เลือกตั้ง 62: ในระบอบประชาธิปไตย ‘พรรคฝ่ายค้าน’ เป็นสิ่งสำคัญ

ในระบอบประชาธิปไตย ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล และกลไกสำคัญของการตรวจสอบรัฐบาลคือ 'ฝ่ายค้าน' ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ให้อำนาจสภาในการในการตั้งกระทู้ถาม แปรญัตติกฎหมาย ลงมติไม่เห็นชอบกฎหมาย หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในกรณีที่รัฐบาลบริหารประเทศผิดพลาด ล้มเหลว หรือกระทำการใดๆ ที่ขัดต่อมติมหาชน 
พรรคที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลมีโอกาสเป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้าน
โดยปกติการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา จะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส.ส. เป็นลำดับที่หนึ่ง เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล และบุคคลที่พรรคเสียงข้างมากเสนอก็สมควรได้รับการสนับสนุนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 
ส่วน ส.ส. ของพรรคการเมืองที่ไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลก็สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น 'ฝ่ายค้าน' โดยหัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายเสียงข้างน้อยก็สมควรจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำฝ่ายตรวจสอบ และควบคุมให้ฝ่ายบริหารดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา
หลักการดังกล่าวสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 106 ที่กำหนดให้ ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้ง ส.ส. ผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจํานวนสมาชิกมากที่สุด และสมาชิกมิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
"ตั้งกระทู้ถาม-คว่ำกฎหมาย" อำนาจสำคัญของสภา
อย่างที่ได้กล่าวมาตั้งแต่ต้น ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลไม่ให้กระทำการที่ไม่ชอบหรือขัดต่อความต้องการของประชาชน รวมถึงยับยั้งมิให้รัฐบาลใช้อำนาจเกินขอบเขต โดยใช้การตั้งกระทู้ถาม เสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ รวมถึงลงมติไม่เห็นชอบร่างกฎหมายที่รัฐบาลเป็นคนเสนอมา 
ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 150 ให้อำนาจ ส.ส. และ ส.ว. ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีเกี่ยวกับการทำหน้าที่ได้ โดยจะถามเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้า แต่ทว่า รัฐมนตรีมีสิทธิที่จะไม่ตอบกระทู้นั้น หากเรื่องดังกล่าวยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยและประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน
อีกทั้ง ในมาตรา 155 กำหนดให้ผู้นำฝ่ายค้านมีอำนาจแจ้งประธานสภาเพื่อขอให้มีการเปิดอภิปรายหรือให้ความเห็นต่อรัฐบาลได้ในกรณีที่ที่มีปัญหาสําคัญเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยหรือเศรษฐกิจของประเทศได้ ภายใน 15 วันที่ผู้นำฝ่ายค้านแจ้ง และการอภิปรายดังกล่าว คณะรัฐมนตรีต้องเข้าร่วมการประชุมด้วย
ทั้งนี้ ในการพิจารณากฎหมายทุกฉบับที่รัฐบาลเสนอมา หากสภาเห็นว่า กฎหมายดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์ หรือยังมีข้อบกพร่อง สภาก็มีสิทธิที่จะแปรญัตติแก้ไขกฎหมายได้ ซึ่งที่ผ่านมาในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะกำหนดสัดส่วนให้พรรคฝ่ายค้านจะต้องได้รับการแต่งตั้งเข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ รวมถึงพรรคฝ่ายค้านสามารถอภิปรายและลงมติไม่เห็นชอบกฎหมายเพื่อยุติกฎหมายฉบับดังกล่าวได้อีกด้วย
"อภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ" กลไกการถอดถอนรัฐบาล
ในกรณีที่สภาผู้แทนฯ เห็นว่า การบริหารประเทศของรัฐบาลล้มเหลวจนไม่สมควรบริหารประเทศต่อไป รัฐธรรมนูญมาตรา 151 กำหนดให้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ และเมื่อมีการเสนอญัตติอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจจะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เว้นแต่จะมีการถอนญัตติดังกล่าว
ในการลงมติไม่ไว้วางใจ หาก ส.ส. ลงคะแนนเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้รัฐมนตรีดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง และถ้าในกรณีนายกรัฐมนตรีถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจและมีการลงมติมากกว่าครึ่งหนึ่ง ให้คณะรัฐมนตรีทุกคนต้องพ้นไปจากตำแหน่งด้วย
รัฐธรรมนูญ 2560 ตัดอำนาจฝ่ายค้าน 'สรรหา' องค์กรอิสระ
รัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 จะกำหนดบทบาทของผู้นำฝ่ายค้านเข้าไปมีส่วนร่วมในการสรรหาองค์กรอิสระต่างๆ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) แต่ทว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ได้ตัดผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรไป และกำหนดสัดส่วนคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระชุดใหม่ไปผูกขาดไว้กับบุคคลที่องค์กรอิสระแต่งตั้งที่ไม่เคยเป็นศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระมาก่อน ซึ่งเป็นเสียงข้างมากในกรรมการสรรหา หรือให้องค์กรอิสระสรรหากันเอง
You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น