หากสภา “ไม่ไว้วางใจ” ประยุทธ์ ครม. พ้นตำแหน่งยกคณะ รัฐสภาต้องเลือกนายกฯ ใหม่

19-22 กรกฎาคม 2565 สภาผู้แทนราษฎรอภิปรายไม่ไว้วางใจ 11 รัฐมนตรี (รมต.) หลังจากการอภิปรายสี่วันรวด วันที่ 23 กรกฎาคมจะเป็นวันลงมติชี้วัดชะตาว่า ใครจะรอด ใครจะตาย ในศึกอภิปรายครั้งสุดท้ายของรัฐบาลนี้

รัฐธรรมนูญ มาตรา 151 วรรคสี่ กำหนดว่า มติ “ไม่ไว้วางใจ” ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปัจจุบันส.ส. ในสภามีจำนวน 477 คน ดังนั้น ต้องมีเสียงไม่ไว้วางใจมากกว่า 239 เสียงขึ้นไปลงมติ “ไม่ไว้วางใจ” ก็สามารถทำให้นายกฯ หรือ รมต. ต้องพ่ายศึก พ้นจากตำแหน่งได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (3) 

แต่กรณีของนายกฯ นั้นมีความพิเศษกว่ากรณีของรมต. ถ้าความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลง เพราะสภาผู้แทนราษฎร มีมติ “ไม่ไว้วางใจ” จะส่งผลให้รมต. “ทั้งคณะ” พ้นจากตำแหน่งด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 (1) แต่รัฐธรรมนูญ ก็กำหนดให้ครม. ที่พ้นจากตำแหน่ง เนื่องด้วยนายกฯ ได้รับเสียงไม่ไว้วางใจ ต้องปฏิบัติหน้าที่ “รักษาการ” ไปก่อนจนกว่าจะตั้งครม.ชุดใหม่เข้ามา ขั้นแรกก่อนที่จะมีครม. ชุดใหม่ ก็ต้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติเลือกนายกฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารก่อน คำถามคือ หากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง แล้วการเลือกนายกฯ จะต้องทำอย่างไรต่อไป? ชวนมาทบทวนกระบวนการเลือกนายกฯ ทั้งจากคนในบัญชีแคนดิเดตนายกฯ และจากนายกฯ คนนอก

บทเฉพาะกาล ให้ส.ว. ร่วมโหวตเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองได้

หากยังจำเหตุการณ์การเลือกนายกฯ เมื่อปี 2562 ระหว่าง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรคพลังประชารัฐ ปะทะ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากพรรคอนาคตใหม่ จะเห็นว่า คนที่มีสิทธิขานชื่อนายกฯ ได้นั้น ไม่ใช่แค่สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่มี “วุฒิสภา ชุดพิเศษ” เข้ามาร่วมขานชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาด้วย นั่นก็เพราะว่า แม้หลักแล้วรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสอง จะกำหนดให้นายกฯ มาจากการแต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็แอบซ่อน “ข้อยกเว้น” ไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ให้ระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบผู้ที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ จะต้องมาจากมติของรัฐสภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ดังนั้น หากปี 2565 พลเอกประยุทธ์พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากมติไม่ไว้วางใจ การโหวตเลือกนายกฯ ก็ต้องใช้เสียงจากส.ว. ด้วย

คำถามต่อมาคือ แล้วรัฐสภาจะเลือกนายกฯ อย่างไร? หากย้อนกลับไปก่อนการเลือกตั้ง ถ้ายังจำกันได้ แต่ละพรรคการเมืองจะมีบัญชีรายชื่อที่พรรคจะเสนอต่อ กกต. เพื่อให้สภาแต่งตั้งเป็นนายกฯ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า บัญชีแคนดิเดตนายกฯ โดยที่แคนดิเดตนายกฯ นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นส.ส. ด้วยก็ได้ 

ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 กำหนดให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต้องแจ้งบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ต่อกกต. โดยพรรคหนึ่งมีแคนดิเดตได้ไม่เกินสามรายชื่อ และไม่ใช่ว่า บุคคลที่อยู่ในบัญชีแคนดิเดตนายกฯ จากแต่ละพรรคจะมีสิทธิได้รับเลือกเป็นนายกฯ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ยังกำหนดด่านกรองอีกชั้นว่า พรรคการเมืองที่เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ต้องมี ส.ส. อย่างน้อยไม่น้อยกว่า 5% ของจำนวนส.ส.เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือคิดได้เป็นไม่น้อยกว่า 24 คนจากจำนวนส.ส. ที่มีอยู่ (ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2565) คือ 477 คน

ชัชชาติ-อนุทิน-อภิสิทธิ์ ยังอยู่ในบัญชีแคนดิเดตนายกฯ

พรรคที่เสนอบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ในการเลือกตั้งปี 2562 และผ่านด่านกรองจำนวน ส.ส. มากกว่า 5% เท่าที่เหลืออยู่ มีสามพรรค

  1. พรรคเพื่อไทย มีสามรายชื่อ ได้แก่ 1) สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันแยกตัวออกจากพรรคเพื่อไทยแล้ว และเป็นประธานพรรคไทยสร้างไทย 2) ชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด และ 3) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
  2. พรรคภูมิใจไทย มีหนึ่งรายชื่อ คือ อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  3. พรรคประชาธิปัตย์ มีหนึ่งรายชื่อ คือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งลาออกจากการเป็นส.ส. ไปแล้ว

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งปี 2562 เสนอพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ เพียงแค่ชื่อเดียว หากเกิดกรณีที่พลเอกประยุทธ์ได้รับเสียงไม่ไว้วางใจจากสภา ก็ไม่มีรายชื่ออื่นใดบัญชีของพรรคอีก ทั้งนี้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่ได้อยู่ในบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ด้วย

บทเฉพาะการเปิดช่อง ส.ส. ส.ว. เสนอ “นายกฯ คนนอก” ได้

นอกจากรัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาล มาตรา 272 จะกำหนดข้อยกเว้นให้ ส.ว.แต่งตั้ง เข้ามามีส่วนร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้ ในวรรคสอง ยังกำหนดข้อยกเว้นอีกหนึ่งก้อน ให้ ส.ส. และ ส.ว. งดใช้บัญชีรายชื่อนายกฯ เพื่อเสนอชื่อ “นายกฯ คนนอก” ได้

โดยมาตรา 272 วรรคสอง กำหนดว่า ระหว่างห้าปีแรกของรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ ถ้ามีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกฯ จากผู้ที่มีบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองได้ ถ้าส.ส. และ ส.ว. รวมกัน ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ทั้งหมดของสองสภา เสนอประธานรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภามีมติยกเว้นไม่เสนอชื่อนายกฯ จากบัญชีพรรคการเมือง (ส.ส. 477 และส.ว. มี 250 รวมเท่ากับ 727 คน จึงต้องมีส.ส. และ ส.ว. รวมกันไม่น้อยกว่า 363 คน)

จากนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดประชุม และต้องใช้เสียง ส.ส. และ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่าสองในสามเสียง เพื่อจะ “ยกเว้น” ไม่เสนอชื่อนายกฯ จากบัญชีพรรคการเมืองหรือไม่ (สองในสาม คิดเป็น 484 เสียง) หากรัฐสภามีมติด้วยเสียงสองในสามให้ยกเว้นบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ก็ให้รัฐสภาดำเนินการหาต่อไป โดยจะต้องเสนอรายชื่อผู้ที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ เพื่อให้รัฐสภาโหวตเลือกต่อไป โดยใช้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนส.ส. และส.ว. ที่มีอยู่

ผู้ที่ได้รับเสนอชื่อ นายกฯ คนนอกนั้น ไม่จำเป็นว่าต้องเป็น ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่จะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด อาทิ จบปริญญาตรี มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก ไม่อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่อยู่ในระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไม่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง

หากเกิดกรณีที่พลเอกประยุทธ์ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะสภาผู้แทนราษฎรมีมติ “ไม่ไว้วางใจ” จนนำไปสู่การเลือกนายกฯ หน้าใหม่ “บทเฉพาะกาล” นอกจากจะให้ส.ว. ชุดพิเศษที่มาจากการแต่งตั้ง เข้ามามีส่วนเลือกนายกฯ แล้ว ยังเปิดช่องให้เคลียร์ทาง ยกเว้นบัญชีแคนดิเดตนายกฯ เพื่อเลือกนายกฯ คนนอก ดังนั้น ถ้ารัฐสภาจะเสนอชื่อพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ของแก๊ง “สาม ป.” ก็สามารถทำได้เช่นกัน

แม้สภาลงมติ “ไม่ไว้วางใจ” แต่ประยุทธ์ก็กลับมาเป็นนายกฯ ได้อีก?!! 

กรณีสมมุติว่า สภาผู้แทนราษฎรลงมติ “ไม่ไว้วางใจ” พลเอกประยุทธ์ จนต้องเลือกนายกฯ ใหม่ พลเอกประยุทธ์ ก็ยังมีโอกาส ที่จะกลับมาเป็นนายกฯ ได้อีก เพราะชื่อของพลเอกประยุทธ์ อยู่ในบัญชีพรรคการเมืองของพรรคพลังประชารัฐ อีกทั้งเมื่อไปเปิดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ตามมาตรา 160 และมาตรา 98 จะพบว่า โดยหลักแล้วรัฐธรรมนูญกำหนดลักษณะต้องห้ามไม่ให้ผู้ที่ต้องคำพิพากษาในคดีที่เกี่ยวกับการทุจริต ผู้ที่ถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ผู้อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงผู้ที่ดำรงตำแหน่งอื่นๆ อยู่ เช่น เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือกรรมการในองค์กรอิสระ มาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี

แต่รัฐธรรมนูญ ไม่ได้กำหนดโดยชัดแจ้งว่ากรณีที่นายกฯ หรือรมต. ที่เคยพ้นสภาพเพราะสภาผู้แทนราษฎร “ไม่ไว้วางใจ” จะถือว่าเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้เป็นรมต. อีก ดังนั้น หากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ส.ส. + ส.ว.) ซึ่งปัจจุบัน มี ส.ส. ในสภา 477 คน และจำนวนส.ว. มีครบเต็ม 250 คน (คนล่าสุดที่ได้รับแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ คือ อนุสิษฐ คุณากร) รวมจำนวนสมาชิกของทั้งสองสภา จึงมี 727 คน ขอแค่เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง คือ 364 เสียงที่โหวตเลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ พลเอกประยุทธ์ก็จะสามารถกลับมาเป็นนายกฯ ได้อีกแม้สภาจะมีมติไม่ไว้วางใจ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนห้ามเอาไว้ตรงๆ

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคท้าย กำหนดข้อห้ามสำคัญว่า นายกฯ จะดำรงตำแหน่งรวมกันเกิน 8 ปีไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังมีประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า การนับระยะเวลา 8 ปีในการดำรงตำแหน่งของพลเอกประยุทธ์ จะเริ่มนับตอนไหน? ระหว่าง 1) ตั้งแต่ตอนเป็นนายกฯ เมื่อรัฐประหารปี 2557 2) ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดข้อห้ามนี้ประกาศใช้ 3) ตั้งแต่ได้เป็นนายกฯ สมัยที่สอง หลังการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งเรื่องนี้ต้องติดตามกันต่อไปในว่าจะมีผู้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ และศาลรัฐธรรมนูญจะตีความอย่างไร