บรรยง-วีระศักดิ์-ธำรงศักดิ์ ขึ้นเวทีก้าวหน้า หนุนกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น

1 เมษายน 2565 เวลา 10.00 น. คณะก้าวหน้าจัดเวที “ผ่าทางตัน 130 ปี รัฐราชการรวมศูนย์” โดยเป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มแคมเปญล่ารายชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ “คนละชื่อ ปลดล็อคท้องถิ่น” ที่อาคารอนาคตใหม่ โดยมีผู้บรรยายคือบรรยง พงษ์พาณิช ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

รัฐราชการรวมศูนย์ไม่ตอบโจทย์วิกฤติเศรษฐกิจ

บรรยง พงษ์พาณิช กล่าวเริ่มต้นการเสวนาว่า ตนเองนั้นไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด ๆ เพียงแต่ใครจะขอร้องให้ช่วยประเทศชาติตนก็พร้อมที่จะทำเสมอ และวันนี้การกระจายอำนาจก็เป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และได้แซงหลาย ๆ ประเทศไปแล้ว ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจจากประเทศด้วยพัฒนาเป็นประเทศกำลังพัฒนาอาจจะถือว่าไทยประสบความสำเร็จพอสมควร

เป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจมีทั้งหมดสามประการ คือ มั่งคั่ง ทั่วถึง และยั่งยืน สำหรับประเทศไทย แม้เราอาจจะเติบโตแต่ก็ยังไม่ทั่วถึง หรือที่เราอาจจะเรียกว่ารวยกระจุกจนกระจาย และยังไม่ยั่งยืนอย่างชัดเจน ที่ผ่านมาสัดส่วนคนจนของเราจะลดลงมาก แต่เมื่อเจอเหตุการณ์การระบาดของโควิด 19 เราเริ่มเห็นคนจนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญอัตราการฟื้นตัวเศรษฐกิจของเรานั้นต่ำมาก ข้าวของก็ยิ่งแพงขึ้นจากเหตุการณ์สงคราม ไทยกำลังเข้าสู่ภาวะStagflation คือเงินเฟ้อสูงแต่เศรษฐกิจกลับไม่เติบโตตาม การปลดล็อคให้ท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้น จะเป็นการปลดล็อคการพัฒนาทางเศรษฐกิจได้

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่รัฐใหญ่ ถ้ารวมรัฐวิสาหกิจซึ่งอยู่ในการดูแลของข้าราชการ ก็จะใหญ่มากขึ้นไปอีกนอกจากข้าราชการไทยจะใหญ่มาก เรามีข้าราชการกว่า 2 ล้านคน ไม่นับทหาร ในจำนวนนี้เป็นข้าราชส่วนกลางกว่า60 เปอร์เซ็นต์ และมีข้าราชการส่วนภูมิภาคซึ่งอยู่ในการดูแลของส่วนกลางอีก 20 เปอร์เซ็นต์ เหลือข้าราชการท้องถิ่นเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น”

บรรยงกล่าวต่อว่าปัญหาใหญ่ของประเทศไทยคือการคอร์รัปชั่น ซึ่งการกระจายอำนาจได้รับการพิสูจน์แล้วว่าจะลดปัญหาการคอร์รัปชั่นได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ถ้ามีการโกงทรัพยากรท้องถิ่น ประชาชนในท้องถิ่นจะรับรู้ทันทีและออกมาต่อต้าน แต่ถ้าเป็นทรัพยากรของส่วนกลางก็จะไม่มีใครสนใจเหมือนเรื่องใกลตัว นอกจากนี้ การทำให้ทรัพยากรตกอยู่แต่กับส่วนกลางทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน หลายประเทศเขาให้เมืองแข่งขันกัน ยกตัวอย่างเช่นจีน ทำให้เกิดการพัฒนาได้

ทั้งนี้ เราก็ต้องคิดอยู่เสมอว่าการปฏิรูปจะต้องมีคนเสียผลประโยชน์เสมอ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจะกระจายอำนาจคนที่เสียประโยชน์อย่างแน่นอนคือคนที่กุมอำนาจในส่วนกลาง หรือถ้าต้องการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ นักการเมืองหรือสหภาพแรงงานก็อาจจะเสียหาย ดังนั้นการปฏิรูปจึงต้องทำอย่างระมัดระวัง จะทำอย่างไรให้คนที่เสียประโยชน์ยอมรับ บรรยงปิดท้ายว่าที่ผ่านมาเรามักนึกถึงการกระจายรายได้ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญเช่นกันก็คือการจัดเก็บรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดหรือเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็น เพื่อเพิ่มโอกาสในการพัฒนาให้มากขึ้น

8 ปี คสช. 8 ปีของการตัดตอนการกระจายอำนาจ

วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวบนเวทีว่า ที่ผ่านมาท้องถิ่นของไทยถูกกระทำมาโดยตลอด โดยเฉพาะช่วง 8 ปีหลังที่ถูกกระทำมากเป็นพิเศษ สิ่งที่เราต้องช่วยกันเรียกร้องคือให้ศักยภาพของท้องถิ่นได้ออกมาอย่างเต็มที่ ตราบาปของท้องถิ่นไทยอย่างแรก ๆ คือการทำลายกลไกประชาธิปไตยระดับท้องถิ่น ทำให้ทิศทางการพัฒนาระดับพื้นที่ถูกตัดตอน ผ่านคำสั่งปลดผู้บริหารท้องถิ่นและเข้ามาแทรกแซง โดยใช้หลักการว่าผู้มีอำนาจสามารถทำอะไรก็ได้ ผลที่เกิดขึ้นชัดเจนคือการแต่งตั้งข้าราชการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่แทนคนที่ถูกแขวน ปัญหารุนแรงคือข้าราชการที่เข้ามาทำหน้าที่ไม่รู้ปัญหาของพื้นที่ และวัฒนธรรมในการทำงานของข้าราชการ สุดท้ายผู้มีอำนาจจึงต้องยอมปลดล็อคให้เกิดการเลือกตั้ง

ต่อมาคือการบิดเบือนกลไกตรวจสอบเพื่อใช้จัดการหรือใช้เป็นเงื่อนไขต่อรองทางการเมืองกับฝ่ายตรงข้าม และการเตะตัดขาท้องถิ่นไม่ให้ทำเกินหน้าเกินตา วีระศักดิ์ยกตัวอย่างจังหวัดภูเก็ตพยายามทำระบบขนส่งมวลชนแต่ก็ถูกสั่งห้ามโดยอ้างว่าขาดทุน ถ้าท้องถิ่นทำแล้วเกิดประโยชน์กับประชาชนก็ควรจะเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นทำ อย่างการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชื่อว่าถ้าเราไม่ช่วยกันปลดล็อค นโยบายกว่าครึ่งที่ผู้สมัครนำเสนอจะทำจริงไม่ได้

นอกจากนี้รัฐบาลส่วนกลางยังปล้นเงินและปล้นผลงานจากท้องถิ่น เวลาเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ รัฐบาลก็เอาเงินของท้องถิ่นมาช่วยประชาชน และยังลดเงินภาษีสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นรายได้ของท้องถิ่นโดยไม่ปรึกษาก่อน โดยที่ให้เงินชดเชยเพียงเล็กน้อย และสุดท้ายรัฐบาลก็เป็นผู้ที่ได้ผลงานไป ในประเทศไทย ท้องถิ่นไม่ได้มีอำนาจทางภาษีอย่างที่ควรจะเป็น หากท้องถิ่นสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น ก็จะเกิดความรับผิดชอบและต้องตอบคำถามประชาชนในพื้นที่ให้ได้ว่าเอาเงินไปทำอะไรบ้าง 

“ท้องถิ่นเป็นองค์กรที่ตรวจสอบได้ง่าย ที่เราเห็นในข่าวว่านักการเมืองท้องถิ่นโกงคือหลักฐานว่าเราตรวจสอบท้องถิ่นได้ เมื่อใครโกงก็จับแล้วจะการโกงลดลงเรื่อย ๆ อินโดนีเซียเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ เขาเริ่มจากราชการรวมศูนย์แย่กว่าเรามาก แต่เขาใช้การกระจายอำนาจแบบ big bang คือยกเลิกภูมิภาคเกือบทั้งหมด เลือกตั้งแล้วให้จังหวัดเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นไป เหลือภูมิภาคไว้แค่ประสานงานเท่านั้น ผมเคยไปอยู่กับเขาหนึ่งอาทิตย์ มีนักการเมืองท้องถิ่นถูกจับห้าวัน แต่พอมาวันนี้เขาแซงไทยไปแล้วเนื่องจากระบบตรวจสอบทำงานได้ดี”

วีระศักดิ์เน้นย้ำว่าท้องถิ่นของเราทำอะไรได้มากกว่าที่คิดมาก การแก้ปัญหาหลายเรื่องของท้องถิ่นทำได้ดีมากและยั่งยืน ในขณะที่การรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางมีแต่จะทำให้เกิดคอขวดและทำงานกลไกการตรวจสอบภายใน

130 ปี รัฐราชการรวมศูนย์ ให้มันจบที่รุ่นเรา

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวปิดคนสุดท้าย โดยการเล่าประวัติศาสตร์เปรียบเทียบระหว่างไทยและญี่ปุ่นว่า ญี่ปุ่นออกจากการปิดประเทศด้วยการบีบบังคับจากอเมริกา แต่ของไทย เราทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ในขณะที่ญี่ปุ่นกลายเป็นมหาอำนาจ แต่เรามีแค่ถนนราชดำเนินและรถไฟ หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นก็กระจายอำนาจมากขึ้นไปอีก แสงไฟจากฮอกไกโดและนางาซากิจึงเหมือนกัน นั่นก็เป็นเพราะญี่ปุ่นกระจายอำนาจและประชาธิปไตย สำหรับประเทศไทย เราจะเห็นว่าแสงไฟในเวลากลางคืนหากมองลงมาจากฟ้ากระจุกตัวอยู่ที่ตามหัวเมืองใหญ่เท่านั้น เมื่อเรามองดูโลกทั้งใบ เราจะเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองในระบอบเผด็จการรวมศูนย์ แสงไฟคือสัญลักษณ์ของการมีงานทำ เราจะขายของได้อย่างไรหากแสงไฟยังริบหรี่

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2435 หรือย้อนกลับไป 130 ปีพอดี เป็นครั้งแรกที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีอำนาจแต่งตั้งเสนาบดีได้ด้วยตนเอง ก่อนหน้านี้เราอยู่ระบอบราชาธิปไตยที่ขุนนางและกษัตริย์ก็มีอำนาจเช่นเดียวกัน แต่ย้อนกลับไป 130 ปีที่แล้วก็เป็นสัญญาณว่าไทยโยนระบอบเดิมทิ้งไปและเดินตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบตะวันตก ดังนั้นไทยจึงเดินตามรอยกระบวนการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง เวลาเรามองสถานีรถไฟหัวลำโพง ก็จะเห็นสัญลักษณ์ของการรวบอำนาจจากเมืองอื่น ๆ รัชกาลที่ 5 ได้เห็นทางรถไฟที่อินเดียเอามาใช้เพื่อการควบคุมหัวเมือง จึงเลียนเอามาทั้งหมดเมื่อเกิดกบฏผีบุญในอีสานซึ่งเป็นปฏิกิริยาจากการรวบอำนาจ ก็เป็นการส่งทหารจากเมืองหลวงผ่านรถไฟไปที่อีสานเพื่อไปปราบกบฏ

ธำรงศักดิ์ เล่าต่อว่า ท้ายที่สุดแล้วสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีอายุเพียง 40 ปีเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปี2475 มีแนวคิดเบื้องหลังคือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม ดังนั้น เราจึงเห็นคณะราษฎรมาพร้อมกับหลัก 6 ประการ การสร้างความปลอดภัยที่ไม่จำกัดอยู่เพียงแค่ชนชั้นนำเท่านั้น เรามีความฝันสร้างประชาธิปไตยในไทยแต่ในความเป็นจริงคือเป็นความฝันที่ถูกตัดตอนจากรัฐประหาร 13 ครั้งในเวลา 90 ปี

กระบวนการเมืองท้องถิ่นจะทำให้เราได้คนรุ่นใหม่ทางการเมือง กระบวนการเลือกตั้งจะนำไปสู่การคัดสรรเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่การเลือกตั้งจะต้องมีกฎเกณฑ์ที่มีเสถียรภาพ ไม่ใช่ในประเทศไทยที่มีการเปลี่ยนกฎเกณฑ์การเลือกตั้งตลอดเวลา โดยเฉพาะการปิดโอกาสคนรุ่นใหม่ด้วยการตั้งเกณฑ์อายุขั้นต่ำ การรัฐประหาร 13 ครั้งคือการปัดคนอายุน้อยออกจากการเมือง และรักษาอำนาจทางการเมือง ทำให้เราได้ผู้นำเผด็จการแทนประชาธิปไตย