ขึ้นเว็บไซต์อย่างน้อย 15 วัน ก็ถือว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็นตาม รัฐธรรมนูญ ม. 77

เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการเขียนบทบัญญัติเกี่ยวกับการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามกฎหมาย หรือ RIA (Regulatory Impact Assessment) ไว้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งปรากฎอยู่รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 77 วรรคสอง ที่ระบุว่า
"ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณา ในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้วรัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป"
อย่างไรก็ตามก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ วันที่ 5 เมษายน 2560 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มีมติ เรื่อง “แนวทางการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ร่วมกันจัดทำขึ้นมา และได้ปรับปรุง “หลักเกณฑ์ในการตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ” (checklist) ให้เป็นไปตามมาตรา 77 โดยหลักเกณฑ์ให้หน่วยงานรัฐที่นำไปปฏิบัติก่อนนำเสนอร่างกฎหมายต่อครม.
จัดทำร่างกฎหมายต้องไม่ขัดยุทธศาสตร์ชาติ กฎหมายเก่าล้าหลังให้ปรับปรุงยกเลิกโดยเร็ว
มติครม. กำหนดให้หลักเกณฑ์การร่างกฎหมายและการตรวจพิจารณาร่างกฎหมาย เพื่อให้หน่วยงานรัฐใช้ในการจัดทำพระราชบัญญัติ โดยมีหลักเกณฑ์และแนวทางที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
1.ร่างกฎหมายต้องสอดคล้องและไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่กฎหมายที่มีอยู่ขัดหรือแย้งต่อหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบต้องแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายนั้น
สำหรับการร่างกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ถ้าปรากฎว่าสิทธิเสรีภาพนั้นถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้หน่วยงานรัฐพิจารณาเงื่อนไขในการจำกัดสิทธิเสรีภาพ โดยพิจารณาประกอบคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด หรือศาลรัฐธรรมนูญ และความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิเสรีภาพไว้ด้วย
2.ร่างกฏหมายต้องสอดคล้องและไม่ขัดหรือแย้งกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ
3.การร่างกฎหมายต้องคำนึงถึงหรือพิจารณาดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักการและสาระสำคัญกฎหมายสามฉบับ คือ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2556 และพระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ.2558  
โดยประเด็นที่น่าสนใจคือ การคำถึงพระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ.2558 ซึ่งให้หน่วยงานของรัฐต้องยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพของประชาชนโดยไม่ชักช้า
ร่างกฎหมายใหม่ รับฟังความคิดเห็นอย่างน้อย 15 วันทางอินเทอร์เน็ต 
มติครม. กำหนดแนวทางในการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมายและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย ตามมติครม. ซึ่งสรุปภาพรวมให้เห็นภาพได้ดังนี้
1. หน่วยงานรัฐมีหน้าที่จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างน้อยผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงาน หรือผ่าน www.lawamendment.go.th หรืออาจจะใช้วิธีอื่นด้วยก็ได้ และต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นเป็นอย่างน้อย 15 วัน เมื่อจัดทำรับฟังความคิดเห็นเสร็จแล้วให้จัดทำรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น และจัดทำคำชี้แจงตามหลักเกณฑ์การตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมายตามแบบฟอร์มที่กำหนด แล้วจึงส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)
2. เมื่อสลค. ได้รับเอกสารจากหน่วยงานรัฐแล้วให้สลค. มีหน้าที่วิเคราะห์ผลการรับฟังความคิดเห็น และเสนอความเห็นเกี่ยวกับความจำเป็นในการตรากฎหมายเพื่อประกอบการพิจารณาของครม. ถ้าสลค. เห็นว่าควรรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมให้ส่งกลับให้หน่วยงานรัฐดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม เมื่อหน่วยงานรัฐดำเนินการเสร็จให้ส่งเรื่องกลับมาที่สลค. อีกครั้ง
3. เมื่อครม. มีมติส่งร่างกฎหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณา ให้สคก. มีหน้าที่ในการตรวจสอบผลการวิเคราะห์ผลการรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง และการเสนอร่างกฎหมายกลับไปยังครม. ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งตรวจพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวให้ความเห็นเกี่ยวกับความจำเป็นและประโยชน์ที่จะเกิดจากร่างกฎหมายนั้นด้วย แต่ถ้าสคก.เห็นว่าต้องจัดทำการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม อาจจะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเองหรือส่งเรื่องกลับให้หน่วยงานรัฐดำเนินการก็ได้ 
4.ในกรณีที่สคก. แก้ไขเนื้อหาร่างกฎหมาย และเห็นควรว่าต้องแก้ไขผลการวิเคราะห์ผลกระทบให้สคก. ส่งเรื่องกลับไปที่หน่วยงานรัฐ และให้หน่วยงานรัฐจัดทำคำชี้แจง ตามหลักเกณฑ์การตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติอีกครั้ง แล้วส่งกลับมาที่ สคก.
5.ในกรณีที่ร่างกฎหมายผ่านการพิจารณาจากสคก. และอยู่ระหว่างการดำเนินการของสลค. ถ้าสลค. เห็นว่าเนื้อหาร่างกฎหมายที่สคก.แก้ไขเปลี่ยนไปจากเดิมให้สลค. ส่งเรื่องกลับไปยังหน่วยงานของรัฐเพื่อให้จัดทำคำชี้แจงตามหลักเกณฑ์ตามหลักเกณฑ์การตรวจสอบความจำเป็นอีกครั้ง และส่งกลับมาที่สลค. เพื่อดำเนินการต่อไป 
6.ในกรณีที่ร่างกฎหมายใดมีความจำเป็นเร่งด่วนและต้องดำเนินการลับให้หน่วยงานรัฐจัดทำการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากการรับฟังความคิดเห็นแบบทั่วไปได้และต้องชี้แจงเหตุผลในความจำเป็นต่อครม. เพื่อพิจารณาด้วย 
ไฟล์แนบ