เปิดคำวินิจฉัยส่วนตน พบ “ประธานศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยเป็นคุณกับ คสช.

ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีนัดอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคอนาคตใหม่ จากกรณีกู้เงิน ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ เป็นจำนวนเงิน 191 ล้านบาท ซึ่งถูกตีความว่าพรรคมีรายได้หรือผลประโยชน์อื่นใดโดยที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะกฎหมายไม่ได้ระบุให้พรรคสามารถมีรายได้จากการกู้เงิน

ท่ามกลางกระแสความเห็นที่แตกต่างในข้อเท็จจริงของคดีว่า เงินกู้ถือเป็นรายได้ หรือเงินบริจาคหรือไม่ และการที่กฎหมายไม่ได้เขียนไว้ พรรคการเมืองจะมีสิทธิในการกู้ยืมเงินได้หรือไม่ อยากชวนทุกคนไปสำรวจที่มาและความคิดเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนในการวินิจฉัยคดีทางการเมือง เพื่อให้เห็นทิศทางของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

 

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากยึดโยงคณะรัฐประหาร

แม้จะมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ) ปี 2560 แต่การสรรหาตุลาการชุดใหม่มาแทนที่ตุลาการชุดเดิมที่ปฏิบัติหน้าที่มาก่อนการรัฐประหารปี 2557 เพิ่งจะผ่านการเห็นชอบจากวุฒิสภาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 ทำให้คณะตุลาการที่พิจารณาคดียุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งจะอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นตุลาการที่ปฏิบัติหน้าที่ในยุค คสช. มาโดยตลอด ซึ่งประกอบไปด้วย

  • นุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ (รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา)
  • ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล (ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์)
  • ศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์)
  • ชัช ชลวร (รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา)
  • บุญส่ง กุลบุปผา (รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา)
  • ดร.ปัญญา อุดชาชน (ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์)
  • อุดมศักดิ์ นิติมนตรี (รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด)
  • ศาสตราจารย์ ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ (ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์)
  • วรวิทย์ กังศศิเทียม (รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด)

โดยตุลาการทั้ง 9 คน มีตุลาการ 5 คน ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งหลังอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ ได้แก่ นุรักษ์ มาประณีต, ชัช ชลวร, บุญส่ง กุลบุปผา, อุดมศักดิ์ นิติมนตรี และจรัญ ภักดีธนากุล แต่ด้วยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. (มาตรา 44) ที่ 24/2560 ได้ต่ออายุการทำงานให้กับตุลาการทั้ง 5 คน ไปจนกว่าจะทำการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่แล้วเสร็จ และอีก 2 คน มาจากการสรรหาในยุค คสช. และผ่านการเห็นชอบโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาแต่งตั้งของ คสช. ได้แก่ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และ ดร.ปัญญา อุดชาชน ส่วนอีก 2 คนสุดท้ายเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่อยู่ในตำแหน่งทั้งและระหว่างการรัฐประหาร ปี 2557 ได้แก่ ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ และ วรวิทย์ กังศศิเทียม

ด้วยเหตุนี้ ทำให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้มีผู้ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานมากเป็นประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะ นุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ดำรงตำแหน่งมายาวนานถึง 13 ปี เพราะเคยดำรงตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2549 จนได้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2563 และมีส่วนในการวินิจฉัยคดีสำคัญทางการเมืองมาโดยตลอด เช่น คดียุบพรรคไทยรักไทย คดียุบพรรคพลังประชาชน คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ จนมาถึงคดียุบพรรคอนาคตใหม่

 

เปิดคำวินิจฉัยส่วนตน พบ “ประธานศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยเป็นคุณกับ คสช.

จากการพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีการเมืองหลายคดี พบว่า คำวินิจฉัยส่วนใหญ่เป็นผลดีกับฝ่าย คสช. มากกว่าฝ่ายที่ต่อต้าน คสช. เช่น การวินิจฉัย พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ การวินิจฉัยว่า รัฐมนตรียุค คสช. ไม่ผิดฐานถือหุ้นสัมปทานรัฐ ในขณะที่ฝ่ายต่อต้าน คสช. ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคก่อนการเลือกตั้ง หรือการสั่งให้ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.

ทั้งนี้ หากเราพิจารณาดูคำวินิจฉัยส่วนตน หรือคำวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องทำออกมาก่อนที่จะนำไปเสนอต่อองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดเพื่อเป็นการลงคะแนนเสียงข้างมากเพื่อทำคำวินิจฉัยส่วนกลางในคดีการเมืองที่สังคมให้ความสนใจจะพบว่า นุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และ จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีความเห็นโน้มเอียงในทางที่เป็นคุณกับ คสช. มากที่สุด

โดยตัวอย่างของคดีที่ไอลอว์ไปทำการสำรวจได้แก่

หนึ่ง คดีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ พ.ร.บ.ประชามติฯ

คดีนี้เริ่มต้นจากภาคประชาชนรวมตัวกันร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรคสอง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 4 หรือไม่ เนื่องจากเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนเกินความจำเป็น และกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง ว่า พ.ร.บ.ประชามติฯ ไม่ขัดหรือหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557

สอง คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ

คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากพรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในบัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรค แต่ต่อมามีพระราชโองการ ประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ ชี้ว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เพราะพระราชวงศ์ที่ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

ต่อมา ที่ประชุม กกต. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยื่นคำร้องขอยุบพรรคไทยรักษาชาติต่อศาลรัฐธรรมนูญเนื่องจากเห็นว่า “กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (2) ซึ่งเป็นเหตุในการยุบพรรคได้ และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องดังกล่าว

คดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยอย่างเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ให้ ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ตามมาตรา 92 และมีมติ 6 ต่อ 3 ในการออกคำสั่งเพิกถอนสิทธิทางการเมืองแก่คณะกรรมการบริหารพรรค 10 ปี  และมีมติเอกฉันท์ในประเด็นที่ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้งห้ามไปจัดตั้งพรรคการเมืองอื่นเป็นเวลา 10 ปี และห้ามใช้ชื่อพรรคเดิมซ้ำ และชื่อย่อเกี่ยวกับพรรคการเมืองนี้ เป็นเวลา 10 ปี

สาม คดีรัฐมนตรียุค คสช. ถือหุ้นสัมปทานรัฐ ขัดรัฐธรรมนูญ

คดีนี้เริ่มจาก เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยยื่นเรื่องให้ กกต. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ว่าความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีสี่คนในรัฐบาล คสช. สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) เนื่องจากบุคคลดังกล่าวมีการกระทำเข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์และจะเข้าข่ายเป็นการขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 วรรคหนึ่ง(2) มาตรา 160 (8) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง(5) เนื่องจากตัวเอง คู่สมรส หรือบุตร ถือครองหุ้นบริษัทซึ่งได้รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ

ในคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 เสียง เห็นว่าการกระทำของรัฐมนตรี 3 ใน 4 คน ไม่เป็นความผิด เพราะได้ถือหุ้นที่มีมาก่อนการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ดังนั้นความเป็นรัฐมนตรีจึงไม่สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) โดยผลการลงมติส่วนตนของศาลรัฐธรรมนูญมีดังนี้

  • ชัช ชลวร ตัดสินให้เป็นรัฐมนตรีต่อได้
  • นุรักษ์ มาประณีต ตัดสินให้เป็นรัฐมนตรีต่อได้
  • บุญส่ง กุลบุปผา ตัดสินให้ความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลง
  • อุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตัดสินให้ความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลง
  • จรัญ ภักดีธนากุล ตัดสินให้เป็นรัฐมนตรีต่อได้
  • ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ตัดสินให้ความเป็นรัฐมนตรีของปนัดดาสิ้นสุดลง
  • นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตัดสินให้เป็นรัฐมนตรีต่อได้
  • วรวิทย์ กังศศิเทียม ตัดสินให้เป็นรัฐมนตรีต่อได้
  • ปัญญา อุดชาชน ตัดสินให้เป็นรัฐมนตรีต่อได้

สี่ คดี พล.อ.ประยุทธ์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

คดีนี้เริ่มจาก วันที่ 26 มิถุนายน 2562 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคฝ่ายค้าน เข้าชื่อกันจำนวน 110 คน ขอให้ประธานสภาผู้แทนฯ ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขาดคุณสมบัติในการเป็นนายกรัฐมนตรีเนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160(6) ประกอบกับมาตรา 98 (15) เพราะดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ จึงทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช. มาจากการยึดอำนาจการปกครองประเทศ โดยได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผลสืบเนื่องมาจากการยึดอำนาจและเป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฎฐาธิปัตย์ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของรัฐหรือหน่วยงานใด ทั้งเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมายและไม่มีกฎหมายกำหนดกระบวนวิธีการได้มาหรือการเข้าสู่ตำแหน่ง โดยมีอำนาจหน้าที่เฉพาะชั่วคราวในช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้มีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อย ดังนั้น ตำแหน่งหัวหน้า คสช. จึงไม่มีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (15) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(6) ประกอบกับมาตรา 98 (15)

ซึ่งในคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการทั้งเก้าคนเห็นไปในทางเดียวกัน มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ

ห้า คดีธนาธรถือหุ้นวีลัคมีเดีย ขัดรัฐธรรมนูญ

คดีนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อสำนักข่าวอิศราตั้งข้อสังเกตว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย มีการแจ้งเปลี่ยนผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียน เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้ง 3 วัน และเกิดขึ้นหลังวันสมัครรับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562

ต่อมา กกต.ก็ได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินการสืบสวนและไต่สวนธนาธร ว่าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทสื่อชื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เพราะสงสัยว่ายังถือหุ้นอยู่หลังการเลือกตั้ง เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ  

จนกระทั่งในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากคะแนน 7 ต่อ 2 วินิจฉัยให้ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พ้นจากการเป็น ส.ส. จากการเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ตามที่ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า เป็นการกระทำผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) ที่ห้าม “เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ” เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยผลการลงมติส่วนตนของศาลรัฐธรรมนูญมีดังนี้

  • ชัช ชลวร เสียงข้างน้อย ตัดสินให้ไม่ผิด เป็น ส.ส. ต่อได้
  • นุรักษ์ มาประณีต ตัดสินให้มีความผิด พ้นสภาพ ส.ส.
  • บุญส่ง กุลบุปผา ตัดสินให้มีความผิด พ้นสภาพ ส.ส.
  • อุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตัดสินให้มีความผิด พ้นสภาพ ส.ส.
  • จรัญ ภักดีธนากุล ตัดสินให้มีความผิด พ้นสภาพ ส.ส.
  • ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ เสียงข้างน้อย ตัดสินให้ไม่ผิด เป็น ส.ส. ต่อได้
  • นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตัดสินให้มีความผิด พ้นสภาพ ส.ส.
  • วรวิทย์ กังศศิเทียม ตัดสินให้มีความผิด พ้นสภาพ ส.ส.
  • ปัญญา อุดชาชน ตัดสินให้มีความผิด พ้นสภาพ ส.ส.

หก เสียบบัตรแทน ลงคะแนน พ.ร.บ.งบฯ ไม่เป็นโมฆะ

คดีนี้เริ่มจาก 29 มกราคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้อง กรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งพรรครัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 หลังพบกรณี ‘ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน’ หรือใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติทั้งที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุมในระหว่างการพิจารณากฎหมายในวาระ 2 และ 3

หลังการยื่นคำร้องโดย ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนฯ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีมติเสียงข้างมากคะแนน 5 ต่อ 4 วินิจฉัยในประเด็นที่ว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไม่เป็นโมฆะ โดยผลการลงมติส่วนตนของศาลรัฐธรรมนูญมีดังนี้

  • ชัช ชลวร ตัดสินให้ พ.ร.บ.งบฯ เป็นโมฆะ
  • นุรักษ์ มาประณีต ตัดสินให้ พ.ร.บ.งบฯ ไม่เป็นโมฆะ
  • บุญส่ง กุลบุปผา ตัดสินให้ พ.ร.บ.งบฯ ไม่เป็นโมฆะ
  • อุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตัดสินให้ พ.ร.บ.งบฯ เป็นโมฆะ
  • จรัญ ภักดีธนากุล ตัดสินให้ พ.ร.บ.งบฯ ไม่เป็นโมฆะ
  • ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ตัดสินให้ พ.ร.บ.งบฯ เป็นโมฆะ
  • นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตัดสินให้ พ.ร.บ.งบฯ เป็นโมฆะ
  • วรวิทย์ กังศศิเทียม ตัดสินให้ พ.ร.บ.งบฯ ไม่เป็นโมฆะ
  • ปัญญา อุดชาชน ตัดสินให้ พ.ร.บ.งบฯ ไม่เป็นโมฆะ

เจ็ด คดียุบพรรคอนาคตใหม่ ล้มล้างสถาบันฯ

คดีนี้ ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยอ้างว่า พรรคการเมืองนี้กระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่เรียกเป็นชื่อเล่นว่า “คดีอิลลูมินาติ” โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ในการยื่นคำร้อง

แต่ในคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค, ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ไม่มีความผิดฐานล้มล้างการปกครอง และพรรคอนาคตใหม่จะไม่ถูกยุบพรรคจากการฟ้องร้องในครั้งนี้ด้วย มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง ให้ยกคำร้องดังกล่าว

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น