เลือกตั้ง 66: จดไว้เลย! เลือกตั้ง 14 พฤษภา เตรียมเข้าคูหา กาบัตรสองใบ เลือกคนที่รัก-พรรคที่ชอบ

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา ในวันที่ 20 มีนาคม 2566 วันถัดมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ได้ประกาศเคาะวันเลือกตั้ง เป็นวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 เข้าสู่โหมดการเลือกตั้งอย่างเต็มรูปแบบ

สำหรับประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อาจต้องเริ่มเตรียมตัว และจดโน้ตวันสำคัญลงปฏิทินไว้ โดยเฉพาะคนที่มีธุระ ไม่ได้อยู่ในภูมิลำเนา อาจจะต้องเตรียมตัวล่วงหน้ามากกว่าปกติ โดยวันสำคัญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2566 ที่จะมาถึง มีดังนี้

ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า และนอกราชอาณาจักร: 25 มี.ค. – 9 เม.ย. 66

การลงทะเบียนตั้งล่วงหน้า สำหรับผู้ที่ติดธุระในวันเลือกตั้ง รวมถึงการลงทะเบียนตั้งนอกเขต สำหรับผู้ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ตามทะเบียนบ้านจริง ทำได้โดยการยื่นเรื่องที่สำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอ ช่องทางไปรษณีย์ หรือช่องทางออนไลน์  

การลงทะเบียนเลือกตั้งจากต่างประเทศ สำหรับผู้ที่อยู่อาศัยอยู่ต่างประเทศ สามารถเลือกตั้งจากต่างประเทศ โดยการลงทะเบียนกับสถานทูตไทย หรือสถานกงสุลประจำประเทศนั้น

โดยการยื่นคำขอลงทะเบียนที่สำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอ หรือที่สถานทูต  ยื่นได้ตั้งแต่จันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น. (ในวันและเวลาราชการ) ส่วนทางไปรษณีย์จะถือวันประทับตราไปรษณีย์เป็นสำคัญ 

สำหรับช่องทางออนไลน์สามารถลงทะเบียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยระบบจะปิดอัตโนมัติในวันที่ 9 เมษายน 2566 เวลาเที่ยงคืนตามเวลาประเทศไทย

เช็คหน้าตาผู้สมัคร ส.ส. และแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมือง: 3-7 เม.ย. 66

รับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 3-7 เมษายน 2566 ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งกำหนด

วันรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และพรรคการเมืองเสนอชื่อบุคคลที่เห็นสมควร ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในนามพรรคการเมืองนั้นไว้ในบัญชี 3 รายชื่อ 4-7 เมษายน 2566 โดยวันที่ 4-6 เมษายน 2566 กำหนดเวลารับสมัคร ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. ส่วนวันที่ 7 เมษายน 2566 ตั้งแต่เวลา 8.30-16.00 น.  ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร  

วันสุดท้ายเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง: 3 พ.ค. 66

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถตรวจสอบสิทธิ และหน่วยเลือกตั้งผ่านเอกสารที่กกต.จัดส่งไปยังเจ้าบ้าน (จะส่งมาถึงบ้านก่อนวันเลือกตั้ง 20 วัน) หรือช่องทางออนไลน์ของ กกต.

หากพบว่าตนเองหรือคนอื่นที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของตน ไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเจ้าบ้านเห็นว่ามีชื่อบุคคลอื่นอื่นอยู่ในทะเบียนบ้านของตนโดยที่บุคคลนั้นมิได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านจริงๆ สามารถยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น เพื่อให้เพิ่ม-ถอนชื่อนั้นได้

วันเลือกตั้งล่วงหน้า และวันเลือกตั้งสำหรับผู้พิการ-ผู้สูงอายุ: 7 พ.ค. 66

สำหรับคนพิการ หรือผู้สูงอายุ สามารถลงทะเบียนไปใช้สิทธิที่หน่วยเลือกตั้งกลางสำหรับผู้พิการโดยเฉพาะ ตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น. และสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยให้ช่วยอำนวยความสะดวกได้ เช่น ขอบัตรทาบให้ผู้พิการทางสายตา โดยทั่วไปผู้พิการจะต้องออกเสียงด้วยตนเอง แต่หากลักษณะทางกายภาพไม่สามารถทำเครื่องหมายออกเสียงเลือกตั้งได้ สามารถให้บุคคลอื่น หรือเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยทำเครื่องหมายแทนได้ ถือว่าเป็นการลงคะแนนโดยตรง และลับตามกฎหมาย

สำหรับผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต และนอกเขตเลือกตั้ง สามารถลงทะเบียนไปใช้สิทธิที่หน่วยเลือกตั้งกลางในเขต หรือนอกเขตเลือกตั้งตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ ตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น. 

แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง “หน้า 7 หลัง 7”: 7-13 และ 15-21 พ.ค. 66

หากติดภารกิจไม่สามารถไปเลือกตั้งได้ สามารถทำหนังสือยื่นต่อนายทะเบียนที่ว่าการเขต หรืออำเภอ โดยสามารถไปด้วยตนเอง หรือ มอบหมายผู้อื่นไปแทน อีกทางเลือกคือ ส่งไปรษณีย์ หรือช่องทางออนไลน์ โดยต้องทำภายใน 7 วันก่อนการเลือกตั้ง หรือ 7 วันหลังการเลือกตั้ง จำง่ายๆ คือ “หน้า 7 หลัง 7”

ถ้าไม่แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งภายในระยะเวลาดังกล่าว แม้จะไม่เสียสิทธิในการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่อาจเสียสิทธิบางประการเป็นระยะเวลาสองปี นับจากวันเลือกตั้งที่ไม่ได้ไป ได้แก่

  • สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง
  • สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง
  • ลงสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
  • ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง
  • ดำรงตำแหน่งเกี่ยวกับการบริหารท้องถิ่น

วันเลือกตั้ง: 14 พ.ค. 66 08.00-17.00 น.

วันเลือกตั้งทั่วไป คือวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เข้าคูหาได้ตั้งแต่ 08.00-17.00 น.

อย่าลืมพกบัตรประชาชน เป็นบัตรที่หมดอายุแล้วก็ยังสามารถใช้ได้ หรือเป็นบัตร เอกสาร ที่ราชการออกให้ ขอแค่มีรูป และเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ก็ถือว่าใช้ได้ เช่น ใบขับขี่ พาสปอร์ต หรือ บัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ (แอปพลิเคชัน ThaID)