยไม่ลบล้างความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นๆ หมายความว่า หากการใช้ความรุนแรงในครอบครัวนั้นๆ เป็นความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ด้วย ผู้กระทำก็ยังต้องรับผิดตามกฎหมายนั้นๆ อยู่ สำหรับการดำเนินตามความผิดในประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวจะต้องร้องทุกข์แยกไป

ตัวอย่างเช่น กระทำความรุนแรงในครอบครัวด้วยวิธีการกักขังหน่วงเหนี่ยว ไม่ให้ออกจากบ้าน นอกจากผู้กระทำความผิดจะต้องรับผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวแล้ว ยังต้องรับผิดฐานกักขังหน่วงเหนี่ยว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งหากผู้ถูกกระทำยอมความในกรณีความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว ก็ยังสามารถร้องทุกข์สำหรับความผิดฐานกักขังหน่วงเหนี่ยว เพื่อเอาผิดผู้กระทำต่อไปได้

กฎหมายเดิม : ข้อยกเว้น กระทำรุนแรงในครอบครัวด้วยการทำร้ายร่างกาย ยอมความได้

ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ตามมาตรา 295 เป็นความผิดที่ไม่สามารถยอมความได้ หมายความว่า แม้ผู้เสียหายจะไม่ติดใจเอาความ อาจจะเพราะให้อภัยได้แล้ว หรือไม่อยากยุ่งยาก รู้สึกว่าไม่ต้องการเห็นผู้กระทำความผิดต้องรับโทษอีกต่อไป ก็ไม่สามารถยอมความกันได้ ตำรวจและพนักงานอัยการยังต้องดำเนินคดีต่อ และศาลก็อาจพิพากษาลงโทษได้ เพราะเห็นว่า การกระทำความผิดเช่นนี้ไม่เพียงเสียหายต่อผู้เสียหายเป็นการส่วนตัว แต่ยังก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยของประชาชนคนอื่น กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมด้วย

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวฯ ก็เขียนยกเว้นหลักในประมวลกฎหมายอาญา ให้ความผิดฐานทำร้ายร่างกายในกรณีของการกระทำความรุนแรงภายในครอบครัว สามารถยอมความได้ ซึ่งหากย้อนไปดูในขั้นตอนการพิจารณากฎหมาย จะเห็นได้ว่า สนช. มีแนวทางในการออกแบบกฎหมายเน้นวิธีการประนีประนอม ให้โอกาสผู้กระทำความผิดในการกลับตัวกลับใจ โดยมองว่าจะทำให้สถาบันครอบครัวสามารถไปต่อได้

ซึ่งการเปิดช่องสำหรับการยอมความก็อาจมีข้อเสียเช่นกัน เพราะผู้กระทำความรุนแรงอาจใช้อำนาจเหนือจากความสัมพันธ์ในครอบครัว หรืออำนาจทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม เช่น อำนาจของสามีต่อภรรยา อำนาจของพ่อต่อลูก เพื่อบีบบังคับหรือชักจูงใจให้ผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงต้องตัดสินใจยอมความ เพื่อให้ผู้กระทำความรุนแรงพ้นจากความผิด และกลับไปอยู่ด้วยกันในครอบครัวทำให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อยังคงต้องอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมเดิมต่อไป 

กฎหมายเดิม : ต้องรีบร้องทุกข์ใน 3 เดือน ตำรวจส่งฟ้องใน 48 ชั่วโมง

พ.ร.บ.ความรุนแรงในครอบครัวฯ กำหนดกระบวนการดำเนินคดีไว้โดยให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวหรือผู้ที่พบเห็นหรือทราบการกระทำดังกล่าว “มีหน้าที่” แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ เช่น เจ้าหน้าที่ของสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว สำนักงานพัฒนาสั่งคมและความมั่นคงของมนุษย์ทั่วประเทศ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หลังได้รับแจ้งเหตุแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะมีอำนาจ

1.       เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ที่เกิดเหตุ เพื่อสอบถามผู้กระทำ-ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว และบุคคลลอื่นที่อยู่ในสถานที่นั้น

2.       จัดให้ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์ และขอรับคำปรึกษาแนะนำจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์

3.       ถ้าผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวไม่อยู่ในวิสัยหรือมีไม่มีโอกาสร้องทุกข์ดำเนินคดีได้ด้วยตนเอง พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ร้องทุกข์แทนได้

 
การแจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัวหรือการร้องทุกข์ จะต้องทำภายในสามเดือนนับแต่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวอยู่ในวิสัยและมีโอกาสที่จะแจ้งหรือร้องทุกข์ได้ ไม่เช่นนั้นคดีจะขาดอายุความไปเลย ในกระบวนการชั้นตำรวจ เมื่อสอบปากคำผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวร้องขอ ให้อยู่ด้วยในขณะสอบปากคำ

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้กระบวนการดำเนินคดีความรุนแรงในครอบครัวจะต้องทำโดยเร็ว หลังจากมีการร้องทุกข์พนักงานสอบสวนจะต้องสอบสวน และส่งตัวผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวรวมถึงสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นไปยังอัยการเพื่อฟ้องคดีต่อศาลเยาวชนและครอบครัว ภายใน 48 ชั่วโมงนับแต่ได้ตัวผู้กระทำมา

ระหว่างที่ดำเนินการสอบสวน พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวได้ด้วย เช่น สั่งห้ามผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวเข้าไปในที่พำนักของครอบครัวหรือเข้าใกล้ตัวบุคคลใด ให้ชดใช้เงินช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เบื้องต้น หลังออกคำสั่งแล้วจะต้องเสนอให้ศาลภายใน 48 ชั่วโมง หากศาลเห็นชอบก็ให้มาตรการดังกล่าวมีผลต่อไป ทั้งนี้ กรณีที่ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวที่ได้รับคำสั่งไม่ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว ก็จะมีความผิดด้วย

กฎหมายเดิม : เน้นประนีประนอม เปิดช่องศาลกำหนดวิธีอื่นแทนลงโทษ

การพิจารณาคดีความรุนแรงในครอบครัว มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากคดีอาญาทั่วไป โดยมุ่งเน้นให้คู่ความ “ประนีประนอมยอมความ” ก่อน ศาลสามารถตั้งผู้ประนีประนอมคนเดียวหรือหลายคน จากผู้ที่เป็นบิดามารดา ผู้ปกครอง ญาติของคู่ความ หรือจะตั้งบุคคลภายนอกที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ได้ เพื่อไกล่เกลี่ยและให้คู่ความยอมความกัน และไม่ว่าคู่ความจะยอมความกันหรือไม่ การใช้ดุลยพินิจพิจารณาของศาล จะต้องคำนึงถึงความสงบสุขและการอยู่ร่วมกันในครอบครัวเป็นสำคัญ พร้อมชั่งน้ำหนักกับหลักการต่อไปนี้ประกอบด้วย

  • การคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว
  • การสงวนและคุ้มครองสถานภาพของการสมรส หากไม่อาจรักษาสถานภาพของการสมรสได้ ก็ให้การหย่าเป็นไปด้วยความเป็นธรรมและเสียหายน้อยที่สุด โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของบุตรเป็นสำคัญ
  • การคุ้มครองและช่วยเหลือครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ครอบครัวนั้นต้องรับผิดชอบในการดูแลให้การศึกษาแก่สมาชิกที่เป็นผู้เยาว์
  • มาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือคู่สมรสและบุคคลในครอบครัวให้ปรองดองกันและปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างกันเองและกับบุตร

แม้พ.ร.บ.ความรุนแรงในครอบครัวฯ จะกำหนดความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวไว้โดยเฉพาะและผู้กระทำความผิดต้องรับโทษทางอาญา แต่ก็เปิดช่องให้ศาลใช้ดุลยพินิจกำหนดวิธีอื่นแทนการลงโทษได้ เช่น กำหนดให้ใช้วิธีการฟื้นฟู บำบัดรักษา คุมความประพฤติผู้กระทำความผิด ให้ผู้กระทำความผิดทำงานบริการสาธารณะ หรือทำทัณฑ์บน

เปิดข้อมูลสถิติปี 65 รายงานความรุนแรงหลักหมื่น คดีขึ้นศาลหลักร้อย

มาตรา 17 ของพ.ร.บ.ความรุนแรงในครอบครัวฯ ยังกำหนดหน้าที่ให้กระทรวง พม. ต้องจัดทำรายงานประจำปีรายงานต่อครม. และรัฐสภาเพื่อทราบปีละครั้ง โดยในรายงานต้องแสดงข้อมูล

  • จำนวนคดีการกระทำความรุนแรงในครอบครัว
  • จำนวนคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์
  • จำนวนการละเมิดคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ของพนักงานเจ้าหน้าที่และศาล
  • จำนวนการยอมความ

จากรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัว ปี 2565 พบสถิติที่น่าสนใจ คือ จำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ที่มีผู้รายงานหรือแจ้งเหตุต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมรวม 15 องค์กร ในปี 2565 มี 15,707 กรณี เมื่อดูข้อมูลสถิติจากองค์กรในกระบวนการการยุติธรรม ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปี 2565 มีคดีความรุนแรงในครอบครัวรวม 167 คดี แบ่งเป็นคดีที่มีการร้องทุกข์ 158 คดีและไม่ร้องทุกข์เก้าคดี ข้อมูลจากสำนักงานอัยการสูงสุด รายงานจำนวนคดีความรุนแรงในครอบครัว ของปี 2565 มีทั้งสิ้น 10 คดี โดยในจำนวนนี้อัยการสั่งฟ้องแปดคดี สั่งไม่ฟ้องหนึ่งคดี และยุติในชั้นสอบสวนหนึ่งคดี ด้านข้อมูลจากสำนักงานศาลยุติธรรม รายงานจำนวนคดีความรุนแรงในครอบครัวปี 2565 มีจำนวนคดีความรุนแรงในครอบครัวที่ศาลรับฟ้องโดยตรง จำนวน 207 คดี 

จากตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า คดีที่เข้าสู่ศาลคิดเป็นอัตราส่วนที่น้อยมากๆ ไม่เกิน 2% ของกรณีที่มีการแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ กรณีความรุนแรงในครอบครัวที่มีผู้แจ้งส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ในรายงานดังกล่าว ยังระบุถึงข้อเสนอในเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยระบุว่าจะต้องมีการรณรงค์หรือประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ทางด้านกฎหมายแก่หน่วยงานหรือบุคคลที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ สนับสนุนงบประมาณสำหรับสร้างสื่อที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทุกระดับ และต้องผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อครอบคลุมถึงครอบครัวที่มีกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผลักดันให้มีพนักงานสอบสวนหญิงที่ทำงานด้านความรุนแรงในครอบครัวโดยเฉพาะ

ซึ่งกระทรวง พม. ก็ได้ผลักดันแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวฯ ในหลายประเด็น เช่น กำหนดเพิ่มโทษปรับความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว จากปรับไม่เกิน 6,000 บาท เป็นไม่เกิน 60,000 บาท แก้ไขนิยามความรุนแรงในครอบครัว บุคคลในครอบครัว ให้ครอบคลุมประเภทของการกระทำและครอบคลุมผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ในมุมของภาคประชาชน วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้แทนเครือข่ายต่อต้านความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศประเทศไทย มองว่าร่างกฎหมายที่กระทรวง พม. ขับเคลื่อนอยู่ มีข้อดีในแง่การขยายความนิยามให้ครอบคลุมให้มากขึ้น แต่ภาคประชาชนก็ยังมีข้อกังวลทั้งในแง่แนวคิดพื้นฐานของกฎหมายที่มุ่งเน้นให้ครอบครัวกลับมาอยู่ร่วมกันมากกว่าการคุ้มครองผู้ถูกกระทำ และอัตราโทษสำหรับความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว ที่ยังมีโทษเบากว่า เมื่อเทียบกับความผิดในประมวลกฎหมายอาญา อย่างความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา 295 ที่กำหนดโทษจำคุกไม่เกินสองปี และยังมีข้อกังวลเรื่องการยอมความได้โดยไม่มีเงื่อนไขที่ชัดเจน

ภาคประชาชนเสนอกฎหมายใหม่ เน้นเอาผิดผู้กระทำ คุ้มครองดูแลผู้เสียหาย

เครือข่ายต่อต้านความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศประเทศไทย จึงทำกิจกรรมรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวฯ ฉบับภาคประชาชน ผ่านทางเว็บไซต์ https://changedvlaw.com/ โดยยกร่างกฎหมายขึ้นใหม่ทั้งฉบับเพื่อใช้แทนที่กฎหมายที่ใช้อยู่ ที่มาจากสภาของคณะรัฐประหาร เพื่อเปลี่ยนแปลงหลักการพื้นฐานของกฎหมายฉบับนี้

บุษยาภา ศรีสมพงษ์ ทนายความด้านความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศและผู้ก่อตั้งองค์กรชีโร่ (Shero Thailand) อธิบายหลักการของพ.ร.บ.ความรุนแรงในครอบครัวฯ ฉบับภาคประชาชนว่า เป็นกฎหมายที่พัฒนาขึ้นโดยยึดผู้ถูกกระทำเป็นศูนย์กลาง (survivor-centered) มีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวที่ครอบคลุมรอบด้าน ทั้งในแง่ของสิทธิ สวัสดิภาพความปลอดภัย และการฟื้นฟูเยียวยาผู้เสียหาย โดยไม่ผลักภาระให้ผู้เสียหายต้องยอมความเพื่อรักษาครอบครัว หรือยอมคืนดีกับผู้กระทำความรุนแรงทั้งที่ยังมีความเสี่ยงถูกกระทำซ้ำ

ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวฯ ฉบับภาคประชาชน มีบทบัญญัติทั้งหมด 26 มาตรา สาระสำคัญ ดังนี้

เสนอใหม่ : วางระบบดูแล-ติดตามผู้เสียหาย กำหนดมาตรการแยกตัวผู้กระทำจากเหยื่อ

ในร่างฉบับภาคประชาชน แก้ไขนิยาม “ความรุนแรงในครอบครัว” โดยไม่ได้จำกัดผ่านการใช้ความรุนแรงทางร่างกาย จิตใจ สุขภาพ แต่เพิ่มเติมขึ้นมาคือ ความรุนแรงทางเพศ และเพิ่มเติมให้รวมถึงการใช้อำนาจหรืออิทธิพลควบคุมบังคับอย่างเป็นแบบแผนและต่อเนื่อง และการทอดทิ้งเด็กหรือบุคคลในครอบครัว

สำหรับกระบวนการแจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัว ในร่างฉบับภาคประชาชนกำหนดคล้ายกับในกฎหมายเดิม แต่ก็มีข้อแตกต่างในรายละเอียดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นในแง่การดูแลผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว หลังได้รับแจ้งเหตุ กฎหมายเดิมให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะเข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่เกิดเหตุ หรือไม่เข้าไปตรวจดูเลยก็ได้ ร่างของภาคประชาชน เสนอกำหนดกรอบเวลาให้เจ้าหน้าที่ “ต้อง” เข้าไปภายใน 24 ชั่วโมง 

อำนาจหน้าที่อื่นๆ ที่ร่างภาคประชาชนเสนอให้เพิ่มขึ้นมาจากกฎหมายเดิม ได้แก่

  • อำนาจพาผู้ถูกกระทำออกจากสถานที่เกิดเหตุหรือที่อยู่อาศัยที่พักร่วมกับผู้กระทำความรุนแรง หากมีความเสี่ยงที่จะถูกกระทำซ้ำ หรือผู้ถูกกระทำร้องขอให้พาออกไป โดยต้องจัดให้ผู้ถูกกระทำอยู่ในสถานที่ปลอดภัย เช่น บ้านพักเด็กและครอบครัวประจำจังหวัด
  • กรณีที่ผู้ถูกกระทำร้องทุกข์ หรือไม่อยู่ในวิสัยที่จะร้องทุกข์ได้และเจ้าหน้าที่ร้องทุกข์แทน พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องนำผลตรวจรักษาจากแพทย์และการประเมินผลกระทบทางจิตใจให้พนักงานสอบสวนเพื่อประกอบสำนวนคดี

เมื่อได้รับการแจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัว พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ที่รับแจ้งเหตุจะต้องเป็นผู้จัดการรายกรณี หรือจะจัดให้มีผู้จัดการรายกรณีภายใน 72 ชั่วโมง โดยผู้จัดการรายกรณีจะมีหน้าที่วางแผนจัดการปัญหาความรุนแรงของกรณีนั้นๆ ประสานงานกับคณะทำงานสหวิชาชีพ ติดตามประเมินผลการให้บริการผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ไม่ว่าจะในแง่ความปลอดภัย สุขภาพกาย สุขภาพจิต การเลี้ยงบุตร ฯลฯ จนกว่าผู้ถูกกระทำจะสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัย

ร่างฉบับภาคประชาชนกำหนดให้มีมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ ในระหว่างที่มีการแจ้งเหตุหรือร้องทุกข์ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ สามารถออกมาตรการได้โดยได้รับความเห็นชอบจากผู้ถูกกระทำความรุนแรง ข้อแตกต่างที่เพิ่มขึ้นจากกฎหมายเดิม คือ จากที่กำหนดมาตรการไว้อย่างหลวมๆ และเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจได้เท่าที่จำเป็นและสมควร เปลี่ยนเป็นการระบุให้ชัดเจนว่ามาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ จะต้องประกอบด้วย

  • ให้ผู้กระทำไปพบเจ้าหน้าที่ตามเงื่อนไข-เวลาที่กำหนด
  • ห้ามผู้กระทำก่อเหตุใดๆ ที่จะทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว
  • ห้ามผู้กระทำเข้าใกล้ เข้าไปในที่อยู่อาศัยของผู้ถูกกระทำ หรือสั่งให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวออกไปจากที่อยู่อาศัย
  • ห้ามผู้กระทำสร้างความเดือดร้อนรำคาญ บังคับ คุกคาม ติดตาม สะกดรอยตาม ฝั่งผู้ถูกกระทำ
  • ให้ผู้กระทำเข้ารับคำปรึกษาแนะนำทางจิตวิทยา หรือการบำบัดฟื้นฟูเพื่อแก้ไขพฤติกรรม
  • กรณีที่มีเหตุว่าผู้กระทำจะสร้างความเดือดร้อนรำคาญ บังคับ คุกคาม ฯลฯ ผู้ถูกกระทำ ให้ผู้กระทำทำทัณฑ์บนไว้โดยวางเงินตามสมควรเพื่อยืนยันว่าจะไม่ก่อเหตุอีก
  • ให้ผู้กระทำส่งมอบอาวุธซึ่งมีความเสี่ยงว่าอาจถูกใช้ในการกระทำความผิด
  • ให้ผู้กระทำชดใช้เงินช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ

เสนอใหม่ : ผู้กระทำความรุนแรงต้องรับผิดทางอาญา หากทำผิดซ้ำศาลเพิ่มโทษได้

ร่างพ.ร.บ.ความรุนแรงในครอบครัวฯ ฉบับภาคประชาชน ไม่ได้กำหนดความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวแยกออกมาเป็นความผิดเฉพาะอีกต่อไป แต่กำหนดให้การกระทำรุนแรงในครอบครัวที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น ก็ต้องดำเนินคดีอาญาในศาลที่มีอำนาจ และลงโทษผู้กระทำความผิดตามกฎหมายนั้นๆ ตัวอย่างเช่น หากการใช้ความรุนแรงในครอบครัวนั้นเป็นการทำร้ายร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 กระบวนการพิจารณาก็ต้องพิจารณาโดยศาลอาญา ศาลจังหวัด หรือศาลแขวงที่มีเขตอำนาจ ไม่ต้องแยกเป็นคดีพิเศษในศาลเยาวชนและครอบครัว

นอกจากนี้ ในร่างฉบับภาคประชาชน ยังไม่ใช้ข้อยกเว้นให้การใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายสามารถยอมความได้ เหมือนในกฎหมายเดิม ให้กลับไปใช้หลักการตามประมวลกฎหมายอาญา ที่ความผิดฐานทำร้ายร่างกายยอมความไม่ได้ และกำหนดอายุความในคดีความรุนแรงในครอบครัว ตามหลักการเดียวกับความผิดอื่นในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งการนับอายุความสำหรับคดีความรุนแรงในครอบครัว ไม่ได้เริ่มนับวันที่เกิดการกระทำความผิดเท่านั้น แต่จะเริ่มนับก็ต่อเมื่อผู้ถูกกระทำอยู่ในวิสัยหรือมีสภาพจิตใจที่สามารถแจ้งหรือร้องทุกข์ได้ด้วยตนเอง

ในร่างฉบับภาคประชาชนยังกำหนดว่า หากการกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นการกระทำความผิดซ้ำ ในระหว่างที่ผู้กระทำความผิดรับโทษจำคุกอยู่หรือภายในสามปีนับแต่พ้นโทษ ศาลมีอำนาจเพิ่มโทษอีกกึ่งหนึ่งของความผิดครั้งหลังได้

สำหรับกรณีที่ผู้กระทำผิดกระทำรุนแรงในครอบครัวเพราะตนเองหรือบุคคลในครอบครัวถูกกระทำความรุนแรงอย่างต่อเนื่องจากฝั่งผู้เสียหายมาก่อน จนผู้กระทำผิดได้รับผลกระทบทางร่างกายหรือจิตใจอย่างรุนแรง ศาลก็สามารถลงโทษผู้นั้นได้น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ โดยต้องรับฟังความเห็นจากจิตแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชที่ตรวจรักษาผู้กระทำความผิดรายนั้นประกอบด้วย

เสนอใหม่ : หากยอมความไปแล้ว ผู้กระทำฝ่าฝืนเงื่อนไข ยกคดีมาดำเนินการต่อได้

กรณีที่ผู้ถูกกระทำความรุนแรงประสงค์จะถอนคำร้องทุกข์หรือถอนฟ้องหรือยอมความ ร่างพ.ร.บ.ความรุนแรงในครอบครัวฯ ฉบับภาคประชาชน กำหนดหลักเกณฑ์ให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ (ขึ้นอยู่กับว่าคดีอยู่ในขั้นตอนใด) จะต้องจัดทำบันทึกตกลงก่อนการยอมความหรือถอนคำร้องทุกข์หรือถอนฟ้อง กำหนดเงื่อนไขสำหรับการยอมความร่วมกับจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และฝั่งผู้ถูกกระทำ โดยพิจารณาจากรายงานจากสืบเสาะของพนักงานคุมประพฤติประกอบด้วย

ในร่างเสนอให้ “ต้อง” วางเงื่อนไขว่า ผู้กระทำจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง หากผู้กระทำปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงและเงื่อนไขแล้ว ถึงจะยอมความหรือถอนคำร้องทุกข์หรือถอนฟ้องได้ หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข พนักงานสอบสวน อัยการ หรือศาล มีอำนาจยกคดีขึ้นมาดำเนินการต่อไป เพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดได้

ทั้งนี้ การกำหนดเงื่อนไข จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถูกกระทำด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถร่วมลงชื่อเพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวฯ ฉบับภาคประชาชน ได้ทาง https://changedvlaw.com/

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ