สรุปประเด็นอภิปรายงบประมาณ ปี 65 สภาฯ สับแหลกรัฐบาลจัดสรรงบไม่ดูสถานการณ์ ไม่สนประชาชน

31 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2564 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนัดพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ พ.ศ. 2565) วาระหนึ่ง ซึ่งร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ พ.ศ. 2565 เป็นกฎหมายที่กำหนดว่า ในปีงบประมาณ 2565 (เริ่มต้นปีงบประมาณ 1 ตุลาคม 2564 และสิ้นสุดปีงบประมาณ 30 กันยายน 2565) รัฐจะจัดสรรเงินจำนวนเท่าไหร่ ให้กับหน่วยงานใด และใช้เพื่อ “ยุทธศาสตร์” อะไรบ้าง
ทั้งนี้ หากพิจารณาตามหลักกฎหมายการคลังในระบอบประชาธิปไตย การจัดสรรงบประมาณคือหน้าที่ของ “ฝ่ายบริหาร” เพราะฝ่ายบริหารเป็นผู้ใช้เงินงบประมาณตามนโยบายที่ได้หาเสียงเอาไว้ ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นผู้แทนประชาชนจะพิจารณา “อนุมัติงบประมาณ” เพราะงบประมาณที่รัฐจะนำมาใช้จ่ายนั้นก็มาจากประชาชน จึงต้องให้ผู้แทนประชาชนเป็นผู้อนุมัติว่าจะยินยอมให้ใช้จ่ายในเรื่องใดบ้าง ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้บทบาทกับ “สภาผู้แทนราษฎร” ที่มาจากการเลือกตั้งมากกว่าวุฒิสภา โดยสภาผู้แทนราษฎรสามารถตัดลดรายจ่ายที่ไม่ใช่รายจ่ายตามข้อผูกพันจำพวก เงินส่งใช้ต้นเงินกู้ ดอกเบี้ยเงินกู้ เงินที่กำหนดให้จ่ายตามกฎหมายได้ ขณะวุฒิสภาจะพิจารณาให้ความเห็นชอบเท่านั้น แต่ไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ ได้
ในวันที่ 2 มิถุนายน 2564 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติ “รับหลักการ” ร่างพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 269 เสียง ไม่เห็นด้วย 201 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง
มีการเสนอชื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เดินหน้าสู่กระบวนการพิจารณาในวาระสองต่อไป ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ จะประชุมกันครั้งแรกในวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ทั้งนี้ ปรากฏการเสนอชื่อนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน จากโควตาของครม. และปารีณา ไกรคุปต์ จากโควตาพรรคพลังประชารัฐนั่งเป็นกมธ. ด้วย
ถึงแม้ท้ายที่สุดแล้ว ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะมีมติรับหลักการ แต่เสียงที่ไม่เห็นด้วยก็มีจำนวนถึง 201 เสียง สะท้อนให้เห็นว่ามีส.ส. จำนวนมากที่ "ไม่เห็นด้วย" กับการจัดสรรงบประมาณ โดยชี้ให้เห็นว่าการจัดสรรงบประมาณไม่เหมาะสมกับสภาวะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับโรคระบาดโควิด-19 งบประมาณหลายส่วนที่จำเป็นก็ลดลงจากปีงบประมาณ 2564 งบประมาณบางส่วนอาจไม่ช่วยแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง
เพื่อไทย-ก้าวไกลสับแหลก รัฐบาลบริหารประเทศแย่ ไร้ความสามารถ ไร้แผน ไร้ประสิทธิภาพ
สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. พรรคเพื่อไทย ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ระบุว่า เมื่อได้เห็นงบประมาณที่รัฐบาลเสนอมา ก็รู้สึกตกใจ เพราะไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ขณะนี้พี่น้องประชาชนกำลัง Suffer (ทนทุกข์) กับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 แต่งบประมาณที่เสนอมากลับเหมือนไม่ได้มีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้นในประเทศ เหมือนเป็นงบประมาณในสถานการณ์ปกติ ไม่มียุทธศาสตร์ และอาจส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของประเทศ ซึ่งสุดท้ายแล้วรัฐบาลก็จะแก้ปัญหาด้วยการกู้เงินอีก
สมพงษ์ยังกล่าวถึงการบริหารประเทศในสถานการณ์โควิด-19 ว่า รัฐบาลมัวแต่ชื่นชมกับผลงานของสาธารณสุขที่รับมือการระบาดระลอกหนึ่งได้ดี ทั้งๆ ที่ระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพนั้น เกิดจากการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลก็ละเลย ไม่วางแผนไปถึงในอนาคต จนทำให้การบริหารวัคซีนล่าช้า ไม่มีความชัดเจนให้แก่ประชาชน และประชาชนไม่สามารถเลือกวัคซีนยี่ห้อที่เขามั่นใจว่าจะปลอดภัยกับตัวเขา
ในมิติด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากสถานการณ์โควิด-19 เมื่อมีการระบาดระลอกแรกซึ่งมีผู้ติดเชื้อหลักสิบ แต่รัฐบาลก็เลือกที่จะล็อกดาวน์ จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นแสนล้าน ความเสียหายจากตอนนั้นส่งผลมาถึงปัจจุบัน เมื่อรัฐบาลกู้เงินหนึ่งล้านล้านบาทมาเยียวยาก็เยียวยาในลักษณะเหวี่ยงแห 
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้ว่า นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 เป็นเวลาหนึ่งปีสี่เดือนแล้ว คาบเกี่ยวกับปีงบประมาณถึงสองปีงบประมาณ และมีเงินกู้หนึ่งล้านล้านบาท อย่างไรก็ดี ท่ามกลางวิกฤตโควิด รัฐบาลชุดนี้กลับใช้จ่ายงบประมาณแบบไม่มีสามัญสำนึก “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย” วิธีการป้องกันโรคระบาดที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีน ซึ่งวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า เข็มละ 120 บาท สองเข็มคิดเป็น 240 บาท แต่พอฉีดวัคซีนช้า ปล่อยให้เกิดการระบาดส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายในทางอื่นมากขึ้นกว่าเดิม เช่น ค่าตรวจโรคระบาด ค่ายาสำหรับผู้ที่ติดโรค รวมไปถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ และทำให้ต้องเยียวยาแก่ประชาชน จนถึงตอนนี้ 70,000 ล้านบาท ซึ่งก็ไม่แน่นอนว่าจะต้องเยียวยาไปถึงเมื่อไหร่
สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส. จากพรรคประชาธิปัตย์  ตั้งข้อเสนอการจัดทำงบประมาณปี 2565 ว่า รัฐยังต้องทำโครงสร้างการสร้างงานขนดใหญ่ รองรับคนตกงาน คนเรียนจบใหม่ ต้องรื้องบประมาณ โครงการบางอย่างอาจจะต้องตัดออกไป ส่วนมาตรการผู้มีรายได้น้อยยังจำเป็นต่อไป ต้องดูแลให้ธุรกิจขนาดเล็กยังดำเนินต่อไปได้
หารายได้ไม่เก่งเท่าสร้างรายจ่าย กู้สะพัด หนี้สาธารณะมากกว่ารายได้ถึง 3.3 เท่า
กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายประเด็นสถานะการเงินของประเทศ รายได้สุทธิของประเทศในปีงบประมาณ 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งลดลงจากรายได้โดยประมาณการของปีงบประมาณ 2564 ถึง 2.7 แสนล้านบาท ขณะที่หนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2565 คาดว่าจะอยูที่ 8.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2564 ถึง 1.2 ล้านล้านบาท ขณะที่หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 13 ล้านล้านบาท ถ้ารวมหนี้สาธารณะเข้ากับหนี้ครัวเรือน จะอยู่ที่ประมาณ 21 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่า GDP ของประเทศ เช่นนี้เรียกว่า “หนี้ท่วมรายได้” หรือหากเทียบเฉพาะหนี้สาธารณะกับรายได้ ก็พบว่าหนี้สาธารณะมากกว่ารายได้ถึง 3.3 เท่า กนกเตือนรัฐบาลว่า การที่รายได้ไม่เพิ่มขึ้นในขณะที่หนี้มีจำนวนมากจะส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้
ไชยา พรหมา ส.ส. พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 นั้นตั้งวงเงินงบประมาณรวม 3.1 ล้านล้านบาท ขณะที่ประมาณการรายได้ไว้ที่ 2.7 ล้านล้านบาท กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเจ็ดแสนล้านบาท เป็นการกู้เงินชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่ “เต็มเพดาน” เพราะในกฎหมายหนี้สาธารณะ (พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548) กำหนดให้กระทรวงการคลังสามารถกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่าย และร้อยละ 80 ของงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สําหรับชําระคืนเงินต้น (มาตรา 21) ดังนั้น การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 จึงไม่สามารถกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณได้อีกเพราะเต็มกรอบเพดานแล้ว 
ไชยา ตั้งคำถามว่า หากรายได้ที่จัดเก็บได้จริงไม่เป็นไปตามที่ประมาณการไว้จะทำอย่างไร ซึ่งตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาเป็นนายกฯ จนถึงปีงบประมาณ 2564 ตัวเลขการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการทุกปี โดยเฉพาะปีงบประมาณ 2563 ที่การจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าที่ประมาณการสูงถึง 3.4 แสนล้านบาท ซึ่งส่งผลกระทบยาวนานมาจนถึงงบปี 2564 และปี 2565 เมื่อไม่สามารถจัดเก็บรายได้สุดท้ายก็ต้องไปพึ่งพาการกู้เงิน และจะส่งผลให้รัฐมีหนี้สินล้นพ้นตัว หลังจากนั้นก็ต้องนำงบประมาณไปใช้หนี้เงินกู้อีกเป็นภาระการคลังในอนาคต 
มงคลกิตต์ สุขสินธารานนท์ ส.ส. พรรคไทยศรีวิไลย์ อภิปรายว่า ปัจจุบัน เสถียรภาพการเงินระหว่างประเทศ มีทุนสำรองระหว่างประเทศ 8.76 ล้านล้านบาท ณ วันที่ 30 มีนาคม 2564 มีหนี้สาธารณะ 8.47 ล้านล้านบาท ถ้าผ่านมาถึงปัจจุบัน ก็น่าจะเพิ่มอีก 3.88 แสนล้านบาท ตอนนี้รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.กู้เงินห้าแสนล้านบาท ซึ่งหนี้น่าจะชน 60% ต่อ GDP พอดี ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2565 คาดการว่าจะจัดเก็บรายได้ 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะจัดเก็บได้
ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลใช้วิธีออกกฎหมายกู้ 1) พ.ร.ก.กู้เงินหนึ่งล้านล้านบาท ซึ่งใช้หมดไปแล้ว 2) พ.ร.ก. Soft Loan SMEs วงเงินห้าแสนล้านบาท 3) พ.ร.ก. BSF ดูแลตราสารหนี้ สี่แสนล้านบาท 4) พ.ร.ก.ช่วยเหลือฟื้นฟู้ผู้ประกอบการธุรกิจจากผลกระทบโควิด วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท 5) พ.ร.ก.กู้เงินห้าแสนล้านบาท แบ่งเป็น แก้ไขปัญหาโควิด 30,000 ล้านบาท เยียวยาโควิด 300,000 ล้านบาท และฟื้นฟูเศรษฐกิจ 170,000 ล้านบาท ซึ่งมงคลกิตต์คาดการณ์ว่า ต่อไปทางรัฐบาลน่าจะเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐเอาไว้ หนี้สาธารณะไม่ควรทะลุ 60% ของ GDP เพื่อขยับเพดานให้เป็น 80% ของ GDP
มงคลกิตต์ ชี้ว่ารายได้ของรัฐลดลงเพราะปัจจัยจากธุรกิจการท่องเที่ยว และรัฐไม่สามารถหารายได้จากธุรกิจผิดกฎหมายได้ วิธีการแก้ไขสถานการณ์ที่เร็วที่สุดคือการฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือนายกฯ และรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขชะล่าใจ ผูกขาดวัคซีนสองยี่ห้อ ไม่เข้าร่วมโครงการ Covax 
มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส. พรรคเศรษฐกิจใหม่ อภิปรายว่า ในปีงบประมาณก่อนๆ หน้า ทั้งปีงบประมาณ 2563 และปีงบประมาณ 2564 ต่างก็มีการจัดสรรงบประมาณในรูปแบบงบประมาณ “ขาดดุล” กล่าวคือ มีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายที่มุ่งประสงค์จะจ่าย จึงทำให้ต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล (ชดเชยรายจ่ายที่เยอะกว่ารายได้) ขณะที่ในปีงบประมาณ 2564 (ที่กำลังใช้อยู่ตอนนี้) ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังระบุว่า ระยะเวลา 7 เดือน ตั้งแต่ตุลาคม 2563 ถึง เมษายน 2564 การจับเก็บรายได้ของรัฐ อยู่ที่ 1.22 ล้านล้านบาท จากเป้าหมาย 2.67 ล้านล้านบาท ทำไมในปีงบประมาณ 2565 ทำไมถึงยังตั้งงบขาดดุลสูงถึง 7 แสนล้านบาท และเมื่อย้อนดูงบประมาณปีก่อนๆ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 การจัดสรรงบประมาณปี 2565 มีงบประมาณขาดดุลสูงที่สุด ซึ่งมิ่งขวัญก็ได้ตั้งข้อกังวลว่าการกำหนดงบประมาณขาดดุลสูงขนาดนี้จะยิ่งเพิ่มหนี้ให้ประเทศ ขณะที่การจับเก็บรายได้ก็ไม่แน่นอนว่าจะถึงเป้าที่ตั้งไว้
ส.ส. ติงรัฐบาลจัดงบไม่เหมาะกับสถานการณ์โควิด-19 แสร้งตัดงบประมาณ แต่ซุกซ่อนค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น
ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส. พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขลดลง 4.3 พันล้านบาท ลดลง 2.74% เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 12 ปี หน่วยงานที่เกี่ยวกับการควบคุมโรคล้วนถูกตัดงบประมาณแทบทั้งสิ้น เช่น กรมควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งมีหน้าที่เฝ้าระวังและควบคุมโรค ถูกตัดงบประมาณ 480 ล้านบาท ลดลง 12% กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถูกตัดงบ 10% ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีศักยภาพตรวจหาเชื้อโควิดแค่ 50,000 เคสต่อวัน แต่รัฐบาลกลับตัดงบประมาณที่เกี่ยวข้องลง สถาบันวัคซีนแห่งชาติกลับได้งบประมาณเพียง 22 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ตอนนี้ประเทศมีปัญหาเรื่องวัคซีน ขณะที่กระทรวงกลาโหมกลับใช้งบไปกับอาวุธยุทโธปกรณ์ถึง 8,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ประเทศก็ไม่ได้ถูกโจมตีแต่อย่างใด
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. พรรคก้าวไกล ชี้ว่า งบประมาณปี 2565 รัฐบาลลดงบประมาณโดยภาพรวมลง แต่พอเจาะดูไส้ในแล้ว มีซุกซ่อนโครงการที่น่าละอายเต็มไปหมด เช่น งบประมาณกองทัพบก ภาพรวมมีการตัดลด 6,600 ล้านบาท แต่กลับเพิ่มงบประมาณของโครงการเสริมสร้างจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ 1,805 ล้านบาท กองทัพเรือ งบประมาณภาพรวมลดลง 1,130 ล้านบาท แต่ในโครงการเสริมสร้างจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มขึ้น 873 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณใน “โครงการเสริมสร้างจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์” ของกองทัพบกและกองทัพเรือรวมกัน เพิ่มขึ้นถึง 2,678 ล้านบาท วิโรจน์เห็นว่า ไม่ใช่ว่าจะไม่สามารถซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เลย แต่ในสถานการณ์แบบนี้ไม่ควรเพิ่มงบส่วนนี้ ซึ่งส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นมานี้ควรจะถูกนำไปใช้กับสิ่งที่จำเป็นสำหรับประชาชนมากกว่า เช่น ค่าวัคซีน ค่ายา Favipiravir (ยาต้านเชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 )
ขณะที่กรมควบคุมโรค ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในสถานการณ์โควิด ถูกตัดลดงบประมาณลงจากปีงบประมาณก่อน 479 ล้านบาท โดยปีนี้ได้รับจัดสรรงบประมาณแค่ 3,565 ล้านบาท กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ซึ่งมีหน้าที่ตรวจเชิงรุก วินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ ได้รับการจัดสรรงบประมาณแค่ 1,245 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 144 ล้านบาท กองทุนหลักประกันสุขภาพ ได้รับจัดสรรงบประมาณ 140,550 บาท ลดลงจากปีก่อน 1,815 ล้านบาท
วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส. พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขที่ลดไปถึง 10.8% ขณะที่งบการป้องกันประเทศถูกตัดลดไป 4.9% งบการรักษาความมั่นคงภายในลดไป 7.2% วาโยตั้งคำถามว่าทำไมงบด้านสาธารณสุขถึงถูกตัดมากกว่างบความมั่นคงทางกายภาพ ในสภาวะแบบนี้กระทรวงที่จะต้องได้รับงบประมาณอย่างเต็มที่ในการแก้วิกฤตของชาติ คือ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งตั้งงบประมาณ 153,940 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินลงทุน 17,000 ล้านบาท ขณะที่งบของกระทรวงกลาโหม 203,282 ล้านบาท แต่มีงบลงทุนถึง 52,533 ล้านบาท  วาโยชวนคิดว่า ณ วิกฤตกาลแบบนี้ เราควรลงทุนทางสาธารณสุขหรือลงทุนด้านการทหาร
เมื่อเจาะลงไปที่งบของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในแผนงานเสริมสร้างยุทธศาสตร์ให้คนมีสุขภาพที่ดี มีทั้งหมด 7 โครงการ โดยโครงการที่ 5 โครงการพัฒนาระบบบริหารสุขภาพ ได้งบเยอะสุด 10,183 ล้านบาท โครงการที่ 7 โครงการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เป็นโครงการมีเพิ่มมาในปีนี้ แต่ได้รับงบประมาณ 8.4 ล้านบาท  โดยโครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินงานแค่ปีเดียว วาโยชี้ว่าเป็นการประเมินที่สั้นเกินไป และจัดสรรงบประมาณให้น้อยเกินไป 
สำหรับงบประมาณของกรมสุขภาพจิต มีการจัดสรรสำหรับค่าใช้จ่ายในการลดช่องว่างเพิ่มการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายในวิถี New Normal ที่ 5,341,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูจิตใจหลังภาวะวิกฤติ ในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ตั้งงบไว้ที่ 5,850,000 บาท รวมราว 11 ล้านบาท
ในส่วนของงบประมาณกองทัพ วาโยชี้ว่า งบประมาณของกองทัพอากาศ มีงบผูกพัน 22 รายการ ตั้งงบไว้ 8,000 กว่าล้านบาท กองทัพเรือ 11 โครงการ เกือบ 5,000 ล้านบาท กองทัพบก มีงบผูกพัน 24 โครงการ 9,000 กว่าล้านบาท และยังผูกพันงบประมาณอีก 4 โครงการเกือบ 1,000 ล้านบาท
วาโยสรุปว่า ที่ตนดูงบประมาณมาทั้งหมดยังไม่เจองบสำหรับวัคซีน ปีงบประมาณนี้มีวิกฤติแล้ว แต่ไม่ปรับเปลี่ยนงบประมาณให้เหมาะสมกับสถานการณ์
กรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส. พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขถูกปรับลดถึง 4,338 ล้านบาท ในส่วนของกรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สำคัญ ถูกตัดลดงบประมาณจากปีก่อนไปถึง 479 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2565 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 3,565 ล้านบาท งบวัคซีนโควิดก็โยกไปไว้ที่งบกลาง ส่วนงบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีบทบาทในการตรวจโรคโควิด-19 งบประมาณลดลงไป 144 ล้านบาท ในปีนี้ตั้งไว้ที่ 1.244 ล้านบาท กรวีร์แสดงความเห็นว่านี่เป็นการจัดสรรงบประมาณที่พิลึกพิลั่น
ก้าวไกลเสนอ ตั้งแผนบูรณาการงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ งบเฉลิมพระเกียรติให้มีแม่งานเฉพาะ จัดงานเฉลิมพระเกียรติ เผยแพร่วัฒนธรรม ต่อยอดกระตุ้นเศรษฐกิจ
เบญจา แสงจันทร์ ส.ส. พรรคก้าวไกล เสนอการจัดงบประมาณแผนบูรณาการแบบใหม่เพื่อจัดระเบียบโครงสร้างบประมาณ ลดความซ้ำซ้อน เพิ่มความโปร่งใสตรวจสอบได้ และจัดลำดับโครงการสำคัญต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น โดยเบญจาขยายความต่อว่า ในปีงบประมาณ 2565 มีงบประมาณเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์อย่างน้อย 33,712 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายการที่แสดงตามชื่อโครงการที่เกี่ยวข้อง (กับสถาบันพระมหากษัตริย์) ในชื่อโครงการ 
เบญจาแบ่งงบประมาณจำนวน 33,712 ล้านบาท เป็นห้าประเภท 
1) งบพิทักษ์รักษาและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ 629 ล้านบาท เช่น โครงการรวมใจเทิดไท้สถาบันพระมหากษัตริย์ ของกรมศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม 
2) งบถวายความปลอดภัย 6.938 ล้านบาท เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ภายใต้ผลผลิตการถวายความปลอดภัยด้านการบิน 
3) งบส่วนราชการในพระองค์ 8,761 ล้านบาท
4) งบโครงการตามพระราชดำริและพระปณิธาน เป็นงบที่เกี่ยวกับโครงการหลวงต่างๆ 15,203 ล้านบาท
5) งบอื่นๆ เช่น งบพระราชทานเพลิงศพ งบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 2,179 ล้านบาท
เบญจาอภิปรายว่า เงินสามหมื่นกว่าล้านนี้ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ประเด็นคือ แต่ละโครงการควรจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เหมาะสม เปิดเผย โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยเฉพาะสถานการณ์ที่งบประมาณถูกปรับลด สภาพเศรษฐกิจดิ่งเหว ถ้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่สามารถจัดลำดับงบประมาณหรือจัดซ้ำซ้อน การจัดสรรงบเช่นนี้จะถือเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน
เบญจา แสงจันทร์ ขยายความต่อว่า งบประมาณที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการตามพระราชดำริบางโครงการมีที่มาจากการพระราชทานและพระราชดำริ อย่างไรก็ดี บางโครงการนั้นก็มาจากพระราชดำริจากเมื่อ 10 ปีก่อน จึงอาจจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาใหม่ ว่าพื้นที่นั้นๆ มีการเปลี่ยนแปลงจากในอดีตมากน้อยเพียงใด เบญจา พบว่าหน่วยงานบางหน่วยจัดทำโครงการในพระราชดำริโดยไม่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่และสภาพปัญหาให้ถ่องแท้ ทำให้เกิดความขัดแย้งและการต่อต้านจากพี่น้องประชาชน ยกตัวอย่างเช่น โครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตระกั่วอันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริ จังหวัดพัทลุง ทางกรมชลประทานจัดทำเอกสารรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยคัดลอกรายงานของจังหวัดเพชรบูรณ์มาเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดพัทลุง และลืมแก้ไขข้อมูลสำคัญทางภูมิศาสตร์ ข้อมูลพืชเศรษฐกิจ เบญจาตั้งคำถามต่อว่าการนำข้อมูลอันเป็นเท็จมาใช้เกี่ยวพันกับโครงการในพระราชดำริ เป็นการเหมาะสมแล้วหรือไม่ และจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาพลักษณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ เสื่อมเสียไปถึงพระเกียรติของสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่
เบญจาแสดงความเห็นว่า โครงการในพระราชดำริควรจะต้องรับฟังความคิดเห็นจากชุมชน เพื่อแสดงให้เห็นว่าโครงการเหล่านี้โปร่งใสและเป็นธรรม และเพื่อไม่ให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้แอบอ้างดำเนินโครงการซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับภาพลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์
เบญจาเสนอว่าสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ที่มีหน้าที่ดูแลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอยู่แล้ว ควรเข้ามาตรวจสอบโครงการเหล่านี้ หากพบว่าตัวโครงการมีปัญหา ทั้งจากเหตุความไม่โปร่งใส ความล่าช้า หรือความต้องการในพื้นที่ได้เปลี่ยนไปแล้วจากเดิม กปร. ก็ควรจะพิจารณาให้มีการเพิกถอนสถานะโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายสะท้อนกับความต้องการของประชาชน และสมเหตุสมผล เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน
เบญจา เสริมว่า ยังมีโครงการที่ใช้ชื่อเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งที่หน่วยงานที่ตั้งงบประมาณนั้นไม่ได้มีพันธกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เช่น กองทัพอากาศ ขอตั้งงบประมาณโครงการอนุรักษ์พันธุ์พืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ นี่แสดงให้เห็นถึงการจัดงบประมาณภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ การจัดทำงบประมาณไม่ตรงกับพันธกิจ ภารกิจหลักของหน่วยงาน
เบญจาเสนอให้มีการตั้งแผนบูรณาการใหม่แยกเป็นแผนบูรณาการโครงการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ โดยให้ กปร. ดูแลและจัดลำดับความสำคัญของโครงการที่ใช้ชื่อว่า โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการหลวงทั้งหมด 
ส.ส. จากพรรคก้าวไกล แสดงเหตุผลที่ต้องทำเป็นแผนบูรณาการว่า เพื่อจะลดความซ้ำซ้อนของการดำเนินงานโดยคำนึงถึงความจำเป็นและภารกิจในการดำเนินงาน คำนึงถึงพื้นที่และความต้องการในพื้นที่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ ไม่ปล่อยให้หลายหน่วยงานเข้ามารุมทำโครงการใดโครงการหนึ่งที่อาจจะไม่เกี่ยวกับพันธกิจของหน่วยงานนั้น เพื่อให้กปร. จัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของโครงการ และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดทำงบประมาณ ควบคู่ไปกับการพิจารณาทบทวนหรือยกเลิกโครงการที่มีความสำคัญในระดับต่ำหรือหมดความจำเป็นไปแล้ว โดยทั้งหมดนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน อีกประการหนึ่งก็คือ เพื่อประโยชน์ของสภาผู้แทนราษฎรในการตรวจสอบโครงการที่ใช้ชื่อเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ให้กลุ่มบุคคลแอบอ้างเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นข้ออ้างในการขอจัดสรรงบประมาณ และเป็นเกราะกำบังเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ จนส่งผลเสียต่อพระเกียรติยศได้
เบญจา แสงจันทร์ สรุปว่า การรวมงบประมาณเข้าด้วยกันเป็นแผนบูรณาการจะทำให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้พี่น้องประชาชนที่เป็นเจ้าของงบประมาณ สามารถตรวจสอบการใช้งบประมาณโครงการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างถูกต้อง และไม่ทำให้เกิดข่าวลือผิดๆ ที่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสียหาย
ในส่วนของงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการเทิดพระเกียรติ เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นงบประมาณที่กระจายแยกย่อยอยู่ตามแต่ละหน่วยงาน เบญจาอภิปรายว่าเป็นการกระจายงบประมาณอย่างเหวี่ยงแห เป็นเบี้ยหัวแตก กระจัดกระจายเกินไป ตั้งแต่ปี 2554 ถึงปี 2563 มีการจัดทำซุ้มเฉลิมพระเกียรติกว่า 7,000 โครงการ กระจายอยู่ 3,600 กว่าหน่วยงาน ใช้งบประมาณราว 2,000 ล้านบาท และก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถามในหมู่พี่น้องประชาชน เบญจาเสนอว่า ควรจะรวมงบประมาณเหล่านี้เป็นก้อนเดียวกัน แล้วมอบหมายให้ภารกิจหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นเจ้าภาพไปเลย เช่น กระทรวงวัฒนธรรม โดยให้หน่วยงานเจ้าภาพหลักจัดบูรณาการงบประมาณทั้งก้อน และไปจัดงานให้สมพระเกียรติ ใช้งบประมาณจัดงานออกร้านหรืองานศิลปะร่วมสมัย รณรงค์ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวผ่านการถ่ายทอดคุณค่าทางวัฒนธรรมของชาติ เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ช่วยเพิ่มมูลค่า ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งไปพร้อมๆ กับการเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งวิธีนี้จะสมเหตุสมผลกว่าการให้แต่ละหน่วยงานไปจัดทำซุ้มเฉลิมพระเกียรติตามสี่แยกหรือสะพานลอย ซึ่งอาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ
เบญจาทิ้งท้ายว่า งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หน่วยงานที่รับงบประมาณต้องทำให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันผู้ที่แอบอ้างชื่อสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วเอางบประมาณส่วนนี้ไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง และเพื่อให้การจัดสรรงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันมีความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ ในภาวะที่ประเทศและประชาชนเผชิญกับความยากลำบาก การจัดสรรงบประมาณต้องยึดหลักประสิทธิภาพ เมื่อประชาชนมองมาก็จะเห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชน ขอฝากไปถึงหน่วยงานรับงบประมาณทุกหน่วยที่จะเข้ามาชี้แจงในการพิจารณาวาระสอง ขออย่าเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะกำบังหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากสภา หวังว่าในปีงบประมาณนี้ หน่วยรับงบประมาณอย่างส่วนราชการในพระองค์ จะส่งตัวแทนมาร่วมชี้แจงงบประมาณต่อกรรมาธิการ เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนในการพิจารณางบประมาณ ยืนยันว่าข้อเสนอและข้อคิดเห็นที่ตนและพรรคก้าวไกลเสนอไม่ได้เกินไปกว่าขอบเขตอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ต้องตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารตามระบอบประชาธิปไตย ในทางตรงกันข้ามที่ตนเสนอไปยิ่งทำให้ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดำรงอยู่อย่างมั่นคงสถาพรในรัฐสมัยใหม่ โดยไม่ถูกนำมาใช้แอบอ้างให้เสื่อมเสียพระเกียรติมากยิ่งขึ้น
รัฐราชการเทอะทะ สวัสดิการราชการงบหนากว่าสวัสดิการประชาชน 
ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ในช่วงเวลาที่ประเทศประสบปัญหาวิกฤต เราคาดหวังว่ารัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณมากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่แทนที่งบประมาณปี 2565 จะเพิ่มขึ้น กลับลดงบประมาณลง 185,000 ล้านบาท รัฐบาลอาจจะอ้างว่าเมื่อจัดเก็บรายได้ลดลง ก็ต้องลดวงเงินงบประมาณรายจ่าย เพราะกฎหมายหนี้สาธารณะกำหนดเพดานเงินกู้ไว้แล้ว  
ศิริกัญญา แสดงความเห็นต่อว่า แต่ถ้ารัฐบาลจะเอาหลังพิงกฎหมายแล้วผลักภาระไปให้ประชาชน ถ้าไม่กล้าตัดสินใจในช่วงวิกฤตโดยเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่กล้าแก้กฎหมายที่ไม่ยืดหยุ่น ก็เอาข้าราชการมาบริหารประเทศก็ได้ ซึ่งรัฐบาลเองก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เห็นปัญหาว่าเงินไม่พอใช้ จึงใช้วิธีออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินห้าแสนล้านบาท แทนที่จะออก พ.ร.บ.งบกลางปี (พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจําปีงบประมาณ) ที่มีรายละเอียดโครงการชัดเจน กลับเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ หลีกเลี่ยงความรับผิดทั้งปวง ให้สภาและประชาชน “เซ็นเช็คเปล่า” ให้อีกรอบ
ศิริกัญญาอภิปรายว่า เพราะรัฐราชการที่ใหญ่โต เฉพาะงบประมาณเกี่ยวกับสวัสดิการข้าราชการและครอบครัว ก็แซงงบประมาณงบประมาณสวัสดิการประชาชน เบ็ดเสร็จแล้วงบประมาณเกี่ยวกับเงินเดือนสวัสดิการข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างรัฐ สูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณ 40% ของงบประมาณทั้งหมด เมื่อต้องเลือกตัดงบประมาณ รัฐบาลก็มาตัดงบประมาณที่เกี่ยวกับสวัสดิการประชาชน เช่น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตัดงบไป 2,000 ล้านบาท ประกันสังคม ตัดไป 19,000 ล้านบาท กองทุนสวัสดิการประชารัฐ ตัดไป 20,000 ล้านบาท ก้อนถัดมาที่รัฐบาลเลือกตัดก็คือเงินสำหรับฟื้นฟูประเทศหลังจากวิกฤติโควิด ตัดงบประมาณด้านการศึกษาไป 24,000 ล้านบาท ตัดงบกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 5,000 ล้านบาท
ศิริกัญญายังเสริมถึงประเด็นความไม่ยืดหยุ่นในสถานการณ์วิกฤติว่า เวลาหน่วยงานราชการจะทำงบประมาณก็ต้องให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท 23 แผน แผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน จนทำให้เวลาหน้าสิ่วหน้าขวานไม่สามารถขยับปรับงบประมาณอะไรเลย 
ลดงบเกี่ยวกับการศึกษา ไม่สนสถานการณ์ ไม่สนอนาคตของชาติ 
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ยิ่งส่งผลกระทบต่อการศึกษาโดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้น นักเรียนจะยิ่งหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งรัฐบาลก็ควรจะสนับสนุนนักเรียนที่เป็นอนาคตของชาติ แต่งบประมาณที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาได้รับในปีงบประมาณ 2565 มีจำนวน 5,652 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณก่อนถึง 433 ล้านบาท ส่วนงบลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับจัดสรรงบประมาณที่ 372 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณก่อน 17 ล้านบาท 
สำหรับงบประมาณการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาส ท่ามกลางสถานการณ์โควิดมีจำนวนเด็กด้อยโอกาสที่เพิ่มมากขึ้น แต่งบประมาณกลับลดลงจากปีก่อนถึง 72 ล้านบาท เหลือ 532 ล้านบาท ทำให้งบประมาณเฉลี่ยต่อคนลดลงตามไปด้วย งบการศึกษาสำหรับเด็กพิการเองก็ลดลงจากปีก่อนเช่นกัน โดยปีงบประมาณ 2565 ได้รับการจัดสรร 2,657 ล้านบาท ลดจากปีก่อน 147 ล้านบาท
ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส. พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า จากการวิจัยการปิดโรงเรียนโดยให้เรียนออนไลน์ ทำให้การเรียนรู้ถดถอย อีกทั้งปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่คนรายได้ลดลง 56.7% และมีคนถูกเลิกจ้าง 9.8% ยังมีส่วนส่งผลต่อการศึกษาของลูกหลานของเขา ปีนี้มีนักเรียนเสี่ยงหลุดออกนอกระบบมากขึ้น แต่เมื่อดูงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ มีงบประมาณในโครงการที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้เพียง 4.6 ล้านบาท 
ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ส.ส. พรรคเพื่อชาติ อภิปรายงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการ ในปีนี้งบประมาณลดลงจากปีงบประมาณก่อน 6.75% ยังเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณเยอะที่สุด แต่งบประมาณก็ถูกตั้งมาในรูปแบบเดิมๆ ไม่รองรับความเปลี่ยนแปลงใดๆ เมื่อเทียบงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการที่ผ่านมาต่อ GDP แล้ว ประเทศไทยอยู่อันดับที่ห้า เหมือนเกาหลีใต้ เป็นรองแค่นอร์เวย์ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส และเมื่อเทียบสัดส่วนงบประมาณด้านการศึกษาต่องบประมาณของทั้งประเทศ มีข้อมูลจากธนาคารโลกว่า ประเทศไทยอยู่อันดับสองของโลก แต่การศึกษาของไทยกลับไม่ใช่กราฟที่ทะยานขึ้น เป็นกราฟที่ดิ่งลงเหว
ปิยะรัฐชย์ ชี้ว่าการใช้งบประมาณด้านการศึกษายังไม่คุ้มค่า ลงทุนงบประมาณไปจำนวนมาก แต่ผลสัมฤทธิ์ต่ำ เรื่องเงินอุดหนุนการศึกษา ต้องนำไปคิดทบทวนว่าจะแบ่งตามเกณฑ์พื้นที่ แต่ละพื้นที่ต้องคิดต่างกันเพราะแต่ละโรงเรียนมีขนาดไม่เท่ากัน หรือจะคิดเฉลี่ยรายหัวเท่าๆ กัน ปิยะรัฐชย์ยังทิ้งท้ายว่า ส่วนกลาง (กระทรวงศึกษาธิการ) ต้องหันมายึดบทบาทเป็นผู้กำกับดูแลและให้ส่วนท้องถิ่นดำเนินการพัฒนาด้านการศึกษา
จัดสรรงบประมาณไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ กอ.รมน.ตั้งงบสร้างกำแพงกั้นพรมแดน
กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส. พรรคประชาชาติ อภิปรายงบประมาณบูรณาการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ 7,000 กว่าล้านบาท และมีงบประมาณจากแผนงานอื่น กระทรวงอื่น ที่ลงไปยังพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้อีก 24,300 กว่าล้านบาท รวมแล้วในปีงบประมาณ 2565 งบประมาณที่จะลงไปยังสามจังหวัดชายแดนใต้มีจำนวน 31,000 กว่าล้านบาท แต่การจัดงบประมาณมองคนสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นภัยความมั่นคงมาตลอด งบประมาณไม่ตอบโจทย์ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และปัญหาการศึกษา 
ในงบประมาณบูรณาการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ 7,000 กว่าล้านบาท  ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง มีงบด้านงานข่าวของกอ.รมน. และกองทัพบก รวมอยู่ที่ 1,000 กว่าล้านบาท ส่วนงบประมาณด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ กอ.รมน. 339 ล้านบาท กองทัพบก 362 ล้านบาท กองทัพเรือ 134 ล้านบาท สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 118 ล้านบาท ในขณะที่กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง ซึ่งปีนี้ได้รับงบบูรณาการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้มากที่สุด ได้งบสำหรับจัดซื้อรถหุ้มเกราะ 58 ล้านบาท ครุภัณฑ์อาวุธ 217 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นมีการจัดงบประมาณสำหรับซื้ออาวุธในปีงบประมาณ 2565 อยู่ที่ 1,266 กว่าล้านบาท
กมลศักดิ์ อภิปรายว่า มีการตั้งงบประมาณของ กอ.รมน. ที่ทำเป็นงบประมาณผูกพันข้ามปีสามปี โดยเป็นงบเกี่ยวกับการสร้างกำแพงบริเวณลุ่มน้ำโกลก ตั้งแต่ที่ตากใบ โดยสร้างกำแพงปิดกั้นระหว่างกลุ่มคนชาติพันธุ์มลายูกับชาวมาเลเซีย เป็นงบประมาณในปีงบประมาณ 2565 ตั้งไว้ 128 ล้านบาท ผูกพันไปในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 256 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2567 จำนวน 256 ล้านบาท สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจวิถีชีวิต สังคมประเพณีของพี่น้องชาวมลายู คนที่อยู่ตากใบ เขามีเครือญาติอยู่มาเลยเซีย มีการค้าขาย ไปตั้งงบประมาณสร้างกำแพงแทนที่จะนำไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชน สิ่งต่างๆ สะท้อนให้เห็นว่า นายกฯ กำลังขังวิถีชีวิตของพี่น้องชาวมลายู กำลังทำคล้ายๆ กับอิสราเอลสร้างกำแพงกั้นปาเลสไตน์ ขนาดกำแพงเบอร์ลินของเยอรมนียังมีการทุบทำลายเพื่อความเป็นหนึ่ง การแก้ปัญหาแบบนี้มันไม่ใช่การแก้ปัญหาจริงๆ หวังว่าจะมีการปรับเปลี่ยนงบประมาณในการพิจารณาวาระที่สอง
ลดงบตัดงบการท่องเที่ยว ส.ส.ภูมิใจไทยตั้งคำถาม จะนำเงินจากไหนไปโปรโมทการท่องเที่ยว?
ด้านงบประมาณเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ให้กับรัฐ กรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส. พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า งบประมาณปี 2565 ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ลดลงถึง 1,969 ล้านบาท แล้วจะนำเงินจากไหนไปโปรโมทดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ด้าน ส.ส. จากพรรคเดียวกันอย่าง สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ อภิปรายว่าช่วงปลายปีจะเป็น High Season แต่ ททท. กลับไม่มีงบโปรโมตการท่องเที่ยว การแก้ปัญหาสถานการณ์โควิดไม่ใช่แค่หลุดจากปัญหาโรคระบาด แต่ต้องคิดไปถึงหลังจากนั้นว่าจะทำยังไงให้ประชาชนมีชีวิตที่ดี
ส.ส. ประชาธิปัตย์ ชี้แถลงของนายกฯ เสี่ยงขัดกฎหมายวิธีการงบประมาณ
ในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร จะต้องแถลงประกอบงบประมาณรายจ่ายด้วย (ดูคำแถลงของนายกฯ ในประงบประมาณ 2565 ได้ที่นี่)
พิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่า มาตรา 10 (1) พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561  กำหนดให้งบประมาณประจำปีที่เสนอต่อสภา นายกฯ ต้องแถลงฐานะการคลัง แต่ที่นายกฯ ได้แถลงไปนั้นเป็นเพียงการพูดถึงตัวเลขหนี้และเลขไม่กี่ตัวที่ไม่ใช่ตัวเลขฐานะการคลัง ฐานะการคลังกับเงินคงคลังเป็นคนละเรื่องกัน กระทรวงการคลังก็ทำเป็นแต่ไม่ได้แถลง มาตรา 11 ต้องแถลงวิธีการหาเงิน นายกฯ ไม่แถลงเลยในคำชี้แจงของท่าน ตนไม่อยากให้นายกฯ ทำผิดกฎหมาย จึงต้องท้วงติงเพราะต้องการให้ระบบเราโปร่งใสและตรวจสอบได้ตามกฎหมาย