ส.ว.แต่งตั้ง: ส.ว.กับการเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรของรัฐและองค์กรอิสระ

ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 2550 จนถึงฉบับ 2560 ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยองค์กรอิสระประเภทต่างๆ ประกาศใช้ มีการให้อำนาจวุฒิสภาเป็นผู้พิจารณา และให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลเพื่อเข้าทำหน้าที่ในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทุกองค์กร โดยองค์กรอิสระเหล่านี้มีภารกิจหลักคือ การตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารในด้านต่างๆ นอกจากนี้อำนาจดังกล่าวยังถูกเขียนไว้ในกฎหมายอื่นๆ เพื่อให้วุฒิสภามีหน้าที่ให้ความเห็นชอบในการดำรงตำแหน่งสำคัญอื่นๆ ของรัฐ เช่น อัยการสูงสุด, เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นต้น

การพิจารณาคัดเลือกบุคคลของ ส.ว. ที่ผ่านมาจะกระทำโดยการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญขึ้นมาหนึ่งชุด จำนวน 15 คน โดยเป็นสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด เพื่อตรวจสอบประวัติบุคคลซึ่งกรรมการสรรหาของตำแหน่งนั้นๆ ได้คัดเลือกมาให้ แล้วจึงค่อยทำการลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งที่เสนอมานั้น 

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดแรก จำนวน 250 คน ทั้งหมดถูกเลือกและแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และมีวาระในการดำรงตำแหน่งยาวนานถึงห้าปี มาดูกันว่า ตั้งแต่เปิดประชุมวุฒิสภา วันที่ 24 พฤษภาคม 2562 จนถึงขณะนี้ที่ระยะเวลาผ่านไปเกือบ 2 ปีของการดำรงตำแหน่ง ส.ว. ให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรใดบ้าง และเห็นชอบใครไปแล้วบ้าง

 

อัยการสูงสุด 

ตาม มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 กำหนดให้ตำแหน่งอัยการสูงสุด ต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา และให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง

3 กันยายน 2562 ในการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 15 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ส.ว.มีมติเห็นชอบโดยเสียงข้างมากให้ วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ด้วยคะแนนเห็นชอบ 215 เสียง ไม่เห็นชอบ 6 เสียง งดออกเสียง 9 เสียง และบัตรเสีย 4 ใบ จากสมาชิกที่เข้าประชุมทั้งหมด 234 คน

 

ตุลาการศาลปกครองสูงสุด 

ตามมาตรา 15 วรรค 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดให้มีการเสนอชื่อบุคคลที่จะให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ต่อนายกรัฐมนตรี และให้นายกรัฐมนตรีเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อขอความเห็นชอบภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับรายชื่อ

17 กันยายน 2562 ในการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 19 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง มีการเสนอชื่อให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบตำแหน่งตุลากาลศาลปกครองสูงสุดทั้งหมด 13 คน โดย ส.ว.ได้ลงมติเห็นชอบ 12 คน ดังนี้ 

1. เสถียร ทิวทอง ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 187 เสียง ไม่เห็นชอบ 10 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง
2. พงษ์ศักดิ์ กัมพูสิริ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 192 เสียง ไม่เห็นชอบ 6 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง
3. ณัฐ รัฐอมฤต ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 186 เสียง ไม่เห็นชอบ 14 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง
4. ไชยเดช ตันติเวสส ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 189 เสียง ไม่เห็นชอบ 7 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง
5. ภานุพันธ์ ชัยรัต ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 193 เสียง ไม่เห็นชอบ 6 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง
6. สุจินต์ จุฑาธิปไตย ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 167 เสียง ไม่เห็นชอบ 27 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง
7. ธีระเดช เดชะชาติ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 193 เสียง ไม่เห็นชอบ 8 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง
8. พยุง พันสุทธิรางกูร ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 194 เสียง ไม่เห็นชอบ 5 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง
9. ไพโรจน์ มินเด็น ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 184 เสียง ไม่เห็นชอบ 12 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง
10. สุรัตน์ พุ่มพวง ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 188 เสียง ไม่เห็นชอบ 9 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง
11. ศรศักดิ์ นิยมธรรม ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 188 เสียง ไม่เห็นชอบ 8 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง
12. สมยศ วัฒนภิรมย์ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 174 เสียง ไม่เห็นชอบ 16 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง

และ ส.ว. ลงมติไม่ให้ความเห็นชอบหนึ่งคน คือ กุศล รักษา ด้วยคะแนนเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งด้วยคะแนน 75 เสียง ไม่เห็นชอบ 97 เสียง และงดออกเสียง 29 เสียง เมื่อคะแนนเห็นชอบไม่เกินกึ่งหนึ่ง จึงถือว่าไม่ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่ง

17 กุมภาพันธ์ 2563 ในการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 20 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง มีการเสนอชื่อ รัชนันท์ ธนานันท์ เพื่อให้ที่ประชุมลงมติ ผลการลงคะแนนปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติไม่เห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งด้วยคะแนนเห็นชอบ 36 เสียง ไม่เห็นชอบ 149 เสียง งดออกเสียง 33 เสียง

ต่อมา 25 พฤษภาคม 2563 ในการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 1 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด หลังจากที่คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ได้พิจารณาเลื่อนตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด และเสนอชื่อต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบในการดำรงตำแหน่ง โดยคณะกรรมาธิการมีระยะเวลาดําเนินการคือภายใน 60 วัน นับแต่วันที่วุฒิสภามีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่  23 กรกฎาคม 2563 

21 กรกฎาคม 2563 ในการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 16 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ที่ประชุมมีมติให้ขยายเวลาการพิจารณาของคณะกรรมาธิการสามัญออกไปอีก 30 วัน 

จนกระทั่ง 14 กันยายน 2563 ในการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 26 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง เป็นพิเศษ ส.ว.ให้ความเห็นชอบตำแหน่งตุลากาลศาลปกครองสูงสุดจำนวน 15 คนตามที่ ก.ศป.เสนอมาทั้งหมด  ได้แก่ 

1. ชัยโรจน์ เกตุกำเนิด ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 220 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 1 เสียง ไม่ออกเสียง 8 เสียง 
2. สุรเดช พหลภาคย์ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 220 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ ไม่มี ไม่ออกเสียง 9 เสียง
3. วีระ แสงสมบูรณ์ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 217 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 2 เสียง ไม่ออกเสียง 10 เสียง
4. เสน่ห์ บุญทมานพ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 220 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ ไม่มี ไม่ออกเสียง 9 เสียง
5. สมิง พรทวีศักดิ์อุดม ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 217 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 3 เสียง ไม่ออกเสียง 9 เสียง
6. อนุสรณ์ ธีระภัทรานันท์ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 219 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ ไม่มี ไม่ออกเสียง 10 เสียง 
7. สมภพ ผ่องสว่าง ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 219 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 1 เสียง ไม่ออกเสียง 9 เสียง
8. อนนท์ อดิเรกสมบัติ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 220 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ ไม่มี ไม่ออกเสียง 9 เสียง
9. สัมฤทธิ์ อ่อนคำ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 219 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ ไม่มี ไม่ออกเสียง 10 เสียง
10. กนิษฐา เชี่ยววิทย์ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 220 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 1 เสียง ไม่ออกเสียง 8 เสียง
11. สุมาลี ลิมปโอวาท ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 221 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ ไม่มี ไม่ออกเสียง 8 เสียง
12. เสริมดรุณี ตันติเวสส ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 220 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 1 เสียง ไม่ออกเสียง 8 เสียง
13. วิบูลย์ กัมมาระบุตร ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 221 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ ไม่มี ไม่ออกเสียง 8 เสียง
14. ดุษณีย์ ตยางคานนท์ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 217 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 1 เสียง ไม่ออกเสียง 11 เสียง
15. สถาพร สถิตย์ปิยะรัตน์ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 219 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 2 เสียง ไม่ออกเสียง 8 เสียง

10 พฤศจิกายน 2563 ในการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 4 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง หลังจากที่คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ได้ทำการคัดเลือกและเสนอต่อที่ประชุมเพื่อให้ลงมติ จำนวน 1 คน คือ รัชนันท์ ธนานันท์  

ต่อมา 19 มกราคม 2564 ในการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 15 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ที่ประชุมยังคงมีมติไม่เห็นชอบให้ รัชนันท์ ธนานันท์ ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดเป็นครั้งที่สอง ด้วยคะแนนไม่เห็นชอบ 122 เสียง เห็นชอบ 89 เสียง ไม่ออกเสียง 14 เสียง 

 

เลขาคณะกรรมการกฤษฎีกา 

ตามมาตรา 63 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 กำหนดให้เลขาคณะกรรมการกฤษฎีกาจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ตามลำดับ

23 ธันวาคม 2562 ในการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 9 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ ปกรณ์ นิลประพัทธ ดำรงตำแหน่งด้วยคะแนนเห็นชอบ 189 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียง งดออกเสียง 9 เสียง

 

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 กำหนดให้ผู้ได้รับการสรรหาเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา 

27 มกราคม 2563 ในการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 14 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง มีการเสนอชื่อให้วุฒิสภาเห็นชอบตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนทั้งหมดห้าคน

ที่ประชุมลงมติเห็นชอบสองคน ได้แก่

1. ปรีดา คงแป้น ได้รับคะแนนเห็นชอบ 161 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 24 เสียง งดออกเสียง 14 เสียง
2. สุชาติ เศรษฐมาลินี ได้รับคะแนนเห็นชอบ 171 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 13 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง

และมีมติไม่เห็นชอบ (คะแนนเสียงเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่ง) สามคน ได้แก่

1. ลม้าย มานะการ ได้รับคะแนนเห็นชอบ 27 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 149 เสียง งดออกเสียง 23 เสียง
2. วิชัย ศรีรัตน์ ได้รับคะแนนเห็นชอบ 74 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 101 เสียง งดออกเสียง 24 เสียง 
3. บุญเลิศ คชายุทธเดช ได้รับคะแนนเห็นชอบ 121 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 49 เสียง งดออกเสียง 29 เสียง

หลังจากนั้น 3 สิงหาคม 2563 ในการประชุมครั้งที่ 17 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งงกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวน 1 คน คือ ศยามล ไกยูรวงศ์ โดยมีกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาภายใน 60 วันนับแต่มีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ

14 กันยายน 2563 ในการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 26 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง เป็นพิเศษ ที่ประชุมมีมติขอขยายเวลาการพิจารณาของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกไปอีก 30 วัน ซึ่งเดิมจะครบกำหนดในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 

ต่อมาในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ในการประชุมครั้งที่ 3 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ส.ว.มีมติเห็นชอบให้ศยามล ไกยูรวงศ์  ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 201 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 13 เสียง ไม่ออกเสียง 4 เสียง 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ในการประชุมครั้งที่ 1 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพิ่มอีกจำนวน 2 คน ได้แก่ รัชดา ไชยคุปต์ และ วสันต์ ภัยหลีกลี้ 

จนเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 ในการประชุมครั้งที่ 17 สมัยสามัญประจำปีที่สอง ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนเพิ่มเติม คือ วสันต์ ภัยหลีกลี้ ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 206 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 7 เสียง ไม่ออกเสียง 3 เสียง

โดยมีมติไม่เห็นชอบ ให้ รัชดา ไชยคุปต์ ดำรงตำแหน่งด้วยคะแนน 162 เสียง เห็นชอบ 33 เสียง ไม่ออกเสียง 21 เสียง 

 

เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแห่งชาติ

ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 กำหนดให้เลขาธิการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งคณะรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง โดยความเห็นชอบของวุฒิสภา

20 ตุลาคม 2562 ในการประชุมวิสามัญครั้งที่ 1 เป็นพิเศษ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทําหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดํารงตําแหน่ง จํานวน 15 คน โดยกําหนดระยะเวลาการดําเนินการของคณะกรรมาธิการ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่วุฒิสภามีมติแต่งตั้ง ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 18 ธันวาคม 2562 

ต่อมา 3 ธันวาคม 2562 ในการประชุมครั้งที่ 7 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ที่ประชุมเห็นชอบให้คณะกรรมาธิการสามัญ ขยายเวลาการพิจารณาออกไปอีก 30 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 17 มกราคม 2563

13 มกราคม 2563 ในการประชุมครั้งที่ 11 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ประธานคณะกรรมาธิการสามัญมีหนังสือแจ้งต่อที่ประชุมว่า มีหนังสือแจ้งว่า ยังมีประเด็นสําคัญที่ทางคณะกรรมาธิการสามัญจําเป็นต้องตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย รวมทั้งรวบรวมพยานหลักฐานที่สําคัญบางประการเพิ่มเติม คณะกรรมาธิการจึงขอขยายเวลาการพิจารณาออกไป อีก 30 วัน ซึ่งเป็นการขอขยายเวลา ครั้งที่ 2 โดยที่ข้อบังคับกําหนดให้การตรวจสอบต้องกระทําให้เสร็จครบทุกรายภายใน 60 วันนับแต่วันที่ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ แต่เนื่องจากการขอขยายเวลาครั้งนี้เป็นการขอขยายเวลา ครั้งที่ 2 ซึ่งรวมระยะเวลาทั้งหมดเป็นจํานวน 105 วัน เกินกว่าที่ข้อบังคับประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 กําหนดไว้ ที่ประชุมจึงได้มีการลงมติเห็นชอบให้งดใช้ข้อบังคับ ข้อ 105 วรรคสอง เป็นการชั่วคราวเฉพาะกรณี จึงสามารถขยายเวลาการดําเนินงาน ครั้งที่ 2 ออกไปอีก 30 วัน 

จนกระทั่ง 18 กุมภาพันธ์ 2563 ในการประชุมครั้งที่ 21 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ส.ว.ได้ลงมติไม่เห็นชอบให้ พลตํารวจตรี ปรีชา เจริญสหายานนท์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินด้วยคะแนนให้ความเห็นชอบ 11 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 185 เสียง ไม่ออกเสียง 13 เสียง

 

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ตามมาตรา 12 วรรคแปด แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 กำหนดให้มีการเสนอชื่อไปยังวุฒิสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยผู้ได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกนั้นต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

ซึ่งก่อนที่จะมีการลงมติดังกล่าวพบว่า คณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติขอให้ที่ประชุมขยายระยะเวลาเพื่อตรวจประวัติและความประพฤติก่อนที่จะมีมติเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งกว่า 4  ครั้ง ซึ่งล่าช้ากว่าที่กฎหมายกำหนดตามปกติ 

2 กันยายน 2562 ในการประชุมครั้งที่ 14 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทําหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดํารงตําแหน่ง จํานวน 15 คน โดยกําหนดระยะเวลาการดําเนินการของคณะกรรมาธิการ ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่วุฒิสภามีมติแต่งตั้ง

16 กันยายน 2562 ในการประชุมครั้งที่ 18 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ที่ประชุมมีมติให้ขยายเวลาการพิจารณาของคณะกรรมาธิการสามัญออกไปอีก 30 วัน

20 ตุลาคม 2562 ในการประชุมครั้งที่ 1 สมัยวิสามัญ เป็นพิเศษ ที่ประชุมลงมติให้งดใช้ข้อบังคับวุฒิสภา ข้อ 105 วรรค 2 เป็นการชั่วคราวเฉพาะกรณี ให้มีการขยายเวลาการพิจารณาออกไปอีก 30 วัน ซึ่งถือเป็นการเลื่อนครั้งที่สอง

3 ธันวาคม 2562 ในการประชุมครั้งที่ 7 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ที่ประชุมลงมติเห็นชอบให้งดใช้ข้อบังคับ ข้อ 105 วรรค 2 เป็นการชั่วคราว เฉพาะกรณี ให้คณะกรรมาธิการสามัญขยายเวลาการพิจารณา ครั้งที่ 3 ออกไปอีก 30 วัน ซึ่งโดยหลักจะครบกําหนดในวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม 2562

6 มกราคม 2563 ในการประชุมครั้งที่ 10 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง เป็นพิเศษ ประธานกรรมาธิการแจ้งว่า ยังมีประเด็นสําคัญที่ทางคณะกรรมาธิการสามัญจําเป็นต้องตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย รวมทั้งรวบรวมพยานหลักฐานที่สําคัญบางประการเพิ่มเติม คณะกรรมาธิการจึงขอขยายเวลาการพิจารณาออกไป อีก 15 วัน ถือว่าเป็นการขอขยายเวลาครั้งที่ 4 ซึ่งเกินกว่าที่ข้อบังคับกำหนดไว้ ซึ่งเดิมจะครบกําหนดในวันอังคารที่ 14 มกราคม 2563 ดังนั้น ที่ประชุมจึงลงมติให้งดใช้ข้อบังคับ ข้อ 105 วรรคสองเป็นการชั่วคราวเฉพาะกรณี

จนกระทั่ง 11 กุมภาพันธ์ 2563 ในการประชุมครั้งที่ 18 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ส.ว.ได้มีมติเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 จาก 5 คน ดังนี้ 

1. อุดม สิทธิวิรัชธรรม ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 216 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 3 เสียง ไม่ออกเสียง ไม่มี
2. วิรุฬห์ เสียงเทียน ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 216 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 3 เสียง ไม่ออกเสียง ไม่มี
3. จิรนิติ หะวานนท์ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 217 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 2 เสียง ไม่ออกเสียง ไม่มี
4. นภดล เทพพิทักษ์ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 203 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 12 เสียง ไม่ออกเสียง 4 เสียง 

และลงมติไม่เห็นชอบให้ ชั่งทอง โอภาสศิรวิทย์ ดำรงตำแหน่ง ด้วยคะแนนเห็นชอบ 52 เสียง ไม่เห็นชอบ 139 เสียง งดออกเสียง 28 เสียง

หลังจากนั้น 25 พฤษภาคม 2563 ในการประชุมครั้งที่ 1 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 1 คน คือ บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์

ต่อมาในวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 ในการประชุมครั้งที่ 13 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง เป็นพิเศษ ส.ว.มีมติเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้ บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ด้วยคะแนนเห็นชอบ 206 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 12 เสียง ไม่ออกเสียง 11 เสียง 

 

กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 

ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 กำหนดให้ผู้ได้รับการสรรหาเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

11 กุมภาพันธ์ 2563 ในการประชุมครั้งที่ 18 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หลังจากที่คณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้ทำการคัดสรรและเสนอชื่อต่อที่ประชุมเพื่อให้มีมติเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่ง จำนวน 2 คน ได้แก่ ณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา และสุชาติ ตระกูลเกษมสุข 

ต่อมา 26 พฤษภาคม 2563 ในการประชุมครั้งที่ 2 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ส.ว.ได้มีมติเห็นชอบให้บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดังนี้

1. ณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 224 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 11 เสียง ไม่ออกเสียง 4 เสียง
2.สุชาติ ตระกูลเกษมสุข ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 219 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 12 เสียง ไม่ออกเสียง 8 เสียง 

 

ผู้ตรวจการแผ่นดิน 

ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน กำหนดให้ผู้ได้รับการสรรหาเพื่อแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

2 พฤศจิกายน 2563 ในการประชุมครั้งที่ 1 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน หลังจากที่ทางคณะกรรมการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินได้คัดเลือกและเสนอชื่อต่อที่ประชุม จำนวน 2 คน ได้แก่ กุลกุมุท สิงหรา ณ อยุธยา และ อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์

22 ธันวาคม 2563 ในการประชุมครั้งที่ 13 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ที่ประชุมมีมติขอขยายเวลาการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินออกไปอีก 30 วัน ซึ่งเดิมจะครบกำหนดในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 

หมายเหตุ: ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ 

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าในการประชุมลงมติแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีการลงมติไม่ให้มีการเปิดเผยบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทําหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อเลยสักครั้ง

You May Also Like
อ่าน

5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 านเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการเลือก สว. ชุดใหม่
อ่าน

ทิ้งท้ายก่อนหมดอายุ สว. ชุดพิเศษเปิดอภิปรายทั่วไป ซักฟอกรัฐบาลเศรษฐา

ทิ้งท้ายก่อนหมดอายุ 25 มีนาคม 2567 สว. ชุดพิเศษเปิดอภิปรายทั่วไป ซักฟอกรัฐบาลเศรษฐา เป็นครั้งแรกในรอบห้าปีที่ สว. ชุดพิเศษใช้กลไกนี้ในการตรวจสอบรัฐบาล