ร่างยุทธศาสตร์ชาติ ด้านสิ่งแวดล้อม: ตั้งเป้าใช้พลังงานหมุนเวียนร้อยละ 40

แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีทั้งหมดหกด้าน จัดทำโดยคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้งหกด้านที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้แต่งตั้งขึ้น สำหรับการจัดทำ “ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” รัฐบาล คสช. แต่งตั้งศาสตราจารย์ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานคณะกรรมการฯ รวมด้วยกรรมาการฯ อีกจำนวน 8 คน  
วันที่ 24 มกราคม 2561 ร่างยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จัดทำร่างเบื้องต้นเสร็จเรียบร้อย และหลังจากนั้นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ จัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนจำนวนสี่ครั้งในสี่ภาคสี่จังหวัด เป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน และขณะนี้ร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้กำลังถูกแก้ไขเพิ่มเติมก่อนจะถูกเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ วันที่ 9 เมษายน 2561
ยึดศาสตร์ของพระราชา พาคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดในอาเซียน
ร่างฉบับนี้น้อมนำศาสตร์ของพระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยยึดหลักสามประการ คือ มีความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน มาเป็นหลักในการจัดทำ โดยมีวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดในอาเซียนภายในปี 2579 โดยประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมนั้นแบ่งออกเป็น 6 ด้าน ดังนี้
1) สังคมเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งรวมถึงการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจให้เติบโตและเป็นธรรม สามารถลดความเสี่ยงของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและลดปัญหาความขาดแคลนของทรัพยากรลงได้ 
2) สังคมเศรษฐกิจภาคทะเล  ให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตของประเทศจากกิจกรรมทางทะเลควบคู่กับการดูแลฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
3) สังคมเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปรับปรุงการบริหารจัดการภัยพิบัติทั้งระบบ และการสร้างขีดความสามารถของประชาชน 
4) พัฒนาพื้นที่เมือง ชนบท เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มุ่งเน้นการใช้พื้นที่ตามศักยภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดทำแผนผังภูมินิเวศ รวมถึงพื้นที่อนุรักษ์
5) พัฒนาความมั่นคงทางน้ำ พลังงาน และเกษตร เพิ่มผลิตผลในเรื่องการจัดการและการใช้น้ำ พัฒนาความมั่นคงทางพลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด พัฒนาความมั่นคงการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 
6) ยกระดับกระบวนทัศน์ มุ่งส่งเสริมคุณลักษณะและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมของคนไทย พัฒนาเครื่องมือและกลไกเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ พัฒนากระบวนการยุติธรรมด้เพื่อแก้ไขความขัดแย้ง 
เป้าหมาย อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ใช้น้ำอย่างคุ้มค่า
เป้าหมายและประเด็นของร่างยุทธศาสตร์ชาติด้านสิ่งแวดล้อม หลายอย่างยังดูเป็นนามธรรมลอยๆ เช่น อนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งเสริมมาตรการจูงใจในการอนุรักษ์ เพิ่มผลิตภาพของน้ำโดยการใช้อย่างมีคุณค่า ขณะเดียวกันก็มีเป้าหมายหลายประเด็นที่ระบุตัวชี้วัดไว้อย่างเป็นตัวเลขชัดเจนที่สามารถวัดค่าได้ว่า ทำตามเป้าหมายนั้นได้หรือไม่ ตัวอย่างเช่น
– เพิ่มมูลค่าของเศรษฐกิจฐานชีวภาพ เป็นร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
– เพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นร้อยละ 55 ของประเทศ แบ่งเป็นป่าธรรมชาติร้อยละ 35 สวนป่าร้อยละ 15 และพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจร้อยละ 5
– ส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนให้เป็น ร้อยละ 30 ของการบริโภคทั้งประเทศ
– เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจฐานชีวิตภาพทางทะเลเป็น 6.16 ล้านบาท 
– ลดพื้นที่ที่มีการกัดเซาะชายฝั่งมากกว่า 3 เมตรต่อปี ให้เหลือไม่เกิน 100 กิโลเมตรทั่วประเทศ
– ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20
– จัดการมลพิษ ขยะ น้ำเสีย ให้เป็นไปตามมาตราฐานสากล ไม่มีหลุมฝังกลบขยะในประเทศร้อยละ 100 
– พัฒนาจัดการน้ำทั้งระบบให้บรรลุดัชนีความมั่นคงทางน้ำ ของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียให้ถึง 80 คะแนน
– เพิ่มผลิตภาพน้ำทั้งระบบ 80 เท่า จากค่าเฉลี่ยปัจจุบัน
– เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า เป็นร้อยละ 40
– รักษาแนวปะการังที่สำคัญต่อการท่องเที่ยวให้เสียหายไม่เกินร้อยละ 50 ภายใน 5 ปี และไม่เกินร้อยละ 20 ภายใน 20 ปี
– ให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลไม่เกิน 6 ล้านคนต่อปี ภายใน 5 ปี
ฯลฯ
อย่างไรก็ดีจากร่างยุทธศาสตร์ชาติที่เห็น ไม่ได้กำหนดหรือแนะนำวิธีการทำงานที่จะเดินไปสู่เป้าหมายเหล่านี้ได้ เพียงแต่กำหนดเป้าหมายลอยๆ ไว้ให้ต้องทำตามให้ได้เท่านั้น ทำให้มียุทธศาสตร์หลายอย่างที่ฟังดูดีแต่อาจจะยากในทางปฏิบัติเมื่อจะต้องทำให้เป็นจริงภายในปี 2579 เช่น การสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจในเขตชุมชน การบริหารจัดการพื้นที่ป่าชุมชนแบบมีส่วนร่วม การลดปริมาณของเสียลงทะเลทั้งระบบ การมีระบบตรวจสอบและแจ้งเตือนปัญหา เป็นต้น
เปรียบเทียบความฝันในยุทธศาสตร์ชาติกับสถานการณ์ปัจจุบัน
หากเปรียบเทียบความฝันในร่างยุทธศาสตร์ชาติ เพื่ออนาคตอีก 20 ปี ข้างหน้า กับสถานการณ์ปัจจุบันในบางประเด็นจะพบว่า ยังห่างไกลความเป็นจริงอยู่มาก ตัวอย่างเช่น 
ร่างยุทธศาสตร์ชาติ มีเป้าหมายให้เพิ่มพื้นที่ป่าธรรมชาติ เป็นร้อยละ 35 ขณะที่ข้อมูลจากกรมป่าไม้ เมื่อปี 2559 พบว่า พื้นที่ป่าในประเทศไทยมีอยู่ร้อยละ 31.58
ร่างยุทธศาสตร์ชาติ มีเป้าหมายให้เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า เป็นร้อยละ 40 ขณะที่ข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เมื่อเดือนมกราคม 2561 พบว่า การใช้พลังงานหมุนเวียนมีอยู่ที่ร้อยละ 7.10
ร่างยุทธศาสตร์ชาติ มีเป้าหมายให้จัดการมลพิษ ขยะ น้ำเสีย ให้เป็นไปตามมาตราฐานสากล ไม่มีหลุมฝังกลบขยะในประเทศร้อยละ 100 ขณะที่ข้อมูลจากรายงานของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ในปี 2559 ปริมาณขยะมูลฝอยที่กำจัดถูกต้องคิดเป็นร้อยละ 35 ซึ่งมาจากสถานที่กำจัด 330 แห่ง ขณะที่อีก 2,480 แห่งยังกำจัดไม่ถูกต้อง
ไฟล์แนบ