เลือกตั้งวันไหนดี? 24 ก.พ./ 3 มี.ค./ 10 มี.ค. ทำเร็ว ได้รัฐบาลใหม่ก่อนพระราชพิธีเริ่ม

วันที่ 1 มกราคม 2562 สำนักพระราชวังออกประกาศ กำหนดวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 และต่อมาวันที่ 2 มกราคม 2562 ซึ่งคาดหมายกันว่า เป็นวันที่พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่สุดท้ายแล้วไม่ได้ประกาศ เปลี่ยนเป็นความพยายามอธิบายจาก วิษณุ เครืองาม ในฐานะประธานฝ่ายพระราชพิธีว่า ไม่ควรมีกิจกรรมทางการเมืองมาทับซ้อนกับกิจกรรมของพระราชพิธี ซึ่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็ไม่ได้มีแค่วันที่ 4-6 พฤษภาคม แต่มีกิจกรรมก่อนหน้าและหลังอีก 15 วัน และการเลือกตั้งก็ไม่ได้มีแค่ในวันเลือกตั้งวันเดียว แต่ยังมีการประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 60 วัน การเปิดประชุมรัฐสภา ฯลฯ
หากวันเลือกตั้งไม่ใช่วันที่ 24 กุมภาพันธ์อย่างที่ คสช. เคยประกาศไว้แล้ว เมื่อพิจารณาเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องตามรัฐธรรมนูญปี 2560  และกำหนดการของพระราชพิธี วันเลือกตั้งที่อาจเป็นไปได้ แบ่งได้เป็น 2 ช่วงด้วยกัน คือ ช่วงแรก “24 ก.พ./ 3 มี.ค./ 10 มี.ค.” ซึ่งอาจจะได้รัฐบาลใหม่ที่มาจาการเลือกตั้งก่อนงานพระราชพิธี และช่วงที่สอง "24 มี.ค. / 31 มี.ค. / 7 เมษา” ซึ่งอาจจะได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง หลังงานพระราชพิธี
 
 

 

รัฐธรรมนูญ-พระราชพิธี สองเงื่อนไขกำหนดวันเลือกตั้ง 

 

     1. รัฐธรรมนูญกำหนดให้เลือกตั้งภายใน 150 วัน หลังกฎหมายเลือกตั้งบังคับใช้ 
“เลิกคิดเรื่องเลือกตั้งหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไปได้เลย” – วิษณุ เครืองาม 
วิษณุกล่าวเช่นนั้นเพราะรัฐธรรมนูญปี 2562 มาตรา 268 กำหนดว่า 
"มาตรา 268 ให้ดําเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา 267 (1) (2) (3) และ (4) มีผลใช้บังคับแล้ว" 
ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หรือ ‘กฎหมายเลือกตั้ง’ เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 11 ธันวาคม 2561 เป็นฉบับสุดท้าย เมื่อนับไป 150 วัน เวลาอย่างช้าที่สุดที่จะต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ก็คือ วันที่ 9 พฤษภาคม 2562 และวันอาทิตย์สุดท้ายที่เป็นไปได้ในปฏิทิน ก็คือ วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม 2562
ส่วนกิจกรรมที่จะต้องจัดทำให้แล้วเสร็จหลังวันเลือกตั้ง ได้แก่ (1) การนับคะแนน การตรวจสอบการทุจริต การจัดเลือกตั้งซ่อม และประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ซึ่งกฎหมายเลือกตั้งมาตรา 127 กำหนดให้ กกต. ต้องประกาศผลการเลือกตั้งให้ได้มากกว่า 95% โดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วันหลังการเลือกตั้ง (2) การเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 121 และ 122 กำหนดให้ เปิดประชุมรัฐสภาภายใน 15 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง และพระมหากษัตริย์หรือผู้แทนทรงเปิดประชุม
     2. พระราชพิธีบรมราชาภิเษกวันที่ 4-6 พ.ค. และอย่างน้อย 15 วันก่อนหน้าและหลัง
มีกิจกรรมหน้ามาครึ่งเดือนและมีกิจกรรมตามหลังมาอีกครึ่งเดือน” – วิษณุ เครืองาม 
วิษณุอธิบายว่า การพระราชพิธีบรมราชภิเษกไม่ได้มีแค่ 3 วัน ตามประกาศสำนักพระราชวังเท่านั้น แต่ก่อนและหลังพระราชพิธี มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อีกอย่างน้อย 15 วันนับไปหน้าและหลัง สรุปคือ พระราชพิธีใช้เวลาทั้งหมด 1 เดือนครอบคลุมเวลาตั้งแต่กลางเดือนเมษายนจนถึงกลางเดือนพฤษภาคมเป็นอย่างน้อย
กำหนดการพระราชพิธีคร่าวๆ อาจทราบโดยนำหมายกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ ที่จัดขึ้นในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 มาเทียบ เพราะพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ‘ในหลวงรัชกาลที่ 10’ จะจัดขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 จึงอาจคำนวนกิจกรรมพระราชพิธีอื่นด้วยการนับถอยหลังหนึ่งวัน
พระราชพิธีคราวๆ ในสมัยรัชกาล 10 อาจเป็นดังนี้ เดือนมีนาคม วันที่ 17-18 มี.ค. มีการตั้งพิธีทำน้ำอภิเษก (ถ้านับตั้งแต่วันนี้เท่ากับมีกิจกรรมก่อนพระราชพิธีถึง 45 วัน) จากนั้น หนึ่งเดือนผ่านไป เดือนเมษายน วันที่ 19-20 เม.ย. มีพระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ จากนั้นสองอาทิตย์ เดือนพฤษภาคม วันที่2 พ.ค. มีพระราชพิธีถวายสักการะพระบรมอัฐิ พระอัฐิ พระราชบุพการี วันที่ 3 พ.ค. มีการประกาศพระราชพิธีบรมราชาภิเษกท่ามกลางมหาสมาคม วันที่ 4 พ.ค. มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 5 พ.ค. มีพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงศ์ วันที่ 6 พ.ค. พสกนิกร คณะทูตานุทูต และกงสุลต่างประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นถึงวันที่ 20 พ.ค เป็นกิจกรรมที่ไม่ใช่พระราชพิธี แต่เป็นกิจกรรมที่ประชาชนและรัฐบาลจัด เช่น กิจกรรมการสวดมนต์ถวายพระพรชัยมงคล และกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติจิตอาสา เป็นต้น 
กิจกรรมการเลือกตั้งต้องไม่ทับซ้อนกับกิจกรรมพระราชพิธี
"อยากให้ กกต. มาบริหารจัดการให้เกิดความเหมาะสม ไม่ให้ทับซ้อนกับการพระราชพิธี” – วิษณุ เครืองาม
วิษณุกล่าวด้วยว่า ถ้าเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ตามเดิมก็ไม่ได้กระทบอะไร แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ กิจกรรมหลังการเลือกตั้ง เช่น การประกาศรับรองผลการเลือกตั้งภายใน 60 วัน หรือ วันที่ 24 เมษายน จะทับซ้อนกับพระราชพิธี เช่นเดียวกับการเปิดประชุมรัฐสภาภายใน 15 วัน หลัง กกต. รับรองผล หรืออาจมีขึ้นภายในวันที่ 8 พฤษภาคม ซึ่งต้องมีการเสด็จเปิดประชุมรัฐสภาด้วย แต่ช่วงนั้นจะมีพระราชพิธีแทบตลอดทุกวัน
อย่างไรก็ดี ความเห็นของวิษณุนั้นอิงตามกรอบเวลาอย่างช้าที่สุดของรัฐธรรมนูญทำให้การเลือกตั้งทับซ้อนกันกับพระราชพิธี แต่ถ้าเร่งทำงานอย่างเร็วที่สุดไม่ได้ใช้เวลาเต็มตามที่กฎหมายให้ไว้ การเลือกตั้งอาจไม่ทับซ้อนกับพระราชพิธีก็เป็นได้ 
หากพิจารณาวันเลือกตั้งให้เป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญและไม่ให้ทับซ้อนกับพระราชพิธี จะพบว่า เราสามารถกำหนดวันเลือกตั้งในวันใดวันหนึ่งของ 2 ช่วงเวลาด้วยกัน ช่วงแรก ได้แก่ วันที่ 24 ก.พ./ 3 มี.ค./ 10 มี.ค. โดยใช้กรอบเวลาอย่างเร็วที่สุดตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติกันมา จะได้รัฐบาลใหม่ก่อนพระราชพิธี ช่วงที่สองได้แก่ วันที่ 24 มี.ค. / 31 มี.ค. / 7 เมษา โดยใช้กรอบเวลาอย่างช้าสุดตามรัฐธรรมนูญ จะได้รัฐบาลใหม่หลังพระราชพิธี
เลือกตั้ง 24 ก.พ./ 3 มี.ค./ 10 มี.ค. ทำอย่างเร็ว ตั้งรัฐบาลใหม่ได้ก่อนพระราชพิธี
การเลือกตั้งที่ผ่านมา 3 ครั้งล่าสุดปี 2548 ปี 2550 และปี 2554 ใช้เวลาประกาศผลเลือกตั้งเบื้องต้น เฉลี่ย 8 วัน ประกาศผลเลือกตั้ง 95 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ย 23 วัน และเปิดประชุมรัฐสภาและเลือกนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง เฉลี่ย 33 วัน หรือใช้เวลาตั้งแต่วันเลือกตั้งจนถึงรัฐบาลใหม่ตั้งขึ้นจนเสร็จสิ้นเฉลี่ยเวลา 33 วันเท่านั้น 
ถ้าใช้กรอบตามธรรมเนียมเคยปฏิบัติมาเช่นนี้ ซึ่งเป็นกรอบเวลาอย่างเร็ว วันเลือกตั้งที่เป็นไปได้ตามกรอบรัฐธรรมนูญและไม่ทับซ้อนกับพระราชพิธี และจะได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งก่อนพระราชพิธี มีด้วยกัน 3 วัน ได้แก่ 
24 กุมภาพันธ์ 2562 ถ้าจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และ กกต. ทำงานอย่างเร็ว ประกาศผลเลือกตั้งเบื้องต้นภายใน 8 วัน ก็คือ 4 มีนาคม 2562 ต่อมาประกาศผลเลือกตั้ง 95 เปอร์เซ็นต์ภายใน 23 วัน ก็คือ 19 มีนาคม 2562 
เปิดประชุมรัฐสภาและเลือกนายกฯ ภายใน 33 วัน ก็คือ 29 มีนาคม 2562 หรือตั้งแต่วันเลือกตั้งจนถึงเปิดประชุมสภาและเลือกนายกฯใช้เวลาตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ – 29 มีนาคม ซึ่งเสร็จสิ้นก่อนเริ่มพระราชพิธีถึง 21 วัน หรือ สามอาทิตย์ (19-20 เมษายน : พระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ)
3 มีนาคม 2562 ถ้าจัดการเลือกตั้งในวันที่ 3 มีนาคม และ กกต. ทำงานอย่างเร็ว ประกาศผลเลือกตั้งเบื้องต้นภายใน 8 วัน ก็คือ 11 มีนาคม 2562 ประกาศผลเลือกตั้ง 95 เปอร์เซ็นต์ภายใน 23 วัน ก็คือ 23 มีนาคม 2562 เปิดประชุมสภาและเลือกนายกฯ ภายใน 33 วัน ก็คือ 5 เมษายน 2562 หรือตั้งแต่วันเลือกตั้งจนถึงเปิดประชุมสภาและเลือกนายกฯ ใช้เวลาตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม – 5 เมษายน ซึ่งเสร็จสิ้นก่อนเริ่มพระราชพิธีถึง 14 วัน หรือ สองอาทิตย์ (19-20 เมษายน : พระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ)
10 มีนาคม 2562 ถัาจัดการเลือกตั้งในวันที่ 10 มีนาคม  และ กกต. ทำงานอย่างเร็ว ประกาศผลเลือกตั้งเบื้องต้นภายใน 8 วัน ก็คือ 18 มีนาคม 2562 ประกาศผลเลือกตั้ง 95 เปอร์เซ็นต์ภายใน 23 วัน ก็คือ 2 เมษายน 2562 เปิดประชุมสภาและเลือกนายกฯ ภายใน 33 วัน ก็คือ 12 เมษายน 2562 หรือตั้งแต่วันเลือกตั้งจนถึงการเปิดประชุมสภาและเลือกนายกฯ ใช้เวลาตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม – 12 เมษายน ซึ่งเสร็จสิ้นก่อนเริ่มพระราชพิธีถึง 7 วัน หรือ หนึ่งอาทิตย์ (19-20 เมษายน : พระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ)
ขณะที่วันอาทิตย์ 17 มีนาคม 2562 ซึ่งอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญที่สามารถกำหนดเป็นวันเลือกตั้งได้เช่นกัน 
แต่ถ้าจะกำหนดให้เป็นวันเลือกตั้ง และการประกาศผลเลือกตั้งเบื้องต้นภายใน 8 วัน ก็คือ 25 มีนาคม 2562 ประกาศผลเลือกตั้ง 95 เปอร์เซ็นต์ได้ภายใน 23 วัน ก็คือ 9 เมษายน 2562 เปิดประชุมสภาและเลือกนายกฯ ภายใน 33 วัน ก็คือ 19 เมษายน 2562 หรือตั้งแต่วันเลือกตั้งจนถึงเปิดประชุมสภาและเลือกนายกฯ ใช้เวลาตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม – 19 เมษายน ซึ่งเสร็จสิ้นพอดีกับพระราชพิธี (19-20 เมษายน: พระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ) แต่กรอบเวลานี้จะคาบเกี่ยวกับวันหยุดสงกรานต์ช่วงวันที่ 12-16 เมษายน ทำให้อาจะมีเวลาไม่มากพอและส่งผลให้ทับซ้อนกับพระราชพิธีได้ 
เลือกตั้ง 24 มี.ค. / 31 มี.ค. / 7 เมษา ทำอย่างช้า  ตั้งรัฐบาลใหม่หลังพระราชพิธี
"หากกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 มี.ค. หรือ 31 มี.ค. ก็จะสามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้หลังพระราชพิธี” – วิษณุ เครืองาม 
กฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 127 กำหนดให้ กกต. ต้องนับคะแนนและประกาศผลการเลือกตั้งให้ได้มากกว่า 95% ภายใน 60 วันหลังการเลือกตั้ง และรัฐธรรมนูญ มาตรา 121 กำหนดให้ ประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก ภายใน 15 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง และมาตรา 122 พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดประชุมสามัญประจำปีครั้งแรกด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาทซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้วหรือผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้แทนพระองค์ มาทำพิธีก็ได้ 
ถ้าใช้กรอบตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกรอบเวลาอย่างช้าสุด วันเลือกตั้งที่เป็นไปได้ตามกรอบรัฐธรรมนูญและไม่ทับซ้อนกับพระราชพิธี และจะได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งหลังพระราชพิธี มีด้วยกัน 3 วัน ได้แก่
24 มีนาคม 2562 ถ้าจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม กกต. ประกาศผลเลือกตั้งอย่างช้าสุดภายใน 60 วัน ก็คือ 23 พฤษภาคม และเปิดประชุมสภาครั้งแรกอย่างช้าสุดภายใน 75 วัน (15 วันหลังหลังประกาศผลเลือกตั้ง) ก็คือ 7 มิถุนายน หรือตั้งแต่วันเลือกตั้งจนถึงวันเปิดประชุมรัฐสภาใช้เวลาตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม – 7 มิถุนายน ซึ่งเสร็จสิ้นหลังพระราชพิธี 18 วัน หรือประมาณสองอาทิตย์ (20 พฤษภาคม: กิจกรรมที่ประชาชนและรัฐบาลจัดให้ในหลวงรัชกาลที่ 10)
31 มีนาคม 2562 ถ้าจัดการเลือกตั้งในวันที่ 31 มีนาคม กกต. ประกาศผลเลือกตั้งอย่างช้าสุดภายใน 60 วัน ก็คือ 30 พฤษภาคม และเปิดประชุมสภาครั้งแรกอย่างช้าสุดภายใน 75 วัน (15 วันหลังหลังประกาศผลเลือกตั้ง) ก็คือ 14 มิถุนายน หรือตั้งแต่วันเลือกตั้งจนถึงการเปิดประชุมสภาใช้เวลาตั้งแต่วันที่31 มีนาคม – 14 มิถุนายน ซึ่งเสร็จสิ้นหลังพระราชพิธี 25 วัน หรือ ประมาณสามอาทิตย์ (20 พฤษภาคม: กิจกรรมที่ประชาชนและรัฐบาลจัดให้ในหลวงรัชกาลที่ 10)
7 เมษายน 2562 ถ้าจัดการเลือกตั้งในวันที่ 7 เมษายน กกต. ประกาศผลเลือกตั้งอย่างช้าสุดภายใน 60 วัน ก็คือ 6 มิถุนายน และเปิดประชุมสภาครั้งแรกอย่างช้าสุดภายใน 75 วัน (15 วันหลังหลังประกาศผลเลือกตั้ง) ก็คือ 21 มิถุนายน หรือตั้งแต่วันเลือกตั้งจนถึงวันเปิดประชุมสภาใช้เวลาตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน – 23 มิถุนายน ซึ่งเสร็จสิ้นหลังพระราชพิธี 34 วัน หรือ ประมาณหนึ่งเดือน (20 พฤษภาคม: กิจกรรมที่ประชาชนและรัฐบาลจัดให้ในหลวงรัชกาลที่ 10)
อย่างไรก็ดี หากเลือกตั้งในช่วงที่สองดังที่กล่าวข้างต้นนี้ จะประกาศผลเลือกตั้งหลังวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ซึ่งมีข้อกังวลว่า จะสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ และส่งผลให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 268 กำหนดว่าต้องจัด "การเลือกตั้งแล้วเสร็จ" ภายใน 150 วันหลังกฎหมายเลือกตั้งบังคับใช้ หรือ 9 พฤษภาคม 2562 ซึ่งมีข้อถกเถียงกันว่า “การเลือกตั้งแล้วเสร็จ" นั้นหมายถึง “วันเลือกตั้ง” เท่านั้น หรือหมายถึง “วันเลือกตั้งและการประกาศผลการเลือกตั้ง” ด้วย 
ซึ่งถ้าตีความว่าเป็นวันเลือกตั้งและประกาศผลการเลือกตั้ง การเลือกตั้งในวันใดวันหนึ่งของช่วงนี้ “วันที่ 24 มี.ค. / 31 มี.ค. / 7 เมษา” ย่อมขัดต่อรัฐธรรมนูญ และทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะดำรงอยู่ต่อไปและไม่แน่ใจว่าจะมีการเลือกตั้งอีกครั้งเมื่อไหร่เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุเหตุการณ์กรณีเช่นนี้ไว้
You May Also Like
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน