เทียบชัดๆ ร่างพ.ร.บ.แก้ประมวลกฎหมายแพ่ง #สมรสเท่าเทียม ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ต่างกันยังไง?

การอยู่ร่วมครอบครัวเป็น “ผัวเมีย” ของคนไทยในยุครัตนโกสินทร์ พระอัยการลักษณะผัวเมีย กฎหมายตราสามดวง ยอมรับการก่อตั้งครอบครัวแบบ “ผัวเดียวหลายเมีย” ผู้ชายสามารถมีเมียหลายคนได้ และเมียมีหลายลำดับชั้น ในทางตรงกันข้าม ผู้หญิงไม่สามารถมีผัวหลายคนได้ หากมีผัวมากกว่าหนึ่งคนในทางกฎหมายจะมองว่าชายคนนั้นเป็นชู้ นอกจากนี้ ผัวยังมีอำนาจปกครองเมียอีกด้วย หากเมียทำผิด ผัวสามารถโบยตีเมียได้ ไม่มีความผิด ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตัดสินใจปฏิรูประบบกฎหมายเพื่อไม่ให้สยามเสียเปรียบในเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต นำไปสู่การจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) และทยอยประกาศใช้ทีละบรรพ สำหรับบรรพ 5 ซึ่งว่าด้วยครอบครัวนั้น ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 29 พฤษภาคม 2478 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2478 กฎหมายดังกล่าวเปลี่ยนแปลงระบบผัวเมียโดยสิ้นเชิง จากผัวเดียวหลายเมีย เป็นผัวเดียวเมียเดียว (Monogamy) ตามค่านิยมตะวันตก ต่อมาป.พ.พ. บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว ก็ถูกชำระปรับปรุงขนานใหญ่ และบังคับใช้ตั้งแต่ 16 ตุลาคม 2519

ตั้งแต่ปี 2519 จนถึงปี 2551 บทบัญญัติที่เกี่ยวกับครอบครัวในป.พ.พ. บรรพ 5 ถูกแก้ไขบ้างตามกาลเวลา แต่ไม่ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงจารีตประเพณีในสังคม เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนเริ่มตั้งคำถามถึงการรับรองสิทธิก่อตั้งครอบครัวสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในแรกเริ่มเดิมที ข้อเสนอให้แก้ไขป.พ.พ. ที่เป็นกฎหมายหลักเกี่ยวกับการสมรสนั้นไม่ได้เป็นข้อเสนอที่ “เสียงดัง” มากนักในสังคมไทย เหตุปัจจัยหนึ่ง คือ ป.พ.พ. เป็นกฎหมายหลัก หากแก้ไขเรื่องการสมรสที่เดิมรับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง จะส่งผลกระทบให้ต้องแก้ไขหลายๆ มาตรา และกฎหมายอื่นๆ อีกหลายฉบับให้สอดคล้องกัน ด้วยเหตุนี้ วิธีคิดในการออกแบบกฎหมายสำหรับรับรองสิทธิก่อตั้งครอบครัวสำหรับเพศหลากหลาย จึงมีข้อเสนอให้เขียนเป็นกฎหมายอีกหนึ่งฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต (ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต)

ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายยุคสมัย ตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2557 จนมายุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาถึงช่วงหลังเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ยังไม่มีท่าทีจะผ่านออกมาบังคับใช้ จนกระทั่งปี 2563 ส.ส.พรรคฝ่ายค้านได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ร่างพ.ร.บ.แก้ไขป.พ.พ.) เพื่อแก้ไขป.พ.พ. จากที่จำกัดการสมรสเฉพาะสำหรับเพศชาย-หญิง ก็ให้เป็นการสมรสระหว่างบุคคลสองฝ่ายโดยที่ไม่ได้มุ่งเน้นจำกัดเรื่องเพศ ต่อมาถูกเรียกกันในสื่อโซเชียลมีเดียว่า #สมรสเท่าเทียม

ร่างสมรสเท่าเทียม ที่เสนอโดยพรรคฝ่ายค้านค้างอยู่ในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเกินหนึ่งปี ปลายปี 2564 ภาคประชาชนจึงใช้กลไกเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขป.พ.พ. อีกหนึ่งฉบับ โดยกำลังอยู่ในระหว่างการรวบรวมรายชื่อประชาชนผ่านทางเว็บไซต์ https://www.support1448.org/ ในเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจ (Pride Month) ร่างสมรสเท่าเทียมก็กลับมาเข้าสภาหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อุ้มร่างกฎหมายดังกล่าวไปศึกษาก่อนที่สภาจะลงมติรับหลักการ อย่างไรก็ดี ครม. ก็ได้เสนอร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตต่อสภาผู้แทนราษฎรด้วย ร่างกฎหมายสองฉบับ ที่ออกแบบด้วยวิธีคิด ที่มาที่ไปที่แตกต่างกัน จึงเข้าสู่สภาในช่วงเวลาเดียวกัน 

ย้อนไทม์ไลน์ ศาลรัฐธรรมนูญ-ครม. จะเอาแค่คู่ชีวิต ดักทาง #สมรสเท่าเทียม

ปี 2555 มีคู่รักคู่หนึ่ง คือ นที ธีระโรจนพงษ์ และ อรรถพล จันทวี ไปจดทะเบียนสมรสแล้วถูกปฏิเสธ จึงได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง นำไปสู่แนวคิดการกำหนดกฎหมายแยกออกมาโดยการร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต เพื่อรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว โดยร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับแรกเกิดขึ้นราวช่วงปี 2556 ริเริ่มโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมแต่ก็มีรัฐประหารเสียก่อนได้เข้าสภา ต่อมาได้มีภาคประชาชนและเอ็นจีโอที่พยายามผลักดันร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ภาคประชาชนแต่ก็ไม่คืบหน้าด้วยสถานการณ์ทางการเมือง ความรับผิดชอบหลักในร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตจึงกลับมาอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐ คือ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพอีกครั้ง

หลังรัฐประหารในปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ พิจารณาร่างกฎหมาย หน่วยงานรัฐก็ยังคงทำงานผลักดันร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตและผ่านความเห็นชอบของครม. เมื่อ 25 ธันวาคม 2561 อย่างไรก็ดี แม้ช่วงโค้งสุดท้ายสนช. จะผ่านกฎหมายจำนวนมาก แต่ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตกลับไม่เป็นหนึ่งในฉบับที่เข้าสู่การยกมือผ่านอย่างรวดเร็วโดยสภาแต่งตั้ง

ช่วงหลังเลือกตั้งใหญ่ ปี 2562 ประเด็นเรื่องสิทธิของคู่รักเพศหลากหลายเริ่มถูกยกมาพูดคุยระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง และได้รับความสนใจจากพรรคการเมือง เดือนสิงหาคม 2562 คณะทำงานเพื่อการสมรสที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน ร่วมกับองค์กรและบุคคล 80 รายชื่อได้แสดงจุดยืนโดยการยื่นจดหมายเปิดผนึกไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อให้ยกเลิกร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตและเสนอให้แก้ป.พ.พ. แทน ทว่ากลับไม่ได้รับการตอบกลับจากหน่วยงานภาครัฐ

ปี 2563 เนื่องในโอกาส Pride Month 18 มิถุนายน 2563 ส.ส.พรรคก้าวไกล เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขป.พ.พ. เดือนถัดมา 8 กรกฎาคม 2563 ครม. ก็มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต และร่างพ.ร.บ.แก้ไขป.พ.พ.อีกหนึ่งฉบับที่แก้ไขให้สอดคล้องกับร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต อย่างไรก็ดี ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตก็ยังไม่ได้เข้าสภา เนื่องจากคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) มีข้อทักท้วงทำให้กระทรวงยุติธรรมต้องนำร่างกฎหมายไปแก้ไขอีกครั้ง ส่วนร่างสมรสเท่าเทียมที่เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล ถูกบรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ก่อน เมื่อ 25 พฤศจิกายน 2563 หลังจากนั้นก็ค้างท่ออยู่ในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร “รอคิว” วันที่จะได้เริ่มพิจารณา

ฟากของภาคประชาชน ก็เดินหน้าผลักดันสิทธิก่อตั้งครอบครัวสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยว่าป.พ.พ. มาตรา 1448 ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิงนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และออกคำวินิจฉัยเต็มรวมถึงความเห็นส่วนตน ซึ่งในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ได้กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต และยังระบุว่า ปัญหาที่ผู้ร้องในคดีไม่ได้รับสิทธิในฐานะคู่สมรส สามารถแก้ไขได้โดยบทบัญญัติของกฎหมายเฉพาะ เช่นที่มีการยกร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต

28 พฤศจิกายน 2564 ภาคประชาชนใช้กลไกเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ริเริ่มการเข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขป.พ.พ. อีกฉบับ หรือเรียกสั้นๆ ว่า สมรสเท่าเทียมภาคประชาชน ต่อมา 9 กุมภาพันธ์ 2565 สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างสมรสเท่าเทียมที่เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล แต่ยังไม่ได้ลงมติรับหลักการในวาระหนึ่ง เนื่องจากครม. ขอรับร่างกฎหมายไปศึกษาก่อนที่สภาจะลงมติรับหลักการ 60 วัน เมื่อครม. นำร่างกฎหมายดังกล่าวไปศึกษา มีการจัดรับฟังความเห็นจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็น ต่อมา 29 มีนาคม 2565 ครม. มีมติไม่ร่างพ.ร.บ.แก้ไขป.พ.พ. เนื่องจากเห็นว่ามีหลักการใกล้เคียงกับร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตที่ครม.เห็นชอบไปแล้ว (เมื่อปี 2563)

หลัง 22 พฤษภาคม 2565 เข้าสู่การเปิดสมัยประชุมสภาอีกครั้ง ร่างสมรสเท่าเทียมที่เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกลกลับเข้าสู่สภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 25 พฤษภาคม 2565 และมีโอกาสที่จะได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาอีกครั้งตั้งแต่วันที่  8 มิถุนายน 2565 ขณะเดียวกันวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ครม. ก็ให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นเวลาหนึ่งวันก่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตของครม. “มาไม่ทัน” ที่จะเข้าแข่งขันกับร่างสมรสเท่าเทียมที่วางรออยู่แล้วสองปี

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 8 มิถุนายน ร่างสมรสเท่าเทียมก็ยังไม่ได้เข้าสู่การลงมติ เพราะที่ประชุมพิจารณาร่างกฎหมายเรื่องอื่นอยู่จนกระทั่งหมดเวลา ทำให้ร่างสมรสเท่าเทียมต้องยกยอดไปพิจารณาต่อในวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ซึ่งร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต และร่างพ.ร.บ.แก้ไขป.พ.พ. ที่เสนอโดยครม. ได้บรรจุระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรมาทันพอดี นอกจากนี้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ก็เสนอร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตอีกหนึ่งฉบับ มาประกบด้วย ขณะที่ร่างสมรสเท่าเทียมฉบับภาคประชาชน ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อประชาชน โดยยังไม่ได้เสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร

ใน Pride Month ปี 2565 จึงมีเพียงร่างกฎหมายรับรองสิทธิก่อตั้งครอบครัวจากส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และจากครม. ที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรพร้อมกัน

เปรียบเทียบร่าง สมรสเท่าเทียม – ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต 2 ฉบับ

ร่างสมรสเท่าเทียมที่เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล เสนอแก้ไขบทบัญญัติในป.พ.พ. ที่เกี่ยวข้องกับการสมรส ซึ่งไม่จำกัดแค่มาตรา 1448 ที่กำหนดเรื่องการสมรสของชายหญิง และไม่ได้จำกัดแค่บรรพ 5 ครอบครัว แต่ยังแก้ไขบททั่วไป และเรื่องสิทธิการรับมรดกด้วย โดยประเด็นสำคัญ คือ การแก้ไขคำว่า “สามี-ภริยา” ที่ปรากฏอยู่หลายแห่งในป.พ.พ. ให้เป็นคำว่า “คู่สมรส” ซึ่งเป็นคำที่ไม่ได้บ่งบอกถึงกรอบทางเพศแทน ทำให้ร่างกฎหมายนี้มีความยาวและมีรายละเอียดมาก ขณะที่ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เสนอโดยครม. มีจำนวนทั้งสิ้น 46 มาตรา ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตที่เสนอโดยส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มี 44 มาตรา ที่จำนวนบทบัญญัติน้อย ส่วนหนึ่งเพราะร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตทั้งสองฉบับ “อนุโลม” เอาบทบัญญัติในป.พ.พ.มาใช้เท่าที่ไม่ขัดกับตัวร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต

เปรียบเทียบข้อแตกต่างที่สำคัญของร่างสามฉบับได้ดังนี้

อายุขั้นต่ำของผู้ที่จะจดทะเบียนสมรส/คู่ชีวิต : ตามป.พ.พ. กำหนดอายุขั้นต่ำในการจดทะเบียนสมรสของชาย-หญิง ไว้ที่ 17 ปีบริบูรณ์ แต่กรณีมีเหตุอันสมควร (เช่น หญิงตั้งครรภ์ก่อน) ศาลสามารถอนุญาตให้สมรสก่อนอายุ 17 ปีได้ ซึ่งกรณีที่บุคคลอายุ 17 ปีแต่ยังไม่ถึง 20 ปี ยังไม่บรรลุนิติภาวะนั้น หากจะจดทะเบียนสมรสจะต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครอง แล้วแต่กรณี ซึ่งในร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตทั้งสองฉบับก็ยังคงหลักการเดิมไว้ กำหนดอายุขั้นต่ำในการจดทะเบียนคู่ชีวิตไว้ที่ 17 ปี ขณะที่ร่างสมรสเท่าทียม แก้ไขอายุขั้นต่ำในการจดทะเบียนสมรส เปลี่ยนเป็น 18 ปีสำหรับทุกเพศ เพื่อจัดเกณฑ์อายุให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่กำหนดให้ “เด็ก” คือบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ดังนั้นการที่ป.พ.พ. เดิมกำหนดให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีจดทะเบียนสมรสได้ อีกนัยหนึ่งก็เป็นเหมือนการให้เด็ก (ตามความหมายของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก) สามารถสมรสได้

เพศของผู้ที่จะจดทะเบียนสมรส/คู่ชีวิต : ตามป.พ.พ. กำหนดให้ผู้ที่จะสมรสได้ ต้องเป็น “ชาย” และ “หญิง” เท่านั้น ส่วนร่างสมรสเท่าเทียม กำหนดไว้ว่าเป็น “บุคคล” สองฝ่าย ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เสนอโดยครม. กำหนดว่าต้องเป็น บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด ส่วนร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เสนอโดยส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กำหนดว่า “บุคคล” สองคน

สัญชาติของผู้ที่จะจดทะเบียนสมรส/คู่ชีวิต : การสมรสตามกฎหมายของไทย ชายหรือหญิงสามารถจดทะเบียนสมรสกับคนสัญชาติอื่นได้ เนื่องจากป.พ.พ. ไม่ได้จำกัดให้คู่สมรสชาย-หญิง ต้องมีสัญชาติไทยทั้งสองฝ่าย ส่วนในร่างสมรสเท่าเทียมก็ไม่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ ด้านร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ทั้งฉบับที่เสนอโดยครม.และฉบับที่เสนอโดยส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กำหนดให้คู่ชีวิตอาจเป็นบุคคลสัญชาติไทยทั้งสองคน หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทยก็ได้ คนไทยสามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตกับใครก็ได้ แต่ชาวต่างชาติสองคนจะมาจดทะเบียนคู่ชีวิตในไทยไม่ได้

ข้อห้ามจดทะเบียนสมรส/คู่ชีวิต : ตามป.พ.พ. กำหนดข้อห้ามในการจดทะเบียนสมรสหลักๆ สามข้อ 1) ห้ามจดทะเบียนสมรสกับคนวิกลจริต หรือคนที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ 2) ห้ามจดทะเบียนกับญาติตามสายโลหิตโดยไม่ได้คำนึงว่าจะเป็นญาติในทางกฎหมายหรือไม่ (ห้าม incest) 3) ห้ามจดทะเบียนสมรสซ้อน ซึ่งร่างสมรสเท่าเทียมก็คงเรื่องนี้ไว้ ส่วนร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตทั้งสองฉบับก็กำหนดไว้ทำนองเดียวกัน และกำหนดห้ามจดทะเบียนสมรสซ้อนไม่ว่าอีกบุคคลฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียนสมรสอยู่แล้ว หรือจะจดทะเบียนคู่ชีวิตอยู่แล้วก็ตาม 

ความยินยอมในการสมรส : ตามป.พ.พ. มาตรา 1458 กำหนดหลักการให้การสมรสจะต้องทำโดยความยินยอมของชาย-หญิงที่จะอยู่ร่วมกันเป็นสามีภริยา หากการจดทะเบียนสมรสใด คู่สมรสไม่ได้ยินยอมอยู่ร่วมกัน หรือแอบแฝงจดทะเบียนเพื่อเอาสิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการของรัฐ การสมรสจะตกเป็นโมฆะ ซึ่งคู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรสอาจร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะได้ เคยมีกรณีที่ชาย-หญิงจดทะเบียนสมรสเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการของรัฐ จนเป็นคดีขึ้นสู่ศาลยุติธรรม และศาลสั่งให้การสมรสเป็นโมฆะ เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1067/2545

ร่างสมรสเท่าเทียม ที่เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญเรื่องนี้ ส่วนในร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตทั้งสองฉบับ กำหนดทำนองเดียวกันว่าการจดทะเบียนคู่ชีวิตจะต้องทำโดยความยินยอม มิเช่นนั้นจะเป็นโมฆะ ดังนั้น หากบุคคลจะไปจดทะเบียนคู่ชีวิตเพียงเพื่อให้ได้สวัสดิการของรัฐโดยไม่ได้ตั้งใจจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันจริง คู่ชีวิต บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่ชีวิตอาจร้องขอศาลให้พิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะได้

การจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส/คู่ชีวิต : ตามป.พ.พ. กำหนดทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาไว้สองแบบ คือ

1) สินส่วนตัว ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส เครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องประกอบอาชีพ ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างการสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา และของหมั้น

2) สินสมรส คือทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส หรือทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ ซึ่งระบุว่ายกให้เป็นสินสมรส และดอกผลของสินส่วนตัว 

ถ้าเป็นสินส่วนตัว คู่สมรสฝ่ายหนึ่งสามารถจัดการทรัพย์สินของตัวเองได้ตามปกติ แต่สินสมรสเป็นเจ้าของร่วมกันและต้องจัดการทรัพย์สินร่วมกัน การขายหรือจัดการสินสมรสต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่าย 

ร่างสมรสเท่าเทียม คงหลักการนี้ไว้ ส่วนในร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตทั้งสองฉบับ กำหนดให้มีสินส่วนตัว และทรัพย์สินร่วมกันของคู่ชีวิต เหมือนกันกับกรณีของคู่สมรส อย่างไรก็ดี ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตทั้งสองฉบับไม่ได้กำหนดรายละเอียดเรื่องความยินยอมของคู่ชีวิตหากอีกฝ่ายหนึ่งทำนิติกรรมที่กระทบต่อทรัพย์สินร่วมกัน ซึ่งในมาตรา 15 ของร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตทั้งสองฉบับ กำหนดให้เอาบทบัญญัติในป.พ.พ. มาใช้โดยอนุโลม (เท่าที่ไม่ขัดกับร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต) ดังนั้น หากคู่ชีวิตจะทำนิติกรรมใดที่กระทบต่อทรัพย์สินร่วมกัน ก็ต้องขอความยินยอมของคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งเหมือนกรณีของคู่สมรส

การรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน : ป.พ.พ. รวมถึงร่างสมรสเท่าเทียม กำหนดให้คู่สมรสรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ทั้งสองฉบับก็กำหนดให้คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้เช่นกัน

การรับมรดก : ป.พ.พ. กำหนดให้คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย และร่างสมรสเท่าเทียม ไม่ได้แก้ไขเรื่องนี้ เท่ากับว่าคู่สมรสไม่ว่าเพศใดก็มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายได้ ส่วนในร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ทั้งสองฉบับ กำหนดว่าหากคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งตาย อีกฝ่ายมีสิทธิหน้าที่เช่นเดียวกันกับคู่สมรส ดังนั้น คู่ชีวิตจึงมีสิทธิรับมรดกเช่นกัน

การสิ้นสุดความเป็นคู่สมรส/คู่ชีวิต : ตามป.พ.พ. กำหนดให้การสิ้นสุดการสมรสหรือที่เรียกสั้นๆ ว่า การหย่า สามารถเกิดได้จากความสมัครใจของคู่สมรสเองหรือเกิดจากคำพิพากษา ซึ่งการฟ้องหย่าต้องมีเหตุที่สามารถฟ้องหย่าได้ด้วย เช่น สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ ซึ่งในร่างพ.ร.บ.แก้ไขป.พ.พ. ที่ครม. เสนอ ได้กำหนดแก้ไขเพิ่มเติมเหตุฟ้องหย่า หากสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่ชีวิต ก็เป็นเหตุฟ้องหย่าได้ ดังนั้น หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านไปพร้อมกับร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต กรณีที่สามีภริยาอุปการะเลี้ยงดูผู้มีเพศกำเนิดเดียวกันฉันคู่ชีวิต ก็เป็นเหตุให้สามีหรือภริยาฟ้องหย่าได้

ในร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตทั้งสองฉบับ กำหนดหลักการไว้ทำนองเดียวกัน คู่ชีวิตสามารถเลิกการเป็นคู่ชีวิตทำโดยความยินยอมซึ่งต้องทำเป็นหนังสือ หรือโดยคำพิพากษาซึ่งต้องมีเหตุฟ้องเลิกการเป็นคู่ชีวิต ซึ่งก็กำหนดเหตุไว้ทำนองเดียวกันกับเหตุฟ้องหย่า

อำนาจจัดการแทนผู้เสียหายในคดีอาญาและมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายเช่นเดียวกับสามีภริยา :  ตามร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต กำหนดให้คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายในคดีอาญาและมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายเช่นเดียวกับสามีภริยา ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กรณีของร่างสมรสเท่าเทียม มาตรา 65 กำหนดไว้ว่า ให้คู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายนี้ มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สมรสตามบรรดากำหมาย กฎกระทรวง และระเบียบที่บัญญัติสิทธิหน้าที่สามีภริยา ดังนั้น หากกฎหมายนี้ผ่านสภา คู่สมรสก็มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายในคดีอาญาและมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ในภาพรวม การกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้ที่จดทะเบียนเป็นคู่ชีวิต ตามร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตทั้งสองฉบับแทบไม่แตกต่างจากการเป็นคู่สมรสตามป.พ.พ. ไม่ว่าจะเป็นการจัดการทรัพย์สิน การรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน การสิ้นสุดความเป็นคู่ชีวิต ความผูกพันของคู่ชีวิตแทบไม่แตกต่างจากคู่สมรสตามป.พ.พ. 

หากดูกรณีศึกษาของประเทศฝรั่งเศส การรับรองสิทธิก่อตั้งครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศเริ่มจาก กฎหมายบันทึกทะเบียนคู่ชีวิต (Pacte civil de solidarité : PACs) กฎหมายดังกล่าวรับรองสิทธิในการจดทะเบียนคู่ชีวิต (Civil Partnership) ทั้งในคนต่างเพศและคนเพศเดียวกัน ในระดับที่ “ใกล้เคียง” กับคู่สมรสสามีภริยา แต่มีความแตกต่างกับคู่สมรสบางประการ เช่น ในเรื่องการจัดการทรัพย์สิน กรณีของคู่ชีวิต ทรัพย์สินใครได้มาก็ตกเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของฝ่ายนั้น ไม่ได้เป็น “สินสมรส” โดยอัตโนมัติ เว้นแต่จะไปทำข้อตกลงให้เป็นทรัพย์สินร่วมกัน ทำให้มีข้อแตกต่างในการจัดการทรัพย์สินที่ชัดเจนระหว่างคู่ที่เลือกจดทะเบียนสมรส กับคู่ที่เลือกจดทะเบียนคู่ชีวิต 

ต่อมารัฐบาลฝรั่งเศสก็ดำเนินการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งเรื่องการสมรส โดยตัดคำที่บ่งบอกเพศออก เท่ากับว่าบุคคลไม่ว่าจะรักชอบพอกับเพศใด ก็สามารถเลือกจดทะเบียนคู่ชีวิต หรือจดทะเบียนคู่สมรสได้ ตามระดับของพันธะหรือความผูกพันที่ต้องการ ขณะที่แนวทางของภาครัฐไทย เดินหน้าผลักดันร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกับป.พ.พ. เพื่อเป็นกฎหมายแยกโดยเฉพาะ วิธีคิดในการออกกฎหมายเช่นนี้ จึงแสดงให้เห็นว่า ไม่ได้ต้องการจัดสรรเรื่องสิทธิหน้าที่ทางทรัพย์สินให้แตกต่างกัน แต่เป็นการออกแบบกฎหมายให้มีสองระบบ แยกระหว่างคนที่เป็นคู่รักชายหญิงกับคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศออกจากกัน 

จดทะเบียนคู่ชีวิตนอกสำนักทะเบียน ค่าธรรมเนียมแพงกว่าคู่สมรสชาย-หญิง?

กรณีของการจดทะเบียนสมรสของคู่ชาย-หญิง ป.พ.พ. ไม่ได้กำหนดเรื่องค่าธรรมเนียมไว้โดยเฉพาะ กฎหมายที่กำหนดรายละเอียดเรื่องนี้ คือ พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478ซึ่งให้อำนาจรัฐมนตรีออกกฎกระทรวงกำหนดรายละเอียดได้ ซึ่งมีกฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478เป็นกฎกระทรวงฉบับแรกที่กำหนดรายละเอียดรวมถึงค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนครอบครัว เช่น การจดทะเบียนสมรส การจดทะเบียนรับรองบุตร

โดยหลักแล้ว การจดทะเบียนสมรสที่สำนักทะเบียน ไม่มีค่าธรรมเนียม แต่หากคู่ที่จะสมรสมีความต้องการจดทะเบียนสมรสที่อื่น ก็จะมีค่าธรรมเนียมเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 กำหนดค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนสมรสไว้ ดังนี้

๐ การจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียน เช่น ให้เจ้าหน้าที่เดินทางไปจัดการจดทะเบียนสมรสให้ที่บ้าน จดทะเบียนสมรสที่งานแต่งงาน ค่าธรรมเนียมรายละ 200 บาท และให้จ่ายค่าพาหนะให้นายทะเบียนตามสมควร

๐ การจดทะเบียนสมรส ณ สถานที่สมรสซึ่งรัฐมนตรี (รมต.) ว่าการกระทรวงมหาดไทยอนุมัติ ค่าธรรมเนียมรายละ 20 บาท โดยกรณีนี้ ไม่ใช่การจดทะเบียนสมรสในสำนักทะเบียน แต่เป็นการจดทะเบียนสมรสตามสถานที่ของแต่ละจังหวัด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศและรมต.มหาดไทยอนุมัติ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2541ข้อ 17 ซึ่งสถานที่สำหรับจดทะเบียนสมรสนั้นอาจจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวก็ได้ เพื่อดึงดูดให้เกิดการท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัด เช่น วันวาเลนไทน์ปี 2564 จังหวัดลำพูนจัดกิจกรรมจดทะเบียนสมรส “ฮัก 100 ปี๋ตี้บ้านโฮ่ง”

๐ การจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียนในท้องที่ห่างไกล ค่าธรรมเนียมรายละหนึ่งบาท

๐ ค่าธรรมเนียมคัดสำเนาทะเบียนสมรส ฉบับละ 10 บาท (ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 5)

เนื่องจากค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนสมรสถูกกำหนดไว้ในกฎหมายลำดับรอง จึงสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงง่าย โดยปี 2563 รมต.มหาดไทยก็ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 9เปลี่ยนแปลงอัตราค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียน และการจดทะเบียนสมรส ณ สถานที่ซึ่งรมต. อนุมัติ เหลือรายละหนึ่งบาท สำหรับผู้ประสบภัยเท่านั้น และจากสถานการณ์โควิด อธิบดีกรมการปกครองก็ออกประกาศลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนครอบครัวในพื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง และพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ตามคำสั่งศบค. ที่ 23/2564 ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนนอกสำนักทะเบียน การจดทะเบียน ณ สถานที่ซึ่งรมต. อนุมัติให้มีขึ้น ก็คิดค่าธรรมเนียมรายละหนึ่งบาท โดยมีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 จนถึง 30 มิถุนายน 2565

สำหรับกรณีของคู่ชีวิต ท้ายร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับที่เสนอโดยครม. มาตรา 5 กำหนดให้รมต. กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงยุติธรรม ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องได้ โดยต้องไม่เกินอัตราท้ายพ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนคู่ชีวิต ดังนี้

๐ การจดทะเบียนคู่ชีวิตนอกสำนักทะเบียน (เช่น ให้ไปจดที่บ้าน) รายละ 1,000 บาท และมีค่าใช้จ่ายสำหรับค่าพาหนะให้นายทะเบียน 1,000 บาท

๐ การจดทะเบียนคู่ชีวิต ณ สถานที่จดทะเบียนซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอนุมัติ รายละ 500 บาท

๐ การจดทะเบียนคู่ชีวิตนอกสำนักทะเบียน ในท้องที่ห่างไกล รายละ 100 บาท

๐ ค่าธรรมเนียมการคัดและรับรองสำเนาทะเบียนคู่ชีวิต รายละ 100 บาท

อย่างไรก็ดี อัตราค่าธรรมเนียมที่กำหนดในร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นกรอบสูงสุดเท่านั้น หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติและประกาศใช้เป็นกฎหมาย ก็ต้องติดตามกันต่อว่ากฎกระทรวงจะกำหนดค่าธรรมเนียมไว้อย่างไร แตกต่างจากกรณีของคู่สมรสชาย-หญิงหรือไม่ หรือรมต. มหาดไทยจะออกกฎกระทรวงฉบับใหม่เพื่อแก้ไขค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสมรสของคู่สมรสชาย-หญิง

ฉบับไหนผ่าน ก็ยังมีการบ้านอีกมาก

ข้อเสนอแก้ไขป.พ.พ. ของส.ส.พรรคก้าวไกล ต้องการจะเปลี่ยนคำว่า “สามีภริยา” ในป.พ.พ. ทั้งหมดให้เป็นคำว่า “คู่สมรส” ซึ่งจะทำให้สิทธิและหน้าที่ต่างๆ เกี่ยวกับครอบครัวของคู่สมรสไม่ว่าทั้งสองฝ่ายเป็นเพศใดจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน และสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายอื่นๆ ที่เขียนไว้ด้วยถ้อยคำว่า “คู่สมรส” ไม่ว่าเรื่องอะไรก็จะได้อย่างเท่าเทียมกัน แต่สำหรับสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายอื่นๆ นอกจากในป.พ.พ.ที่เขียนไว้ด้วยถ้อยคำว่า “สามีภริยา” ยังอาจไม่ครอบคลุมถึงคู่สมรสที่มีเพศกำเนิดเดียวกัน แม้ว่าข้อเสนอแก้ไขป.พ.พ.ผ่านการพิจารณา ก็ยังต้องตามแก้ไขกฎหมายอื่นๆ ที่ใช้ถ้อยคำว่า “สามีภริยา” อีกหลายฉบับ

ขณะที่ข้อเสนอร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ทั้งสองฉบับกำหนดให้เรียกคู่ที่จดทะเบียนด้วยกันไม่ว่าเพศใดว่า “คู่ชีวิต” และให้นำสิทธิหน้าที่ของ “คู่สมรส” ในป.พ.พ. มาใช้โดยอนุโลม หมายความว่า หากพ.ร.บ.คู่ชีวิตบังคับใช้ สิทธิหน้าที่ของสามีภริยาและคู่สมรสตามป.พ.พ. เช่น การจัดการสินสมรส การหย่าร้าง การอุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่าย จะใช้บังคับกับคู่ชีวิตด้วย แต่สิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายอื่นๆ ที่เขียนไว้ด้วยถ้อยคำว่า เป็นสิทธิหน้าที่ของ “คู่สมรส” หรือ “สามีภริยา” จะไม่ใช้บังคับกับคู่ที่จดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตด้วย แม้ว่าร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ผ่านการพิจารณา คู่ชีวิตที่มาจดทะเบียนตามกฎหมายนี้ก็ยังไม่อาจได้รับสิทธิเช่นเดียวกับคู่สมรสชายหญิงทุกประการ แต่ยังมีการบ้านที่ต้องตามแก้ไขกฎหมายอื่นๆ อีกหลายฉบับด้วย

ตัวอย่างของกฎหมายที่กำหนดสิทธิและหน้าที่ให้กับ “คู่สมรส” ที่ยังเป็นการบ้านให้ต้องติดตามแก้ไขอีกมาก 

มรดกที่คู่สมรสได้รับไม่ต้องเสียภาษีมรดก ตามพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558 มาตรา 3 (2) กำหนดยกเว้นไม่ให้เก็บภาษีมรดก กับมรดกที่ตกทอดไปยัง “คู่สมรส” เท่ากับว่าคู่สมรสที่ได้รับมรดกจากคู่สมรสอีกฝ่ายที่เสียชีวิตไป ไม่ต้องเสียภาษีมรดก

สิทธิรับประโยชน์ทดแทนตามกฎหมายประกันสังคมพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการรับประโยชน์ทดแทน โดย “คู่สมรส” ของผู้ประกันตนมีสิทธิไปรับบริการทางการแพทย์ได้ และมีหลายสิทธิที่กำหนดให้เป็นของ “สามีภริยา” เช่น สิทธิได้ประโยชน์ทดแทนกรณีผู้ประกันตนตาย สิทธิได้ประโยชน์ทดแทนกรณีภริยาคลอดบุตร เป็นต้น 

สิทธิใช้นามสกุลของคู่สมรสอีกฝ่ายพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ.2505 มาตรา 12 กำหนดให้ “คู่สมรส” มีสิทธิใช้นามสกุลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามที่ตกลงกัน หรือต่างฝ่ายต่างใช้นามสกุลเดิมของตนก็ได้ และคู่สมรสอาจใช้นามสกุลของคู่สมรสอีกฝ่ายเป็นชื่อรองได้หากได้รับความยินยอม 

สิทธิรับบำเหน็จตอบแทนสำหรับกรรมการในองค์กรอิสระที่เสียชีวิต ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับองค์กรอิสระ จะกำหนดให้กรรมการที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีมีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนเป็นเงินซึ่งจ่ายครั้งเดียวเมื่อพ้นจากตำแหน่งด้วยหากครบวาระ ลาออก มีอายุครบ 70 ปี หรือตาย ซึ่งกรณีที่ตาย สิทธิบำเหน็จตอบแทนนั้นจะตกกับ “คู่สมรส” หรือทายาทที่ได้แจ้งไว้ โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ดังนี้

1. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 มาตรา 40

2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 32

3. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 มาตรา 31

4. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 25

กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการขัดกันของผลประโยชน์ (conflict of interest) และการป้องกันการทุจริต เช่น

1. รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 108 ข. (8) กำหนดลักษณะต้องห้ามของส.ว. ต้องไม่เป็น “คู่สมรส” ของส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง ฯลฯ และมาตรา 184 วรรคสาม ที่กำหนดห้ามคู่สมรสของส.ส. หรือส.ว. แทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ และต้องไม่รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ

2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีอำนาจกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน “คู่สมรส” และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และป.ป.ช.เองก็ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน “คู่สมรส” และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เพื่อให้ส.ว. ตรวจสอบ

3. พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กำหนดว่า กรณีที่ต้องพิจารณาทางปกครอง (เช่น การสอบวินัยข้าราชการว่าการกระทำเข้าข่ายผิดวินัยตามกฎหมายหรือไม่) ห้ามเจ้าหน้าที่ที่เป็นคู่หมั้นหรือ “คู่สมรส” ของคู่กรณีทำการพิจารณาทางปกครอง เพื่อป้องกันไม่ให้กระบวนการพิจารณาถูกบิดเบือนหรือเข้าข้างกัน

สิทธิการมีบุญโดยการอุ้มบุญพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 หรือพ.ร.บ.อุ้มบุญฯ กำหนดให้คู่ “สามีภริยา” ที่ภริยาไม่อาจตั้งครรภ์ได้เท่านั้นที่จะให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนได้ หมายความว่า แม้ในกรณีของคู่สมรสชายหญิงก็ไม่ใช่ทุกคู่ที่จะมีลูกโดยการอุ้มบุญได้ หากฝ่ายหญิงมีสุขภาพแข็งแรงสามารถตั้งครรภ์ได้ ก็ไม่สามารถมีบุตรด้วยวิธีการอุ้มบุญได้ กรณีที่จะให้คู่สมรสผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือคู่ชีวิตอุ้มบุญได้ ก็ต้องแก้ไขหลักเกณฑ์ในกฎหมายให้ผ่อนคลายมากขึ้น

สิทธิการได้สัญชาติของคู่สมรส พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 กำหนดหลักเกณฑ์การได้สัญชาติไทย สำหรับหญิงต่างชาติที่มีสามีสัญชาติไทย และชายต่างชาติที่มีภริยาสัญชาติไทย เอาไว้ความแตกต่างกัน กรณีของหญิงต่างชาติ หากประสงค์ถือสัญชาติไทยตามสามี ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยต้องแนบหลักฐาน ได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาทะเบียนสมรส โดยการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ได้สัญชาติไทยให้อยู่ในดุลพินิจของรมต.กระทรวงมหาดไทย

ส่วนกรณีของชายต่างชาติที่สมรสกับหญิงไทย จะต้องใช้วิธีแปลงสัญชาติ โดยชายต่างชาติจะต้องบรรลุนิติภาวะแล้วตามกฎหมายไทยและกฎหมายสัญชาตินั้น มีความประพฤติดี มีอาชีพเป็นหลักฐาน การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้แปลงสัญชาติไทย เป็นดุลพินิจของรมต.กระทรวงมหาดไทย เมื่อรมต. เห็นสมควรอนุญาตให้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ให้ผู้ขอแปลงสัญชาติเป็นไทยปฏิญาณตนว่า จะมีความซื่อสัตย์สุจริตต่อประเทศไทย

ดังนั้น ในอนาคต ไม่ว่าจะเกิดการแก้ไขป.พ.พ. หรือการออกร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต เป้าหมายที่จะให้บุคคลทุกคนไม่ว่าเพศใดที่เลือกใช้ชีวิตคู่ด้วยกันมีสิทธิหน้าที่ที่กฎหมายรับรองเช่นเดียวกัน ก็ยังมีการบ้านให้หน่วยงานของรัฐต้องทำงานหนักเพื่อแก้ไขกฎหมายฉบับอื่นๆ อีกมาก