88 ปี ประชาธิปไตยไทย: กฎหมาย นิติรัฐ ในทัศนะของวรเจตน์ ภาคีรัตน์

24 มิถุนายน 2563 รายการ “The Politics 88 ปี ประชาธิปไตยไทย” ได้ถ่ายทอดการสนทนากับศาสตราจารย์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 88 ปี ประชาธิปไตยไทย โดยบทสนทนามุ่งเน้นไปถึงหลักนิติรัฐที่วางรากฐานมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แนวคิดทางกฎหมาย และประชาธิปไตยในประเทศไทย

Worachet Pakeerat Quotes

ภาพฝันการเป็น ‘นิติรัฐ’ ของคณะราษฎรที่ยังไปไม่ถึง

วรเจตน์อธิบายว่า หลักนิติรัฐได้แทรกซึมอยู่ในหลักหกประการของคณะราษฎร ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดการปกครองโดยกฎหมายที่เป็นธรรม แนวคิดเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน แม้ว่าจะไม่ได้ถูกบัญญัติไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญก็ตาม ทว่าในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่สัญลักษณ์ของคณะราษฎรเท่านั้นที่ถูกทำให้จางหาย แต่จุดมุ่งหมายแห่งการเป็น ‘นิติรัฐ’ ของคณะราษฎรก็ยังมิได้เป็นไปตามที่คาดหมายไว้ 

วรเจตน์มองว่า อุดมการณ์ของคณะราษฎรดำรงอยู่อย่างเข้มข้นเพียงแค่ 15 ปี กล่าวคือ พ.ศ. 2475-2490 และในปี 2490 นับเป็นจุดพลิกผันบางอย่างที่ยังส่งผลมาถึงสังคมไทยในปัจจุบัน การต่อสู้เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายการเป็นนิติรัฐจึงไม่ได้จบเมื่อปี 2475 แต่ยังดำเนินต่อมา จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่จบสิ้น

เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ‘การปกครอง’ แต่ไม่เปลี่ยนแปลงองค์กร ‘ตุลาการ’

ในทัศนะของวรเจตน์ รัฐธรรมนูญ 2489 (ฉบับที่สาม) เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่สุด แต่มีผลบังคับใช้เพียงปีเศษเท่านั้น ภายหลังเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่แปด บ้านเมืองระส่ำระสาย มีการรัฐประหารในปี 2490 ก่อตั้งระบอบ ‘ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข’ และเข้าสู่ทิศทางเช่นนี้เรื่อยมา

รัฐธรรมนูญ 2540 แม้ว่าจะมีความเป็นประชาธิปไตยอยู่บ้าง แต่ก็ยังมีปัญหาในการจัดโครงสร้างบางอย่าง วรเจตน์มองว่า เหตุที่เป็นเช่นนั้นสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ยังไม่สามารถทำให้หลักการแบ่งแยกอำนาจนั้นสมบูรณ์ได้ การมีส่วนร่วมของประชาชนยังไม่ถึงระดับที่ควรจะเป็น เมื่อครั้นเปลี่ยนแปลงการปกครองได้มุ่งเน้นไปที่การปรับโฉมหน้าฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ทว่ากลับละเลยการปฏิรูป ‘ตุลาการ’ หลักวิธีคิดของตุลาการตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองยังคงใช้สืบต่อมา และมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

นักกฎหมาย ผู้เล่นสำคัญในระบอบประชาธิปไตย ‘แบบไทยๆ’

ในมุมมองของวรเจตน์ “อุดมการณ์กำกับการตีความกฎหมาย” จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพิจารณาถึงอุดมการณ์ของนักกฎหมายอันส่งผลต่อกฎหมายในประเทศไทย เขาได้หยิบยกคำอธิบายของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ณัฐพล ใจจริง นักประวัติศาสตร์ที่อธิบายวิธีคิดของนักกฎหมายซึ่งมีอยู่สองประเภท ประเภทที่หนึ่ง คือ นักกฎหมายรัฐธรรมนูญนิยม ประเภทที่สอง คือ นักกฎหมายจารีตนิยม

นักกฎหมายรัฐธรรมนูญนิยม ซึ่งยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐแบบอารยประเทศมีอิทธิพลเพียงช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น โดยช่วงแรกมีความพยายามจะประนีประนอมกับทุกฝ่ายให้มากที่สุด เช่น การยินยอมให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเติมคำว่า ‘ชั่วคราว’ ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก และทำความตกลงร่วมกันกับสถาบันกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญฉบับที่สอง เพื่อประนีประนอมกับทุกฝ่ายให้มากที่สุด 

ต่อมาในปี 2489 นักกฎหมายที่มีแนวคิดนี้ได้มีบทบาทมากยิ่งขึ้น ผลักดันให้เกิดระบบสองสภาที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2489 ได้แก่สภาผู้แทนราษฎร และพฤฒสภา ซึ่งมีลักษณะเป็นสภาสูงอันอาจเทียบได้กับวุฒิสภาในปัจจุบัน ทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้งทั้งคู่ สภาหนึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรง สภาหนึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม ต่อมาระบบดังกล่าวได้ถูกทำลายลงในการรัฐประหาร 2490 และกำเนิดวุฒิสภาซึ่งมาจากการ ‘แต่งตั้ง’ เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2490

นักกฎหมายจารีตนิยม ซึ่งเป็นฝ่ายที่มีบทบาทนำในสังคมไทย มีแนวคิดในการปรับหลักคิดทางสากลให้เข้ากับบริบท ‘แบบไทย’ นักกฎหมายฝ่ายนี้บางส่วนไปทำงานให้กับผู้ถืออำนาจหรือที่เรียกว่า ‘เนติบริกร’ โดยอาจจะคำนึงถึงหลักการบางอย่างน้อยลง และมีชุดความคิดบางอย่างในการกำหนดกฎหมายหรืออธิบายกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ‘ในสถานการณ์ฉุกเฉิน’ ช่วงที่มีการรัฐประหารหรือในการบริหารของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร 

ในความคิดเห็นของวรเจตน์ การนำคุณค่าแบบไทยเข้าไปสวมใส่ในคุณค่าสากล เท่ากับเป็นการปฏิเสธสิ่งนั้น เช่น “ความยุติธรรมแบบไทย ก็คือความอยุติธรรม ประชาธิปไตยแบบไทย ก็คือไม่ใช่ประชาธิปไตย นิติรัฐแบบไทย ก็คือไม่ใช่นิติรัฐ”  

และวรเจตน์ยังได้ทิ้งท้ายถึงอนาคตของประชาธิปไตยไทยว่า “ยังคงมืดดุจรัตติกาลมากขึ้นกว่ากาลก่อน แต่ก็มีความอื้ออึงมากขึ้น” การกดทับยังทำไม่ได้สนิท เพียงแต่ว่าแสงยังไม่มาถึง เมื่อเสียงอื้ออึงเพิ่มมากขึ้น แสงก็อาจจะมา

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป