วงเสวนาชี้ วิกฤติโควิด-19 สะท้อนภาวะอ่อนแอของรัฐธรรมนูญปี 60

18 เมษายน 2562 คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จัดงานเสวนาในหัวข้อ “มองวิกฤติ COVID-19 ผ่านชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่และอดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสาวนีย์ อเลกซานเดอร์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รองศาสตราจารย์ สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์

วิทยากรทั้งห้าคนได้ชี้ให้เห็นว่า ในวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 ได้สะท้อนให้เห็นจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ออกแบบมาให้พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลขาดความชอบธรรมเพราะไม่ใช่พรรคที่มีตัวแทนมากที่สุดในสภา และการต้องไปรวมเสียงกับพรรคเสียงข้างน้อยยิ่งทำให้รัฐบาลอ่อนแอ ไม่เป็นเอกภาพ เมื่อผนวกกับรัฐราชการรวมศูนย์ยิ่งทำให้การตอบสนองปัญหาของประชาชนไม่สมบูรณ์ และในขณะเดียวกัน วิกฤติโควิดยังทำให้ต้องพิจารณาทบทวนแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนและมุ่งเน้นการมีส่วนร่วม

49776278991_15244f5f45_o

 

การเมืองอ่อนแอ รัฐบาลเดินตามหลังสถานการณ์หนึ่งก้าวเสมอ

นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ อดีตนายแพทย์สังกัดกระทรวงสาธารณสุข อดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ และอดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี วิเคราะห์การทำงานของรัฐบาลในการรับมือกับโรคระบาดช่วงที่ผ่านมาว่า ‘รัฐบาลเหมือนทำอะไรจะช้าไปก้าวหนึ่งเสมอ’ 

เริ่มจากวันที่ 13 มกราคม เราพบผู้ป่วยรายแรกในประเทศไทยซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน ถัดมาวันที่ 22 มกราคม มีการประกาศปิดเมืองอู่ฮั่น แล้วผู้ว่าเมืองอู่ฮั่นประกาศว่ามีคนออกจากเมืองอู่ฮั่นก่อนปิดเมือง 5 ล้านคน แต่สถานการณ์ในประเทศไทยยังสบายๆ เรายังเปิดรับนักท่องเที่ยวจีนไม่ได้มีการปิดกั้นจนเจอผู้ป่วย หลังจากนั้นก็มีคนขับแท็กซี่ชาวไทยที่ติดเชื้อรายแรกจากนักท่องเที่ยว และมันก็เริ่มระบาดมากขึ้นๆ 

ตัวอย่างการจัดการที่ล้มเหลวอย่างหนึ่งของรัฐบาลคือ กรณีสนามมวยลุมพินีเมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ทำให้เกิด super spreader (พาหะที่แพร่เชื้ออย่างกว้างขวาง) มีผู้ติดเชื้ออย่างน้อย 180 คน ทั้งๆ ที่รัฐบาลออกมติ ครม. ขอความร่วมมืองดการรวมตัวกันไม่ให้ชุมนุม แต่ยังมีการจัดแข่งขันกีฬามวย อีกทั้งนายสนามมวยยังเป็นนายทหารอีก 

การที่รัฐบาลออกข่าวว่าจะงดวันหยุดสงกรานต์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการรวมตัวกันของคนหมู่มาก ซึ่งก็ดูเหมือนจะมีเหตุผลดี แต่ต่อมาทาง กทม.กลับสั่งปิดห้างสรรพสินค้า ในวันที่ 21 มีนาคม โดยไม่มีมาตรการรองรับคนตกงาน เราจึงเห็นภาพคนต่างจังหวัดแห่กันขึ้นรถโดยสารสาธารณะกลับบ้านในสภาพที่แออัด เสี่ยงต่อการติดเชื้อ 

ในประเด็นเรื่องหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ รวมถึงเครื่องมือแพทย์ ก็ยังพบว่ารัฐบาลไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ ทั้งในแง่ของการบริหารจัดการในฐานะที่เป็นสินค้าจำเป็นสำหรับประชาชนผู้บริโภค และการจัดหาให้กับแพทย์ในโรงพยาบาลที่จำเป็นต้องใช้ในการรักษาผู้ป่วย

แต่ปัญหาทั้งหมดทั้งมวล นพ.ทศพรเชื่อมโยงว่าเป็นปัญหาจากรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้พรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่กลายเป็นพรรคที่มาจากการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารแล้วก็มีพรรคเล็กๆ เข้ามารวม การทำงานของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ก็เลยผิดฝาผิดตัว

“การเมืองที่มันไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอย่างแท้จริง ถ้ามาจากพรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกเข้ามา จะมีพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงข้างมาก พรรคนั้นก็จะสามารถจัดคนได้ถูกที่ ถูกงาน ถูกกระทรวง และแก้ปัญหาได้ถูกต้องมากขึ้น”

 

ประชาชนอยากได้ตัวแทนของตัวเองมาทำงานมากกว่ารัฐราชการรวมศูนย์

ผศ.ดร.เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ชี้ชวนให้ดูพิษภัยของโรคโควิด-19 ผ่านประสบการณ์ของ “คนธรรมดาสามัญ” ในภาคอีสาน เธอให้นิยามคนธรรมดาสามัญว่า “คือคนที่มีฐานทางเศรษฐกิจสังคมจำกัด ไม่ค่อยมีความมั่นคงทางอาชีพ เช่น คนค้าขายในตลาด หนุ่มสาวที่ขายของออนไลน์ หรือกลุ่มประกอบอาชีพรับจ้างหรือใช้แรงงาน” 

ผศ.ดร.เสาวนีย์ชี้ว่า คนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในสองแง่มุมด้วยกัน แง่มุมแรกคือแง่มุมทางสังคม คนกลุ่มนี้ไม่มีเครือข่ายทางสังคม ไม่มีลูกหลาน ญาติ หรือคนรู้จักที่ทราบแหล่งซื้อขายหน้ากากอนามัยหรือเจลแอลกอฮอล์ ไม่มีเส้นสายที่จะให้สิ่งจำเป็นต่อการป้องกันตัวเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค แต่ปัญหาหนักหน่วงสำหรับคนธรรมดาสามัญมากที่สุดคือแง่มุมทางเศรษฐกิจ 

“นโยบายที่บอกว่าให้ work from home ชาวบ้านไม่รู้หรอกว่าคืออะไร เขารู้แต่ว่าถ้าไม่ออกไปทำงาน ก็ไม่มีเงิน” เมื่อชนชั้นกลางไม่ออกไปทำงาน ก็ส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อคนทำงานภาคบริการ เช่น คนขับสองแถว แท็กซี่ รวมถึงร้านค้าเล็กๆ ด้วย และยิ่งรัฐบาลออกคำสั่งเคอร์ฟิวก็ส่งผลให้คนที่เคยทำงานกลางคืน เช่น ร้านข้าวต้ม ผับ ก็ทำงานหลังสี่ทุ่มไม่ได้”

ผศ.ดร.เสาวนีย์กล่าวว่า สิ่งที่รัฐพยายามทำแบ่งออกเป็นสามลักษณะ ได้แก่ “รวมศูนย์-ห้าม-ให้” การรวมศูนย์หมายถึงอำนาจการสั่งการอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย ในขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถมีบทบาทนำในการแก้ปัญหาในพื้นที่ของตนเองได้ และปัญหาที่ทับซ้อนกับปัญหาโควิด-19 อยู่ เช่น ภัยแล้งในภาคอีสาน ซึ่งจะเป็นการดีกว่าหากให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการบริหารจัดการปัญหาของตนเองมากขึ้น 

ในส่วนของ “ห้าม” จะเห็นได้ว่ารัฐบาลออกข้อห้ามซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตคนจำนวนมาก เช่น ข้อห้ามเรื่องการเดินทาง ทำให้กระทบต่อผู้ป่วยที่ต้องการเดินทางกลับบ้าน คนที่ต้องเดินทางติดต่อค้าขาย และสุดท้ายคือ “ให้” ซึ่งไม่ได้หมายถึงการแจกของจำเป็นแต่หมายถึงการบอก การสั่งการว่าจะให้ประชาชนทำอะไร เช่น การสั่งให้สวมหน้ากากอนามัย การสั่งให้อยู่บ้าน ส่วนการให้เงินประชาชนจากมาตรการของรัฐบาลก็เป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง

ผศ.ดร.เสาวนีย์กล่าวว่า เมื่อนำปัญหาโควิด-19 มาเชื่อมโยงกับปัญหารัฐธรรมนูญฉบับปี 60 จะพบว่า ตัวรัฐธรรมนูญเองมีปัญหาตั้งแต่แรก มันไม่ได้มาจากเสียงของประชาชน ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงกระบวนการประชามติเองก็มีข้อกังขามากมาย ซึ่งส่งผลให้พรรคการเมืองที่คนอีสานส่วนใหญ่เลือก คือพรรคเพื่อไทย ไม่ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล นอกจากนั้น กติกาการเลือกตั้งใหม่ที่ไม่มีการโหวตปาร์ตี้ลิสต์ ก็ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเสียงของพวกเขา “ตกน้ำ” ยิ่งพอมีปัญหาโควิด-19 เข้ามา ชาวบ้านยิ่งรู้สึกอึดอัด ขนาดชาวบ้านคนหนึ่งที่มีสามีเป็นทีมหาเสียงให้กับฝ่ายรัฐบาลก็ยังกล่าวว่า “อยากให้นายกฯ ลาออก อยากให้…มาเป็นแทน” 

“ชาวบ้านไม่รู้หรอกว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญยังไง แต่คำพูดที่เขาบอกว่าอยากให้นายกฯ ลาออก อยากให้คนอื่นมาเป็นแทน มันสะท้อนว่าในความคิดของเขา รัฐบาลนี้แก้ปัญหาให้เขาไม่ได้ แล้วอยากให้ใครมาแทน นั่นหมายความว่าในความเชื่อของเขา เขาเชื่อว่ามีคนที่จะแก้ปัญหาให้เค้าได้”

ผศ.ดร.เสาวนีย์ให้ข้อเสนอแนะทิ้งท้ายต่อรัฐบาลว่า 1. ควรกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น เป็นแกนนำในการตัดสินใจระดับหนึ่ง 2. หน่วยงานรัฐควรทำงานสอดประสานกัน 3. ช่วยเหลืออย่างถ้วนหน้า และใช้ระบบที่มีประสิทธิภาพ 4. ศึกษาแนวปฏิบัติที่ดีจากต่างประเทศในการแก้ปัญหา 5. ประเมินนโยบายจำกัดสิทธิต่างๆ จากข้อมูลจริงในพื้นที่ 6. ใช้ big data ให้เป็นประโยชน์เพื่อประชาชน โดยเฉพาะคนธรรมดาสามัญ ไม่หลุดรอดจากความช่วยเหลือ 7. รับฟังเสียงประชาชน โดยเฉพาะความเดือดร้อน ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะแก้ปัญหา ด้วยท่าทีที่ไม่วางอำนาจ หรือเพิกเฉย 8. แสดงความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหาการกักตุนสินค้าจำเป็น

 

ประคองผู้คนในวิกฤติโควิด-19 ด้วยรัฐสวัสดิการ

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ชี้ว่าก่อนสถานการณ์โควิด-19 รายได้ครัวเรือนไทยลดลงสวนทางกับ GDP ที่โตขึ้นในรอบสิบปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ 2009 – ครึ่งแรกของ 2019) กล่าวคือในขณะที่ GDP เติบโตขึ้นร้อยละ 7.6 รายได้ครัวเรือนกลับลดลงร้อยละ 2.1 รวมถึงรายงานจากธนาคารโลกล่าสุดที่ชี้ว่า คนจนไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้น 1.9 ล้านคน สะท้อนถึงรายได้ของประชาชนที่ลดลง สวนทางกับจีดีพีที่เพิ่มขึ้น 

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ “กันชนทางการเงิน” หรือความสามารถในการอยู่รอดในสถานการณ์ที่ขาดรายได้ ที่ใช้ตัวเงินสินทรัพย์เป็นตัวชี้วัด หรืออีกนัยหนึ่งคือการดูอัตราการออมเงินของคนไทย พบว่า ลดลงจากปี 2011 ที่มีอัตราการออมร้อยละ 11 ลดลงเหลือร้อยละ 6.4 ในครึ่งแรกของปี 2019 ยิ่งในกลุ่มของคนรายได้น้อยพบว่าสามารถอยู่รอดได้ไม่ถึงสามเดือนเมื่อขาดรายได้ และคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากถึงร้อยละ 59.2 ของจำนวนประชากรไทย

หลังโควิด-19 ในทางเศรษฐกิจไม่ได้มีผลกระทบแค่ด้านการท่องเที่ยวอย่างที่คาดกัน แต่ยังมีผลกระทบด้านการส่งออก ผลกระทบด้านการผลิต (จาก Global Supply Chain) ผลกระทบด้านการผลิต (จากมาตรการ Lockdown) ผลกระทบด้านอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลงอย่างมาก และผลกระทบขั้นวิกฤติการเงินอย่างที่ยังไม่เกิดขึ้นแต่มีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิด “ภาวะหนี้เสียและการสูญทรัพย์” 

ข้อมูลจาก Google’s Community Mobility Report ซึ่งจำแนกเป็นสามกลุ่มสถานที่คือ กลุ่มห้างสรรพสินค้า กลุ่มร้านชำและร้านขายยา และกลุ่มสวนสาธารณะ พบว่าจำนวนคนไปยังสถานที่ดังกล่าวลดลงร้อยละ 55, 27 และ 54 ตามลำดับ ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนอุปสงค์ที่หายไป ซึ่งช่วยโต้แย้งคำอธิบายจากภาครัฐที่มักกล่าวถึงเกษตรกรว่าเป็นผู้ไม่เดือดร้อน เพราะยังมีงานทำอยู่ แต่อันที่จริง รายได้ของเขาอาจลดลงจากการที่ร้านขายสินค้าเกษตรถูกปิด ไม่มีแผงขายของ ก็เป็นได้ ดังนั้นผลกระทบจึงเป็นวงกว้างมากกว่าที่คิด และสะท้อนว่าเราไม่สามารถกำหนดได้แน่นอนว่าใครได้รับผลกระทบ ใครไม่ได้รับผลกระทบ

ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2020 จะตกต่ำลงร้อยละ 5.3 ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขตอนวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้งที่ร้อยละ 7.6 แต่ภาคแรงงานจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มทุน เนื่องจากแรงงานถูกบังคับให้ต้องหยุดงานเป็นระยะเวลายาวนาน ในขณะที่กันชนทางการเงินของตัวเองลดลงตลอดเวลา ส่วนกลุ่มทุนมีปัญหาเพียงแค่ผ่อนเงินกู้ทรัพย์สิน เครื่องจักร ซึ่งก็ต้องดูว่าทางธนาคารจะลดดอกเบี้ยได้มากน้อยแค่ไหน

เดชรัตกล่าวถึงมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า ในทางเศรษฐศาสตร์ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำมีสองด้าน ด้านแรกคือด้านอุปสงค์ คือการทำให้ผู้บริโภคยังมีรายได้หรือมีอำนาจซื้อ ด้านที่สองคือด้านอุปทาน คือการทำให้ผู้ประกอบการยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปได้โดยไม่ขาดสภาพคล่อง

ในด้านอุปสงค์ เดชรัตชี้ว่า มาตรการเยียวยา 5,000 บาทจากโครงการ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ที่ตอนแรกทำท่าว่าจะช่วยเป็นวงกว้าง พอมาภายหลังกลับกำหนด 10 อาชีพที่ไม่ได้รับเงินเยียวยา ทำให้เกิดคำถามว่า รัฐบาลจะช่วยประชาชนหรือไม่ นอกจากนั้นหากมองในภาพใหญ่ของฝั่งอุปสงค์ก็พบว่ากำลังซื้อยังไม่ได้กลับมา คนยังไม่มีแรงจูงใจในการใช้เงิน จึงกลายเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลที่ต้องเร่งแก้ 

ดังนั้น ทางออกของปัญหาสองทางคือ หนึ่ง ถ้าเลือกใช้เกณฑ์คัดคนเข้าระบบเยียวยาก็ต้องมาดูว่าจะสร้างเกณฑ์ที่ชัดเจน แม่นยำต่อการคัดคนได้อย่างไร สอง ใช้ระบบเงินรายได้พื้นฐานหรือ universal basic income คือเปิดให้ทุกคนได้รับสวัสดิการถ้วนหน้า แต่อาจยกเว้นคนที่มีรายได้แน่นอนอยู่แล้ว เช่น ข้าราชการบำนาญ เป็นต้น 

ในด้านอุปทาน มีการใช้คำว่า “พักชำระหนี้” ไม่ว่าจะเป็นพักชำระเงินต้น พักชำระเงินต้นบวกดอกเบี้ย แต่ตัวเลขดอกเบี้ยยังคิดอยู่ หมายถึงดอกเบี้ยยังดำเนินต่อไปแม้ตอนนี้ไม่ได้จ่าย ซึ่งก็ช่วยให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องดีขึ้น หรือพูดอีกอย่างก็คือเงินที่จะต้องไปคืนธนาคาร ก็สามารถนำไปให้ลูกน้องได้ แต่ทว่าดอกเบี้ยที่ยังเดินต่อไป ทำให้เรามีภาระหนี้อยู่ดี ธนาคารแห่งชาติจึงออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) แต่ข้อกังวลก็คือคนที่จำเป็นต้องใช้สินเชื่อนี้จะเข้าถึงได้หรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ทั้งนั้น มาตราการฝั่งสินเชื่อก็ยังไม่ได้ไปจนสุดทางคือ “ไม่ได้ป้องกันการสูญทรัพย์” เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลยังไม่ได้คิดถึงโจทย์นี้

ในประเด็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เดชรัตคิดว่าสถานการณ์โควิด-19 ชวนให้เราเปลี่ยนวิธีคิดในการออกแบบรัฐธรรมนูญ 3 ประเด็นด้วยกันคือ 1. การไม่สามารถคาดการณ์ผลกระทบ หรือออกมาตรการรับมือกับปัญหาที่ซับซ้อนจากโควิด-19 ได้อย่างครอบคลุม ทำให้ต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากการสงเคราะห์ความเดือดร้อนรายบุคคลไปเป็นการให้สวัสดิการประชาชนอย่างถ้วนหน้ามากขึ้น 2. การปล่อยให้กลไกตลาดเสรีทำงานแต่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป เราจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือธุรกิจที่ขาดสภาพคล่อง ดูแลสินค้าที่ขาดตลาด ดูแลสินค้าที่ราคาตกหรือสินค้าที่ขาดอุปสงค์ด้วย 3. การเปลี่ยนวิธีคิดของสถานศึกษาจากที่เป็นธุรกิจการศึกษาให้เป็นสวัสดิการการศึกษา เพื่อช่วยเยียวยาค่าธรรมเนียมการศึกษาให้กับนักศึกษาได้อย่างทั่วถึง

 

สุขภาพต้องมาพร้อมสิทธิเสรีภาพ

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เดิมสิทธิของชุมชนในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมทั้งเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม และสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีก็เป็นปัญหาหนักมาก่อนสถานการณ์โควิด-19 อยู่แล้ว กล่าวคือเสียงของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาแทบไม่มีเลย รวมถึงแนวคิดการจัดการปัญหาการพัฒนาต่างๆ ของรัฐมักจะมองจากคนบางกลุ่มเท่านั้น

ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ที่รัฐบาลมีการออกมาตรการควบคุมการเคลื่อนที่ของประชาชน การเฝ้าระวัง กำกับดูแล ตรวจสอบการดำเนินงานของโรงงานต่างๆ ในชุมชนยิ่งเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น สุภาภรณ์ยกตัวอย่างกรณีศึกษาคลิตี้ล่าง ที่มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมเข้าไปช่วยเหลือชุมชนในการแก้ไขปัญหาเรื่องการฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษ และตอนนี้กำลังเดินหน้าฟื้นฟูอยู่ แต่พอเกิดวิกฤติโควิด-19 ทำให้ชุมชนต้องปิดหมู่บ้าน คนข้างนอกเดินทางเข้าไปไม่ได้  ประเด็นก็คือบริษัทที่รับหน้าที่ฟื้นฟูไม่ปฏิบัติตรงตาม TOR และมีความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบเพิ่มมากขึ้นต่อชุมชน แต่ภาคนักวิชาการที่ทำงานกับชุมชนไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ จึงสะท้อนว่า “หน่วยงานรัฐไม่มีกลไกในการติดตาม ตรวจสอบ บริษัทที่เข้าไปทำงานฟื้นฟูอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง รวมถึงการสะท้อนว่ารัฐขาดมิติการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการปัญหาด้วย”

สุภาภรณ์ยังตั้งคำถามถึงการอนุมัติโครงการอุตสาหกรรมต่างๆ ในช่วงโควิด-19 ว่าเป็นไปอย่างไรโดยเฉพาะในมิติการมีส่วนร่วมของชุมชน เพราะในช่วงก่อนโควิด-19 ประชาชนก็แทบจะไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจอยู่แล้ว พอมาในวิกฤติโควิด-19 ข้อห้ามต่างๆ ของรัฐาล อาทิ ห้ามรวมตัวกันเกินห้าคน ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ก็ยิ่งขัดขวางการดำเนินการตรวจสอบ ติดตามผลกระทบของชุมชนมากยิ่งขึ้นไปอีก จึงขอตั้งคำถามไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าจะมีนโยบายกำกับการเดินหน้าโครงการต่างๆ อย่างไร ให้มีมิติของ “สิทธิการมีส่วนร่วมในการพัฒนา และการมีส่วนร่วมในการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น” ด้วย 

อีกกรณีหนึ่ง โรงงานหนึ่งในเพชรบูรณ์เพิ่งได้รับใบอนุญาตในช่วงโควิด-19 พอดี แต่ก่อนโควิด-19 มีการยื่นหนังสือคัดค้านการตั้งโรงงานด้วยรายชื่อประชาชนกว่าสองพันคน ประเด็นก็คือในช่วงโควิด-19 “ชุมชนไม่สามารถรวมตัวกันไปคัดค้านได้ ไม่สามารถรวมตัวเดินทางไปหาผู้ว่า ไม่สามารถเดินทางมาที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม” จึงเกิดคำถามว่าทำไมโรงงานถึงได้รับใบอนุญาตทั้งที่ชุมชนยังมีความกังวลและมีความเสี่ยงอยู่ เรื่องนี้สะท้อนว่า “กลไกการมีส่วนร่วมในสถานการณ์โควิด-19 นี้ ชุมชนถูกจำกัดสิทธิในการมีส่วนร่วม แต่สิทธิของรัฐและเอกชนยังเดินหน้าต่อไป”  

ด้านมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมเองก็ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่งว่า รัฐต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยต้องมีการชะลอกระบวนการต่างๆ ที่อยู่ในระหว่างการรับฟังความคิดแห็น หรือการพิจารณาอนุมัติอนุญาตไว้ก่อน เพราะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือสิทธิตามกฎหมายอื่นๆ ในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างมีความหมายได้ และไม่สามารถรวมตัวรวมกลุ่มไปตรวจสอบกับหน่วยงานต่างๆ ได้

สุภาภรณ์เห็นว่า ขณะนี้หน่วยงานรัฐที่มีข้อมูลเรื่องการพัฒนาต่างๆ ควรมาทบทวนเรื่อง “การมีส่วนร่วมของโรงงานกับชุมชน หรือโรงงานกับรัฐ ในการที่จะมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนอย่างไร” เช่น จากที่โรงงานต้องปิดตัวไปเฉยๆ ให้รัฐเข้าไปคุยว่าสามารถปรับเปลี่ยนสินค้าที่ผลิตได้ไหม เช่น เปลี่ยนเป็นผลิตเจลล้างมือ หรือหน้ากากอนามัย แล้วรัฐรับซื้อไปแจกจ่ายให้กับประชาชน เป็นการช่วยเหลือทั้งธุรกิจและแรงงานให้ยังมีรายได้อยู่บ้าง แต่หากโรงงานไหนไม่สามารถปรับได้ รัฐก็ต้องใช้มาตรการอื่นที่ไม่ใช่แค่เยียวยา แต่ต้องเป็นการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการจ้างงานต่อไปในช่วงวิกฤติ

 

ความใจดำรวมหมู่ของผู้มีอำนาจ สะท้อนปัญหารัฐธรรมนูญ

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ประเมินบทบาทของรัฐไทยในวิกฤติโควิด-19 เพื่อทำความเข้าใจรูปร่างหน้าตาของรัฐไทย โดยเสนอว่าให้มองจาก 3 เรื่อง คือ หนึ่ง การบริหารจัดการโรค สอง การบริหารจัดการเศรษฐกิจ สาม การบริหารจัดการชีวิตประชาชน 

สมชายกล่าวว่า ในด้านการบริหารจัดการโรค ตอนระยะเริ่มต้น เราจะเห็นความไม่มีประสิทธิภาพ ขาดความสอดคล้องและความร่วมมือกันของหน่วยงานรัฐ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีสนามมวย กรณีการปิดห้างจนคนแห่กลับบ้าน หรือแม้กระทั่งการกักตัวคนเดินทางกลับจากต่างประเทศ ตัวอย่างเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอำนาจของรัฐไทย “รวมศูนย์แต่แตกกระจาย” คือต่างคนต่างมีอำนาจ ไม่มีการทำงานแบบประสานกัน แต่ในระยะต่อมา ด้วยความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขไทยที่เคยมีประสบการณ์การจัดการกับโรคระบาดมาก่อน รวมกับนโยบายแบบยาแรงของรัฐบาล ทำให้อยู่ในระดับที่สามารถรับมือกับโรคได้ ส่วนความเป็นเอกภาพเกิดจากคนในรัฐบาลหรือนายกฯ จำกัดการให้ข้อมูลกับสาธารณะ

ในด้านการบริหารจัดการเศรษฐกิจ การออกมาตรการช่วยเหลือสำหรับเสริมสภาพคล่องในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีการตั้งงบหนึ่งล้านล้านบาทโดยกระทรวงการคลัง แบงค์ชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 22 มีนาคม และยังมีนโยบายอื่นๆ ตามมาอีกมาก เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ soft loan เป็นต้น สะท้อนถึงการจัดการเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาลว่าทำได้ดีมาก คือรวดเร็ว เป็นระบบ และรอบด้าน 

แต่ในด้านการบริหารจัดการชีวิตประชาชน รัฐบาลมีการออกนโยบายและกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในหลายด้าน เช่น เสรีภาพในการประกอบอาชีพ เสรีภาพในการเดินทาง สิทธิในบริการสาธารณสุข เป็นต้น ซึ่งการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนสามารถกระทำได้หากจำเป็น แต่ถือเป็นหน้าที่ของรัฐในการสนับสนุนปัจจัยพื้นฐานและชดเชยส่วนที่จำเป็น เช่น อาหาร เงินเยียวยา เป็นต้น ซึ่งหากย้อนไปดูในระยะเริ่มต้นจะเห็นว่า รัฐบาลไม่มีความชัดเจนและไม่มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือประชาชน เช่นว่า เมื่อให้ประชาชนอยู่บ้านแล้วจะเยียวยาอย่างไร นโยบายเยียวยาห้าพันบาทจะครอบคลุมใครบ้าง ประกันสังคมจ่ายให้ใคร จ่ายเท่าไหร่ เป็นต้น 

สำหรับนโยบายเยียวยาห้าพันบาทเกิดความไม่ชัดเจนว่าจะเยียวยากี่เดือน ใครจะได้รับบ้าง จนปัจจุบันก็ยังเป็นปัญหาเรื่องระบบการคัดกรอง สิ่งเหล่านี้สะท้อนปัญหาที่ “ระบบคิด” ของรัฐในการมองการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนแบบ “สงเคราะห์ผู้ยากไร้” อันนำไปสู่ระบบคัดกรองคนแบบ “เกณฑ์คัดเข้า” ทั้งที่รัฐควรเปลี่ยนมุมมองมาเป็นการให้ “สวัสดิการถ้วนหน้า” เพราะประชาชนทุกคนได้รับผลกระทบกันทุกคน จากนั้นจึงค่อยใช้ “เกณฑ์คัดออก” เฉพาะกับคนที่มีรายได้ประจำ เช่น ข้าราชการ เป็นต้น

ทั้งนี้ ข้อเสนอสวัสดิการถ้วนหน้าก็ไม่ใช่เรื่อง “ต้องกู้กันจนตาย” เพราะจากพระราชกำหนดเงินกู้จำนวนหนึ่งล้านล้านบาท ที่กำหนดว่าเงินหกแสนล้านจะนำมาเยียวยาประชาชน (ตัดข้าราชการ บุคลากรรัฐออก) หากนำมาคำนวณโดยคิดเฉพาะแรงงานนอกระบบจำนวน 22 ล้านคน ด้วยเงิน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน จะเท่ากับใช้เงินเป็นจำนวน 330,000 ล้านบาท และหากคำนวณโดยรวมแรงงานทั้งหมด (ทั้งในและนอกประกันสังคม, แรงงานต่างด้าว) 36 ล้านคน ด้วยเงิน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน จะใช้เงินเป็นจำนวน 540,000 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าไม่ได้เกินงบหกแสนล้านแรกที่จะนำมาช่วยประชาชนแถมยังมีเงินเหลือด้วยซ้ำ 

รศ.สมชายกล่าวว่า เมื่อต้องให้คะแนนรัฐบาลจากการพิจารณาในการบริหารจัดการสามด้านที่กล่าวมา สมชายให้คะแนนดังนี้ ด้านที่หนึ่ง การบริหารจัดการโรค รัฐบาลได้เกรดบี (B) เพราะตอนเริ่มต้นมีการประสานงานขลุกขลัก แต่ต่อมาประคับประคองได้ ด้านที่สอง การบริหารจัดการเศรษฐกิจได้เกรดบีบวก (B+) เพราะมีการจัดการรวดเร็วฉับไว ส่วนด้านที่สาม การบริหารจัดการชีวิตประชาชนได้เกรดเอฟ (F) หรือสอบตก 

รศ.สมชายสรุปว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อนโยบายของรัฐบาลไทย เกิดจากการที่รัฐตระหนักถึงปัญหาด้านโรคหรือการระบาด และระบบเศรษฐกิจ แต่ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือประชาชนอยู่ในลำดับรองลงมา ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่ปัญหาในเชิงปัจเจกบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่เป็นอาการที่เรียกว่า “ใจดำรวมหมู่ของผู้มีอำนาจ” หรือ อาการ “ไม่เห็นหัวประชาชนเชิงโครงสร้าง” ทั้งหมดนี้สัมพันธ์กับโครงสร้างทางการเมืองไทยที่เกิดจากรัฐธรรมนูญไทยปี 2560 ที่ทำให้สถาบันการเมืองและระบบราชการพ้นไปจากการกำกับของสังคม หน่วยงานรัฐหลายองค์กรไม่เข้าใจความทุกข์ยากของประชาชน และสุดท้าย ถ้าไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ โควิดก็ยังอยู่ แต่การบริหารจัดการในแง่มุมชีวิตประชาชนจะแตกต่างไป 

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 านเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการเลือก สว. ชุดใหม่