ถ้าตำรวจมาเยี่ยมบ้าน ต้องทำยังไง?

สิ่งหนึ่งที่สังคมใฝ่ฝันถึงมาตลอดนับแต่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติสิ้นสุดบทบาทลง และมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คือ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ได้อย่างอิสระเสรี อย่างไรก็ตาม สิ่งนั้นก็ยังคงเป็นเพียงความปรารถนา เพราะแม้จะผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ 2 เมื่อนักกิจกรรมออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะ ต่างก็ถูกติดตามคุกคามจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการเยี่ยมบ้าน การเรียกตัวให้ไปพบ อย่างต่อเนื่องไม่ต่างจากยุครัฐประหาร 

ในทางกฎหมาย ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าพนักงานของรัฐ สามารถติดตามหรือไปเยี่ยมบ้านประชาชนที่ไม่ได้กระทำความผิด ไม่มีกฎหมายให้อำนาจตำรวจเข้าไปนั่งคุยในบ้านของประชาชนเพื่อสอบถามข้อมูลต่างๆ ถ้าไม่มีเหตุสงสัยว่าบุคคลนั้นกระทำความผิดต่อกฎหมาย ไอลอว์ชวนดูประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และสิทธิที่ประชาชนพึงรักษาไว้ได้ หากมีเจ้าหน้าที่ไปหาที่บ้าน

ตำรวจจะเข้ามาในเขตบ้านได้ ต้องมีหมายศาล 

เขตบริเวณบ้านหรือที่พักอาศัย เป็นเขตพื้นที่ส่วนตัวของผู้อยู่อาศัย เจ้าหน้าที่ของรัฐจะ “ก้าวล่วง” เข้าไปในพื้นที่บ้านของประชาชนได้จะต้องเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นและมีหมายศาลเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ ป.วิ.อาญา

ใน ป.วิ.อาญา มาตรา 92 กำหนดว่า ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคำสั่งของศาล เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้น และต้องเป็นกรณีดังต่อไปนี้  

(1) มีเสียงร้องให้ช่วย หรือมีเสียง หรือมีพฤติการณ์อื่นใดแสดงว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นในที่รโหฐาน เช่น กรณีตำรวจขี่รถมอเตอร์ไซค์ขับผ่านหน้าบ้านหลังหนึ่ง แล้วได้ยินเสียงมีคนร้องขอความช่วยเหลือดังออกนอกบ้าน เช่นนี้ตำรวจก็สามารถเข้าไปในบ้านได้ เพราะมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจเกิดเหตุร้ายภายในบ้าน 

(2) เมื่อมีความผิดซึ่งหน้ากระทำลงในที่รโหฐาน เช่น  ตำรวจเห็นคนร้ายสองคนกำลังซื้อขายเมทแอมเฟตามีนกันภายในบ้าน ตำรวจย่อมมีอำนาจขอเข้าตรวจค้นได้โดยไม่ต้องมีหมาย

(3) เมื่อบุคคลที่กระทำผิดซึ่งหน้าได้หลบหนีเข้าไป

(4) มีหลักฐานตามสมควรว่ามีสิ่งของที่มีไว้หรือได้มาโดยการกระทำผิด หรือได้ใช้หรือมีไว้เพื่อจะใช้ในการกระทำผิด หรืออาจเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์การกระทำผิดซ่อนหรืออยู่ในนั้น และหากเนิ่นช้าสิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายหรือทำลายเสียก่อน

(5) เมื่อรโหฐานนั้นเจ้าของบ้านเป็นผู้จะถูกจับ และการจับนั้นมีหมายจับออกมาแล้ว

ซึ่งคำว่า ที่รโหฐาน ใน ป.วิ.อาญา มาตรา 2(13) กำหนดคำนิยามว่า หมายถึง สถานที่ใดๆ ที่ไม่ใช่ที่สาธารณะ ดังนั้น พื้นที่ตั้งแต่รั้วบ้านจนถึงตัวบ้าน ถือว่าเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นบ้านของตัวเอง บ้านเช่า คอนโด หรือสถานที่อยู่อาศัยประเภทใดก็แล้วแต่ เป็นที่รโหฐานตามความหมายของ ป.วิ.อาญา

การ “ค้น” ตาม ป.วิ.อาญา ไม่ได้จำกัดเฉพาะการรื้อเพื่อหาสิ่งของตามความหมายทั่วไปของคำว่าค้น แต่การที่ก้าวล่วงเข้าไปในพื้นที่รโหฐาน ก็นับเป็นการค้นแล้ว และการค้นจะทำได้ก็ด้วยเงื่อนไขตามมาตรา 92 เท่านั้น ถ้าหากตำรวจเข้าไปภายในบ้านของใครโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรา 92 ตำรวจมีความผิด ถือเป็นการค้นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

แต่เรื่องการค้นยังมีข้อยกเว้น ถ้าหากเจ้าของบ้านยินยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปในบริเวณบ้านได้ แม้จะไม่มีหมายศาล หรือไม่มีเหตุยกเว้นให้เข้าไปได้ ก็ยังเป็นการค้นที่ถูกต้องอยู่ ดังนั้น “ความยินยอม” จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญ ถ้าหากเจ้าของบ้านหรือผู้ที่ดูแลบ้านอยู่ในขณะที่ตำรวจมายินยอมให้ตำรวจเข้าบ้านไปนั่งคุย หรือไปสำรวจภายในบ้านได้ ตำรวจก็สามารถเข้าไปได้

ดังนั้น หากเจ้าหน้าที่รัฐไปที่บ้านของใคร สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ต้องถามหา “หมายศาล” ก่อน ถ้าหากตำรวจไม่มีหมายจับ ไม่มีหมายค้น และไม่มีการระบุเหตุผลที่ชัดเจนว่า กำลังดำเนินการใดโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายใด เจ้าของบ้านอาจจะเลือกปฏิเสธ “ไม่ต้อนรับ” ไม่พูดคุยด้วยและไม่ให้เข้ามาภายในบ้านก็ได้ และการปฏิเสธต่อเจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่เป็นความผิดตามกฎหมายใด 

นอกจากนี้ แม้ตำรวจจะเดินมาโดยถือหมายค้นมาแสดงด้วย การค้นที่ถูกต้องตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจจะต้องเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองตั้งแต่ระดับสามหรือตำรวจยศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป และต้องกระทำในเวลากลางวัน เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นตาม ป.วิ.อาญาฯ มาตรา 96 ถึงจะเข้าค้นในเวลากลางคืนได้

ตำรวจโทรมาเรียกให้ไปพบ ถ้าไม่มีหมาย ไม่ไปถือว่าไม่มีความผิด 

มีหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ทหาร ใช้วิธีคุกคามนักกิจกรรมด้วยการโทรศัพท์ไปหาแล้วเรียกตัวให้มาพบ หรือการไปตามตัวจากบ้าน สถานที่ทำงาน สถานศึกษา แล้วนำตัวไปพูดคุย ซึ่งการจะเรียกให้บุคคลมาพบนั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อมีหมายเรียก หรือหมายจับ ตาม ป.วิ.อาญา เท่านั้น 

ป.วิ.อาญา มาตรา 52 กำหนดว่า การที่จะให้บุคคลใดมาที่พนักงานสอบสวน หรือมาที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หรือมาศาล เนื่องจากการสอบสวน การไต่สวนมูลฟ้อง การพิจารณาคดี หรือการอื่นตามประมวลกฎหมายนี้ ต้องมีหมายเรียกของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่หรือของศาล แล้วแต่กรณี 

วรรคสอง กำหนดว่า แต่ในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไปทำการสอบสวนด้วยตัวเอง ย่อมมีอำนาจที่จะเรียกผู้ต้องหาหรือพยานมาได้โดยไม่ต้องออกหมายเรียก

คำว่า พนักงานสอบสวน หมายถึง ตำรวจที่มียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป ส่วนพนักงานฝ่ายปกครอง จะต้องดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอขึ้นไปเท่านั้น และตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หมายถึง เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไปจนถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงจะใช้อำนาจตามมาตรานี้ได้ 

จะเห็นได้ว่า โดยหลักแล้ว การที่เจ้าหน้าที่จะเรียกบุคคลมาพบในสถานที่ต่างๆ โดยไม่มีข้อกล่าวหาว่า กระทำความผิดใดตามกฎหมาย ไม่สามารถทำได้ เพราะการเรียกให้บุคคลมาพบตามกฎหมายนั้น จะต้องมีการออกหมายเรียกอย่างเป็นทางการให้มาพบในฐานะพยานหรือผู้ต้องหาเท่านั้น และต้องเป็นการให้มาพบที่สถานที่ทำงานของเจ้าหน้าที่นั้นๆ เพื่อสอบสวนหรือเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาว่า กระทำการใดที่ตำรวจเห็นว่า ฝ่าฝืนกฎหมาย

ดังนั้น หากได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ไปพบ ก็ควรสอบถามเหตุผลให้ชัดเจนว่า ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รายนั้น มียศหรือตำแหน่งตามที่กฎหมายระบุไว้หรือไม่ สอบถามชื่อและหน่วยงานที่สังกัดอยู่ รวมถึงเหตุผลของการเรียกพบ โดยถ้าหากเห็นว่า การไปพบจะทำให้การดำเนินกิจกรรมใดเป็นไปด้วยความราบรื่น และสะดวกที่จะไปพูดคุย ก็สามารถไปพูดคุยกับตำรวจได้ แต่หากใครที่ถูกเรียกแล้วรู้สึกไม่สบายใจหรือไม่ต้องการที่จะไป การปฏิเสธไม่ไปพบ ย่อมไม่ถือว่าเป็นความผิด

กรณีการเรียกให้ไปพบ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ยังไม่ถูกยกเลิก

นอกจากนี้ ยังมีอำนาจการเรียกบุคคลให้ไปพบแบบพิเศษนอกเหนือจากอำนาจตาม ป.วิ.อาญา นั่นก็คือ อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจ “มาตรา 44” เดิม ซึ่งคำสั่งจำนวนหนึ่งยังไม่ถูกยกเลิกไป ได้แก่ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558, 13/2559 และ 5/2560 

ในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ เป็นคำสั่งที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ความมั่นคงของรัฐ อาวุธปืน และการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ต่างๆ โดยให้มีอำนาจในการเข้าตรวจค้น ยึด เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่า บุคคลซึ่งกระทําความผิดหลบซ่อนอยู่ หรือมีทรัพย์สินซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ และมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากรอขอหมายศาลมาอาจช้าเกินไป

คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ยังให้อำนาจเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยควบคุมตัวบุคคลไม่เกินเจ็ดวัน โดยไม่ต้องมีหมายของศาล รวมถึงให้อำนาจเรียกบุคคลมารายงานตัวเพื่อให้ถ้อยคำหรือส่งมอบเอกสาร ผู้ที่ได้รับคำสั่งแล้วแต่ไม่ปฏิบัติตามมีความผิด มีโทษ จําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ทำนองเดียวกัน คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2559 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทําลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ก็ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น “เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม” มีอำนาจลักษณะเดียวกันกับ “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 แต่มีการกำหนดฐานความผิดอื่นๆ ที่กว้างกว่า

ซึ่งทั้ง “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” และ “เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม” นั้น ตามคำสั่งทั้งสองฉบับระบุว่า ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ทหารชั้นร้อยตรีที่ต้องได้รับการแต่งตั้งจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้า คสช.

แต่เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 ผู้แทนของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎรว่า ถึงแม้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ 13/2559 จะยังคงมีอยู่ แต่ก็ไม่มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติแล้ว เนื่องจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ได้ออกคำสั่งให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2562 หรือวันที่ คสช. ยุติบทบาท อันเป็นผลให้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตามคำสั่งดังกล่าวแล้ว 

ถึงแม้ในทางปฏิบัติคำสั่งเหล่านี้จะไม่ค่อยทำงานแล้วก็ตาม แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งสองฉบับ ในทางกฎหมายแล้วก็ยังคงอยู่ไม่ถูกยกเลิกไปก่อนที่ คสช. จะหมดอำนาจ หมายความว่า อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ก็ยังคงมีอยู่ ไม่ได้หายไปไหน จึงมีความเป็นไปได้ว่า อาจมีการตั้งเจ้าหน้าที่ขึ้นมาใหม่เพื่อใช้อำนาจดังกล่าวอีกได้ 

นอกจากนี้ ในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 5/2560 เรื่อง มาตรการให้อำนาจกำหนดพื้นที่ควบคุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ก็ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ อันได้แก่ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ข้าราชการตํารวจ ข้าราชการทหาร หรือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองที่ได้รับมอบหมายให้เข้าปฏิบัติการตามคําสั่งนี้ ออกคําสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวหรือให้ถ้อยคําต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมถึงมีอำนาจเข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใดเพื่อตรวจค้น รวมตลอดทั้งค้นตัวบุคคลและยานพาหนะ ดําเนินการเพื่อควบคุมระบบสาธารณูปโภค ระบบการสื่อสาร และอำนาจในการรื้อถอน ทําลาย หรือเคลื่อนย้ายสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งกีดกั้น หากเป็นกรณีเข้าข่ายพื้นที่ควบคุมตามที่หัวหน้า คสช. กำหนด เหมือนที่ในคำสั่งได้เคยประกาศให้วัดธรรมกายและพื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่ควบคุมมาแล้วเมื่อปี 2560

ดังนั้น หากเป็นการเรียกตัวให้ไปพบในกรณีอาศัยอำนาจพิเศษตามคำสั่งหัวหน้า คสช. นี้ การปฏิเสธไม่ไป ก็ยังอาจถือว่าเป็นความผิดและมีโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 . สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน นิสิตรัฐศาสตร์จากมศว จำเลยในคดีมาตรา 112 จากการกล่าวปราศรัยระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา . 25 มีนาคม ที่ผ่านมาศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษา จำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ศาลจึงลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา . จนถึงวันนี้(4 เมษายน 2567) เป็นเวลา 10 วันแล้วที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว