จุดเริ่มต้นของเพลงประเทศกูมีและการดันเพดานเสรีภาพในการแสดงออก

 

วันพุธที่ 31 ตุลาคม 2561 เวลา 13.30 – 16.30 น. ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) และเครือข่ายศิลปินเพื่อประชาธิปไตย จัดเสวนาหัวข้อ "ศิลปะ อำนาจ และการขัดขืน" โดยมีสมาชิกของ Rap Against Dictatorship (RAD) และนักวิชาการมาพูดคุยกันในเรื่องประเทศกูมี ทั้งในด้านกฎหมายและศิลปะ
 
 
“…ประเทศกูมี ไม่จำเป็นต้องเป็นผมพูดคนเดียวก็ได้ มันเป็นความตั้งใจของเรา ในมุมมองของเรา ประเทศของคุณมีอะไร คุณแค่พูดออกมา…”
 
 
 
 
ณัฐพงศ์ ศรีม่วง หรือ “Liberate P”  กล่าวว่า Rap Against Dictatorship (RAD) เริ่มต้นจากอินโทรขอเพลงประเทศกูมีในปี 2016 ของเขาตอนนั้นคิดว่า อยากเล่าว่าประเทศกูมีอะไร เนื้อหาพูดในเรื่องของประเทศที่มีอะไร แต่มันไม่ได้ถูกแต่งอย่างเสร็จสมบูรณ์เลยเป็นแค่อินโทรในอัลบั้มของเขา จนกระทั่งช่วงหลังคำว่า ประเทศกูมี ไม่จำเป็นต้องเป็นเขาพูดคนเดียวก็ได้ เพลงที่ออกมาเป็นความตั้งใจของเขา ในมุมมองของเขา หากคนอื่นเห็นในมุมมองต่างกันก็แค่พูดออกมา
 
 
 
ไอเดียนี้เริ่มมาจากการที่ณัฐพงศ์มีพี่คนหนึ่งที่ไม่ได้มีความคิดทางการเมืองตรงกันกับเขาซะทีเดียว ทักมาว่า ชอบเพลงนี้มากเลย อยากฟีทเจอริ่งด้วย ทำให้เขากลับมามีกำลังใจอยากทำเพลงนี้ขึ้นมา จึงมีการชวนพี่และเพื่อนที่รู้จักกันมาทำด้วยกัน เขาเสนอว่า เพลงนี้ประเทศกูมีน่าจะเอามาทำเพราะตอนที่เขาปล่อยอินโทรเพลงนี้ไป มันมีพี่ที่ไม่ได้มีความเห็นทางการเมืองแบบเดียวกันทักมา นั่นแปลว่า เพลงมันน่าจะสื่อสารกับคนที่เขาไม่ได้คิดเห็นเหมือนกันได้ จึงเสนอขึ้นกลายเป็นโปรเจคต์ของ RAD
 
 
“…ภูมิใจไหม คิดว่าเป็นเรื่องของความบังเอิญ จังหวะที่มันพอดีกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในไทย…ถือว่า มันเป็นความบังเอิญที่น่าภูมิใจ…”
 
 
 
เดชาธร บำรุงเมือง หรือ ฮอคกี้ Hockhacker กล่าวว่า  RAD เป็นโปรเจคต์แรปของแรปเปอร์เมืองไทย แรปเปอร์แต่ละคนอาจจะอยู่ในกลุ่มแคบๆ อย่างนัท (ณัฐพงศ์ ศรีม่วง) หรือ Liberate P  หลายคนอาจจะคุ้นชื่อ แต่คนอื่นๆในโปรเจคต์นี้อาจจะไม่คุ้นหน้าคุ้นตากัน
 
 
การรวมตัวกันของ RAD เริ่มจากการที่นัทโทรมาเขาว่า เขาจำอินโทรเพลงนี้(ประเทศกูมี)ได้ไหม เขาอยากทำเพลง แต่อยากรวมแรปเปอร์อีกหลายคน ประกอบกับเขารู้จักแรปเปอร์ในวงการอยู่แล้ว และเขาก็ดูว่า ใครที่พอมีศักยภาพในการเล่าเรื่องสังคมการเมือง ที่เคมีพอจะลงตัวในเพลงนี้  มีการชวนหลายคนมาร่วมโดยบอกคร่าวๆว่า เดี๋ยวมีโปรเจคต์นี้ อยากเล่าเรื่องแบบนี้อยากฟังไหม เริ่มต้นเขายังไม่ได้ชวนเขามาทำเพลง เขาชวนแรปเปอร์คนอื่นๆมาฟังก่อนว่า อยากทำไหม ตอนแรกมีเยอะมาก มีบางคนคิดว่า ยังไม่พร้อมก็หายไปบ้าง ก็เลยจะเหลือคนที่พร้อมทำมานั่งคุยเรื่องเนื้อหา ปัจจัย การเล่าเรื่องว่า เล่าได้แค่ไหน รวมถึงพาร์ทของมิวสิควิดีโอ
 
 
ในคำถามเรื่องที่ว่า RAD เป็นกลุ่มทำเพลงใต้ดิน เดชาธรตอบว่า คนอาจจะเรียก RAD ว่า เป็นแรปเปอร์ใต้ดิน แต่ตอนนี้เขาเชื่อว่า ในยุคอินเทอร์เน็ตที่ทำให้ช่องว่างบนดิน ใต้ดินน้อยลง แรปเปอร์บางคนอาจจะไม่ได้ดังในโลกทีวี แต่ในโลกออนไลน์มีผู้ติดตามเยอะมาก เพลงอาจจะไม่ใช่ป็อป แต่เป็นฮิปฮอป เทรนดิ้งมิวสิคที่ได้รับความนิยมในโลก เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมมากๆที่ RAD ทำเพลง ย้อนไปในปีที่ผ่านมาเพลงแรปในอเมริกาก้าวขึ้นแซงเพลงร็อค รวมถึงการได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ สาขาดนตรีของเคนดริก ลามาร์ แรปเปอร์ผิวสีชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นโอกาสดีที่เมืองไทยจะเกิดสิ่งเหล่านี้ รวมทั้งเป็นจังหวะที่ดีที่จะนำเพลงนี้ออกมาทำเพลงแรป
 
 
นอกจากนี้เพลงไม่ได้เข้าถึงยากจนเกินไป คือถ้าเพลงนี้ออกมาในปี 2016 คิดว่า มันอาจจะไม่ได้กระแสดีเท่านี้ ในปีที่ผ่านมาเราเห็นเพลงแรปไปอยู่ในสื่อกระแสหลัก วงดนตรีเอาแรปเปอร์ไปใช้ในการทำเพลงกระแสหลักทำให้คนรับรู้ ทำให้จังหวะของการปล่อยเพลงของ RAD เหมาะกับกระแสนี้
 
 
หากถามว่า ภูมิใจไหม คิดว่าเป็นเรื่องของความบังเอิญ จังหวะที่มันพอดีกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในไทย ถ้าปล่อยตอนสองสามเดือนก่อนอาจจะไม่ใช่จะกระแสเหมือนตอนนี้ แต่ทีมรอให้มันเหมาะ หรือสุกงอม มิวสิคสมบูรณ์ที่สุดปล่อยออกมาในจังหวะนี้ ถือว่า มันเป็นความบังเอิญที่น่าภูมิใจ
 
 
“…ประชาชนในโลกประชาธิปไตยคิดไม่เหมือนกัน ซึ่งสามารถถกเถียงกันได้แต่ต้องรักษาพื้นที่ไม่ให้อำนาจรัฐเข้ามาแย่งชิงพื้นที่ในการเข้ามามีส่วนร่วม…”
 
 
 
 
ปรัชญา สุรกำจรโรจน์ กล่าวว่า คอนเซปต์เพลงนี้มันง่าย ทุกคนพูดได้หมด ทุกคนที่อยู่ในประเทศอะไรก็ตามแต่มีบางอย่างในสายตาว่า ประเทศกูมีอะไร ทาง RAD จึงเลือกเพลงนี้ขึ้นมาเพราะสามารถสื่อสารกับคนทุกกลุ่ม ทุกสีเสื้อได้และทุกคนสามารถทำตามได้ สี่อสารของตัวเองออกไปได้นอกจากแค่ฟังอย่างเดียว พอ RAD เลือกเพลงนี้มาทำก็ติดต่อมาได้สิบคน ในส่วนของพาร์ทดนตรี ตอนที่นัททำ พาร์ทดนตรียังไม่จบ ซึ่งเมื่อเขาเข้ามาร่วมกับโปรเจคต์ก็มีหน้าที่ดูแลเรื่องพาร์ทดนตรี RAD พยายามจะให้มีความเป็นมิวสิคัล ปกติแล้วเพลงฮิปฮอปใช้ความเป็นเสียงสังเคราะห์สูง โปรเจคต์ RAD จึงเลือกที่ดำเนินเพลงด้วยกีตาร์ กลองสังเคราะห์ และให้มีซาวด์ใกล้เคียงกลองสด เพื่อให้คนเข้าถึงอารมณ์เพลงได้และสัมผัสกับเพลงได้ง่ายที่สุดเพราะว่า  โปรเจคต์ไม่ได้อยากทำออกมาให้คนที่ฟังเพลงแรป ฮิปฮอปอยู่แล้วเท่านั้น แต่อยากคุยกับคนทุกคน พูดกับคนทั้งประเทศ
 
 
งานมิวสิควิดีโอ ทีม RAD มีการพูดคุยกันตลอด ตอนแรกคิดหลายอย่าง ถ้าหากอ่านบทสัมภาษณ์ของ คิดถึงประเด็นที่จะนำภาพฟุตเทจจากเหตุการณ์การเมืองในอดีต แต่มันมาลงตัวที่ตรงนี้ วันนี้เขาขอพูดในส่วนของ RAD เท่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับผู้กำกับมิวสิควิดีโอ เขามองว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เป็นการแบ่งฝ่ายกัน อย่างน้อยที่สุดมันแบ่งออกเป็นสองฝ่ายชัดเจนมากๆ ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตยแต่ว่า มันเลวร้ายเพราะมันมีอำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงในการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายนั้นและเมื่อเหตุการณ์ถึงจุดสูงสุดจึงออกมาเป็นเหตุการณ์ที่เราเห็น เย็นวันนั้นมันเกิดการยึดอำนาจโดยทหาร ซึ่งเป็นรัฐบาลเผด็จการฝ่ายขวาแบบคลาสสิคที่สุด
 
 
ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์ในวันนี้ที่ประชาชนแบ่งฝักแบ่งฝ่ายให้มาทะเลาะกันโดยที่มีอำนาจรัฐเข้ามาข้องเกี่ยว ไม่ได้คิดว่า ประชาชนจะต้องคิดเหมือน ประชาชนในโลกประชาธิปไตยคิดไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ซึ่งสามารถถกเถียงกันได้แต่ว่า การถกเถียงอันนี้ต้องรักษาพื้นที่ไม่ให้อำนาจรัฐ โดยเฉพาะอำนาจรัฐที่ฝักใฝ่เผด็จการเข้ามาแย่งชิงพื้นที่ในการเข้ามามีส่วนร่วมของเราไป ซึ่ง RAD ทิ้งเมสเสจดังกล่าวตอนท้ายมิวสิควิดีโอ
 
 
 
ในตอนท้ายของงานเสวนาได้มีการเปิดให้ผู้ร่วมรับฟังการเสวนาได้กอดให้กำลังใจศิลปิน RAD ทั้งสามคนด้วย ส่วนความเคลื่อนไหวในการดำเนินคดีศิลปินจากการเผยแพร่เพลงประเทศกูมี พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพรามณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ออกมาชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่พบเนื้อหาที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย สามารถฟังและแชร์เพลงดังกล่าวได้ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากประเด็นดังกล่าวเป็นที่ถกเถียงในวงกว้างและมีการเข้าชมมิวสิควิดีโอเพลงประเทศกูมีมากกว่า 20 ล้านครั้ง