เทียบผลลงมติของ ส.ว. สามภาค ยิ่งนานยิ่งเสียงไม่แตก ปกป้องอำนาจตัวเอง

ตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 มีความพยายามแก้ไขทั้งหมดสามภาค คือ มีการเสนอและเปิดการประชุมของรัฐสภาเพื่อพิจารณาลงมติกันแล้วทั้งหมด สามครั้ง
ภาคแรก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2563 โดยมีการเสนอทั้งหมด 7 ร่าง ประกอบไปด้วยร่างจาก ส.ส. พรรคฝ่ายค้านเสนอเข้าสู่การพิจารณา 5 ฉบับ ร่างจาก ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ 1 ฉบับ และร่างที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ 1 ฉบับ ซึ่งผลการลงมติในวาระแรก มีร่างผ่านเข้าสู่การพิจารณาต่อ 2 ฉบับ และในวาระที่สาม ไม่มีฉบับใดผ่านการพิจารณาเลย 
ภาคสอง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23-24 มิถุนายน 2564 โดยมีการเสนอทั้งหมด 13 ร่างประกอบไปด้วยร่างจากส.ส. พรรคพลังประชารัฐ เสนอเข้าสู่การพิจารณา 1 ฉบับ ร่างจากส.ส. พรรคฝ่ายค้าน 4 ฉบับ และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 8 ฉบับ ซึ่งผลการลงมติในวาระแรก มีร่างผ่านเข้าสู่การพิจารณาเพียงฉบับเดียวเรื่องการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส.  และในวาระที่สามก็ผ่านการพิจารณาได้สำเร็จ เป็นร่างฉบับเดียวที่เคยผ่านการลงมติของรัฐสภาได้สำเร็จ 
ภาคสาม เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2564 โดยมีร่างฉบับเดียวเข้าสู่การพิจารณา คือ ร่าง #รื้อระบอบประยุทธ์ ที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ และผลการพิจารณาก็คือไม่ผ่านในวาระที่หนึ่ง
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ให้สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ชุดพิเศษที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. จำนวน 250 คน เป็นตัวแปรสำคัญในการลงมติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งในวาระที่หนึ่ง และวาระที่สาม ถ้าหากไม่มีเสียงจากสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วย 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ร่างฉบับนั้นก็จะไม่ผ่านการพิจารณา ซึ่งพอจะเรียกได้ว่า ส.ว. มีอำนาจอย่างเต็มที่ในการขัดขวางการแก้ไขหากไม่เห็นด้วยกับร่างฉบับใด หรือหากร่างฉบับใดจะผ่านการพิจารณา ก็ต้องได้รับการไฟเขียวจาก ส.ว. ก่อน
ที่มาของ ส.ว. ที่ไม่ชอบธรรม และอำนาจที่ล้นฟ้า ทั้งการเลือกนายกฯรัฐมนตรี การติดตามการปฏิรูปประเทศ และการเป็นตัวสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลายเป็นประเด็นขัดแย้งในสังคม รวมทั้งเป็นปัญหาที่ทำให้การคงอยู่ของรัฐบาลนี้ไม่ชอบธรรม ก่อนหน้าการอภิปรายในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเริ่มต้นขึ้น ส.ว. หลายคนเคยประกาศต่อสาธารณะว่า ยินดีที่จะลดอำนาจตัวเอง และยอมรับข้อเสนอที่มาจากภาคส่วนอื่นๆ ไว้พิจารณา 
ในการลงมติแต่ละภาค มีข้อเสนอสำคัญที่ตัดอำนาจของ ส.ว. ออก และก็มี ส.ว. หลายคนลงมติ “รับหลักการ” ด้วยเช่นกัน แต่จำนวนเสียงของ ส.ว. ที่จะยอมพิจารณาตัดอำนาจตัวเองนั้นมีน้อยมาก และยังไม่ใกล้เคียงเงื่อนไขที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัดอำนาจของ ส.ว. ประสบความสำเร็จ 
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบการลงมติของ ส.ว. ในประเด็นอำนาจของตัวเองแต่ละครั้งก็จะพบว่า มีเสียงแตกอยู่เล็กๆ น้อยๆ แตกต่างกันไปตามข้อเสนอ โดยไม่ใช่เพียงเนื้อหาของร่างเท่านั้นแต่ยังรวมถึงประเด็นว่า “ใคร” เป็นผู้เสนอก็ส่งผลต่อการลงคะแนนเสียงด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ข้อเสนอเรื่องการยกเลิกอำนาจส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี ที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย กับพรรคประชาธิปัตย์ แม้หลักการจะคล้ายกันแต่ก็ได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่เท่ากัน
เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มผลการลงมติของ ส.ว. ทั้งสามภาค ก็จะพบว่า ไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก ส.ว. คนที่พร้อมจะลงมติตัดอำนาจตัวเองก็ยังคงเป็นคนหน้าเดิมๆ โดยที่ ส.ว. ส่วนใหญ่จะใช้วิธีลงมติ “งดออกเสียง” ไม่ได้ลงมติ “ไม่รับหลักการ” โดยตรง ซึ่งการงดออกเสียงก็ให้ผลใกล้เคียงกับการไม่รับหลักการเพราะหากเสียง “รับหลักการ” ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ 1 ใน 3 ก็มีผลให้ร่างตกไป สำหรับข้อเสนอให้ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีซึ่งเสนอเข้ามาทั้งในการพิจารณาภาคหนึ่ง และภาคสอง พบว่าได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. น้อยลง 
แต่เมื่อมาถึงข้อเสนอในภาคสามที่ให้ “ยกเลิกส.ว.” ไปเลยและใช้ระบบสภาเดี่ยว ก็เห็นได้ชัดว่า ส.ว. เกือบทั้งหมดพร้อมใจกันเทคะแนนปกป้องตัวเอง โดยการลงมติ “ไม่รับหลักการ” เกือบทั้งหมด

ผลการลงมติของ ส.ว. ต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นเกี่ยวกับอำนาจของ ส.ว. เป็นดังนี้

๐ ภาคหนึ่ง

– ร่างฉบับที่ 3 เสนอโดยพรรคฝ่ายค้านให้ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ปฏิรูปประเทศ รับหลักการ 4 เสียง ไม่รับหลักการ 26 เสียง งดออกเสียง 207 เสียง
– ร่างฉบับที่ 4 เสนอโดยพรรคฝ่ายยค้านให้ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ รับหลักการ 56 เสียง ไม่รับหลักการ 12 เสียง งดออกเสียง 169 เสียง
– ร่างฉบับที่ 7 เสนอโดยการเข้าชื่อของประชาชน “รื้อสร้างร่างรัฐธรรมนูญใหม่” ให้ยกเลิก ส.ว. ชุดนี้และเปลี่ยนเป็น ส.ว. จากการเลือกตั้ง รับหลักการ 3 เสียง ไม่รับหลักการ 78 เสียง งดออกเสียง 156 เสียง
(สามเสียงที่รับหลักการ คือ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, พิศาล มาณวพัฒน์, พีระศักดิ์ พอจิต)
ดูผลการลงมติโดยละเอียดของภาคหนึ่ง ได้ทาง https://elect.in.th/con-vote/

๐ ภาคสอง

– ร่างฉบับที่ 4 เสนอโดยพรรคเพื่อไทย ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี รับหลักการ 15 เสียง ไม่รับหลักการ 93 เสียง งดออกเสียง 118 เสียง
– ร่างฉบับที่ 9 เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ขวางแก้รัฐธรรมนูญ รับหลักการ 15 เสียง ไม่รับหลักการ 94 เสียง งดออกเสียง 117 เสียง
– ร่างฉบับที่ 11 เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ รับหลักการ 21 เสียง ไม่รับหลักการ 88 เสียง งดออกเสียง 117 เสียง
ดูผลการลงมติโดยละเอียดของภาคสอง ได้ทาง https://elect.in.th/convote-24jun21/

๐ ภาคสาม

– ร่างรื้อระบอบประยุทธ์ เสนอโดยการเข้าชื่อของประชาชน ให้ยกเลิก ส.ว. ใช้ระบบสภาเดี่ยว รับหลักการ 3 เสียง ไม่รับหลักการ 225 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง
(สามเสียงที่รับหลักการ คือ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, พิศาล มาณวพัฒน์, มณเฑียร บุญตัน)

พิศาล-เนาวรัตน์-มณเฑียร เคยโหวตตัดอำนาจตัวเองมาแล้ว

พิศาล มาณวพัฒน์ ก่อนหน้านี้ในศึกแก้รัฐธรรมนูญ ภาคหนึ่ง ในวาระแรกได้ลงมติรับหลักการในเรื่องการตัดอำนาจส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี รวมถึงรับหลักการร่าง “ร่วมรื้อสร้างร่างรัฐธรรมนูญ” ที่เสนอโดยประชาชน และงดออกเสียงในเรื่องอำนาจส.ว.ในการปฏิรูปประเทศ ต่อมาในแก้การรัฐธรรมนูญภาคที่สอง พิศาลรับหลักการเรื่องตัดอำนาจส.ว. ทุกประเด็น ได้แก่ ยกเลิกอำนาจส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี ที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ และยกเลิกอำนาจส.ว.ขวางแก้รัฐธรรนูญ 
ทางด้านเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นอีกหนึ่งส.ว.ที่รับหลักการเรื่องการตัดอำนาจส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีในการแก้รัฐธรรมนูญสองภาคก่อนหน้านี้ รวมถึงรับหลักการร่าง “ร่วมรื้อสร้างร่างรัฐธรรมนูญ” ที่เสนอโดยประชาชน แต่งดออกเสียงในเรื่องอำนาจส.ว.ปฏิรูปประเทศในภาคแรก และรับหลักการเรื่องตัดอำนาจส.ว.ขวางแก้รัฐธรรมนูญในภาคที่สอง ส่วนมณเฑียร บุญตัน ในภาคที่สอง ได้โหวตเห็นชอบให้ตัดอำนาจส.ว.ทั้งในเรื่องอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีและการแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนในการแก้รัฐธรรมนูญภาคแรกนั้น มลเฑียรรับหลักการเฉพาะเรื่องตัดอำนาจส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี โดยงดออกเสียงให้กับประเด็นอำนาจในการปฏิรูปประเทศและร่างที่เสนอโดยประชาชน