ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปวางหลักคุ้มครองการชุมนุม ให้รัฐจ่ายค่าเสียหายเมื่อทำผิด

เสรีภาพในการชุมนุม (Freedom of Assembly) เป็นหลักสากลที่ได้รับการรับรองทั่วโลกในฐานะสิทธิมนุษยชนพื้นฐานของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่จะสามารถรวมตัวแสดงออกเรียกร้องความต้องการของตนเอง แต่หากเมื่อใดก็ตามที่การชุมนุมนั้นมีจุดประสงค์เพื่อที่จะก่อความรุนแรงหรือสร้างความเสียหายให้กับบุคคลอื่น เจ้าหน้าที่รัฐก็มีอำนาจที่จะสลายการชุมนุมโดยใช้มาตรการอย่างระมัดระวังและยังคงคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานได้ 
คำถามที่ตามมาก็คือการชุมนุมแบบไหนที่จะเรียกได้ว่าเป็นไป "โดยสงบ" หรือแบบใดที่ถือว่าใช้ความรุนแรง และมีกรณีไหนบ้างที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังสลายการชุมนุมโดยมิชอบ
ในทวีปยุโรป มาตรา 11 ของอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรป (The European Convention on Human Rights หรือ ECHR) ซึ่งมีสมาชิกของสภายุโรป (Council of Europe) ทั้ง 47 ประเทศเป็นภาคี ให้การรับรองเสรีภาพใน “การชุมนุมโดยสงบ” (peaceful assembly) โดยการจำกัดเสรีภาพของบุคคลจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการบัญญัติไว้ในกฎหมาย เป็นไปเพื่อจุดประสงค์ที่ชอบธรรม และเป็นความจำเป็นใน “สังคมประชาธิปไตย” (democratic society)
ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Court of Human Rights) เป็นองค์กรหลักที่รับผิดชอบปกป้องเสรีภาพในการชุมนุมตามตามมาตรา 11 ของ ECHR โดยศาลได้ทำหน้าที่วางหลักเกณฑ์การชุมนุมโดยสงบและพิจารณาคดีที่เกิดขึ้น โดยในหลายคดีก็ได้นำไปสู่การลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดเสรีภาพในการชุมนุมด้วย
การชุมนุมโดยสงบหรือไม่วัดกันที่ “เจตนา” ตอนเข้าร่วม
การชุมนุมโดยสงบนั้นสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การรวมตัวในสถานที่สาธารณะแบบเร็วๆ หรือ “แฟลชม็อบ” การเดินขบวน ไปจนถึงการจัดงานแถลงข่าว ทั้งนี้ ในหลายกรณี เจ้าหน้าที่รัฐก็มักจะอ้างว่าการชุมนุมไม่ได้เป็นไปโดยสงบและใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม ในการพิจารณาว่าการชุมนุมหนึ่งๆ เป็นไปโดยสงบและได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 11 ของ ECHR หรือไม่ ในคดี Shmorgunov and Others v. Ukraine ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปวางหลักว่าต้องพิจารณาทั้งหมด 3 ประเด็น 
1. การชุมนุมนั้นมีเจตนาที่จะดำเนินไปโดยสงบหรือไม่ และผู้จัดการชุมนุมนั้นมีเจตนาที่จะก่อความรุนแรงหรือไม่
2. ผู้เข้าร่วมได้แสดงเจตนาที่จะใช้ความรุนแรงตอนเข้าร่วมการชุมนุมหรือไม่
3. ผู้เข้าร่วมได้ทำร้ายผู้อื่นหรือไม่
สังเกตว่าศาลให้ความสำคัญกับ “เจตนา” ของการชุมนุมเป็นอย่างมาก หากการชุมนุมมีเจตนาที่จะดำเนินไปโดยสงบตั้งแต่แรก แม้จะมีบุคคลบางคนในสถานที่นั้นก็ความรุนแรงขึ้นก็ไม่อาจกล่าวอย่างเหมารวมได้ว่าการชุมนุมนั้นเป็นการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงและไม่ถูกต้อง ตราบใดที่ผู้เข้าร่วมผู้อื่นยังอยู่ในความสงบและไม่มีเจตนาที่จะก่อความรุนแรง พวกเขาก็ยังคงมีเสรีภาพในชุมนุมอย่างถูกต้องและศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปก็ยังให้ความคุ้มครองตามมาตรา 11 แม้ว่าจะมีบุคคลอื่นก่อนความรุนแรงหรือกระทำสิ่งที่ผิดกฎหมายก็ตาม โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีอำนาจในการใช้กำลังหรือสั่งให้สลายการชุมนุมได้
อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีการชุมนุมนั้นมีเจตนาแรกเริ่มที่จะดำเนินไปอย่างสงบ แต่หลังจากผ่านไประยะหนึ่งก็เกิดการใช้ความรุนแรงและการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ศาลเห็นว่ากรณีเช่นนี้จำเป็นจะต้องมีการสืบสวนว่าความรุนแรงนั้นมาจากฝั่งไหนก่อน นอกจากนี้ เรายังต้องพิจารณาพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยว่ามีส่วนยั่วยุให้ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงหรือไม่ เช่น การใช้กำลังมากเกินความจำเป็นต่อผู้ชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งรวมถึงการนำคนไปคุมขังโดยมิชอบก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การชุมนุมซึ่งในตอนแรกนั้นเป็นไปโดยสงบเกิดความรุนแรงขึ้นมา หรือในกรณีที่ผู้ชุมนุมซึ่งมีเจตนาปักหลักรวมตัวกันอย่างสงบในช่วงระยะเวลาหนึ่งต้องเจอกับการใช้กำลังตำรวจอย่างไม่ได้สัดส่วนกับเหตุการณ์จริง ในกรณีเช่นนี้ผู้ชุมนุมย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมและได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 11 ของ ECHR
การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ต้องเป็นตาม “สัดส่วน” (Proportionality)
แม้ว่าการชุมนุมจะไม่ได้เป็นไปโดยสงบและมีการใช้ความรุนแรงจนผู้อื่นได้รับความเสียหาย แต่ก็ไม่ได้เป็นใบอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการใช้กำลัง "อย่างใดก็ได้" เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าการชุมนุมมีเจตนาที่จะก่อความรุนแรง และมาตรการที่ใช้นั้นก็จำเป็นต้องได้สัดส่วนกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วย การเผชิญหน้ากับตำรวจโดยปราศจากอาวุธ การปาก้อนหิน หรือขว้างสิ่งของอื่นๆ ที่ไม่ได้ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บรุนแรงไม่อาจถูกใช้เป็นข้ออ้างในการจับผู้กระทำไปขังเป็นระยะเวลานานได้ นอกจากนี้ การสลายการชุมนุมโดยไม่ได้มีการประกาศเตือนล่วงหน้า หรือผู้เข้าร่วมการชุมนุมนั้นยังไม่ได้กระทำการใดๆ ที่ผิดกฎหมายก็อาจจะถือว่าเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติไม่ได้สัดส่วนด้วยเช่นกัน
การใช้อาวุธเครื่องมือต่างๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นการยิงน้ำแรงดันสูงหรือแก๊สน้ำตาเข้าไปในการชุมนุมยังต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดภายใต้หลักปฏิบัติที่ถูกวางไว้แตกต่างกันไปตามมาตรการด้วย ยกตัวอย่างเช่น แก๊สน้ำตานั้นไม่ควรใช้ในกรณีที่ผู้ก่อความรุนแรงและผู้ร่วมชุมนุมปกติอยู่ปะปนกันเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดต้องได้รับผลกระทบไปด้วย นอกจากนี้ หลังจากที่มีการใช้กำลัง เจ้าหน้าที่รัฐยังมีหน้าที่ต้องตรวจสอบและจัดทำรายงานสอบสวนแสดงเหตุผลและผลลัพธ์ที่เกิดจากการใช้มาตรการต่างๆ ด้วย
กลไกของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้ให้ความคุ้มครองการชุมนุมตามมาตรา 11 ของ ECHR และได้นำไปสู่การเอาผิดเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมหลายคดี ผลการตัดสินของศาลก็ได้นำไปสู่การวางหลักเสรีภาพการชุมนุมให้กว้างขวางและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น
คดี Laguna Guzman v. Spain
เจ้าหน้าที่รัฐต้องมีความอดทนอดกลั้นกับ “การชุมนุมอิสระ”
ในปี 2014 ที่ประเทศสเปน ลากูนา กุสมัน (Laguna Guzman) เข้าร่วมการชุมนุมเพื่อคัดค้านนโยบายรัดเข็มขัดและอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น ในระหว่างที่เธอเข้าร่วมการชุมนุมอิสระที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลังการชุมนุมหลักจบลง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สั่งให้ผู้ชุมนุมนำป้ายของตนเองออกและให้ยกเลิกการชุมนุมเพื่อให้การจราจรสามารถผ่านไปได้ หลังจากที่ผู้ชุมนุมปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ ตำรวจได้สลายการชุมนุมซึ่งทำให้เกิดการปะทะกับผู้ชุมนุมบางส่วน กุสมันซึ่งในขณะนั้นยืนถือป้ายอยู่ข้างหน้าการชุมนุมเองได้รับบาดเจ็บจากการถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตีเข้าที่ปากและมือ หลังการชุมนุมจบลง กุสมันจึงได้ฟ้องร้องและเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐบาลสเปนฐานละเมิดมาตรา 11 ของ ECHR ที่ให้การรับรองเสรีภาพในการชุมนุม
ประเด็นหลักในคดีนี้อยู่ที่ว่าเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติกับการชุมนุมที่เกิดขึ้นเอง “โดยธรรมชาติ” (spontaneous) อย่างไร โดยศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้วางหลักไว้ว่าในกรณีที่เกิดการชุมนุมที่ไม่ได้มีการคาดหมายมาตั้งแต่แรก เจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องแสดงความ “อดทนอดกลั้น” (tolerance) ในระดับหนึ่งต่อการชุมนุมอิสระที่เป็นไปโดยสงบ ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่จะมีอำนาจตามกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมที่ออกแบบมาเพื่อให้การชุมนุมเป็นไปอย่างราบรื่นและกระทบต่อชีวิตประจำวันให้น้อยที่สุด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเจ้าหน้าที่จะดำเนินการอย่างใดก็ได้ 
ในคดีนี้ศาลจึงมองว่า เหตุผลในการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่นั้นไม่เพียงพอ ผู้ชุมนุมนั้นยังอยู่ในความสงบและไม่ได้เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของผู้อื่น มีเพียงการยึดพื้นที่บริเวณทางเท้าซึ่งไม่ได้เป็นการกระทำที่เกินเลยไปกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในการชุมนุมปกติเท่านั้น มากไปกว่านั้น แม้ว่าการชุมนุมอิสระจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติหลังจากที่การชุมนุมหลักจบลงไปแล้ว แต่ก็เป็นการชุมนุมโดยสงบจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตัดสินใจที่จะสลายการชุมนุมจึงเกิดความรุนแรงขึ้น โดยที่กุสมันเองก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงด้วย ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเห็นว่าเจ้าหน้าที่ละเมิดเสรีภาพในการชุมนุมที่ได้รับการรับรองไว้ในมาตรา 11 ของ ECHR โดยศาลมีคำสั่งให้รัฐบาลสเปนจ่ายเงินชดเชยให้กับโจทก์
คดี Lutsenko and Verbytskyy v. Ukraine
เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น
ในช่วงปี 2013-2014 เกิดจากชุมนุมครั้งใหญ่ที่รู้จักในนาม "ยูโรไมดาน" (Euromaidan) ที่ประเทศยูเครน โดยเป็นเหตุสืบเนื่องมาจากการระงับการเซ็นสัญญาความร่วมมือกับสหภาพยุโรปของรัฐบาลยูเครนที่เอนเอียงไปทางรัสเซียมากกว่า การประท้วงที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการตัดสินใจของประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) นั้นได้นำไปสู่การใช้กำลังสลายการชุมนุมครั้งใหญ่ของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีการคาดการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน และบาดเจ็บอีกเกือบสองพันคน การชุมนุมยังได้นำไปสู่การล้มรัฐบาล หรือที่เรียกกันว่า “การปฏิวัติยูเครน” ในปี 2014 อีกด้วย
ลูเซงโกและแวบิสกี (Lutsenko and Verbytskyy) เป็นนักเคลื่อนไหวสองคนที่เข้าร่วมการชุมนุมยูโรไมดานด้วย โดยในระหว่างการชุมนุม ลูเซงโกได้พาแวบิสกีที่ได้รับบาดเจ็บที่บริเวณดวงตาไปที่โรงพยาบาล แต่ทั้งคู่กลับถูกลักพาตัวโดยกลุ่มคนนอกเครื่องแบบ และนำไปทรมานเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับแกนนำการประท้วง แม้ว่าลูเซงโกจะสามารถเอาชีวิตรอดออกมาได้ แต่แวบิสกีกลับถูกทรมานจนเสียชีวิต โดยศพได้ถูกพบในวันถัดมา หลังจากการชุมนุมจบลง มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในยูเครน แต่ก็เป็นไปด้วยความล่าช้า ลูเซงโกและภรรยาของแวบิสกีจึงได้ตัดสินใจยื่นฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐบาลยูเครนฐานละเมิดมาตรา 2, 3, 5, 11 ของ ECHR
รัฐบาลยูเครนโต้แย้งว่าการฟ้องร้องครั้งนี้ไม่สามารถกระทำกับศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้เนื่องจากกลไกในประเทศยังคงดำเนินการสอบสวนอยู่ แต่ศาลเห็นว่าการสืบสวนในประเทศนั้นไม่ได้มีความคืบหน้าแม้เวลาจะผ่านมากว่าหกปีแล้ว ประกอบกับมีหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่าการสืบสวนนั้นมีข้อบกพร่อง ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปจึงรับฟ้องไว้
ในคดีนี้ ศาลมีข้อสรุปว่าเจ้าหน้าที่รัฐยูเครนได้ละเมิดมาตรา 11 ของ ECHR ที่ให้การรับรองเสรีภาพในการชุมนุม ศาลกล่าวว่าเมื่อใดก็ตามที่มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ที่จะใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรับรองความปลอดภัยของทั้งผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไป แต่ในข้อเท็จจริงของคดีนี้ แม้ว่าจะมีผู้ชุมนุมบางส่วนที่ก่อความรุนแรงและเข้าข่ายการกระทำที่ผิดกฎหมายจริง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับไม่ได้พยายามควบคุมการชุมนุมให้อยู่ในความสงบหรือดำเนินการเฉพาะผู้ชุมนุมที่ก่อความรุนแรง ซ้ำร้าย การออกกฎหมายการชุมนุมฉบับใหม่ของรัฐบาลที่กำหนดโทษไว้อย่างรุนแรงยังทำให้การชุมนุมโดยสงบเป็นไปได้ยากขึ้น ศาลยังมีความเห็นอีกว่าการเริ่มใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อสลายการชุมนุมคือปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นแทนที่จะลดลง
การชุมนุมยูโรไมดานยังได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 11 ของ ECHR เนื่องจากเจตนาแรกเริ่มของการชุมนุมนั้นเป็นไปโดยสงบ แม้ว่าการชุมนุมในท้ายที่สุดแล้วจะเกิดความรุนแรงมากมายจากทั้งสองฝ่าย แต่ก็ไม่อาจนำมาเป็นข้ออ้างได้ว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นมีเป้าหมายที่จะก่อความรุนแรง ในทางกลับกัน ศาลเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจละเมิดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของผู้ประท้วง มาตรการการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบ แต่เป็นไปเพื่อทำร้ายและข่มขู่ผู้ชุมนุมมากกว่า ดังนั้น การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่เข้าข่ายเป็นไปเพื่อจุดประสงค์ที่ชอบธรรมหรือเป็นความจำเป็นในสังคมประชาธิปไตย และรัฐบาลยูเครนต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับโจทก์ทั้งสอง
คดี Identoba and Others v. Georgia
รัฐมีหน้าที่ต้องรับรองความปลอดภัยของผู้ชุมนุม
ในเดือนมีนาคม 2012 อิเดนโทบา (Identoba) ชาวจอร์เจียจัดงานชุมนุมเนื่องในวันต่อต้านการเหยียดกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน (International Day Against Homophobia) โดยที่มีการชุมนุมของกลุ่มทางศาสนาที่ไม่เห็นด้วยกับ Identoba จัดเป็นคู่ขนานไปด้วย กลุ่มทางศาสนานี้มีจุดประสงค์เพื่อที่จะหยุดยั้งไม่ให้เกิดการเดินขบวนไพรด์ โดยการคล้องแขนกันเพื่อล้อมผู้ชุมนุมอีกฝั่งหนึ่งไม่ให้เดินต่อไปได้ ในขณะที่เหตุการณ์กำลังเริ่มบายปลายไปสู่ความรุนแรง มีการขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ตำรวจกลับไม่เข้าขัดขวางและไม่แยกผู้ชุมนุมออกจากกัน หลังจากนั้นไม่นาน ก็เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมทั้งสองฝั่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจตอบสนองด้วยการเข้าจับผู้ที่ร้องขอให้ตำรวจเข้าแก้ไขสถานการณ์โดยให้เหตุผลว่าเพื่อปกป้องเขาจากความรุนแรง
หลังจากเหตุการณ์สงบลง อิเดนโทบาได้ฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ตำรวจจากการที่ตำรวจนิ่งเฉยต่อความรุนแรงและไม่ปกป้องการชุมนุมโดยสงบ ในคดีนี้ ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเห็นว่ารัฐไม่สามารถปกป้องเสรีภาพในการชุมนุมโดยการนิ่งเฉยเท่านั้น แต่ต้องลงมือใช้มาตรการเพื่อให้การชุมนุมเป็นไปได้อย่างราบรื่นด้วย ดังนั้นหน้าที่ของรัฐจึงต้องเป็นตัวกลางที่คอยเข้าไปรับรองว่าการชุมนุมจะเป็นไปโดยสงบและผู้ชุมนุมไม่ต้องกังวลว่าตนเองจะได้รับอันตรายจากการออกมาชุมนุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่เปราะบางหรือเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคมที่มักถูกเลือกปฏิบัติ ต้องได้รับการปกป้องจากรัฐในกรณีที่พวกเขาอยากจะใช้เสรีภาพในการชุมนุม ดังนั้นศาลจึงเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจละเมิดมาตรา 11 ของ ECHR เนื่องจากเพิกเฉยไม่คุ้มครองผู้ชุมนุมจากอันตราย