ภาคประชาชนบุกสภา แจ้งครบ 50,000 ชื่อแก้รัฐธรรมนูญแล้ว

16 กันยายน 2563 ที่รัฐสภา ไอลอว์พร้อมเครือข่ายภาคประชาชนหลายกลุ่มราว 30 คนเดินทางมายื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเพื่อแจ้งว่าจะนำรายชื่อประชาชนที่รวบรวมได้ราว 70,000 คนซึ่งร่วมเข้าชื่อเสนอ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. มายื่นต่อสภาเพื่อให้สภานำไปพิจารณาร่วมกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ โดยนัดหมายที่จะนำรายชื่อที่ตรวจสอบแล้วทั้งหมดมายื่นในวันที่ 22 กันยายนนี้ 

จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ กล่าวว่า นี่เป็นการแสดงเจตนารมณ์ครั้งสำคัญของประชาชนไทย รายชื่อหลายหมื่นชื่อหลั่งไหลมาอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 1 เดือนเศษ แสดงให้เห็นถึงความต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ โดยร่างของประชาชนฉบับนี้เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะรื้อถอนอำนาจเผด็จการออกไปอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิก ส.ว.แต่งตั้ง ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ รีเซ็ตองค์กรอิสระทั้งหมด แล้วกำหนดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชน 100% ที่ร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน 

“เราหวังว่ารัฐบาลและรัฐสภาจะมีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เพียงแก้ครึ่งๆ กลางๆ หวังลดแรงกดดันแต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญที่ล็อคการเมืองไทยทั้งหมดไว้ ดังนั้น เพื่อพิสูจน์ความจริงใจก็ควรนำร่างนี้หรือเจตนารมณ์ของประชาชนในการถอนพิษ คสช.อย่างถึงรากเข้าไปพิจารณาควบคู่กับร่างอื่นๆ ด้วย” จอนกล่าว

จีรนุช เปรมชัยพร ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (รรธ.) ซึ่งประกอบด้วยองค์กรพัฒนาเอกชนหลายหน่วยงานที่ต้องการร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กล่าวว่า การล่ารายชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญตามสิทธิในรัฐธรรมนูญมาตรา 256 นี่ถือเป็นประวัติศาสตร์ล่ารายชื่อที่รวดเร็วที่สุด เป็นเจตจำนงร่วมว่า จำเป็นต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม เปิดให้มี สสร.ที่ไม่ใช่ สสร.ปาหี่ การยื่นรายชื่อเป็นก้าวย่างที่สำคัญแต่มันไม่ได้จบแค่นี้ 

จีรนุชกล่าวว่า การยื่นรายชื่อประชาชนผู้ต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ครั้งนี้เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น ยังมีบันไดอีกหลายขั้นกว่าจะผลักดันให้เรื่องนี้เป็นจริง ประชาชนจำเป็นต้องติดตามการทำงานของรัฐสภาอย่างใกล้ชิดและส่งเสียงดังๆ ตลอดเส้นทางเพื่อให้พวกเขาได้ยิน 

“เราเชื่อว่าประชาชนอดทนมามากเกินพอ และมีความต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ การเมืองใหม่อย่างยิ่งยวด ดูจากกระแสความตื่นตัวในการชุมนุมที่เกิดขึ้นทั่วประเทศยาวนานหลายเดือน การไม่ฟังเสียงประชาชนจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงซึ่งจะสร้างความสูญเสียให้กับทุกฝ่าย” จีรนุชกล่าว 

พริษฐ์ วัชรสินธุ์ กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า กล่าวว่า ตั้งแต่ปีที่ผ่านมากลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้ากับเครือข่ายได้พูดคุยเรื่องรัฐธรรมนูญ บทสนทนาในเวลาดังกล่าวคือ ถกเถียงกันว่า จะแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญดี แต่ปีนี้เราเห็นถึงพัฒนาการของบทสนทนาจากแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญเป็นแก้เรื่องอะไรดี

ในประเด็นที่หลายคนสงสัยคือ พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ทำไมประชาชนกลุ่มหนึ่งต้องการเสนอแก้ไขอีก คำตอบคือ มันสะท้อนถึงความต้องการมีส่วนร่วมและความหวาดระแวงในความจริงใจของรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นสิ่งจำเป็นและอาจใช้เวลาประมาณหนึ่งถึงสองปี จำเป็นที่จะต้องยกเลิกมาตราที่เป็นอุปสรรค เช่น มาตรา 272 เรื่อง ส.ว. ขัดกับหลักประชาธิปไตยสากล ทั้งยังเปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้รัฐธรรมนูญบางมาตราที่สามารถยกเลิกและแก้ไขได้ต้องทำทันที เช่น การยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ

ด้านทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี จากคณะประชาชนปลดแอก กล่าวว่า ตนขอประกาศสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ วันที่ 23-24 กันยายน 2563 หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ร่างของประชาชนจะได้รับการบรรจุเข้าไปในการพิจารณาด้วย การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นการปูทางให้ประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจอย่างแท้จริง ส่วนกระบวนการที่จะได้มานั้นต้องมี สสร.ที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งรัฐธรรมนูญที่จะร่างใหม่นี้จะต้องแก้ไขได้ทุกมาตราจะต้องไม่มีการล็อคสเปคเกิดขึ้น

ทั้งนี้ ไอลอว์แจ้งว่า การยื่นรายชื่อทั้งหมดแก่ประธานรัฐสภาในวันที่ 22 กันยายนนั้น จะมีการนัดหมายประชาชนที่สถานี MRT เตาปูน ทางออก 4 ในเวลา 13.00 น. แล้วเดินเท้าเป็นระยะทางราว 2.2 กิโลเมตรมายังรัฐสภา 

สำหรับ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. ไอลอว์เริ่มต้นเผยแพร่ร่างและเปิดให้ประชาชนร่วมเข้าชื่อตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา ส่วนผู้ริเริ่ม 20 คนตามกฎหมายกำหนดที่ยื่นร่างดังกล่าวต่อรัฐสภานั้นประกอบด้วยองค์กรเครือข่าย ได้แก่ คณะประชาชนปลดแอก, กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (ConLab), เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (รรธ.) หรือ Constitution Advocacy Alliance (CALL), กลุ่ม People Go และไอลอว์ 

เนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมีประเด็นที่ต้องยกเลิก 5 ประเด็น ได้แก่ ยกเลิกช่องทางในการได้มาซึ่งนายกฯ คนนอก, ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ, ยกเลิกแผนปฏิรูปประเทศ, ยกเลิกที่มาของผู้บริหารท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง, ยกเลิกการรับรองอำนาจและการละเว้นความรับผิดของ คสช. ส่วนประเด็นที่เสนอให้แก้ไขก็มี 5 ประเด็นเช่นกัน คือ ที่มานายกฯ ต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น, ที่มา ส.ว.มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน, “รีเซ็ต” องค์กรอิสระเพื่อให้มีการสรรหาใหม่, เปลี่ยนวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้นโดยอาศัยเพียงเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสองสภา ในส่วนของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสนอให้มี สสร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะสมัครแบบคนเดียวหรือแบบกลุ่มก็ได้ แต่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกได้เพียงกลุ่มเดียวเบอร์เดียว จากนั้นเอาคะแนนมาคำนวณที่นั่ง สสร. คล้ายกับการเลือกตั้งแบบระบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ 

You May Also Like
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์
อ่าน

สมัคร สว.67 แค่กรอกเลือกกลุ่มอาชีพ โดยมีผู้รับรองและพยาน

ผู้สมัคร สว. ไม่ว่าจะเพราะสมัครเพื่ออยากมีส่วนร่วมในกระบวนการหรือสมัครเพื่อไปเป็น สว. สำหรับหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าเราสามารถสมัคร สว.ในกลุ่มที่ต้องการได้หรือไม่ ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว.) กำหนดว่า การพิสูจน์ว่าผู้สมัครอยู่กลุ่มอาชีพใด ใช้หลักฐานตามเอกสารสว. 4 คือการมี “ผู้รับรอง”